สภามีมติ ส่งข้อเสนอจาก 6 ญัตติด่วน เรื่องมาตรการแก้ปัญหาโควิดให้รัฐบาลพิจารณา 'หมอชลน่าน' ย้ำ ยุบ ศบค.เป็นข้อเสนอ ไม่ใช่มติสภา แนะรัฐบาลยอมรับผิดพลาด - เร่งแก้ปัญหา ขณะที่ ปชป.เตือนอย่าผลีผลามล็อกดาวน์เหมารวมทั้งประเทศ 'สมคิด เชื้อคง' ซัดปิดแคมป์คนงาน ทำต่างจังหวัดระบาดหนัก 'นิกร' ค้านยุบ ศบค. ห่วงฆ่าม้ากลางศึกทำให้แพ้ ‘วิโรจน์’ จี้ซื้อวัคซีน mRNA - หยุดซื้อซิโนแวค ขณะที่ 'กรวีร์' แนะรัฐบาลสื่อสารให้ชัดหากล็อกดาวน์จะเยียวยาประชาชนอย่างไร
--------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564 เวลาประมาณ 13.40 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายญัติด่วน เรื่องมาตรการแก้ปัญหาโควิด ที่มี ส.ส.หลายคนเป็นผู้เสนอ
@ 'หมอชลน่าน' ย้ำ ยุบ ศบค.เป็นข้อเสนอ ไม่ใช่มติสภา
เมื่อเวลา 20.30 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปในฐานะผู้เสนอญัตติด่วน ว่า การเสนอญัตติด่วนนั้น เราต้องการให้สภาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด รวมถึงการบริหารงานของ ศบค. โดยสภาจะมีมติส่งข้อเสนอทั้งหมดให้รัฐบาลรับทราบและพิจารณาดำเนินการ โดยมติของสภาเป็นเพียงการส่งข้อเสนอ ไม่ใช่มีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านั้น เพราะมีสมาชิกหลายคนกังวลว่า ข้อเสนอยุบ ศบค.จะถือเป็นมติ ศบค.หรือไม่ ซึ่งก็ยืนยันว่า ไม่ใช่มติ แต่เป็นข้อเสนอของ ส.ส.แต่ละคนเท่านั้น
นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำว่า ข้อเสนอโดยรวมของ ส.ส.แยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.มาตรการแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์การสาธารณสุข คือ ให้มีการจัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็วใน กทม.เพื่อสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว เสนอให้คน กทม.ควรได้ตรวจทุกคน เร็วที่สุดก็เสนอให้ใช้ rapid test ที่อ่านผลได้ภายใน 5 นาที เสนอให้จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ประชาชน เสนอให้กระจายและบริหารวัคซีนในการเลือกกลุ่มเป้าหมาย ส่วนมาตรการล็อกดาวน์หรือกึ่งล็อกดาวน์ หากจะทำต้องมีมาตรการรองรับ เช่น ตรวจเชิงรุก แยกผู้ติดเชื้อ หากไม่ทำ ก็จะไม่มีประโยชน์ รวมถึงการส่งตัวผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดกลับบ้าน 2.การเยียวยา พูดกันเยอะและขอไม่ลงรายละเอียด
3.ข้อเสนอการบริหารจัดการ เช่น การปรับโครงสร้าง ศบค. หรือ การสื่อสารต้องบอกข้อเท็จจริง ปฏิบัติได้ ไม่โลเล หากทำไม่ได้ สมาชิกบางคนก็เสนอว่าควรยุบ ศบค. แล้วก็หาวิธีการอื่นตามกฎหมายปกติมาดำเนินการแทน
“ขอกราบเรียนว่า เราไม่ได้มีมติให้ยุบ ศบค. แต่สภามีมติส่งไปให้พิจารณา โดยภาพรวมแล้ว มาตรการและแนวทางการแก้ปัญหา มั่นใจว่าฝ่ายสภาทำข้อเสนอที่ชัดเจน และจัดส่งให้รัฐบาล เท่าที่ฟังมาก็ไม่มีสมาชิกท่านใดที่จะคัดค้าน หวังว่ามาตรการที่เสนอไปจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติบ้านเมือง” นพ.ชลน่าน กล่าว
@ แนะรัฐบาลยอมรับผิดพลาด - เร่งแก้ปัญหา
ขณะที่ นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การอภิปรายในช่วงที่ผ่านมา สามารถสรุปประเด็นได้ ดังนี้ 1.อยากให้รัฐบาลยอมรับข้อผิดพลาดและเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วน บอกความจริงกับประชาชน และสร้างเสริมความเชื่อมั่น 2.เร่งนำเข้าวัคซีนคุณภาพสูง และหลากหลาย โดยเฉพาะชนิด mRNA ฉีดให้ครอบคลุมประชาชนและประชากรแฝง รวมถึงพิจารณาฉีดเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรแพทย์ด่านหน้า 3..ป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อเข้าจากต่างประเทศในทุกรูปแบบ 4.มีมาตรการขั้นสูงสุดให้ทุกพื้นที่มีนโยบายรับผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวโดยสมัครใจ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและส่งต่อที่ชัดเจน 5.ขอความร่วมมือภาคเอกชนตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับสถานการณ์ 6.การล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงต้องมีมาตรการชัดเจน การเยียวยาที่ชัดเจน 7.ใช้งบประมาณเยียวยาเป็นไปด้วยความโปร่งใส 8.ทบทวนนโยบายจัดเก็บภาษีจากการจัดเก็บภาษีอย่างเข้มงวดทุกระดับ แต่เยียวยาประชาชนแบบชิงโชค และ 9.เพิ่มสวัสดิการให้กำลังใจกับบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเบี้ยเสี่ยงภัยที่ยังไม่ได้กันมาหลายเดือน
@ ปชป.เตือนอย่าผลีผลามล็อกดาวน์เหมารวมทั้งประเทศ
ด้านนายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เท่าที่ฟัง ส.ส.อภิปรายกันอย่างกว้างขวางสามารถสรุปได้ 5 ประเด็น คือ 1.เสนอทบทวนโครงสร้าง ศบค.ที่มีการอภิปรายว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาโควิด และอาจกลับไปใช้การบริหารราชการปกติที่มีรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ 2.ขอให้คืนอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับมือกับปัญหาโควิด โดยรัฐบาลคอยสมทบอย่าให้ขาดแคลน มอบภารกิจให้หาสถานที่เสี่ยง บุคคลเสี่ยง ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงต่อไป 3.ปัญหาจัดสรรวัคซีน รัฐบาลต้องกล้าหาญในการควบคุมการส่งออกวัคซีนไปต่างประเทศ ทบทวนการนำเข้าวัคซีน mRNA และอย่าให้ประชาชนต้องเสียเงินในการฉีดวัคซีนหลัก 4.อย่าผลีผลามล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทั้งจังหวัดเหมือนเดิม ขอให้ล็อกดาวน์เป็นรายชุมชน 5.การเยียวยา ขอให้ท้องถิ่นบางส่วนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเขารู้ปัญหา และขอให้เยียวยาเป็นเงินสด อย่าเป็นแอปพลิเคชัน เพราะชาวบ้านไม่รู้จัก รวมถึงการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย
สำหรับผลการลงมติ ที่ประชุมสภาเห็นชอบให้ส่งญัตติที่สภาพิจารณาไปให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยไม่มีผู้เห็นแย้ง จากนั้นประธานจึงสั่งปิดการประชุม
@'สมคิด' ซัดปิดแคมป์คนงาน ทำต่างจังหวัดระบาดหนัก
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องโควิดไม่ทราบว่าจะเป็นเรื่องเกินเลยหรือเกินเยียวยา กราบเรียนว่าความล้มเหลวของรัฐบาลที่หลายคนคงจะพูดคล้ายๆกัน คือ ไม่มีทางเห็นช่องทางหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการบริหารจัดการวัคซีนและแก้ปัญหาโควิด เรื่องหนึ่งที่ติดใจก็คือ การปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งความเข้าใจในบริบทของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ไม่ได้เข้าใจเรื่องแคมป์คนงาน พอสั่งปิด แต่ก่อนปิดประกาศล่วงหน้าเหมือนส่งสัญญาณ กลายเป็นผึ้งแตกรัง ออกต่างจังหวัดกันหมด ทั้งนี้ขอย้ำว่า แคมป์คนงานไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นที่นอน เพราะเช้าไปทำงาน เย็นมาก็เข้านอน เขาใช้เท่านั้น ใครกะไหนก็ใช้นอนทดแทนกัน ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ดังนั้นการปิดแคมป์ถือว่าคิดน้อยไปหน่อย คิดไม่ละเอียด และที่สำคัญเมื่อปิดแล้ว ไม่มีการก่อสร้างโครงสร้างไหนหยุดได้ทันที การสั่งหยุดทันทีจะทำให้มีปัญหา เพราะไม่ใช่เฉพาะคนงาน แต่คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ ต่อมาอีก 10 กว่ารัฐบาลเปิดช่องให้เฉพาะเรื่อง กลายเป็นนโยบายรายวัน ไม่คิดภาพรวม กลายเป็นภาพที่ออกมาเป็นคนขาดความเชื่อมั่น
นายสมคิด กล่าวย้ำว่า การปิดแคมป์คนงาน ทำให้คนหลั่งไหลไปต่างจังหวัด ยกตัวอย่าง จ.อุบลราชธานี หลังจากปิดแคมป์คนงาน 10 กว่าวัน ถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 876 ราย เฉพาะวันที่ 8 ก.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อ 65 ราย และเดินทางจาก กทม. 63 ราย เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าโควิดขยายไปที่ต่างจังหวัดและเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่มาตรการฉีดวัคซีน จ.อุบลราชธานี ตั้งเป้าจะฉีด 1.1 ล้านคน แต่ฉีดได้จริง 8.5 หมื่นคน เพราะได้รับจัดสรรมาน้อยมาก
“ขนาดว่าวัคซีนไม่ดี ยังซื้อเพิ่มอีก 6 พันล้านบาท ซิโนแวค อย่างนี้ประชาชนรับไม่ได้ บ้านเรา เมืองเรา อะไรที่ไม่ดี ทำไมยัดเข้ามา ทำไมรู้ว่าไม่ดี ถึงซื้อเพิ่ม ทำไมไม่ซื้อเพิ่มในสิ่งที่ดี” นายสมคิด กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้ การอภิปรายพยายามหลีกเลี่ยงการวิจารณืที่จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นที่เป็นเจ้าของวัคซีน อย่าไรก็ตามในทางความสัมพันธ์ การที่เขาช่วยเหลือมาก็ดี ก็เป็นเรื่องหนึ่ง หากไปวิจารณ์ในทางลบมากจะกระทบกับความรู้สึก จึงขอเรียนทุกท่านด้วยความเคารพ
@ ค้านยุบ ศบค. ห่วงฆ่าม้ากลางศึกทำให้แพ้
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาโรคระบาดครั้งนี้มีลักษณะเป็นพิเศษ มีความเปลี่ยนแปลงและเพิ่มความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้การป้องกันและรักษาโรคต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอาการ วัคซีน ยา บุคลากรแพทย์ก็ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ ทำให้ที่ผ่านมาเหมือนผิดพลาดล้มเหลว ทั้งนี้กระทบต่อภาพการจัดการของผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ขอเสนอแนวทางแก้ไข รัฐต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ตรงไหนผิดพลาดก็ยอมรับความจริงด้วยเหตุด้วยเหตุผลว่า ณ ขณะนั้น สถานการณ์นั้น จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างนั้นก็เชื่อว่าจะดึงความเข้าใจของประชาชนกลับมาได้ และขอเสนอให้ย้อนกลับไปพัฒนาระบบสาธารณสุขท้องถิ่นของไทย
“ผมขอชื่นชมที่หลายจังหวัดที่ประกาศว่า ประชาชนที่มีอาการป่วยขอให้กลับไปที่บ้าน นี่เป็นการผ่อนคลายปัญหาเมืองหลวงให้บางลง แต่ว่าจะต้องมีการช่วยสนับสนุนให้ดี ต้องเติมทุกสิ่งให้ครบ และไม่เห็นด้วยกับการยุบ ศบค. เพราะยังเป็นหน่วยหลักในการบริหาร single command เพราะจะไม่ใช่การเปลี่ยนม้ากลางศึก แต่จะเป็นการฆ่าม้ากลางศึกจะทำให้เราแพ้ได้ ดังนั้นขอให้รัฐบาลนั่งลงพูดคุยประชาชน เริ่มต้นกันใหม่ด้วยความจริงใจ เราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้” นายนิกร กล่าว
@ ‘วิโรจน์’ จี้ซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพ - หยุดซื้อซิโนแวค
เมื่อเวลา 15.20 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา วันนั้นมีผู้ป่วยหายป่วยกลับบ้านมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ แต่หลังจากนั้นวันนั้นมีผู้ติดเชื้อมากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้าน ณ วันที่ 19 มิ.ย.มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 31,482 ราย วันนี้มีผู้ป่วย 69,619 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เพียงแค่ 19 วัน และจะเป็นอย่างนี้ต่อไป มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ศบค.ก็ยอมรับว่าจะมีป่วยเพิ่มขึ้นถึงหลักหมื่น โดยผู้ป่วยแต่ละคน กว่าจะรอผลตรวจ กว่าผลตรวจจะออก กว่าจะถึงมือหมอ มีอาการหนักทั้งสิ้น จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบว่า ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก บุคลากรทำงานหนักมาก รัฐบาลจะใช้มาตรการเดิม วิธีคิดเดิมรับมือสถานการณ์ไม่ได้อีกแล้ว จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อันดับแรก ขอแนะนำไปที่รัฐบาล แม้เขาจะไม่ฟังก็ตาม แต่ขอให้สภาบันทึกเอาไว้ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน มิ.ย. ตามแผนการส่งมอบ ต้องส่งมอบ 6,333,000 โดส แต่จากการนับ ส่งมอบมาเพียง 5,370,000 โดส ขาดส่งไป 961,900 โดส เกือบ 1 ล้านโดสที่ขาดการส่งมอบ หมายถึงการปกป้องชีวิตประชาชนเกือบ 1 ล้านคน แต่รัฐบาลกลับให้ข่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จะกันกำลังการผลิตให้กับประเทศไทย แค่ 1 ใน 3 จาก 180 ล้านโดสต่อปี เมื่อมาคำนวณ พบว่า 180 ล้านโดสต่อปีหาร 12 เดือนได้ 15 ล้านโดสต่อเดือน เมื่อคิด 1 ใน 3 พบว่าจัดส่งแค่ 5 ล้านโดสต่อเดือน แล้วที่รัฐบาลบอกว่า แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จะส่งวัคซีนให้ไทยเดือนละ 10 ล้านโดส วันนี้ทำไม่ได้แล้วใช่หรือไม่
“เงื่อนไขตามหนังสือของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาทให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ในการผลิตวัคซีน โดยมีเงื่อนไขว่า จะส่งวัคซีนให้กับไทยเป็นลำดับแรกตามความต้องการก่อน ส่วนที่เหลือจึงส่งออกไปยังภูมิภาค แสดงว่านี่คือการหลอกเอาเงินภาษีประชาชนไปอุดหนุนเอกชนโดยที่ไม่ทำตามสัญญาหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญมาก รัฐบาลจะต้องกล้าหาญที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ด้านวัคซีนเพื่อบังคับเอาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามแผนการส่งมอบให้ได้ เพื่อปกป้องชีวิตประชาชนคนไทย” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 7 ก.ค.2564 มีการตีพิมพ์งานวิจัยใน The New England Journal of Medicine ถึงประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคที่ประเทศชิลี หากอ่านเฉพาะบทสรุปจะรู้สึกว่ามีประสิทธิภาพดี แต่เรียนว่า หากอ่านส่วนเพิ่มเติม จะมีงานวิจัยที่วิจัยประสิทธิผลวัคซีนไฟเซอร์ โดยใช้วิธีวิจัยเดียวกัน ปรากฏว่า การป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเข้าโรงพยาบาล การป้องกันการเสียชีวิต วัคซีนไฟเซอร์ ดีกว่าวัคซีนซิโนแวคทุกประตู ดังนั้นสอดคล้องกับข้อเสนอแนะ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย , ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้แนะนำรัฐบาล ก็หวังว่าจะรับฟังและเร่งจัดหาวัคซีนชนิด mRNA ได้ฉีดแบบไม่มีค่าใช้จ่าย หากรัฐบาลจะดื้อดึงจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ขอยืนยันว่า ช่วงเวลาที่ทำการวิจัย ไม่ได้เกิดในช่วงที่สายพันธุ์เดลต้าระบาด ณ วันนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบ ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ที่บ่งชี้ถึงประสิทธิของซิโนแวคกับเชื้อสายพันธุ์เดลต้า
“กันตาย แต่ไม่กันติดไม่ได้ สิ่งที่น่ากลัววันนี้คือ ติดแต่ไม่ตาย แต่ยังคงปะปนกับคนในสังคมและแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ วันนี้สุดท้าย มาตรการใดๆของรัฐบาลก็ตาม หากไม่เร่งตรวจเชิงรุก ไม่ยอมให้คนไทยเข้าถึงการตรวจอย่างกว้างขวาง ปล่อยให้ประชาชนนอนตามริมฟุตบาท ริมกำแพงวัด เพื่อรอการตรวจวัดละหลักร้อยคน แบบนี้สกัดกั้นการระบาดไม่ได้ ทำ home isolation เอายาไปให้กับเขาที่บ้านสำหรับคนที่ไม่มีอาการ น่าจะเป็นทางออก หยุดซื้อซิโนแวค จัดซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพในการปกป้องประชาชน” นายวิโรจน์ กล่าว
@ ภท.แนะสื่อสารให้ชัดล็อกดาวน์ - เยียวยาประชาชน
เมื่อเวลา 18.10 น. นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันนี้ ตนได้ติดต่อหาเตียงให้กับคนจังหวัดอ่างทอง เชื่อว่า ส.ส.หลายคนเจอสภาพแบบเดียวกัน นี่คือสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาระยะสั้น การเผชิญหน้ากับปัญหาเตียงเต็ม ยังไม่น่ากลัวเท่ากับการไม่มีหมอ ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ในการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น คำว่าด่วน หมายถึงวันนี้ ตอนนี้ และเดี๋ยวนี้ ส่วนเรื่องวัคซีน ตนเข้าใจว่าประชาชนอยากได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และเข้าใจรัฐบาล เพราะวัคซีนไม่ได้หาซื้อง่ายเหมือนยาแก้ปวดในท้องตลาด มีขั้นตอนการจอง การสั่ง แต่สิ่งที่ประชาชนอยากจะเห็นคือความพยายามที่มากกว่านี้ของนายกรัฐมนตรี ของ ศบค. ที่จะยืนยันให้กับประชาชนว่าเขาทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถในการหาวัคซีนแล้ว
"ส่วนการกระจายวัคซีน ผมเคยพูดในสภาว่า การกระจายวัคซีนหากเราระดมฉีดใน กทม.และหวังว่าการแพร่ระบาดมันจะยุติ แต่วันนี้เราระดมฉีดใน กทม.มา 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และต้องไม่ลืมว่าทุกเข็มที่ฉีดให้คน กทม. คือวัคซีนที่ดึงมาจากต่างจังหวัด วันนี้คนต่างจังหวัดจากพื้นที่สีขาว บางพื้นที่เป็นพื้นที่สีเหลือง และกำลังจะกลายเป็นพื้นที่สีแดง ดังนั้นการกระจายวัคซีนในต่างจังหวัดจึงมีความจำเป็น สำคัญ และเร่งด่วนในสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน" นายกรวีร์
นายกรวีร์ กล่าวย้ำว่า ได้ยินข่าวตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเที่ยงว่า มีการเสนอมาตรการในการปิดพื้นที่บางส่วนให้กับ ศบค. ที่จะมีการประชุมด่วนในวันที่ 9 ก.ค. ตนเข้าใจและเชื่อว่าประชาชนเข้าใจว่าทำไมรัฐบาลต้องตัดสินใจหากต้องล็อกดาวน์ เพราะผู้ติดเชื้อไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่อยากจะสะท้อนให้กับรัฐบาลว่า เราไม่สามารถล็อกดาวน์เหมือนปีที่ผ่านมา และปล่อยให้ประชาชนอดตายได้ ท่านต้องล็อกดาวน์ พร้อมกับมาตรการที่มาบอกประชาชนว่ารัฐบาลจะดูแลเขา ถ้าห้ามออกจากบ้าน ภาระหนี้สิน ประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำจะเอารายได้จากไหน นี่คือโจทย์ใหญ่และมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำหากต้องตัดสินใจปิดพื้นที่บางส่วน ล็อกดาวน์บางพื้นที่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/