ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดวิทยา เผยไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังเผชิญกับสายพันธุ์เดลต้า คาดอีก 3 เดือนผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้น ชี้หากไม่ปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เน้น 'ผู้สูงอายุ- 7โรคเสี่ยง' แทนยุทธศาสตร์ปูพรมหวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สัดส่วนการตายจากโควิดจะยิ่งพุ่ง
......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 กระทรวงสาธารณสุข จัดเสวนาเรื่อง วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.คำนวน อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2564 ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะมีการเปิดประเทศ หรือการระบาดของโรคจะหนักขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถเปิดประเทศได้
โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ซึ่งมีความรุนแรง และแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดในไทยกว่า 1.4 เท่า ซึ่งจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า แนวโน้มผู้ติดเชื้อจะมีมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันพบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในกรุงเทพอยู่ที่ประมาณ 40% แล้ว ซึ่งในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้สายพันธุ์เดลตาจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยได้
"เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโควิด 992 ราย ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ จะส่งผลให้เดือน ก.ค. จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 1,400 คน และเดือน ส.ค. 2,000 ราย และพอถึงเดือน ก.ย. จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 2,800 ราย ซึ่งสถานการณ์สาธารณสุขที่มีผู้เสียชีวิต 992 รายนั้น ทำให้ระบบเดินต่อไม่ได้ เราไม่สามารถไปรอด” นพ.คำนวณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีทางออก เนื่องจาก 80% ของผู้ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งหากสามารถปกป้องประชาชนกลุ่มนี้ได้ จะสามารถลดยอดผู้เสียชีวิตได้จำนวนมาก โดยจากการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ 100 ราย จะมีสัดส่วนการเสียชีวิต 10 ราย แต่ในกลุ่มที่มีอายุน้อยติดเชื้อ 1,000 ราย จะมีสัดส่วนการเสียชีวิต 1 ราย
นพ.คำนวน กล่าวอีกว่า เดิมประเทศไทยเคยวางยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แบบปูพรม แต่การที่ทำแบบนั้นได้ เราจะต้องมั่นใจได้ว่า 70% นั้น จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้จริงๆ ซึ่งในภายหลังนักวิชาการต่างเริ่มบอกกันว่าไม่ได้ ขณะที่อังกฤษในตอนนี้เริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 70% คงไม่พอ ต้องให้ถึง 90% เลยทีเดียว และต้องใช้วัคซีนที่ดีมากๆ ด้วย
"แต่หากประเทศไทยต้องการลดอัตราการเสียชีวิตยังสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ คือ ใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า เร่งฉีดให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน เพื่อลดอาการป่วย และลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด" นพ.คำนวน กล่าว
ทั้งนี้หากประเทศไทยยังใช้ยุทธศาสตร์เดิม จากการฉีดวัคซีนในเดือนที่ผ่านมาแล้วกว่า 10 ล้านโดส โดยในจำนวนนี้มีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 2 ล้านคน หรือเพียง 10% จึงอาจต้องใช้ระยะเวลากว่า 7-8 เดือนจึงจะสามารถป้องกันกลุ่มผู้สูงอายุได้ครบ แต่หากสามารถเดินตามยุทธศาสตร์เร่งฉีดให้ผู้สูงอายุก่อน ในเดือน ส.ค. จะสามารถลดสัดส่วนผู้เสียชีวิตลงเหลือเดือนละ 800 ราย และคาดการว่าในเดือน ก.ย. จะมีผู้เสียชีวิตเดือนละ 600-700 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ทางสาธารณสุขสามารถรองรับได้
ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ไทยมีการวางแผนในการจัดหาวัคซีนและขยายศักยภาพในการฉีดวัคซีน โดยการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของทาง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือน ส.ค. คาดสามารถผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ราว 16 ล้านโดสต่อเดือน อย่างไรก็ตามจำนวนนี้จำเป็นต้องส่งมอบวัคซีนบางส่วนให้ประเทศอื่นๆ ด้วยตามนโยบายของแอสตร้าเซนเนก้า
ในเดือน มิ.ย. ไทยได้มีการทำข้อตกลงกับทางแอสตร้าเซนเนก้าว่าจะไม่ส่งวัคซีนให้ประเทศอื่น โดยในช่วงแรกของเดือน มิ.ย. ได้มีการส่งมอบวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดสครบแล้ว แต่ในเดือนก.ค.วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าจะมีไม่ถึง 10 ล้านโดส อย่างไรก็ตามไทยไม่สามารถยุติการส่งออกได้ เนื่องจากอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในสัญญาระหว่างไทย และแอสตร้าเซนเนก้าระบุจำนวนวัคซีนที่ไทยจะได้รับในปี 2564 จำนวนทั้งหมด 61 ล้านโดส
"เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนไม่เพียงพอ ประเทศไทยจึงต้องทำการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มทั้งวัคซีนซิโนแวค วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม รวมถึงวัคซีนชนิด mRNA ที่เดิมประเทศไทยได้มีการเจรจาจองวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อจัดสรรให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน กับทางบริษัทไฟเซอร์ตั้งแต่เดือน มิ.ย. และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาสั่งซื้อจำนวน 20 ล้านโดสในปี 2564 โดยล่าสุดทางไฟเซอร์ระบุว่าจะมีการส่งมอบวัคซีนให้ในไตรมาส 4/2564 หรือตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไป โดยระยะเวลาที่ถูกเลื่อนออกไป ด้วยข้อกำจัดของวัคซีน ถ้าผลิตไม่มากพอเท่าที่คาดการณ์ กระบวนการทุกอย่างอาจถูกเลื่อนไป" นพ.นคร กล่าว
นอกจากนี้ นพ.นคร กล่าวอีกว่า ยังจะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูตหรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ เช่น วัคซีนของประเทศคิวบา ซึ่งเป็นซับยูนิตโปรตีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 92% และค่อนข้างปลอดภัย หรือวัคซีน mRNA เคียวร์แวคของเยอรมัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสถาบันวัคซีนกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่ 3 ของวัคซีนทุกชนิด รวมถึงอยู่ระหว่างการวิจัยเรื่องการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดด้วย ซึ่งการศึกษาจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน โดยกลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นกลุ่มแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกันนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาการฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กเพื่อเป็นทางเลือกในอนาคตด้วย เพื่อรองรับการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์
สำหรับประสิทธิผลของวัคซีนโควิดที่ไทยนำเข้า นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่มาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นวัคซีนเฉพาะกิจที่เข้ามาในช่วงแรกของการแพร่ระบาดในโควิด โดยในการศึกษาวิจัยพบว่ามีประสิทธิผล คือ การใช้ในชีวิตจริง 71-91% ในการป้องกันโรค และผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด จะมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เมืองหนึ่งในประเทศบราซิล ที่มีประชากร 70,000 - 80,000 คน เขาฉีดไปได้ 80-90% อัตราการตายของเขาลดลงไป 95% ซึ่งในบราซิลเองนั้น มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ P1 ด้วย
ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน มี.ค.2564 มีอัตราการเสียชีวิตของบุคลากรการแพทย์ลดลง แต่ไม่นานมานี้กลับมีข่าวพบบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดครบ 2 เข็ม เสียชีวิต โดยพบข้อน่าสังเกตว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดนั้น เป็นสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ซึ่งเมื่อ 4-5 วันที่ผ่านมา เพิ่งมีผลการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคต่อสายพันธุ์เดลต้า ของประเทศจีนออกมา ระบุว่า สามารถลดการติดเชื้อในผู้สัมผัสได้ 69% ลดการเป็นปอดอักเสบได้ 73% ลดการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 95% ส่วนข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคต่อสายเบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) ยังไม่มีรายละเอียด
"สรุปได้ว่า วัคซีนซิโนแวคยังเป็นวัคซีนที่ใช้ได้ สามารถป้องกันป่วย ป้องกันการเสียชีวิตได้ แม้จะยังพบผู้ติดเชื้อบ้าง แต่เป็นวัคซีนที่หยิบใช้ได้ทันใจ เหมือนกับพายุฝนกำลังมา หากคว้าร่มไหนไว้ได้ให้รีบใช้ แม้ว่าจะเปียกปอนนิดหน่อย" นพ.ทวี กล่าว
สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของไทย มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) 70-90% สายพันธุ์เดลต้าจะอยู่ที่ประมาณ 80-90% และสายพันธุ์เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ พบมีประสิทธิภาพ 10.4% ซึ่งจะต้องจับตามองต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้วัคซีนชนิด mRNA ที่หลายคนพูดถึงประสิทธิภาพที่สูงต่อโควิด อาทิ วัคซีนโมเดอร์นาที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 94% และวัคซีนไฟเซอร์ 95% แต่ปัญหาในปัจจุบันคือเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงได้ ซึ่งจะต้องตรวจดูภูมิคุ้มกัน และการใช้จริงว่ามีประสิทธิผลออกมากี่เปอร์เซ็นต์
"ดังนั้นวัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้โรคระบาด วัคซีนแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป อย่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอาจจะมีประสิทธิภาพต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโควิดได้สูงและเร็วกว่า ส่วนวัคซีนชนิด mRNA ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า วัคซีนซิโนแวค" นพ.ทวี กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage