"...คนมีเงินที่อยากย้ายประเทศ ถ้าทำใจจ่ายภาษีอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ อาจพิจารณาให้จงหนักถ้าคิดจะย้ายมาอยู่เมกา เพราะการทำผิดด้านภาษีอาจทำให้ต้องมาติดคุกอยู่เมืองนอก แทนที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญที่เมืองไทย..."
.............................
“ไม่มีอะไรแน่นอนเท่าความตายกับการจ่ายภาษี” สหายไอ้กันผู้หนึ่งกล่าวไว้
จริงๆ แล้ว คำกล่าวนี้เกือบกลายเป็นคำขวัญของประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว เพราะการจ่ายภาษีถือเป็นเรื่องใหญ่ของคนอเมริกัน การเลี่ยงภาษีมีโทษหนัก อย่างต่ำก็สามารถติดคุก 5 ปีได้อย่างสบายๆ
เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน อัล คาโปน เจ้าพ่อมาเฟียในชิคาโก ใหญ่โตขนาดเอาผิดไม่ได้ แต่มาโดนจับติดคุก 11 ปี เพราะไม่เสียภาษีรายได้จากการขายเหล้าเถื่อน (รายได้แม้จะผิดกฎหมายก็ยังถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี) มาถึงปัจจุบันนี้ อัยการของแมนฮัตตันก็กำลังหาทางเอานายทรัมป์ติดคุกข้อหาโกงภาษี ขนาดขอหมายศาลเรียกใบ ภงด ของนายทรัมป์และบริษัทไปนั่งศึกษา คนชังทรัมป์ดีใจที่นายทรัมป์อาจติดคุก จะได้ไม่กลับมาเป็น ปธน อีกสมัย
คนมีเงินที่อยากย้ายประเทศ ถ้าทำใจจ่ายภาษีอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ อาจพิจารณาให้จงหนักถ้าคิดจะย้ายมาอยู่เมกา เพราะการทำผิดด้านภาษีอาจทำให้ต้องมาติดคุกอยู่เมืองนอก แทนที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญที่เมืองไทย
กฎหมายภาษีของเมกากำหนดให้คนอเมริกันต้องนำเงินได้จากทั่วโลก (Worldwide Income) มาจ่ายภาษี กฎหมายครอบคลุมทุกคนที่มีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งรวมถึงคนอเมริกัน คนที่ถือใบเขียว (Permanent Resident) คนที่ถือวีซ่า H1 และอาจรวมไปถึงคนที่ใช้เวลาอยู่ในประเทศเกิน 183 วัน (183-rule)
นั่นหมายความว่า คนที่ย้ายประเทศ ถ้ามีรายได้ในเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นกำไรจากการขายหุ้น ดอกเบี้ย เงินปันผล บำเหน็จบำนาญ ค่าเช่า กำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ล้วนต้องนำรายได้เหล่านั้นมาจ่ายภาษีที่เมกาในอัตราที่สูงกว่าเมืองไทยมาก
อย่างเช่นกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันเราต้องเอาราคาขายหักต้นทุนที่ได้มา แล้วนำมาจ่ายภาษีที่อัตรา 15% (Capital gain tax) ถ้าเรามีบ้านอยู่เมืองไทย พอมาถึงเมกาไม่อยากเช่าก็ซื้อที่นี่ไว้อีกหลัง บ้านที่เมกาจะกลายเป็นบ้านหลัก บ้านที่เมืองไทยเป็นบ้านหลังที่สอง ถ้าขายบ้านหลังที่สองก็เตรียมจ่ายภาษีกำไร 15% ไว้เลย ถ้าบ้านที่เมืองไทยราคาขึ้นกระจาย เราก็ต้องเสียภาษีกระจายเช่นกัน
ฟังอย่างนี้ คนไทยที่หัวซิกแซกเรื่องภาษีก็อาจถามว่า สรรพากรไอ้กัน (IRS) จะรู้ได้ไงว่าเรามีเงินได้อะไรบ้างที่เมืองไทย? เพราะกำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษีในไทย กำไรจากการขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ก็เลือกที่จะไม่รวมใน ภงด ได้ แล้ว IRS จะตรวจสอบเอาผิดกับเราได้ยังไงถ้าเราไม่แจ้ง?
คำตอบก็คือ ถ้าเราหลบรายได้พวกนี้ออกจาก ภงด ไทยและไม่นำมารวมส่งภาษีที่เมกา ขาข้างหนึ่งก็เหยียบอยู่ในตะรางแล้ว เพราะไอ้กันมีข้อกำหนดอีกข้อว่าผู้เสียภาษีต้องแจ้งทรัพย์สินทางการเงินที่อยู่ในต่างประเทศทุกรายการ (เงินฝากธนาคาร หุ้นที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นที่ลงทุนในบริษัทส่วนตัว พันธบัตร ฯลฯ) ในแบบเปิดเผยข้อมูลที่เรียกสั้นๆ ว่าเอฟบาร์ (FBAR) การให้ข้อมูลเป็นเท็จหรือละเว้นข้อมูลมีโทษจำคุก ถ้าจำไม่ผิดอย่างต่ำก็บัญชีละ 5 ปี ถ้าเราขายทรัพย์สินหรือมีเงินได้จากการขายหุ้น ปันผล ดอกเบี้ย ฯลฯ และเงินเข้าบัญชีธนาคาร IRS สามารถเรียกตรวจบัญชีไทย (ตามสัญญาการเปิดเผยข้อมูลระหว่างประเทศ) ถ้าเขาตรวจจริงโดยจับ ภงด มาชนกับบัญชีธนาคาร โอกาสรอดก็น่าจะยาก
ตอนมาที่นี่ปีแรกแม้จะยังไม่ได้ใบเขียว (เคยมีใบเขียวในอดีต แต่พอย้ายกลับไทยก็ทิ้งเพราะ Global income นี่แหละ ตอนนั้นตัวอยู่เมืองไทยแต่ก็ยังต้องส่งภาษี 2 ประเทศ) ตอนกลับมาเมกาครั้งใหม่นี้เราได้งานเป็นอาจารย์ แม้จะทำงานด้วยวีซ่า H1 เงินได้จากเมืองไทยก็ยังต้องเอามารวมจ่ายภาษีที่นี่ ภาษีที่จ่ายที่เมืองไทยสามารถนำมาหักลดหย่อนในลักษณะเครดิตภาษี แต่ปกติจำนวนจะไม่สูงเทียบกับภาษีไอ้กัน ตอนหลังนี่บอกเพื่อนที่ช่วยทำภาษีที่เมืองไทยว่าไม่ต้องเอาอะไรมาลดหย่อนภาษีไทย ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยประกันชีวิตหรือเงินบริจาค เพราะประเทศไทยจะได้เก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย หักไปไอ้กันได้ประโยชน์ไปเปล่าๆ เพราะเครดิตภาษีที่ต่ำลงทำให้ไอ้กันเก็บภาษีได้มากขึ้น (เอาให้เมืองไทยดีกว่า)
ที่แล้วกว่านั้น ก่อนย้ายมาเมกาครั้งนี้ ไม่รู้ว่ามีกฎออกใหม่สมัยโอบามาว่าต้องกรอกแบบ FBAR ถ้ามีเงินฝากในบัญชีต่างประเทศเกิน 10,000 ดอลลาห์ ณ เวลาใดก็ได้ในระหว่างปี (บัญชีในไทยกลายเป็นบัญชีต่างประเทศไปแล้ว) ตอนกรอกข้อมูล FBAR ปีแรกรู้สึกระกำมาก เพราะต้องไปลากบัญชีทุกบัญชีจากทุกธนาคารมาเปิดเผยทั้งของสามีและของตัวเอง บัญชีเล็กบัญชีน้อยมีเงินพันสองพันทุกธนาคาร ต้องหายอดสูงสุดระหว่างปีมากรอกข้อมูลหมด ไอ้นิสัยมีบัญชีทุกธนาคาร ธนาคารละหลายบัญชีทำความลำบากให้ชีวิตมาก ทั้งที่บางบัญชีเลิกใช้ไปแล้วแต่ถ้ายังไม่ปิดก็ต้องนำมาเปิดเผย (กลับเมืองไทยครั้งหลังนี้ตามปิดทุกบัญชีเหลือไว้แค่บัญชีที่ใช้จริงๆ)
การเปิดเผยข้อมูลใน FBAR ทำให้ IRS สามารถดูความเคลื่อนไหวของเงินและทรัพย์สินทางการเงินของเราได้ เขาสามารถยันกับรายได้ที่เรานำส่งภาษี กรอกข้อมูลไม่ดี ถ้าเขาตรวจขึ้นมา รังแต่จะเดือดร้อน นอกจากอาจต้องติดคุกแล้ว ยังถูกขับออกนอกประเทศและถูกแบนวีซ่าตลอดชีวิต (IRS ที่นี่เขามีคณะตรวจสอบภาษี ซึ่งก็เหมือนผู้ตรวจสอบภาษีทั่วไปที่ดูความผิดปกติของความสัมพันธ์ระหว่างรายการ และการสุ่มตรวจรายการที่มียอดสูงๆ เวลาตรวจสอบ เขาไล่จากวันเกิดก่อนที่จะดูชื่อ ชื่อนามสกุลเป็นเรื่องรอง ดังนั้น ชื่อสกุลที่ไม่ตรงกันไม่น่ามีปัญหาเพราะในที่สุด เขาจับแพะชนแกะได้อยู่ดี)
ทีนี้ถามว่า ถ้าเรามีบัญชีในไทยแล้วเราไม่แจ้งใน FBAR ไอ้กันจะรู้ได้อย่างไร? (ท่องไว้... บัญชีละ 5 ปี)
คำตอบก็คือ ไอ้กันบีบบังคับธนาคารทั่วโลกให้เปิดเผยข้อมูลให้เขาถ้าต้องการทำธุรกิจกับเมกา ทำให้คนที่ต้องจ่ายภาษีจาก Worldwide income ดิ้นหลุดยาก
บทความนี้เขียนตามกฎหมายปัจจุบัน (5 พ.ค. 2564) แต่ตอนนี้ไบเดนขึ้นและมีนโยบายเก็บภาษีจากคนมีเงิน เราคงต้องตามต่อว่า กฎภาษีจะเปลี่ยนไปอย่างไร
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับคนมีเงินที่ต้องการย้ายประเทศไม่มากก็น้อย