ทีมแพทย์ จุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด'COVID-19 SCAN'จากการทดสอบกลุ่มตัวอย่างกว่า 200 ราย พบแม่นยำสูง 98% รับมือการตรวจหาเชื้อโควิดกลายพันธุ์ได้ ผ่าน ชี้ผ่านการรับรองและอนุญาตให้ผลิตจาก อย. พร้อมให้หน่วยงานทางการแพทย์ได้ใช้ในราคาต้นทุน
...............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2564 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวผลสำเร็จวิจัยพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโควิด 'COVID-19 SCAN' จากความร่วมมือระหว่างหน่วยปฏิบัติการวิจัยจุลชีววิทยาเชิงระบบ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านชีววิทยาเชิงระบบ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และ บริษัท ไมโคร อินเจคชั่น จากัด (ประเทศไทย)ผู้ผลิต โดย รศ.ดร.สัญชัย พยุงภร ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งมีมาตรฐานการตรวจคัดกรองโควิดด้วยเทคนิค Real-time PCR แต่วิธีดังกล่าวมีต้นทุนสูง จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือที่มีราคาแพงและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอยู่อย่างจำกัดในโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น ทำให้การตรวจคัดกรองนั้นไม่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยส่วนเฉพาะในชนบท
คณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิดที่มีชื่อว่า COVID-19 SCAN ขึ้นมา ที่มีราคาถูก ใช้งานง่าย ประมวลผลได้เร็ว และมีประสิทธิภาพใกล้เคียงเทคนิค Real-time PCR ซึ่งผ่านการรับรองและอนุญาตให้ผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เลขที่ T6400049 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2564 แล้ว
โดยชุดตรวจคัดกรองดังกล่าวสามารถตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโควิดจากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ เช่น ตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจ (Nassopharyngeal Swab หรือ Throat Swab) หรือตัวอย่างน้ำลายที่ผ่านการสกัดสารพันธุกรรมและการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมภายใต้อุณหภูมิเดียวกัน (isothermal amplification) โดยชุดตรวจนี้จะตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยระบบ CRISPR-Cas12a หากตรวจเจอสารพันธุกรรมโควิดจะเกิดการเรืองแสงขึ้น ภายใต้เครื่องกำเนิดสีฟ้า อย่างไรก็ตามหากพบผลบวก จำเป็นต้องยืนยันผลด้วยวิธี real-time PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการตรวจด้วยวิธี real-time PCR ที่มีจำนวนเครื่องและน้ำยาอยู่อย่างจำกัด
"ปัจจุบันในประเทศไทยมีชุดตรวจคัดกรองโควิด ทั้งหมด 3 แบบ คือ ตรวจสารพันธุกรรม หรือ real-time PCR, Antibody Test และ Rapid Test โดยชุดตรวจคัดกรองโควิด COVID-19 SCAN ที่ได้วิจัยพัฒนาขึ้น อยู่ในกลุ่มเดียวกับวิธีการตรวจสารพันธุกรรม โดยมีการประยุกต์ให้เครื่องมือมีราคาที่ถูกลงกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับราคาตรวจด้วย real-time PCR ดังนั้นจึงสามารถผลิตได้ในต้นทุนราคาถูก" รศ.ดร.สัญชัย กล่าว
ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยทางคลินิกมีความจำเพาะ 100% ความไว 96.23% และมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัย 98.78% ใกล้เคียงกับเทคนิค Real-time PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน ในขณะที่ชุดตรวจแบบ Rapid test ไม่ได้เป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส จึงมีความไวน้อยกว่า
รศ.ดร.สัญชัย กล่าวอีกว่า นอกจากการตรวจคัดกรองในสายพันธุ์ดั้งเดิม ปัจจุบันได้ทดสอบชุดตรวจ COVID-19 SCAN กับสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ), สายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) และสายพันธ์เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้)แล้ว พบว่าชุดตรวจสามารถให้ผลบวกต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้ แต่ไม่ได้สามารถระบุจำแนกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใด
“สำหรับระยะเวลาในการทราบผล หากมีตัวอย่างไม่มาก กระบวนการตั้งแต่การสกัดสารพันธุกรรม การตรวจด้วยชุดตรวจ COVID-19 SCAN จนถึงการรายงานผล จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่มีตัวอย่างจำนวนมากอาจใช้เวลามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองใช้จริงในหน่วยไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กว่า 100 ราย และกลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 164 ราย พบประสิทธิภาพความแม่นยำถึง 98%” ดร.สัญชัย กล่าว
ดร.นพัต จันทรวิสูตร อาจารย์ประจำภาควิชา ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับน้ำยาที่ใช้กับชุดตรวจ COVID-19 SCAN เป็นการผสมวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผ่านกระบวนการจำเฉพาะของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งชุดตรวจจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 เดือน และเน้นการตรวจด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลาย
สำหรับการเก็บตัวอย่างน้ำลายนั้น ดร.นพัต กล่าวว่า จะใช้การบ้วนน้ำลายลงในภาชนะเก็บ สามารถเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเองจากที่บ้าน และนำส่งที่ห้องปฏิบัติการ ถือเป็นวิธีการที่สะดวก และไม่ต้องเผชิญกับการระคายเคืองหรือเจ็บเหมือนอย่างการ Swab แต่มีข้อจำกัดว่าต้องงดดื่มน้ำและอาหารก่อนเก็บตัวอย่าง 30 นาที
"ในอนาคตอาจพัฒนาให้ผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างน้ำลายตนเองจากที่บ้าน เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีบุคลากรสามารถใช้งานชุดตรวจคัดกรองโควิดนี้ได้ และรายงานผลผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อรองรับประชาชนที่อยากตรวจโควิดแต่ไม่มีอาการ" ดร.นพัต กล่าว
ส่วนการจำหน่ายชุดตรวจคัดกรอง COVID-19 SCAN ยังไม่มีจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป เนื่องจากชุดตรวจคัดกรอง COVID-19 SCAN จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต้องทำการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ดังนั้นการใช้งานชุดตรวจจึงอยู่ในสถานพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หากบุคคลทั่วไปสนใจทำการตรวจ สามารถติดต่อยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการใช้งานชุดตรวจคัดกรอง COVID-19 SCAN ในระดับการคัดกรองได้ อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานทางการแพทย์ ต้องการชุดตรวจคัดกรอง COVID-19 SCAN สามารถ ติดต่อ บริษัท ไมโคร อินเจคชั่น จำกัด ผู้ผลิตได้
ภาพจาก: ไทยโพสต์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/