"...แต่ก่อนที่จะพิจารณาว่าพฤติการณ์ของร้อยเอกธรรมนัส ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมข้อใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลฎีกา จะต้องพิจารณาประเด็นเริ่มแรกก่อนว่า จะใช้ข้อเท็จจริงใดในการวินิจฉัย เมื่อการกระทำของร้อยเอกธรรมนัส เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยข้อมูลอย่างเป็นทางการจะอยู่ในสำนวนคดีของศาลประเทศอื่นที่ไม่ใช่ศาลไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานในการวินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่อาจนำมาใช้บังคับกับบุคคลในประเทศไทยที่เป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันศาล และองค์กรอิสระ..."
บรรทัดฐาน “อำนาจอธิปไตย” จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กระทบการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และการวินิจฉัยของศาลฎีกา ไม่อาจรับฟังพยานหลักฐานและคำรับสารภาพในสำนวนคดีของศาลออสซี่ได้
ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเอาไว้อย่างแข็งแรงแล้วว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย คำพิพากษาของศาลต่างชาติย่อมไม่อาจใช้บังคับกับบุคคลในประเทศไทยได้ ทำให้คำวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า จะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ มีผลออกมาว่าไม่สิ้นสุดลง
เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงการเมือง นักกฎหมาย และนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย แต่เสียงของกลุ่มหลังจะดังกว่า
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามประเด็นในคำร้องของผู้ร้องคือประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยแยกเป็นสองประเด็นคือ ประเด็นที่หนึ่ง วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ และประเด็นที่สอง วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยภายใต้หลักกฎหมาย และไม่เกินไปกว่าคำร้องที่ส่งมาให้วินิจฉัย โดยการวินิจฉัยแต่ละประเด็น ศาลต้องฟังข้อเท็จให้ยุติเสียก่อน และจึงใช้ดุลพินิจภายใต้หลักกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
มาตราสำคัญในรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้วินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้อง คือ ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) คือ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรานี้หรือไม่ ซึ่งรวมถึงความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
ศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับความเป็นอธิปไตยของประเทศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งอำนาจที่ว่านี้ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ดังนั้น หากประเทศไทยยอมรับต่ออำนาจตุลาการของศาลต่างชาติ ก็เท่ากับว่าประเทศไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยในส่วนของอำนาจตุลาการไป ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำพิพากษาของศาลต่างชาติไม่อาจนำมาใช้บังคับกับบุคคลในประเทศไทย ที่จะทำให้เสียสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นการที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 98 (10) ว่า เคยต้องคำพิพากษาจึงเป็นเฉพาะคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลรัฐอื่น ทำให้ร้อยเอกธรรมนัส ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 98 (10)
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอกมาเช่นนี้แล้ว ทำให้ ส.ส.จากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกล หรือพรรคเสรีรวมไทย เตรียมที่จะใช้ช่องทางใหม่ คือยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนจริยธรรมของร้อยเอกธรรมนัส และเสนอต่อไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ได้บัญญัติคุณสมบัติข้อหนึ่งของรัฐมนตรีไว้ในอนุมาตรา 4 ว่า ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 ได้บัญญัติให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและมี ความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และในมาตรา 87 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
มาตรฐานทางจริยธรรมที่พรรคฝ่ายค้านจะยื่นให้ตรวจสอบร้อยเอกธรรมนัส คือ มาตรฐานจริยธรรม พ.ศ.2561 ที่ใช้บังคับกับ ส.ส. และคณะรัฐมนตรี โดยมาตรฐานทางจริยธรรมที่ฝ่าฝืนแล้วมีลักษณะร้ายแรง ข้อที่ใกล้เคียงกับการกระทำของร้อยเอกธรรมนัสมากที่สุด เห็นจะเป็นข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ แต่ข้อนี้ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในอดีตไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ของร้อยเอกธรรมนัสในฐานะ ส.ส.หรือรัฐมนตรี ส่วนมาตรฐานทางจริยธรรมข้ออื่นที่ฝ่าฝืนแล้วอาจไม่ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ที่ใกล้เคียงมากที่สุด ได้แก่ ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
แต่ก่อนที่จะพิจารณาว่าพฤติการณ์ของร้อยเอกธรรมนัส ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมข้อใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลฎีกา จะต้องพิจารณาประเด็นเริ่มแรกก่อนว่า จะใช้ข้อเท็จจริงใดในการวินิจฉัย เมื่อการกระทำของร้อยเอกธรรมนัส เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยข้อมูลอย่างเป็นทางการจะอยู่ในสำนวนคดีของศาลประเทศอื่นที่ไม่ใช่ศาลไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานในการวินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่อาจนำมาใช้บังคับกับบุคคลในประเทศไทยที่เป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันศาล และองค์กรอิสระ
ทำให้ทั้งสององค์กรที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของร้อยเอกธรรมนัส อาจจะต้องใช้แนวทางการวินิจฉัยและการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยคำวินิจฉัยและการรับฟังข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลฎีกา ไม่อาจวินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งก็คือไม่อาจนำเอาคำพิพากษารวมถึงข้อเท็จจริงในสำนวนคดีของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย มาใช้ในการไต่สวนหรือวินิจฉัยได้
ซึ่งเหตุการณ์ “ค้าแป้ง” ของร้อยเอกธรรมนัส ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในประเทศไทย แล้วจะวินิจฉัยว่าฝ่าฝืนจริยธรรมได้อย่างไร ???
เรื่องนี้ไม่ง่ายจริง ๆ