'อินเดีย-เคมบริดจ์' เผยผลการศึกษาไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าสามารถหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนรวมถึงการติดเชื้อก่อนหน้าได้ดีกว่าโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 8 เท่า -ด้าน'มาเลเซีย' ห่วงโควิดแลมบ์ด้าระบาดหนักกว่าเดลต้า ขณะ WHO แจงยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่าแพร่เชื้อดีกว่าจริงหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสว่าที่ประเทศอินเดียได้มีการร่วมมือศึกษาไวรัสโควิด-19 กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดยผลการศึกษาได้เปิดเผยว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นมีประสิทธิภาพความต้านทานต่อสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีของวัคซีนได้ดีกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 8 เท่า และมีรายงานด้วยว่าการกลายพันธุ์ในจุด K417N ของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสนั้นจะส่งเสริมความสามารถของไวรัสในการยึดเกาะเพื่อที่จะแพร่เชื้อให้กับเซลล์ ซึ่งการกลายพันธุ์ดังกล่าวนั้นจะส่งผลทำให้ไวรัสสามารถที่จะหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนได้
ทั้งนี้จากการศึกษาร่วมกันของนักวิจัยจากอินเดียและนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันภูมิคุ้มกันบำบัดและโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่าจากข้อมูลในหลอดทดลองนั้นพบว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นมีความตอบสนองต่อสารภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนน้อยกว่าถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งข้อสรุปของการศึกษาก็คือว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นมีความสามารถในการแพร่เชื้อที่ดีกว่าและสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดขึ้นกับการติดเชื้อก่อนหน้านี้ได้ ดังนั้นบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวน 2 โดสแล้วก็ไม่ควรที่จะละเลยต่อมาตรการการป้องกันไวรัสแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าเนื่องการกลายพันธุ์ที่เกิด ณ บริเวณโปรตีนหนามที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแนบไปกับเซลล์ที่เยื่อบุผิวปอดได้เพิ่มมากขึ้นนั้นจึงทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้อในกลุ่มประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ต้นแบบที่พบที่เมืองอู่ฮั่น และยังมีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่พบในประเทศอังกฤษก่อนหน้านี้
โดยมีการคาดการณ์กันว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดตัวเลขของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวนั้นก็น่าจะมีจากเรื่องขีดความสามารถของการหลบหลีกต่อสารภูมิคุ้มกันของไวรัสที่สามารถจะหลบหลีกสารภูมิคุ้มกันที่เกิดในกลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาทุกการศึกษานั้นพบว่า โอกาสที่จะเกิดอาการป่วยที่ร้ายแรงและการเสียชีวิตจากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวนั้นอยู่ในกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงมีความเชื้อกันว่าการฉีดวัคซีนนั้นจะยังคงช่วยในเรื่องของการป้องกันโรคที่มีอาการปานกลางจนถึงรุนแรงได้ สำหรับกรณีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า
ส่วนสถานการณ์อื่นๆนั้นมีรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ทางกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ เตือนว่า ไวรัสโควิดแลมบ์ด้า ที่พบในประเทศเปรูครั้งแรก เป็นอันตรายมากกว่าเชื้อเดลต้า ซึ่งสร้างปัญหาด้านสาธารณสุขให้กับหลายประเทศในเอเชียอยู่ในเวลานี้ โดยระบุว่า มีการตรวจพบเชื้อแลมบ์ด้าแล้วในกว่า 30 ประเทศในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
“สายพันธุ์แลมบ์ด้า นั้นตามรายงานระบุว่า เริ่มต้นตรวจพบครั้งแรกในประเทศเปรู ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิต(คิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากร)สูงที่สุดในโลก” ทวิตเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียตั้งข้อสังเกต พร้อมกับโพสต์ลิงค์ เชื่อโยงไปยังรายงานในออสเตรเลียที่ระบุว่า พบการระบาดของเชื้อแลมบ์ด้าในสหราชอาณาจักรแล้ว 6 ราย พร้อมทั้งระบุด้วยว่า นักวิจัยกำลังเป็นกังวลว่า เชื้อกลายพันธุ์แลมบ์ด้า อาจแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อเดลต้าด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ด้า สามารถแพร่ได้เร็วกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/