"...แม้อินเดียเป็นฐานการผลิตวัคซีนส่งออกรายใหญ่ของโลก และมีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 165 ล้านโดส เป็นรองเพียงจีนและสหรัฐเท่านั้น แต่ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วจะมีเพียง 2.4%..."
...................................
ถ้าพูดถึงการระบาดของเชื้อโควิดในขณะนี้ ทุกคนต้องมองประเทศอินเดีย ย้อนกลับไปเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนชาวอินเดียหลายคน ต่างก็พออกพอใจในสถานการณ์ของอินเดียในขณะนั้น ทุกคนมั่นใจว่า “อินเดียเอาเชื้อโควิด-19 อยู่” เพราะสามารถประคองค่า R ให้ต่ำกว่า 1.0 มานานกว่า 100 วัน และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดมาจนต่ำกว่า 10,000 ราย บางคนเชื่อว่า เป็นอภินิหารของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ แต่แล้วเพียง 2 เดือนผ่านไป เหตุการณ์กลับตาลปัตร ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันของอินเดีย พุ่งขึ้นกว่า 10 และ 20 เท่าตามลำดับ สถานการณ์ที่เกิดโดยไม่คาดคิดนี้ ทำให้ระบบสาธารณสุขอินเดียไม่พร้อมที่จะรับมือ
Bloomberg ได้ให้ความเห็นด้วยว่า เหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ อาจจะเกิดกับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งไทยด้วย ผมอดสงสัยว่า คนไทยจะคิดเหมือนคนอินเดียเมื่อสามเดือนก่อนไหมว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ
อินเดียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ลองมาดูบทเรียนของอินเดียที่ผมได้เรียบเรียงมาจากแหล่งข่าวต่างๆ ดังนี้
(1) เหตุแห่งความประมาท
เมื่อต้นปีนี้เอง นักระบาดวิทยาทั่วโลกได้แสดงความประหลาดใจ ที่อินเดียสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อมาเหลือเพียงระดับ 10,000 รายต่อวัน และสามารถประคองค่า R ลงมาต่ำกว่า 1.0 ได้นานกว่า 100 วัน ประชากรเกิดความชะล่าใจ รัฐเองก็เกิดความประมาท เริ่มไม่เข้มงวดกับการชุมนุมที่ไม่ใส่แมสก์และไม่เว้นระยะห่าง ทั้งในกิจกรรมกีฬา (England-India cricket tours) การชุมนุมการเมือง (State elections in West Bengal, Assam, Kerala and Tamil Nadu) และพิธีกรรมทางศาสนา (Kumbh Mela Festival)
ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า “Double Mutant” Indian Variant (B1.617) ของอินเดีย ที่อาจเป็นปัจจัยเร่งการระบาดให้เร็วเป็นพิเศษ แต่จากการตรวจข้อมูลในรัฐ Maharashtra ซึ่งเป็นศูนย์กลางผู้ติดเชื้อหนักในรอบนี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ B1.617 เพียง 15-20% เท่านั้น
(2) ผลแห่งความประมาท
ระยะเวลาเพียง 42 วันจากแต่วันที่ 21 มีนาคม จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียพุ่งขึ้นมากว่า 10 เท่า จาก 37,249 เป็น 388,348 รายต่อวัน ค่า R โผล่เหนือน้ำในปลายเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่ระดับ 1.4-1.5 ระบบสาธารณสุขเริ่มรองรับไม่ไหว เกิดภาวะวิกฤติ โกลาหลกันทั้งประเทศ ผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 3-4 พัน
ในเดือนพฤษภาคม เมื่อประชากรกลัวและหันกลับมาตั้งการ์ดใหม่ ค่า R จึงถูกกดลงมาที่ 1.23 ผลการคำนวนจากค่า R ที่ลดลง คาดว่าผู้ติดเชื้อรายวันจะอยู่ระดับ 4-6 แสนรายอีกหลายอาทิตย์ จนกว่าค่า R จะลดมาต่ำกว่า 1.0
(3) การฉีดวัคซีน
แม้อินเดียเป็นฐานการผลิตวัคซีนส่งออกรายใหญ่ของโลก และมีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 165 ล้านโดส เป็นรองเพียงจีนและสหรัฐเท่านั้น แต่ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วจะมีเพียง 2.4%
Bloomberg คำนวณว่า ด้วยอัตราการฉีด 1.9 ล้านโดสต่อวันปัจจุบัน อินเดียจะต้องใช้เวลา 2.8 ปี กว่าจะคืนสู่ภาวะปกติได้ ทางเลือกทางเดียวในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อตอนนี้ ในระหว่างรอจำนวนผู้ฉีดวัคซีน คือ มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น
(4) อะไรทำให้เกิดความโกลาหลและทำให้มีผู้เสียชีวิตมาก
เดือนเมษายนที่ผ่านมา เกิดภาพความโกลาหลของประเทศอินเดีย ปัญหาหลัก คือ ระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว การขาดเตียงผู้ป่วยและอ๊อกซิเจน ที่มีการแย่งยื้อซื้อกัน จนถึงขั้นประมูลกันทางโซเชียลมีเดีย และวุ่นวายถึงญาติพี่น้องที่ทำงานในอเมริกา ซึ่งมีทรัพย์สินเงินทองแต่ช่วยอะไรพ่อแม่ตนเองไม่ได้ ได้แต่ดิ้นรนหาผู้ช่วยซึ่งปรากฏเป็นข่าวดราม่ามากมายทางโซเชียลมีเดีย จนสุดท้ายคนป่วยจำนวนมากก็ต้องมาเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เพราะขาดเครื่องช่วยหายใจ
(5) เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ไหม?
คำตอบคือ เป็นไปได้ เชื้อโควิด-19 ไม่เคยมีสองมาตรฐานหรือการเลือกปฏิบัติ
สำหรับประเทศไทย ถ้าเปรียบเทียบกับอินเดียโดยใช้ฐานประชากรที่เท่ากัน ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเรายังน้อยกว่าอินเดียมาก
แต่ลักษณะการก้าวกระโดดของตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทยคล้ายคลึงกับอินเดียมาก
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องรีบจัดทำ"แผนฉุกเฉิน" โดยจัดระบบสาธารณสุขให้พร้อมสำหรับผู้ป่วยในปริมาณ 10 เท่าของตัวเลขผู้ป่วยปัจจุบัน และทำการซักซ้อมแผนฉุกเฉินตั้งแต่บัดนี้
(6) มาตรการที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
หลายสำนักข่าวแนะนำว่า กรณีอินเดียเป็นบทเรียนที่ทรงค่าสำหรับประเทศในเอเชียที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย การใช้เพียงมาตรการการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง ต้องถือเป็นมาตรการเฉพาะกาล (interim measure) ยกเว้นแต่พร้อมที่จะปิดประเทศเป็นการถาวรหรือจนกว่าโควิด-19 จะหายไปจากโลกนี้
มาตรการที่จะนำพาไปสู่สภาวะปกติอย่างมั่นคง คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะสัดส่วนคนฉีดวัคซีนของไทยปัจจุบันมีไม่ถึง 1% ของประชากร
ดังนั้น ในเฟสแรกระหว่างรอการฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 50% ของประชากร จำเป็นที่เรายังต้องใช้กลยุทธ Hammer and Dance คือ การกดและประคับประคองค่า R ให้อยู่ต่ำกว่า 1.0 โดยอาจปรับผ่อนคลายหรือเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการเฉพาะกาลแล้วแต่สถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากเกินไป
ในเฟสสอง เมื่อระดมฉีดวัคซีนสัดส่วนถึง 50% ประเทศไทยจึงจะพิจารณาเปิดธุรกิจและต้อนรับเฉพาะชาวชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
จากนั้นในเฟสสาม เมื่อสัดส่วนถึง 75% ประเทศไทยจึงถือว่าได้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเชื่อว่า เราจะถึงจุดนั้นได้ อย่างเร็วที่สุดคงเป็นสิ้นปีนี้ (อย่างช้าคงใช้เวลา 7.7 ปี ถ้าเรายังฉีดเพียง 3-4 หมื่นโดสต่อวัน)
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย