"…รัฐ ภาคประชาชน และสื่อมวลชน คือทางออกวิกฤตข่าวสาร ที่จะร่วมกันทำให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ โดยรัฐต้องเปิดเผย ใจกว้าง และต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะที่สื่อควรจะนำเสนอข่าวอย่างครบถ้วนรอบด้าน สำหรับภาคประชาชนนั้น ขออย่ามีอคติต่อการรับข่าวสาร และให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบเองด้วย ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าจำนวนมาก การรอสื่อตรวจสอบเพียงอย่างเดียวคงไม่ไหว…”
………………………………………………………
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด วัคซีนเป็นทางเลือกที่สำคัญที่จะช่วยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ได้ เรื่องของวัคซีนจึงกลายเป็นวิวาทะทางสังคม เมื่อการนำเสนอข่าว ทำให้หลายคนรู้สึกสับสน เกิดการโทษกันในสังคมว่ารัฐสื่อสารไม่ตรงกันกัน ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนบ้าง หรือโทษว่าสื่อมวลชนเข้าใจผิดพลาด ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนบ้าง ดังนั้นเมื่อประชาชนไม่ทราบว่าข้อมูลใดจริงหรือเท็จ จึงอาจเลือกเชื่อตามแนวความคิดของตนเอง
เพื่อไขคำตอบว่า แล้วใครคือทางออกวิกฤตข่าวสารเรื่องวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2564 ภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย จึงได้จัดงานเสวนาโต๊ะกลมออนไลน์ ‘รัฐ-สื่อ-สังคม: ใครคือทางออกวิกฤตข่าวสารเรื่องวัคซีน’ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
นายกฤตนัน ดิษฐบรรจง ผู้ก่อตั้ง ส่องสื่อ กล่าวว่า จากกรณีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) หรือฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ออกแถลงการณ์ขอโทษถึงการนำเสนอข่าวสารที่ผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วนเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ตนเองมองว่าสถานการณ์การนำเสนอข่าวสารในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่เรียกว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก จุดเริ่มต้นของปัญหาเริ่มมาจากการนำเสนอของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องข้อมูลตั้งแต่แรก รวมถึงการขาดการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปสอบถามหรือทำข่าว ดังนั้นสื่อจึงรับหน้าที่สรุปข่าว ทั้งๆ ที่บางข้อมูลอาจจะยังไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันสื่อมวลชนทุกสื่อต่างเร่งกันนำเสนอข่าวสารมาก มีความเล่นข่าวเกิดขึ้นด้วยการพาดหัวให้น่าสนใจในบางสำนักข่าว ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดได้
ขณะที่ นายเจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ ผู้ก่อตั้ง ยามเฝ้าจอ กล่าวด้วยว่า ความผิดพลาดจากการนำเสนอข่าวสารที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากต่างคนต่างทำหรือไม่ ซึ่งจะต้องไปดูกระบวนการนำเสนอต่อไป อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวถึงผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน ไม่สามารถเลี่ยงได้ ดังนั้นตนเองจึงมองว่าทางออกของวิกฤตข่าวสารนี้จึงอยู่ที่สื่ออาจถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน แต่ไม่ถึงขั้นต้องใช้กฎหมายเข้ามาควบคุม
“ขณะนี้สื่อตกเป็นผู้ร้ายของบางคน แต่หากเราไม่มีสื่อจริงๆ เราจะฟังหรือติดตามข่าวสารจากภาครัฐ หรือภาคประชาชนเท่านั้นจริงหรือไม่ เนื่องจากภาคประชาชนอาจไม่มีกำลังทุนมากพอ ไม่มีบรรณาธิการ อาจทำให้สังคมวุ่นวายพอสมควร ดังนั้นเราจะต้องทำอย่างไรให้สื่อมวลชนสามารถอยู่ด้วยร่วมกันได้” นายเจนพสิษฐ์ กล่าว
ด้าน นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า หลายคนอาจมองว่าสื่อคือผู้ตรวจสอบอำนาจของรัฐ แต่ประชาชนก็สามารถช่วยกันตรวจสอบสิ่งที่สื่อทำงานด้วยได้ ดังนั้นสังคมควรจะไปด้วยกัน คือ ร่วมกันตรวจสอบให้ครบถ้วนทุกแง่มุม อย่างไรก็ตามในการดูแลกำกับสื่อ จะต้องเป็นอิสระต่อการตรวจสอบของรัฐ เนื่องจากการใช้อำนาจของรัฐทางกฎหมาย หรือการฟ้องร้อง เป็นไม้แข็งไม้เรียวให้สื่อรับผิดชอบต่อสังคม จะทำให้สื่อไม่กล้าตรวจสอบรัฐด้วย ขณะเดียวกันอาจสร้างความสงสัยให้กับประชาชนได้เช่นเดียวกันว่า การที่รัฐใช้ยาแรงเลยนั้นจะมีเรื่องที่ปิดบังหรือไม่
“เครื่องมือในการแก้ไขวิกฤตข่าวสารมีอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐเอง หรือประชาชนเองต้องใช้เครื่องมืออย่างถูกต้อง วิกฤตนี้อาจถึงวันที่สื่อตกอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐได้ แต่สถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้เชื่อว่าหลายคนยังพึ่งพาสื่ออยู่ ถ้าไม่เช่นนั้นประชาชนคงจะติดตามแต่เพียงข่าวสารจากทางภาครัฐ นั่นแสดงได้ว่าประชาชนยังมองว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมีจุดที่ทำได้ดีแล้ว แต่อาจมีบ้างที่ผิดพลาดไป อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ รัฐเองต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาด้วย เมื่อรวมอำนาจเข้ามาสู่ศูนย์กลางเพื่อบริหารสถานการณ์โควิดนี้” นางสาวฐิติรัตน์ กล่าว
ในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การระบาดของโควิด เราจะเห็นข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปเกี่ยวกับโควิด หรือที่เรียกว่า Infodemic ซึ่งข้อมูลข่าวสารนี้เปรียบเสมือนกับไวรัส ที่สื่อจะทำหน้าที่เป็นหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าหน้ากากอนามัยแต่ละยี่ห้ออาจจะมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันบ้าง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการเรียกร้องให้หน้ากากอนามัยนั้นมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การทำโทษคนขายหน้ากากอนามัย
“การทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสื่อสารในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าเข้ามามาก วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดนั้น คือการพูดคุยกันให้ตรงกันทุกครั้ง ถ้าหากพูดผิด ก็มาสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน โดยรัฐอาจจัดประชุมกับสื่อเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งตรงนี้จะสร้างความเชื่อใจได้ดีกว่า การที่จะใช้ไม้แข็งหรือบอกว่าสิ่งนี้ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ” นางสาวฐิติรัตน์ กล่าว
นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ที่ปรึกษาโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย กล่าวต่อด้วยว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับการทางออกวิกฤตข่าวสารด้วยการเซ็นเซอร์ เนื่องจากการเซ็นเซอร์อาจทำให้ประชาชนอาจสงสัยลังเลในข้อมูลมากขึ้น จะเริ่มออกหาข้อมูลคำตอบ และจะยิ่งเชื่อในช้อมูลที่ถูกปกปิดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าการเกิดข้อมูลในด้านที่ไม่ดีบ้าง ที่จะช่วยดึงข้อมูลในส่วนที่ดีออกมาด้วย ดังนั้นรัฐจะต้องให้ข้อมูลเชิงประจักษ์มากขึ้น ขณะที่สื่อจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ไม่มุ่งเน้นเพียงแต่ความรวดเร็ว และไม่ควรมาประณามด้วยกันเอง ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่าการตรวจสอบสื่อทำได้ แต่ไม่ควรมีการเซ็นเซอร์
ปิดท้ายด้วย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวว่า ทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐ ภาคประชาชน และสื่อมวลชนควรนำบทเรียนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น มาหาทางออกวิกฤตข่าวสารร่วมกัน ร่วมกันทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยรัฐต้องเปิดเผย ใจกว้าง ให้ข้อมูลชี้แจง และต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะที่สื่อควรจะนำเสนอข่าวอย่างครบถ้วนรอบด้าน ต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและสามารถส่งผลกระทบไปได้หลากหลายมิติ สำหรับภาคประชาชนนั้น ขออย่ามีอคติต่อการรับข่าวสาร เนื่องจากอาจทำให้บดบัง ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ และขอให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบเองด้วย ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าเข้ามาจำนวนมาก การรอสื่อตรวจสอบเพียงอย่างเดียวคงไม่ไหว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/