"...จากการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์กซึ่งศึกษาพฤติกรรมการปล่อยข่าวลือทางการเมืองและข่าวปลอมอื่นๆ พบว่าผู้ที่ชอบปล่อยข่าวเท็จไม่เพียงแต่ต้องการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น พวกเขายังต้องการให้เกิดความสับสนวุ่นวายและต้องการให้สังคมในภาพรวมได้รับความทุกข์ร้อนไปด้วยและคาดว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเกิดจากการที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติราวกับว่าไม่มีความหมายในสังคม ( experience of marginalization)..."
............................
การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมา ได้สร้างความโกลาหลให้กับคนทั้งโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักเรียนทั้งโลกกว่า 1500 ล้านคนได้รับผลกระทบจากการหยุดเรียน ผู้คนในประเทศต่างๆทั่วโลกต้องแกร่วอยู่กับบ้านและทำงานจากบ้านโดยใช้เทคโนโลยีช่วยเสริม สายการบินแทบจะล่มสลายเพราะมาตรการการปิดประเทศ ผู้คนตกงานไร้อาชีพกันเกือบทั้งโลก ร้านค้า สถานบันเทิง ฯลฯ ถูกสั่งปิดกันถ้วนหน้าไม่เว้นแม้กระทั่งร้านค้าเล็กๆน้อยๆก็ไม่พ้นจากผลกระทบของพิษของโควิด
ในช่วงเวลาที่โควิดระบาด สื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรับรู้ข่าวสารของผู้คนและทำให้ยอดการใช้งานของโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิง เช่น Netflix และ YouTube มียอดการใช้งานรายวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ Facebook มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ และ Zoom กับ StreamYard กลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องการประชุม เป็นสื่อการเรียนการสอนและสื่อสารทางไกล
การระบาดของโควิด-19 มาพร้อมกับความสับสนวุ่นวายของโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ข่าวลือ ข่าวปล่อยเกี่ยวกับโควิดเกิดขึ้นอย่างมากมายในบ้านเรา แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าโควิดเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้น รวมไปถึงความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด QAnon (คิวเอนอน) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนเชื่อว่าอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับพันธมิตร ทำสงครามลับกับพวกลัทธิบูชาซาตานที่แฝงตัวอยู่ในรัฐบาลเอง พวกกลุ่มนักธุรกิจและสื่อบางกลุ่ม จึงไม่แปลกที่อดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ และผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันมักอ้างอยู่เสมอว่าโดวิด-19 คือเรื่องหลอกลวงและเมื่อมีการค้นพบวัคซีน ดราม่าเกี่ยวกับวัคซีนบนโลกออนไลน์ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความหวาดกลัวและฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้คนอย่างเห็นได้ชัด
หันมาดูสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีคนติดโควิดไปแล้วกว่า 30 ล้านคนและเสียชีวิตกว่า 600,000 คนซึ่งยังอยู่ในอันดับ 1 ของโลกและประเด็นร้อนทางการเมืองของคนอเมริกันคงไม่ต่างจากประเทศอื่นเพราะเป็นสังคมที่แบ่งขั้วแบ่งข้างทางการเมืองอย่างชัดเจนและมีการโต้ตอบกันอย่างดุเดือดบนโซเชียลมีเดียระหว่างกลุ่มคนที่ถือหางฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้ามกัน
สัญญาณของคนอเมริกัน
ท่ามกลางความรุนแรงของโควิด-19 และความร้อนแรงของข่าวสารทางการเมืองบนสื่อโซเชียล แต่จากผลสำรวจของชาวอเมริกันระหว่างเกิดโควิดกลับพบว่าความเป็นฝักเป็นฝ่ายที่แบ่งแยกกันอย่างเห็นได้ชัดก่อนหน้าสถานการณ์โควิดกลับมีทีท่าผ่อนคลายลงและมีความเห็นร่วมกันของผู้สนับสนุนสองขั้วการเมืองเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้นว่า
- ผู้สนับสนุนของสองพรรคการเมืองเห็นไปในทางเดียวกันว่าโควิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนอเมริกันในภาพรวม แต่เมื่อดูจากเปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ฝ่ายสนับสนุนพรรคเดโมแครต 78 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า โควิด – 19 เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนพรรครีพับลิกันเพียง 52 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าโควิดเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนอเมริกัน
- ทั้งฝ่ายสนับสนุนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน มีความเห็นร่วมกันต่อมาตรการ การเว้นระยะห่างทางสังคม(Social distancing) แต่เมื่อสำรวจถึงระดับความสำคัญต่อมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม พบว่าผู้สนับสนุนฝั่งรีพับลิกันให้ความสำคัญต่อมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมน้อยกว่าผู้สนับสนุนฝั่งเดโมแครต
- ในช่วงที่อดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ตัดสินใจปิดพรมแดนเพื่อสกัดกั้นโควิดเมื่อต้นปี 2020 และถูกคัดค้านอย่างแข็งขันจากบรรดาผู้นำพรรคเดโมแครตหลายคน แต่ผลสำรวจในเดือนมีนาคมปีเดียวกันกลับพบว่า 94 เปอร์เซ็นต์ของฝ่ายสนับสนุนพรรคเดโมแครตให้การสนับสนุนต่อมาตรการปิดพรมแดนของทรัมป์ ในขณะที่ฝั่งผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันสนับสนุน 96 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน
- ผลสำรวจต่อมาตรการคำสั่งงดออกนอกบ้านเว้นมีกิจจำเป็นของรัฐบาลท้องถิ่น (Shelter-in-place) แม้ว่ามาตรการนี้จะได้รับการต่อต้านจากผู้นำพรรครีพับลิกัน แต่ผลสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมให้การสนับสนุนต่อมาตรการนี้
- ผลสำรวจต่อมาตรการ “ยกเลิกการชุมนุมเกินกว่า 10 คน” พบว่า ทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเห็นพ้องกันด้วยคะแนนไม่ต่างกันมากโดยฝ่ายรีพับลิกันสนับสนุน 84 เปอร์เซ็นต์และฝ่ายเดโมแครตสนับสนุน 89 เปอร์เซ็นต์
- เมื่อสอบถามถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคเห็นไปในทางเดียวกันว่า โควิด-19 เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโดย ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเห็นด้วยมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน 84 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยเช่นกัน
คำถามน่าสนใจที่มีการสอบถามและได้รับคำตอบเป็นที่น่าแปลกใจเมื่อมีการถามถึง “การแบ่งแยกในสังคมอเมริกัน” ซึ่งเคยแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่ายอย่างชัดเจนด้วยสองขั้วการเมืองและเริ่มเห็นความเด่นชัดของการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา โดยการสำรวจในเดือนเมษายน 2020 พบว่าในสถานการณ์โควิด สังคมอเมริกันรู้สึกว่าความเป็นฝักเป็นฝ่ายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความรู้สึกถึงการแบ่งแยกได้ลดลงจาก 62 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจเมื่อปี 2018 ก่อนเกิดโควิด เหลือเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อประเทศเผชิญกับสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกถึงความไม่ถือเขาถือเราที่ชัดเจนขึ้นและน่าจะเกิดพลังขับเคลื่อนที่ช่วยให้การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของโรคระบาดโควิดของคนอเมริกันง่ายขึ้น
โซเชียลมีเดียอเมริกันยังร้อนระอุ
แม้ว่าผลการสำรวจการแบ่งแยกทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาดูเหมือนเป็นสัญญาณในทางบวก แต่ในโลกโซเชียลกลับเป็นตรงกันข้ามเพราะแต่ละฝ่ายยังคงเล่นเกมสาดโคลนกันอย่างไม่ลดราวาศอก Facebook และTwitter ของคนอเมริกันยังเต็มไปด้วยข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิดนับตั้งแต่ ข่าวลือเรื่อง เสาอากาศโครงข่ายโทรศัพท์ 5G คือตัวแพร่เชื้อโควิด จนถึงความเชื่อว่าโควิดเป็นเชื้อโรคที่ประเทศจีนสร้างขึ้นในห้องทดลองและใช้ทำลายห่วงโซ่อุปทาน(Supply chain)ของสหรัฐอเมริกาและยังลามไปถึงกระแสเกลียดชังคนเอเชียที่เกิดขึ้นในประเทศฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ทำร้ายชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกาที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ
นอกจากนี้ยังมีการนำทฤษฎีสมคบคิด QAnon มาเชื่อมโยงเข้ากับโควิด-19 เพื่อสร้างกระแสทางการเมืองและโซเชียลมีเดียคือช่องทางที่ดีที่สุดที่จะเผยแพร่ทฤษฎีเหล่านี้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยกลุ่มผู้สนับสนุนทฤษฎี QAnon จับมือกับกลุ่มต่อต้านวัคซีนกุข่าวว่า บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท ไมโครซอฟท์ มีการร่วมมือกับกลุ่มรัฐลับ(Deep state) สร้างเชื้อโรคโควิด-19 ขึ้นเพื่อหวังผลจากการขายวัคซีนและยังมีความเชื่อมโยงระหว่าง QAnon และโควิด -19 ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากเหตุการณ์ก่อนการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด เพราะก่อนเลือกตั้งปี่กลองเริ่มบรรเลงจากฝ่ายผู้สนับสนุนการเมืองฝ่ายขวาเพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่า รัฐลับกำลังทำลายอดีตประธานาธิบดีทรัมป์อยู่อย่างต่อเนื่องและทันที่ที่โควิด-19ระบาด รัฐลับจึงกลายเป็นตัวการใหญ่ของการแพร่เชื้อโรคในทันทีด้วยข้อกล่าวหาของฝ่ายสนับสนุนการเมืองฝ่ายขวาและความร้อนแรงทางการเมืองยังถูกกระพือด้วยข่าวทฤษฎีสมคมคิดที่เชื่อว่าสื่อเฟคนิวส์ที่เชื่อมโยงกับพรรคเดโมแครตได้สร้างกระแสโควิดรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริงเพื่อทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและโจมตีประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ได้รับการเลือกตั้ง
ความร้อนแรงจากการปั่นกระแสการทำลาย ทรัมป์บนโซเชียลมีเดียหลังแพ้การเลือกตั้ง ตลอดจนข้อความจากทรัมป์เองและความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานจึงกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ปะทุจนนำไปสู่การจลาจลที่ “แคปิตอล ฮิลล์” อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2020 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากและเป็นเหตุการณ์ที่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในแผ่นดินที่เรียกตัวเองว่าแผ่นดินแห่งโอกาส เสรีภาพ และประชาธิปไตยและยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียคือแหล่งข่าวที่สามารถสร้างความโกลาหลทางการเมืองได้ทุกขณะและยังอาจตีความได้ว่าผลสำรวจที่ดูเหมือนว่าการแบ่งแยกฝักฝ่ายของคนอเมริกันที่ลดลงนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจอาจมีการปิดบังความรู้สึกบางอย่างเอาไว้เพื่อให้ตัวเองดูดีหรือด้วยแรงกดดันทางสังคมช่วงวิกฤตโควิดที่ผู้คนไม่อยากแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาก็เป็นได้และดูเหมือนว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆบนโลกโซเชียลบ่งบอกเลยว่าการแบ่งแยกทางการเมืองในสังคมอเมริกันได้ลดลง
โซเชียลมีเดียเมืองไทย-ระอุไม่แพ้กัน
โควิด-19 มาถึงเมืองไทยพร้อมกับ ข่าวปลอม ข่าวลวง และนำประเด็นทางการเมืองมาผสมปนเปไม่เว้นแม้กระทั่งคนเจ็บคนตายก็ยังถูกนำเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองเพื่อตีกระทบไปยังฝ่ายตรงข้ามจนกลายเป็นประเด็นดราม่าบนโลกโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะข่าวลือและข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนซึ่งเป็นความหวังของคนทั้งโลกที่มีชีวิตผู้คนเป็นเดิมพันก็ยังมีคนนำไป ล้อเล่น บิดเบือน หรือด้อยค่ากันอย่างสนุกปากสนุกมือ
การปล่อย ข่าวลือ ข่าวปลอม เกี่ยวกับวัคซีนไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดและอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม จึงเป็นความพยายามสร้างหรือสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดต้านวัคซีนคล้ายกับทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านวัคซีนในสหรัฐอเมริกาและทำให้การสร้างเข้าใจแก่ประชาชนต่อประโยชน์ของวัคซีนทำได้ยากขึ้น รัฐและบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ผู้คนเกิดความเชื่อมั่น เพราะนอกจากจะต้องต่อสู้กับความขาดความเชื่อมั่นของผู้คนจากความกลัวต่อวัคซีนโดยธรรมชาติแล้วยังต้องต่อสู้กับทฤษฎีสมคบคิดต้านวัคซีนบนโซเชียลมีเดียที่ระบาดรวดเร็วยิ่งกว่าโควิด-19 เสียอีก
จากการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาและเดนมาร์กซึ่งศึกษาพฤติกรรมการปล่อยข่าวลือทางการเมืองและข่าวปลอมอื่นๆ พบว่าผู้ที่ชอบปล่อยข่าวเท็จไม่เพียงแต่ต้องการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น พวกเขายังต้องการให้เกิดความสับสนวุ่นวายและต้องการให้สังคมในภาพรวมได้รับความทุกข์ร้อนไปด้วยและคาดว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเกิดจากการที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติราวกับว่าไม่มีความหมายในสังคม ( experience of marginalization)
ความสุดโต่งทางการเมือง - โซเชียลมีเดีย - เส้นทางสู่ความรุนแรง ?
ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าโซเชียลมีเดียคือสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงโดยตรง แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและในหลายประเทศรวมทั้งเมืองไทยเองจะเห็นได้ว่าโซเชียลมีเดียมีความเชื่อมโยงกับการเกิดความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญและผู้คนใช้มักโซเชียลมีเดียแสดงออกถึงความสุดโต่งทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มคนเหล่านี้มักมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือมักแสดงออกถึงพฤติกรรมสุดโต่งทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นว่า
1.ปกปิดตัวเองบนโซเชียลมีเดีย จนดูเหมือนเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรม 2 แบบในคนคนเดียว พฤติกรรมในโลกโซเชียลมีเดีย( ซึ่งเต็มไปด้วยความหยาบคาย ก้าวร้าว ชอบเยาะเย้ยถากถาง ) กับพฤติกรรมในโลกแห่งความจริง(ซึ่งมักจะแสดงความสุภาพ แสดงความนับถือต่อคู่สนทนา มีบุคลิกน่าเชื่อถือ) ของคนกลุ่มนี้จึงขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงและพวกสุดโต่งบางคนอาจยอมเปิดเผยตัวตนด้วย
2.อุทิศตนให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างแรงกล้า
3.แสดงออกถึงความนิยมทางการเมืองหรือขั้วการเมืองที่ตนชื่นชอบอย่างออกนอกหน้าและมักแสดงออกในทางต่อต้านต่อความเห็นของฝ่ายตรงข้ามในทันที (anything they’re for I’m automatically against)
4.ทนไม่ได้กับผู้เห็นต่างทางการเมือง แม้ว่าจะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน เป็นเพื่อนร่วมงานกันหรือแม้กระทั่งเพื่อนที่ได้ชื่อว่ายอมตายแทนกันได้ก็ยังยอมแตกหักหากความเห็นทางการเมืองไม่ลงรอยกัน
5.มีทักษะในการใช้สื่อโซเชียลปลอมตัวบนโลกออนไลน์เพื่อเป็นไส้ศึก แสดงตัวตนเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้อย่างแนบเนียนเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายตัวเอง
6.แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนหากมีการนำอุดมการณ์ของพรรคที่ตนเองสนับสนุนหรือความเชื่อของตนเองไปเปรียบเทียบกับอุดุมการณ์หรือความเชื่อของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม
7.มักตำหนิหรือประณาม หากพวกพ้องในกลุ่มไม่ยอมแชร์หรือเผยแพร่ความเห็นทางการเมืองของตนออกไปเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม
8.ติดตามและตอบโต้ ความเห็นทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามบนโซเชียลมีเดียอย่างไม่ลดละ
( หมายเหตุ - ถอดความและขยายความจากคำบรรยายพฤติกรรมและข้อสังเกตของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Duke สหรัฐอเมริกาต่อการใช้โซเชียลมีเดียของพวกสุดโต่งทางการเมือง ตามเอกสารอ้างอิง 2 )
เกรียนผู้โดดเดี่ยว
นักวิจัยพบว่าปัจจัยหนึ่งที่พบในพวกสุดโต่งทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียคือ การขาดสถานะทางสังคม(lack of status) เช่น อาศัยอยู่ท่ามกลางบุคคลที่เอนเอียงไปทางขั้วการเมืองตรงข้าม ว่างงาน หมดหวัง ใช้ชีวิตให้หมดไปวันๆ จมอยู่กับสื่อที่เอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลาและมองเห็นผู้นำทางการเมืองที่ตัวเองชอบเป็นเสมือนพระเจ้า ผู้ปลดปล่อยหรือผู้กอบกู้ชีวิตและฝากความหวังไว้กับผู้นำที่ตัวเองศรัทธาเพราะผิดหวังจากนโยบายหรือการปฏิบัติจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ความโดดเดี่ยวจาก เพื่อน ครอบครัวและการแยกตัวเองออกจากสังคม คือปัจจัยที่ พบได้ในพวกสุดโต่งทางการเมืองเช่นกัน
พวกนิยมการเมืองสุดโต่งบางคนสารภาพว่าโซเชียลมีเดียเป็นเสมือนเครื่องปลดปล่อยและระบายความอึดอัดทางการเมืองและใช้โซเชียลมีเดียเพื่อชดเชยความโดดเดี่ยว พฤติกรรมสุดโต่งของพวกเขาจึงสะท้อนตัวตนออกมาทางโซเชียลมีเดียอย่างแทบไร้ขีดจำกัด
คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงออกแบบสุดโต่งเพื่อเรียกร้องความสนใจ บรรเทาความเหงา ฯลฯ เป็นเหมือน “การได้รับสถานะทางสังคม” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะอย่างน้อยพวกเขาได้รับความสนใจและมีผู้ติดตามจนกลายเป็นเซเลบเล็กๆบนโลกออนไลน์ แม้ว่าการแสดงออกหลายต่อหลายครั้งจะไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเองหรือฝ่ายการเมืองที่ตัวเองถือหางเลยก็ตาม เท่ากับว่าพวกการเมืองสุดโต่งบางคนได้สร้างโลกของตัวเองขึ้นบนโซเชียลมีเดียเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบางอย่างที่ไม่สามารถค้นพบได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
มาตรการการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการปิดสถานที่ต่างๆรวมทั้งการจำกัดการเดินทาง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นโอเอซิสบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนกระหายที่จะเข้าไปหาประโยชน์และใช้เป็นเครื่องมือปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจ ความโกรธ ความเกลียดชัง บรรเทาความโดดเดี่ยว รวมถึงการสุมไฟทางการเมืองระหว่างกัน จนกระทั่งโอเอซิสบนโซเชียลมีเดียถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากจนเกินไปและถูกใช้เป็นตลาดขาย ความเห็น ความเท็จและโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองจนหาความน่าเชื่อถือแทบไม่ได้และค่อยๆกลายเป็นแหล่งสะสมพิษไปทีละน้อยโดยแทบไม่มีใครสนใจเพราะแต่ละคนเพลิดเพลินต่อการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโซเชียลมีเดียแต่เพียงอย่างเดียว
อ้างอิงจาก :
1. You Are Here โดย Whitney Phillips และ Ryan M. Milner
2. Breaking the Social Media Prism โดย Chris Bail
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.bcheights.com/2015/11/18/consuming-social-media-in-small-doses/