"...หากพินิจพิเคราะห์ทั้งสองเหตุการณ์ซึ่งต่างก็คร่าชีวิตมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำไมการตัดสินใจของผู้คนจึงแตกต่างกัน นายแพทย์ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ด้านประสาทวิทยาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้อธิบายถึงการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกันอันเกิดจากการทำงานของสมองไว้ ในบทความเรื่อง “สมองเราเป็นอย่างไร เมื่อต้องตัดสินใจเชิงจริยธรรม”..."
............................
ในแต่ละวันเรามีเรื่องที่ต้องตัดสินใจอยู่มาก บางเรื่องง่าย บางเรื่องไม่ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง หนังสือ “สะพรึง” แปลโดย ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ จากบทละครเรื่อง Terror เขียนโดยแฟร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค (Ferdinand von Schirach) อดีตทนายความ ผู้มากประสบการณ์ในคดีอาญาชาวเยอรมัน พูดถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจมาก
ละครทั้งเรื่องเริ่มขึ้นในศาลและจบลงที่ศาล เป็นการจำลองบรรยากาศพิจารณาคดีที่นาวาอากาศตรี ลาร์ส ค็อค (Lars Koch) นักบินเครื่องบินขับไล่ยิงเครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่ง ซึ่งถูกผู้ก่อการร้ายจี้และบุกบังคับนักบินเพื่อใช้ก่อวินาศกรรมพุ่งเข้าชนสนามฟุตบอล ที่มีผู้ชมแน่นขนัดกว่า 70,000 คน ทำให้ผู้โดยสารบนเครื่องบินและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด 164 คน เขาถูกอัยการสั่งฟ้องในความผิดฐาน ฆ่าคนตายโดยเจตนา ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและขัดต่อกฎหมายประเทศเยอรมัน1/
การพิจารณาคดีไม่ควรจะมีความซับซ้อนเพราะจำเลยได้รับสารภาพว่า เป็นผู้ยิงเครื่องบินพาณิชย์ลำนั้นจริง แต่คำถามยาก ที่ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะต้องตัดสินใจคือ การยอมสละชีวิตของคนจำนวนน้อยเพื่อรักษาชีวิตของคนจำนวนมากเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ อัยการแถลงปิดคดีว่า มนุษย์ทุกคนมีคุณค่า กฎหมายพื้นฐานระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” ในกรณีนี้ น.ต. ลาร์ส ค็อค ด่วนตัดสินใจตามความคิดของตนเองโดยลำพัง ไม่ได้นึกถึงผู้โดยสารและนักบินที่อยู่ในเหตุการณ์ เพราะผู้โดยสาร อาจจะพังประตูเข้าไปช่วยนักบินในห้องได้ หรือตัวนักบินเองอาจจะเชิดหัวเครื่องบินให้ไปตกที่อื่นแทน เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาเรื่องนี้ เราต้องยึดมั่นในหลักนิติรัฐ น.ต. ลาร์ส ค็อค สมควรถูกตัดสินลงโทษฐานคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์
ต่อมาทนายจำเลยลุกขึ้นกล่าวปิดคดีว่า จริงอยู่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ในบางกรณี “การเลือกสิ่งที่ ชั่วร้ายน้อยกว่า” เป็นสิ่งที่พึงกระทำ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในปี 1841 เมื่อเรือวิลเลียม บราวน์ อับปางจากการชนภูเขาน้ำแข็ง เรือกู้ภัยที่มาช่วย ไม่สามารถบรรทุกผู้รอดชีวิตทั้งหมดได้ ทำให้อเล็กซานเดอร์ โฮลม์ กะลาสีเรือ ตัดสินใจผลักคนบนเรือกู้ภัยจำนวนหนึ่ง ลงทะเล เมื่อเขาถูกพิจารณาดำเนินคดี ศาลกลับลงโทษสถานเบามาก เพราะผู้พิพากษาพิจารณาว่า โฮลม์ได้เลือกสิ่งที่ชั่วร้ายน้อยกว่า ด้วยการช่วยผู้โดยสารหมู่มาก ดังนั้น ในกรณีของ น.ต. ลาร์ส ค็อค จึงเป็นการตัดสินใจกระทำไปด้วยมโนธรรมสำนึก ไม่ได้เกิดจาก แรงจูงใจของเขาเองตามลำพัง เขาได้เลือกสิ่งที่ชั่วร้ายน้อยกว่า จึงไม่สมควรรับโทษ
ละครจบฉากลงเมื่อมีคำพิพากษาทั้ง 2 รูปแบบคือ ผิดตามฟ้องและยกฟ้อง เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นข้อขัดแย้งระหว่าง “ศีลธรรม” กับ “กฎหมาย” ยังมีบทความอีก 2 เรื่องที่คล้ายคลึงกับบทละครเรื่อง Terror เรื่องแรกคือ เรื่องการสับสวิตช์รถราง (The Switch, 1951) ที่ ฮันส์ เวลเซล (Han Walzel) นักปรัชญาชาวเยอรมันสร้างสถานการณ์ขึ้น เมื่อมีขบวนรถไฟสินค้าเบรกแตก กำลังพุ่งเข้าชนสถานีรถไฟ ที่มีรถไฟโดยสารอีกขบวนหนึ่งซึ่งมีผู้โดยสารหลายร้อยคนจอดอยู่ และมีคำถามว่าหากเราเป็นพนักงานควบคุมรางรถไฟ เราจะสับราง ให้รถสินค้าวิ่งไปอีกชานชาลาหนึ่ง ซึ่งมีคนงาน 5 คนกำลังซ่อมรางอยู่หรือไม่ ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่เลือกที่จะสับรางเพราะคิดว่า เป็นเรื่องถูกต้อง
สำหรับเรื่องที่สองคือเรื่อง The Fat Man เขียนโดยจูดิธ ทอมสัน (Judith Thompson) นักปรัชญาหญิงชาวอเมริกันเมื่อปี 1976 ที่สร้างสถานการณ์ว่า รถไฟสินค้าวิ่งมาด้วยความเร็วสูงลงจากภูเขา กำลังจะพุ่งเข้าชนสถานีรถไฟและไม่มีเวลาจะสับรางทัน วิธีเดียว ที่แก้สถานการณ์ได้คือ ผลักผู้ชายตัวสูงใหญ่ที่นั่งห้อยขาอยู่บนสะพานให้ร่วงลงไปขวางรถไฟสินค้าขบวนนั้นไว้ ปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ กลับเลือกที่จะไม่ผลักชายผู้นั้น
หากพินิจพิเคราะห์ทั้งสองเหตุการณ์ซึ่งต่างก็คร่าชีวิตมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำไมการตัดสินใจของผู้คนจึงแตกต่างกัน นายแพทย์ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ด้านประสาทวิทยาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้อธิบายถึงการตัดสินใจที่ไม่เหมือนกันอันเกิดจากการทำงานของสมองไว้ ในบทความเรื่อง “สมองเราเป็นอย่างไร เมื่อต้องตัดสินใจเชิงจริยธรรม” ได้อย่างน่าสนใจว่า “การที่คนคนเดียวสามารถตัดสินใจทั้งทำ และไม่ทำได้ด้วยการเปลี่ยนรายละเอียดของเรื่องราวเพียงเล็กน้อย บอกกับเราว่า เรามิได้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ผู้ซื่อตรงต่อความคิด หลักการและเหตุผลอย่างบริสุทธิ์อย่างที่เราหวังหรือเข้าใจ ที่สุดแล้วคุณธรรม จริยธรรมของมนุษย์เรานั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของความรู้สึกลึก ๆ หรือสัญชาตญาณของเราโดยไม่รู้ตัว”2/
เมื่ออ่านเรื่องทั้งหมดนี้ ยังคงเป็นปริศนาว่า เรื่อง “ดีชั่วถูกผิด เป็นเรื่องเหนือภาวะการควบคุมของมนุษย์จริงหรือไม่”
รณดล นุ่มนนท์
12 เมษายน 2564
แหล่งที่มา:
1/ “สะพรึง” ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ แปล จากบทละครเรื่อง Terror เขียนโดย แฟร์ดินันด์ ฟอน ซีรัค (Ferdinand von Schirach), Illuminations Editions 2563
2/ The 101 World. 2021. สมองเราเป็นอย่างไร เมื่อต้องตัดสินใจเชิงจริยธรรม. [online] Available at: <https://www.the101.world/brainbug-ep-7-trolley-problem/> [Accessed 10 April 2021].
หมายเหตุ
ขอขอบคุณน้องวรฤทธิ์ สัตตบุษย์สุทธิ ฝ่ายตรวจสอบ 1 ที่ได้แนะนำหนังสือ “สะพรึง” ให้อ่าน และ ผอ. ทัดลาภ เผ่าเหลืองทอง ที่สนับสนุนข้อมูลจากบทความ
ของนายแพทย์ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เพื่อนำมาเขียน Weekly Mail ฉบับนี้