'หมอประสิทธิ์'เผยสายพันธุ์เดลต้าลามเกือบ 100 ประเทศ ชี้ศึกนี้เป็นของคนไทยทั้งประเทศ หวั่นยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเกินหลักหมื่นรายต่อวัน ขอทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตาม 3 ยุทธวิธีคุมเข้ม คือมาตรการทางสังคม เร่งฉีดวัคซีน และล็อกดาวน์ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อและการตาย
....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อัปเดตสถานการณ์โควิดทั่วโลกและในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) จากเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมากระจายไป 80 ประเทศ จนถึงเช้าวันนี้กระจายไปเกือบ 100 ประเทศแล้ว และสายพันธุ์นี้กำลังจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดของโควิดในทั่วโลก
โดยรายงานล่าสุดวันที่ 9 ก.ค.2564 สหรัฐอเมริกา พบสายพันธุ์เดลต้ากระจายไปในทุกรัฐแล้ว จาก 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาการระบาดเพียง 10% ตอนนี้กลับเพิ่มขึ้น 5 เท่า ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศพบมากกว่า 50% เช่นเดียวกับอังกฤษ พบสายพันธุ์นี้ครอบคลุมถึง 95%
"จากกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก จะเห็นว่าหลังการระดมฉีดวัคซีนมากกว่า 3 พันล้านโดส สถานการณ์ทั่วโลกคล้ายจะดูดีขึ้น อัตราการการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง แต่ระยะหลังกราฟเริ่มกระดกหัวขึ้น สาเหตุหลักคือสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่อัตราการเสียชีวิตยังคงเดิม ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2563 มีคนไข้ 3-4 แสนคนต่อวัน มีอัตราการเสียชีวิตวันละ 2,000-4,000 คน แต่หลังจากเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ เปลี่ยนโยบายต่างๆ มีการรณรงค์การฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันลดลงเหลือหลักหมื่นคน เสียชีวิตเป็นตัวเลขสองหลัก วัคซีนฉีดแล้ว 333 ล้านโดส ประชากรกว่า 331 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 55.4% และได้รับวัคซีนครบ 47.9% อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำมาก ยังอยู่ที่ตัวเลขสองหลัก
อังกฤษ เคยมีการติดเชื้อวันละ 6-7 หมื่นคน หลังการฉีดวัคซีนตัวเลขการติดเชื้อลดลง กระทั่งเดือน พ.ค.64 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2-3 หมื่นคน ล่าสุด 3.4 หมื่นคน แต่อัตราการตายต่ำมากอยู่ที่หลักสิบคนต่อวัน ติดเชื้อเยอะขึ้นแต่การเสียชีวิตไม่ได้มากขึ้น จึงเป็นเป้าหมายวัคซีนคือลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิต ขณะนี้วัคซีนฉีดไปแล้ว 80 ล้านโดส หรือฉีด 1 โดส ไปแล้ว 68% โดยคนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และมีจำนวนน้อยที่ฉีดวัคซีนครบแต่ยังติดเชื้อ
ฝรั่งเศส ในช่วงต้นปี 2564 เคยมีอัตราการติดเชื้อต่อวันสูงเป็นหลักหมื่นราย แต่เมื่อรัฐบาลปรับแผนใหม่ เน้นการฉีดวัคซีน ตอนนี้สฉีดวัคซีนได้แล้วกว่า 60 ล้านโดส ทุกวันยังฉีดวันละ 5 แสนโดส กว่าครึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 55.1% และได้รับวัคซีนครบโดส 42% ส่งผลให้ตัวเลขการติดเชื้อใหม่ลดเหลือหลักพัน และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นตัวเลขสองหลักเท่านั้น
เยอรมนี ในช่วงต้นปี 2564 เคยมีอัตราการติดเชื้อต่อวันสูงถึง 3-4 หมื่นราย แต่หลังจากเร่งระดมฉีดวัคซีน มีประชากรฉีดแล้ว 81 ล้านคน ฉีดวันละ 7 แสนโดส กว่าครึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 58.3% และได้รับวัคซีนครบโดส 42.1% ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อเหลือหลักร้อยราย และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นตัวเลขสองหลักเช่นเดียวกัน
ขณะที่รัสเซีย หลังการระบาดระลอกที่ 2 จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง โดยวัคซีนฉีดไปแค่ 45 ล้านโดส จากประชากร 145 ล้านคน มีประชากรได้รับเข็มแรก 20.4% และได้รับครบโดสเพียง 10.2% ทำให้กราฟการติดเชื้อและเสียชีวิตของรัสเซียยังเพิ่มสูง
เช่นเดียวกับประเทศไทย การติดเชื้อเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2564 มีเชื้อนำเข้าจากชายแดนเข้ามาแหล่งพนัน บ่อนไก่ ตลาด สถานบันเทิง ดูเหมือนการติดเชื้อจะลดลง แต่หลังจากเดือน เม.ย.2564 จำนวนผู้ติดเชื้อไม่เคยลงอีกเลย และกราฟวกขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 วัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตค่อยๆจากหลักเดียว เพิ่มขึ้นจนถึง 90 คน ซึ่งเป็นผลมาจากสายพันธุ์เดลต้า ทำให้การติดเชื้อมากขึ้น มีคนไข้ในโรงพยาบาลมากขึ้น สัดส่วนผู้ป่วยหนักเพิ่มมากขึ้น ศักยภาพของสถานพยาบาลเริ่มรับไม่ไหว สถานการณ์ในไทยจึงคล้ายรัสเซีย ฉีดวัคซีนได้น้อย ขณะที่การติดเชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว
"ยุทธวิธีจัดการกับโควิด จึงต้องทุบด้วยค้อน หมายความว่า ต้องใช้อะไรบางอย่างควบคุมอย่างเข้มงวด เมื่อการติดเชื้อลดลงจึงจะผ่อนคลายลงได้ ซึ่งตอนนี้ไทยเราอยู่ระหว่างการวิ่งขึ้น จนหลายคนกลัวว่าผู้ติดเชื้อทะลุหลักหมื่นคน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รีบทำอะไร ถ้าเรายังผ่อนผันธรรมดาทั่วๆไป ซึ่งคาดการณ์ไม่ได้จริงๆ สุดท้ายจะพุ่งไปถึงกี่หมื่นรายต่อวัน" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การล็อกดาวน์ประเทศจึงมีความจำเป็น ที่จะลดอัตราการติดเชื้อและลดความเสียหายจากวิกฤตที่เกินศักยภาพทางสาธารณสุข การมีมาตรการทางปกครองควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข กล่าวคือ การเฝ้่าติดตามโรค การตรวจวินิจฉัยให้เร็วว่าใครติดเชื้อ การบริหารจัดการเตียง มาตรการแยกกักตัวรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ต้องทำอย่างถูกต้อง และสำคัญมากคือมาตรการส่วนบุคคล ศึกนี้เป็นศึกของคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ต้องช่วยกันลดการติดเชื้อให้มากที่สุด
นอกจากนี้ จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากและเร็วที่ที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทบทวนการฉีดวัคซีนสลับชนิดและวัคซีนเข็มที่ 3 รวมถึงเปิดโอกาสเร่งกระบวนการจัดหาวัคซีนทางเลือก ส่วนตัวเชื่อว่าการมีวัคซีนไม่กี่ชนิด อาจสู้การมีวัคซีนหลากหลายชนิด ที่ฉีดได้มากและฉีดให้เร็วไม่ได้
"ถ้าเรามี ทั้ง 3 ยุทธวิธี คือมาตรการทางสังคม การฉีดวัคซีน และมาตรการทางการปกครองหรือล็อกดาวน์ ได้ดีพอ หวังว่าประเทศไทยจะสามารถมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญ เราจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ อยู่ที่ทุกคนร่วมมือกัน" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
@ องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำฉีดวัคซีนสลับชนิด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่การผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัคซีนใหม่ ที่อยู่ในระยะการศึกษาในคน และกลุ่มวัคซีนเดิม ที่พัฒนาให้มีคุณสมบัติสำคัญมากขึ้น มุ่งเป้าประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ และบางบริษัท ใช้เอไอเข้าไปช่วยดูว่าโควิด จะกลายพันที่จุดไหนได้อีก เพื่อพัฒนาวัคซีนให้ครอบคลุม
ระหว่างวัคซีนรุ่นที่ 2 ยังไม่ออกนั้น เริ่มมีการศึกษาวัคซีนรุ่น 1 ว่าการฉีดวัคซีนต่างเทคโนโลยีกัน ต่างแพลตฟอร์มกัน ถ้าจับคู่ดีๆ ภูมิคุ้มกันจะดีขึ้นกว่าวัคซีนชนิดเดียวหรือไม่ เริ่มมีการศึกษาในคนที่ติดโควิด และมีการจับคู่ต่างๆ เข็ม 1-2 ไม่เหมือนกัน ตอนนี้มีการจับคู่ ได้แก่ mRNA กับ ไวรัลเวกเตอร์, ไวรัลเวกเตอร์ กับ วัคซีนเชื้อตาย และ วัคซีนเชื้อตาย กับ mRNA แต่องค์การอนามัยโลกยังไม่รับรอง
"องค์การอนามัยโลกยังไม่รับรอง เพราะงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในจำนวนคนไข้ไม่เยอะนัก ยังไม่มีใครศึกษาในคนไข้ที่จำนวนมากพอ เมื่อไหร่ที่งานวิจัยหลากหลายผลออกมาตรงกัน เชื่อว่าจะถึงจุดๆ หนึ่งที่องค์การอนามัยโลกอาจจะออกนโยบาย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับคำถามที่ว่า มีการศึกษาวัคซีนสลับชนิดระหว่างเชื้อตาย กับ mRNA มีความปลอดภัยหรือไม่นั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ มีการศึกษา แต่ละประเทศ จะจับ 2 จุดว่า เมื่อไขว้แล้วประสิทธิภาพดีหรือไม่ และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มออกมาแนวเดียวกัน คือ มีแนวโน้มระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นและปลอดภัย ข้อมูลตอนนี้มีเท่านี้ โดยการศึกษาเป็นหลัก 100 คน บางงานไม่ถึงด้วยซ้ำ โดยรวมจึงเป็นเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศรับรองให้ไขว้ อยู่ที่ประเทศพิจารณาความจำเป็นและข้อมูลที่มีอยู่
"ขณะนี้ในไทย มีการศึกษาอย่างน้อย 4 โรงเรียนแพทย์ ทำงานวิจัยเรื่องนี้อยู่ โรงพยาบาลศิริราช ก็ไขว้กันหลายคู่ อยู่ๆ เราจะไม่แนะนำเลย หากไม่มีงานวิจัยรองรับ ตอนนี้ตอบก่อนงานวิจัยไม่ได้ แต่หากผลออกมาคล้ายคลึงกัน เหมือนกับในต่างประเทศ อาจจะเป็นนโยบายการฉีดวัควีนรองรับ คาดว่าผลการวิจัยจะออกมาเร็วๆ นี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับคนที่รับวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค และรอเข็มสองที่เป็นทางเลือก หรือโมเดอร์นา ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เวลาฉีดซิโนแวคเข็มเดียวภูมิคุ้มกันไม่พอ ช่วงที่รอวัคซีนทางเลือกก็มีความเสี่ยง เพราะหากถูกจู่โจมด้วยเดลตา อาจไม่ทัน
@ คาดฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยไวรัลเวกเตอร์-mRNA กระตุ้นภูมิดีเท่ากัน
ส่วนการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดข้อมูลในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทไฟเซอร์ ออกมารณรงค์กับรัฐบาลว่า อยากให้คนอเมริกันฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 3 แต่รัฐบาลดูข้อมูลหมด ได้ยับยั้งไม่ให้ฉีดเข็ม 3 เพราะคนอเมริกันอีก 40 ล้านคน ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียว
"หลักการเดียวกันกับในประเทศไทย ต้องบริหารสองอย่างคู่ขนานกันไป ทั้งเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ต้องฉีด และคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องได้รับการฉีด อย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งคิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังบริหารจัดการ ส่วนจะใช้คู่ผสมใดนั้น ต้องดูข้อมูลวิชาการ และสต็อกมีในการบริหารจัดการแค่ไหน ทั้งนี้ ตนเองเป็นอีกคนที่เห็นด้วยกับการมีวัคซีนทางเลือกตั้งแต่ต้น เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมีวัคซีนมาเติมได้ทันกับเวลา" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าบูสเตอร์โดสด้วยวัคซีนทางเลือก ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา จำเป็นหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลทางวิชาการ หากพูดถึงเข็ม 3 ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่วัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งตอนนี้กลุ่มวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ทำงานได้ดีมาก และแม้แต่ชนิด mRNA ก็กระตุ้นดีเช่นกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียง ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก ซึ่งขณะนี้เรากำลังจะมีไฟเซอร์ และภาคเอกชนจะมีโมเดอร์นา ขณะเดียวกันเราก็มีแอสตร้าเซนเนก้า จริงๆไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้อยู่ในกลุ่มนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage