สธ.เผยโควิด กทม.เริ่มชะลอตัว คาดสัปดาห์หน้าผู้เสียชีวิตไม่ถึง 100 คน แจงประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค 90% ได้มาจากการใช้งานจริง ชี้คำนวณเชิงระบาดวิทยา ต้องเทียบอัตราการติดเชื้อของผู้ได้รับวัคซีนกับอัตราการติดเชื้อของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน พร้อมยันบุคลากรด่านหน้าจะได้รับวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ทั้งแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์
..........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อรายวันของทั่วโลกเดิมเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด ก่อนจะชะลอ และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นใหม่มีครั้ง แม้บางประเทศจะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 50-60% เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ แต่อัตราการเสียชีวิตยังคงที่ และลดลง โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นของทั่วโลก ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เห็นว่าการติดเชื้อ ไม่ได้ทำให้เกิดการเสียชีวิตทุกราย
สำหรับประเทศไทย มีการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระลอก 3 หลักหมื่นรายหลายวัน และเริ่มเข้าสู่การระบาดเป็นวงกว้าง จึงต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยพบว่าการติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่ชะลอลง หลังมีมาตรการคุมเข้ม เชื่อว่าอัตราการเสียชีวิตจากตอนนี้ที่พุ่งไปสูงถึงหลักร้อยหลายจะลดลงในสัปดาห์ถัดไป
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศไทยอีกว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา สามารถฉีดได้ 304,243 โดส เป็นเข็มแรก จำนวน 266,314 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 37,929 ราย รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-22 ก.ค.2564 รวมแล้วทั้งสิ้น 15,388,939 คน
"โดยเรามีเป้าหมายในการฉีดวัคซีน 1.เพื่อลดความรุนแรงของการป่วย การเสียชีวิต 2.ปกป้องระบบบริการสุขภาพทางด้านสุขภาพให้ดูแลคนไข้ได้ และ 3.การกลับไปใช้ชีวิตปกติ" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว
ขณะนี้กำลังเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงสุด คือ ติดเชื้อ 10 คน เสียชีวิต 1 คน เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไป ที่เสียชีวิต 1 คน ต่อ 1,000 คน หรือ 100 เท่า จึงจำเป็นต้องระดมฉีดวัคซีนก่อน
@ แจงประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค 90% ได้มาจากการใข้งานจริง
สำหรับการศึกษาหาประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคที่มีข้อมูลปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆว่า วัคซีนซีโนแวคสามารป้องกันโควิดได้90% นั้น นพ.ทวีทรัพย์ ชี้แจงว่า วัคซีนทุกยี่ห้อเหมือนกันตรงที่มีความปลอดภัย แต่แตกต่างตรงเทคโนโลยีการผลิตที่อาจทำให้ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งอยู่กับหลายๆปัจจัยด้วย ดังนั้นเวลาพูดถึงประสิทธิผลของวัคซีน จะไม่ได้วัดที่ภูมิต้านทาน หรือการวัดค่าที่ตัวเลขต่างๆอย่างเดียว แต่จะต้องวัดจากการใช้งานจริงว่าวัคซีนสามารถมีประสิทธิผลป้องกันโรคได้จริงหรือไม่
ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) ใน 3 พื้นที่ คือ ภูเก็ต สมุทรสาคร และเชียงราย จากการคำนวณอัตราผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับการการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม อย่างน้อย 14 วัน เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พบว่าใน 3 พื้นที่ ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีประสิทธิผลใกล้เคียงกันประมาณ 90%
โดยในพื้นที่ภูเก็ต นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ได้ศึกษาประชากรที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 1,541 คน พบผู้ติดเชื้อ 124 คน ซึ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส 1 คน ได้รับวัคซีน 1 โดส 12 คน และไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย 111 คน ขณะที่ผู้ไม่พบเชื้อ 1,417 คน เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส 99 คน ได้รับวัคซีน 1 โดส 291 คน และไม่ได้ฉีดวัคซีน 1,027 คน คำนวนออกมาเป็นประสิทธิผลของวัคซีนจะได้ 90.6% ซึ่งวิธีการคำนวณดังกล่าว เป็นวิธีการคำนวณเชิงระบาดวิทยา ที่ต้องใช้วิธีการเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อของผู้ได้รับวัคซีนกับอัตราการติดเชื้อของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
ในพื้นที่สมุทรสาคร ศึกษาประชากรที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 490 คน พบผู้ติดเชื้อ 106 คน เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส 1 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 105 คน ขณะที่ผู้ไม่พบเชื้อ 384 คน เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส 35 คน และไม่ได้ฉีดวัคซีน 349 คน คำนวนออกมาเป็นประสิทธิผลของวัคซีนจะได้ 90.5% เมื่อเทียบอัตราการติดเชื้อของผู้ได้รับวัคซีนกับอัตราการติดเชื้อของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
ส่วนพื้นที่เชียงราย ศึกษาประชากรที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 413 คน พบผู้ติดเชื้อ 40 คน เป็นผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส 24 ราย ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส 5 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 11 คน ขณะที่ผู้ไม่พบเชื้อ 373 คน เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส 312 คน ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส 45 ราย และไม่ได้รับวัคซีน 16 ราย คำนวนออกมาเป็นประสิทธิผลของวัคซีนผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มจะได้ 88.8% และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ 83.8% เมื่อเทียบอัตราการติดเชื้อของผู้ได้รับวัคซีนกับอัตราการติดเชื้อของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
@ ประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลต้า เบื้องต้นยังคงเดิม
ส่วนประสิทธิผลในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเราได้ออกแบบในการเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดในเดือน มิ.ย.2564 ตอนนั้นมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าอยู่ 30% ซึ่งเบื้องต้นตัวเลขจากการติดตามประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลต้ายังคงเดิม อย่างไรก็ตามในช่วงนี้สายเดลต้าได้ลามไปเกินกว่าครึ่งแล้วต้องรอติดตามไปอีกสักเดือน
ทั้งนี้ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวย้ำอีกว่า วัคซีนถือเป็นเพียงเครื่องมือในการป้องการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่วัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันโรคได้ 100 % ดังนั้นต้องอาศัยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและเคร่งครัดของประชาชนเพื่อควบคุมและลดการแพร่ระบาดเชื้อ
@ ยันบุคลากรด่านหน้าจะได้รับวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ทั้งแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวถึงการกระจายวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็ม 3 ให้เร็วที่สุด ดังนั้นบางส่วนจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ล็อตที่จะได้รับจากสหรัฐอเมริกายืนยันว่า จะกระจายให้บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าก่อนเช่นกัน โดยพิจารณาตามความเสี่ยง ก่อนจะจัดสรรให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์ โดยอาจพิจารณาให้กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมก่อน อย่างไรก็ตามหากสอบถามตัวเลขของการจัดสรรของแต่ละกลุ่ม จะต้องรอ ศบค.เห็นชอบพิจารณาจำนวนวัคซีนก่อน พร้อมย้ำว่าวัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาสนับสนุนแผนงานตามปกติ ไม่มีกลุ่มไหน หรือใครได้เป็นพิเศษ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage