กระทรวงสาธารณสุข เผยที่ประชุมเห็นชอบการปรับสูตรวัคซีนสลับชนิด ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ชง ศบค. 16 ก.ค.นี้ พร้อมย้ำผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยงรับวัคซีนโควิด หลังพบยอดเข้ารับวัคซีนน้อย
...................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 กรมควบคุมโรค จัดประชุมเสวนาวิชาการวัคซีนโควิด สำหรับสื่อมวลชน โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทยว่า ขณะนี้เราพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น และผู้เสียชีวิตเกือบแตะหลักร้อยแล้ว ถือว่าช่วงที่เรามียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมา และการระบาดไม่ได้จำกัดอยู่แค่ใน กทม.และปริมณฑล ยังกระจายไปต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา
ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์จะน่าเป็นห่วงไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจะสำคัญมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอกเหนือจากการปฏิบัติมาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และการหมั่นล้างมือ การฉีดวัคซีนเป็นเครื่องมือที่ต้องเร่งรัดด้วย
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับการสั่งซื้อวัคซีน ขณะนี้ประเทศไทยมีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ก่อนหน้าการระบาดของโควิดเมื่อปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มการสั่งจองวัคซีนที่เราคาดว่าจะใช้ได้ดีในประเทศไทย ทั้งในด้านการเก็บรักษาและการผลิตไว้ในประเทศไทย ซึ่งก็คือแอสตร้า โดยเราได้จองไว้แล้ว 61 ล้านโดส ถือว่าเป็นวัคซีนหลัก แต่เมื่อเราพบการระบาดระลอกที่สองในเดือน ธ.ค.2563 เราจึงได้จัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนที่เราสามารถหาซื้อได้ ณ เวลาเร่งด่วนขณะนั้น ส่วนวัคซีนยี่ห้ออื่น เราจะต้องจองล่วงหน้าหลายเดือน
ดังนั้นเราจึงได้วัคซีนซิโนแวคเข้ามาในช่วงเดือน ก.พ. เป็นต้นมา ถือว่าวัคซีนนี้สามารถควบคุมการระบาดได้ดี การที่เราได้ฉีดวัคซีนในช่วงเวลาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าบุคลากรการแพทย์ของเราปลอดภัย วัคซีนซิโนแวคจะมาเสริม ขณะนี้เรากำลังรอวัคซีนชนิดอื่น ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะมาเรื่อยๆ มาทุกเดือน โดยเดือนที่ผ่านมาได้มา 6 ล้านโดส และเดือนนี้จะมีการส่งเพิ่มเข้ามาอีก รวม แล้ว 2 ยี่ห้อเราจะได้รับราว 10 ล้านโดส ถือว่าจำนวนไม่น้อย และเรามีอัตราการฉีดได้วันละ 3 แสนโดส หรือมากกว่านั้น
"อย่างไรก็ตามด้วยการเข้ามาของสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเสนอแนวทางการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า แต่ได้มีผู้ใหญ่ทักมา ว่าให้เราดูข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ เพราะองค์การอนามัยโลกออกมาพูด ซึ่งคณะกรรมการวิชาการ ก็นำเสนอต่อที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข และบ่ายนี้ ก็ประชุม ศบค.ของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังมีมติในทิศทางเดิม คือควรได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และจะเสนอ ศบค. วันที่ 16 ก.ค.นี้ คาดว่าจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ หลายคณะกรรมการที่เห็นชอบตรงกันนี้ จะเริ่มดำเนินการได้ต้นสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป" นพ.โสภณ กล่าว
สำหรับความกังวลของผู้สูงอายุในการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้สูงอายุฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วเข็มแรก เนื่องจากไม่มีคำแนะนำสลับในรูปแบบเริ่มต้นจากแอสตร้าเซนเนก้า จึงขอให้คลายความกังวล
@ ย้ำผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง เข้ารับวัคซีนโควิด
ศ.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการกระจายวัคซีนด้วยว่า ขณะนี้ กทม. กำลังมีปัญหาการกระจายวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง โดยพบว่าในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2564 ยอดฉีดวัคซีนของผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยงยังน้อย ปัจจุบันมีตัวเลขผู้สูงอายุ ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพียง 30% และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง 40%
ศ.นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า เราหวังว่าจะฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยงให้ได้ 70% ก่อนเพื่อป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดอยากให้ได้ 100% จึงอยากเชิญชวนให้ผู้สูงอายุเข้ามาขอรับวัคซีน ผ่านโรงพยาบาลที่เคยรักษา เว็บไซต์ไทยร่วมใจ ร้านสะดวกซื้อ หรือผ่านเครือข่ายมือถือ ซึ่งตนเองเชื่อว่าจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในอีก 2-3 วัน
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ เมื่อวานนี้ว่า เรามีมติว่า เราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ เราจะต้องใช้วัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในการควบคุมโรค ป้องกันการป่วยหนักและการตายให้ได้มากที่สุด รวมถึงเราจะให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยให้เข็มแรกเป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่สองเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้า
ศ.นพ.พรเทพ กล่าวชี้แจงในประเด็นการฉีดวัคซีนสลับชนิดด้วยว่า สามารถทำได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก พูดอยู่กัน 2 เรื่อง คือ กรุณาอย่าไปใช้วัคซีนสลับกันโดยการตัดสินใจของบุคคล แต่สาธารณสุขของประเทศทำได้ หากมีผลการวิจัยยืนยัน ซึ่งสื่อตัดตอนข้อมูลบางส่วน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
รวมถึงจะให้มีการฉีดบูสเตอร์โดสกระตุ้นภูมิให้กับผู้ที่ได้รับซิโนแวคครบโดสด้วย โดยจะเริ่มให้บุคลากรด่านหน้าก่อน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในหลักหมื่นรายไม่ถึงแสนราย เนื่องจากหากไม่มีบุคลากรด่านหน้า ใครจะรักษาผู้ป่วย ส่วนกลุ่มอื่นๆ ขอให้รอกันอีกสักนิด
"อย่างไรก็ตาม กทม. จากการระดมฉีดวัคซีน ทำให้มีข่าวดี ว่านับตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2564 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยใน กทม.ลดลงตลอด จากเดิ่มที่เคยพบสูงที่สุด 3,191 ราย ลดลงมาจนเหลือ 2,224 คน ทั้งนี้ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งประมาทด้วย เน้นย้ำให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด" ศ.นพ.พรเทพ กล่าว
@ ชี้อังกฤษมีอัตราการเสียชีวิตลดลง เพราะให้วัคซีน'ผู้สูงอายุ-7กลุ่มโรคเสี่ยง'ก่อน
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโควิดครั้งนี้ รุนแรง มากกว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสเปนเมื่อ 100 ปี ก่อน คาดว่า จะหยุดการระบาดของโควิดได้ ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี โดยการหยุดโควิดได้ ต้องอาศัยเรื่องของวัคซีนเป็นหลัก เพราะวัคซีนสามารถลดการตาย ลดการนอนโรงพยาบาล และลดอาการเจ็บป่วยหนัก
ยกตัวอย่าง เช่น อังกฤษ อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน เพราะมุ่งเน้นการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยงก่อน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นอนในโรงพยาบาลและเสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องเน้นการฉีดวัคซีนให้กลุ่มนี้ พร้อมย้ำว่าวัคซีนโควิดนี้ทุกคนควรฉีด เพียงแต่ต้องเป็นกลุ่มลำดับถัดไป และไม่มีข้อห้ามในการรับวัคซีน วัคซีนนี้ออกแบบมาเพื่อให้มีความปลอดภัย อาการที่เกิดขึ้นจากการรับวัคซีนเป็นส่วนน้อยและไม่นานก็หายได้ ทุกคนควรรับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นคนป่วยโรคใดก็ตาม หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ก็ควรรับ
@ ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากวัคซีน
ด้าน พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้สถานการณ์การระบาดจะเริ่มรุนแรงขึ้น ด้วยการเข้ามาของสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย)และพบเด็กติดเชื้อมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาการป่วยของเด็กจะไม่รุนแรงมาก ดังนั้นการรับวัคซีนในเด็กตอนนี้จึงยังไม่จะเป็นมากเท่าผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
โดยวัคซีนในเด็ก ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ได้แล้วมีเพียงวัคซีนไฟเซอร์ ที่กำหนดให้เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปใช้ได้ ส่วนวัคซีนโมเดอร์นานั้น คาดว่าเร็วๆนี้จะได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี เช่นเดียวกัน และยังมีวัคซีนซิโนแวคที่มีผลการศึกษาการใช้ในเด็กแล้ว พบว่าปลอดภัย โดยฉีดได้ในเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพียงแต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
"อย่างไรก็ตาม จากการถอดบทเรียนการใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในต่างประเทศ พบว่าเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ใน 5 หมื่นไปจนถึงหฃักแสน หลายประเทศจึงเริ่มถอยให้วัคซีนเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นในไทยเราจะต้องมาชั่งน้ำหนักเหมือนเช่นต่างประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันของเรา ร่วมกับการมีวัคซีนจำกัด การฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตมาเป็นอับดับ 1" พญ.กุลกัญญา กล่าว
ขณะเดียวกันได้เปิดผลการเสียชีวิตภายหลังรับวัคซีนโควิด โดยคณะกรรมการผู้เชียวชาญจากโรงเรียนแพทย์ และพยาธิวิทยา ว่า มีเคสเข้ามามากถึง 153 ราย แต่ สรุปได้ว่าการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวกับวัคซีน แม้แต่รายเดียว มีเพียง 8 ราย ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เนื่องจากมีการเสียชีวิต 3-4 วัน หลังได้รับวัคซีน แบ่งเป็น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 7 คน และอาการทางเลือดออกในสมอง 1 คน ซึ่งเดิมมีโอกาสเสียชีวิตทุกนาที อยู่แล้ว
ส่วนที่เหลืออีก141 ราย เป็นการเสียชีวิตภายใน 30 วัน หลังรับวัคซีน มีทั้งปอดอักเสบ หรือ รับวัคซีน 1 เข็ม แล้วติดโควิด รวมถึงการรับประทานเห็ดพิษ และอีก 4 ราย ศพถูกฌาปนกิจไปแล้ว จึงไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ชัดเจน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงอยากให้มั่นใจว่าวัคซีนปลอดภัย และความน่ากลัวของโรคโควิดอันตรายกว่าการฉีดวัคซีน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/