"...เมื่อน้ำไหลชะลอลงก็จะเปิดโอกาสให้ความชื้นได้ซึมลงสู่ดินด้านใต้ของฝาย กลายเป็นความชื้นใต้ดินเก็บไว้ไปทีละนิดแปลว่าได้ทั้งความชื้นบนผิวดิน ใต้ผิวดิน ในต้นพืชคลุมร่อง พืชริมร่อง และได้ไอน้ำที่จะระเหยตามปกติ รวมทั้งไอน้ำที่ต้นพืชคายออกมา..."
............................................
ทำให้แนวความชื้นนี้ เป็นแนวกันไฟแบบเปียก
ในบทความสามตอนแรกเรื่องฝุ่นและไฟป่า : การจัดการที่น่าชื่นชมของทีมประชาสังคมลำปางนั้น
ตอนที่1 เป็นบทบาทของภาคราชการของจังหวัดลำปาง
ตอนที่2 เป็นบทบาทของชุมชนท้องถิ่นบ้านต้นต้องในป่าของลำปาง
และตอนที่3 เป็นบทบาทของ เหยี่ยวไฟหน่วยดับไฟป่าของกรมป่าไม้ ที่เผอิญมีฐานปฏิบัติการใหญ่ อยู่ที่ลำปาง
ส่วนตอนที่4 นี้ จะถอดชุดความรู้จากทีมนักธุรกิจในลำปาง ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการป่า ในลำปางครับ
ในการนำเสนอโดยผู้แทนชาวบ้านตอนที่คณะกรรมาธิการเราอยู่ที่ลำปาง
ผมจำจากคำเมืองที่ท่านขึ้นกล่าวเกี่ยวกับไฟป่าว่า
...''ไฟมาป่าเป่ง(โล่งเตียน)...
ไข่มดแดงเต้ง...
ผักหวานโป่ง..
ฝนตก หญ้างอก วัวเล็ม ''...
นัยว่าท่านกำลังบอกวิถีเก่าแก่ที่ชาวบ้านท้องถิ่นเคยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับไฟป่าว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนไปของป่า
ผมอนุมานเอาเองว่า แสดงว่าคนสมัยนั้นอาจไม่ได้พิจารณาเรื่องควันและฝุ่นว่าเป็นประเด็นที่ต้องบันทึกจดจำขนาดปัจจุบัน
วิถีคิดวิถีชีวิตของคนถิ่นจึงยังท้าทายต่อไป
เอาล่ะ กลับมาที่สาระของเรื่องในบทความตอนนี้
ใครๆก็รู้ ว่าระบบระเบียบของราชการนั่น ถูกออกแบบมาให้ต้องมีขั้นตอน
มีรูปแบบที่เกี่ยวกับเอกสารกำกับแยะ
จะซื้อจะหา จะใช้เครื่องมืออะไร ต้องรองบประมาณ ต้องจัดหาตามหมวดกำกับของงบประมาณ
ที่สำคัญ ต้องมีการกำหนดคุณลักษณะล่วงหน้า เพื่อใช้ตามภารกิจของหน่วยจัดซื้อเท่านั้น และในหลายกรณี เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาเร็ว จนขั้นตอนการจัดหาเป็นอุปสรรคในการจะได้อุปกรณ์ที่เหมาะที่สุดกับหน้างาน
จึงเป็นจุดดีที่ภาคธุรกิจเอกชนในลำปางที่เป็นกังวลกับปัญหาของไฟป่าเข้าอกเข้าใจในข้อจำกัดของระบบราชการ
จึงมีแกนนำจากหอการค้าจังหวัดลำปาง
มีแกนนำจากสมาคมท่องเที่ยวในจังหวัดที่ระดมกำลังมาเป็นอาสาสมัครเข้าช่วยเจ้าหน้าที่สนามในการทำกิจกรรมหลายอย่างที่จะเป็นทั้งการรักษาป่า สำรวจป่า และป้องกันภัยให้กับทั้งป่าและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
คุณสุรพล ตันสุวรรณ เป็นหนึ่งในแกนนำที่ช่วยจัดหา และนำอาสาสมัครจากภาคธุรกิจเอกชนเข้าช่วยสนับสนุนการจัดหา โดรน จัดหาเครื่องเป่าลมนับร้อยอันรวมถึงอื่นๆที่ผมและคณะกรรมาธิการได้มีโอกาสรับรู้
นับว่าน่ายินดี
แต่ที่น่าสนใจเพิ่มกว่าการนำทุนทรัพย์และแรงใจจากเอกชนมาช่วยสนับสนุนงานสาธารณะประโยชน์นั้น
คือการที่ภาคธุรกิจเอกชนของลำปางเชื่อมั่นในพระราชดำริ''ป่าเปียก'' ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพยายามประยุกต์ใช้ในพื้นที่
และได้นำเสนอเรื่องประสบการณ์ทำป่าเปียกอย่างมุ่งมั่นให้ผมและเพื่อนกรรมาธิการคือสว.สาธิต เหล่าสุวรรณ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดชัยนาท (เมืองซึ่งมีฟางข้าวเยอะพอจะจัดเทศกาลหุ่นฟางนกจนเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวได้ทุกปี)ได้ฟัง ในขณะที่เรากำลังเดินตามหลังหัวหน้าคณะเดินทางของเรา คือสว.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ จากจังหวัดตราด ตอนที่คณะกรรมาธิการกำลังสำรวจเยี่ยมพื้นที่อุทยานเขลางค์บรรพตซึ่งเป็นอุทยานที่อยู่กลางอำเภอเมืองลำปาง เพื่อดูวิธีจัดการไฟป่า
ที่จริงอุทยานนี้อยู่หลังที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดนั่นเอง ดังนั้นถ้าไฟป่ามีขึ้นในอุทยานนี้ ก็จะเป็นจึดที่คนสังเกตเห็นกันได้โดยไว
ป่าเปียกคืออะไร
แนวพระราชดำริเรื่องป่าเปียกหรือ wet firebank นั้น หัวใจคือการทำให้คงความชุ่มชื้นให้ป่า ให้เขาให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันไฟป่า
มีตั้งแต่การทำแนวคลองส่งน้ำหรือทำร่องน้ำและปลูกแนวพืชต่างๆเช่น กล้วยที่จะช่วยรักษาความชื้นเป็นแนวไว้
ปลูกพืชคลุมร่องน้ำเพื่อให้พืชช่วยดูดซับความชื้นให้ขึ้นมาแผ่ขยาย อันจะมีผลให้ความชื้นจากในร่องได้แผ่ขึ้นมาอยู่ตามขอบแนวและขยายออกไปได้อีกตามการเติบโตของพืชคลุมดินคลุมร่องเหล่านี้
สร้างฝายอย่างง่ายๆด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เพื่อชะลอการไหลของน้ำที่กำลังลงจากที่สูงต่างๆรวมทั้งช่วยดักตะกอนเอาไว้
เมื่อน้ำไหลชะลอลงก็จะเปิดโอกาสให้ความชื้นได้ซึมลงสู่ดินด้านใต้ของฝาย
กลายเป็นความชื้นใต้ดินเก็บไว้ไปทีละนิด
แปลว่าได้ทั้งความชื้นบนผิวดิน ใต้ผิวดิน ในต้นพืชคลุมร่อง พืชริมร่อง และได้ไอน้ำที่จะระเหยตามปกติ รวมทั้งไอน้ำที่ต้นพืชคายออกมา
ทำให้แนวความชื้นนี้ เป็นแนวกันไฟแบบเปียก
ซึ่งย่อมให้ผลดียิ่งกว่าแนวกันไฟแบบแห้งที่เพียงแต่กวาดใบไม้แห้งออกจากพื้นให้เป็นแนวเบรคเปลวไฟที่จะลามต่อตามเชื้อไฟที่พื้นดินแน่
และถ้าทำได้ ก็ควรมีการทำสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โคนเขาเพื่อสูบน้ำที่ไหลลงมาให้กลับไปเก็บบนที่สูงของเขาเพื่อจะได้เริ่มไหลลงมาใหม่ ไม่เปลืองพลังงาน และคงความชื้นไว้ให้เขตต้นน้ำนานเท่าที่ทำได้
พระราชดำริป่าเปียกนี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการรักษาทั้งป่า ทั้งน้ำ และป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามจนยากจะดับ
เพราะในหลวงร.9 ทรงเอาพระทัยใส่เรื่องเหล่านี้ และนำไปสู่การทดลองทำก่อนแล้วในพื้นที่โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ
ใครที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชดำริที่ทรงแนะนำเรื่องการฟื้นฟูป่าขอให้ค้นอ่านได้จากเว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนาhttps://www.chaipat.or.th/site_content/item/254-theory-developed-forest-restoration.html
ผมอ่านแล้วทึ่ง จึงอยากแนะนำผู้อ่านให้ลองไปค้นอ่านดู
ท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ ผู้ว่าหมูป่าเล่าเสริมเรื่องนี้ว่า หน้าดินตามภูเขาที่ลำปางนั้นตื้นกว่าที่อื่น เพราะมีชั้นแร่อยู่ไม่ลึกจากผิวพื้น
แปลว่าความชื้นจึงลงสะสมในดินได้ไม่ลึกเท่าที่อื่นๆ
เห็นมั้ยล่ะ...
ผมเคยเขียนในบทความตอนที่1ว่าผู้ว่าหมูป่าท่านเป็นคนช่างสังเกต
ลำปางจึงมีทั้งแหล่งถ่านหินอย่างแม่เมาะ มีโรงปูนของ SCG มีอุตสาหกรรมดินเผาเซรามิคที่ใหญ่โต
และเพราะมีอุตสาหกรรมที่ต้องหาพลังงานมาเข้าเตาเผาเอาความร้อนไปสร้างผลผลิต ไม่ว่าจะผลิตปูนหรือผลิตถ้วยชามรามไห เอกชนเหล่านี้ช่วยรับซื้อใบไม้อัดแท่งอัดก้อนจากชาวบ้านที่ราคาราว 1,400-1,500บาทต่อตัน ส่วนที่เชียงใหม่ เห็นข่าวจากท่านดร.ประเสริฐสุข อดีตผอ.องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งร่วมเดินทางกับคณะกรรมาธิการหนนี้ บอกว่า ราคารับซื้อใบไม้แห้งที่กิโลกรัมละ2บาท แปลว่าตันละ2,000บาท จึงน่าสนใจว่าที่เชียงใหม่คงมีเหตุที่เราควรศึกษา ว่าทำไมราคารับซื้อใบไม้อัดก้อนเป็นเชื้อเพลิงจึงมีราคาสูงกว่าได้
เรื่องนี้ผู้สนใจอ่านต่อได้ที่https://www.komchadluek.net/news/local/462015?adzs=
อย่างไรก็ดี วันนี้ชาวจังหวัดลำปางทำยอดการส่งใบไม้ไปเข้าเตาเอกชนเผาแลกเงินมาได้เกิน เป้าร้อยตัน ที่ทางการตั้งไว้เรียบร้อย
กลับมาเรื่องพระราชดำริป่าเปียก
เรามีโอกาสขอความรู้เพิ่มจากหัวหน้าอุทยานเขลางค์บรรพต ท่านบอกว่าท่านก็ทำตามแนวพระราชดำริป่าเปียกเหมือนกัน ท่านบอกว่านอกจากทำฝายทำร่องน้ำเท่าที่ทำได้แล้ว ก็ยังมีการปลูกพืช''เขียวขยัน'' คือการเลือกเติมพืชที่ไม่ผลัดใบในหน้าแล้งเข้าในป่าไปบ้าง โดยมีทั้งพวกพืชเบิกนำแล้วจึงตามด้วยไม้ใหญ่ใหม่ๆที่จะไม่ผลัดใบ
มีการปลูกกล้วยเพราะกล้วยต้นใหญ่ต้นนึงจะอุ้มน้ำไว้ได้ถึง20ลิตร!!
โดยท่านให้ปลูกเติมเป็นแนวห่างระยะ2เมตร
บางพื้นที่ท่านก็ทำรูพรุนลงดินเลย คือเจาะให้เป็นหลุมไปเรื่อย เหมือนแนวคิดทำหลุมขนมครก เพราะพอมีน้ำฝนน้ำค้างลง มันก็จะรักษาน้ำในหลุมไว้ได้นานกว่า มีเวลาให้ดินดูดความชื้นลงไปข้างใต้
ท่านบอกว่า ทำให้เกิดการเชื่อมระหว่าง''รากไม้~รากน้ำ''...
นับว่าเก๋กู้ดครับ
อย่างไรก็ดี กลุ่มนักธุรกิจลำปาง นอกจากจะช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือในการทำแนวกันไฟทั้งแบบเปียกและแบบแห้งอยู่สม่ำเสมอแล้ว
ยังพยายามประยุกต์วิธีทำแนวกันไฟแบบชื้นไว้บนผิวดินเพิ่มเติมอีกด้วย
ชมรมป่าเปียกของลำปางเรียกวิธีนี้ว่า ทำ''ฝายบก''
โดยการกวาดเอากิ่งไม้ใบไม้มากองเป็นแนว แล้วใช้วัสดุอื่นที่มีน้ำหนักมาทับไว้อีกที ทำคล้ายการก่อกำแพงใบไม้ มีการทดลองทำกันโดยภาคประชาชนที่วนอุทยานม่อนพระยาแช่ ของลำปาง และกำลังจะพยายามขยายผลต่อ
วิธีนี้จะช่วยให้เกิดแนววัสดุที่ช่วยการสะสมของน้ำและตะกอนที่ไหลมาตามผิวดินให้ถูกดูดซับไว้ เวลามีฝน มีหมอก มีน้ำค้าง ถ้าสร้างไว้หลายแนวก็จะเพิ่มความสามารถเก็บสะสมความชื้นได้เพิ่มอีกนิด ดีกว่าปล่อยให้ความชื้นระเหยหายไปรวดเร็วหากไม่มีวัสดุคลุมหน้าดินเป็นแนวไว้
นอกจากตั้งชมรมป่าเปียกแล้ว กลุ่มนักธุรกิจอาสาสมัครยังตั้งชมรมจักรยานบ้าง และอื่นๆอีกหลายอย่าง เพื่อดูดซับเอาพลังของนักธุรกิจในพื้นที่ที่อยากมีนันทนาการมาช่วยงานสาธารณะ
ผมเคยมาเยือนลำปางหลายหน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
มาแต่ละคราวก็จะได้พบกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่ซ้ำกัน
เพราะระบบราชการไทยจะมีวาระเวียนย้ายหรือเกษียณอายุตามระบบไป
แต่แทบทุกหนที่มาเยือนลำปาง ผมเองก็จะได้เห็นบทบาทสนับสนุนที่เหมือนสงบอยู่หลังฉากของทีมธุรกิจเช่นนี้อยู่เป็นประจำ
ภาคเอกชนที่นี่เคยพาผมปั่นจักรยานชมเมืองลำปาง พาไปเยี่ยมสถานีรถไฟอันเก่าแก่ของลำปาง พาไปเดินถนนคนเดิน พานั่งรถม้าลำปางตามสำรวจบ้านไม้โบราณตั้งแต่เมื่อคราวฝรั่งมาสร้างอาณาจักรการทำสัมปทานไม้ที่นี่ และนั่นทำให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. มีศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย มีสถาบันคชบาลแห่งชาติ มีโรงพยาบาลช้างอยู่ที่ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งคณะเดินทางของเราก็ไปค้างแรมที่นั่นด้วย
นอกจากนี้ภาคเอกชนที่นี่ยังเคยมีกิจกรรมเชิญผมไปบรรยายตอบข้อซักถามให้คลายสงสัยเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ในสมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยว นับว่าตื่นตัวกันอย่างน่าชมเชย
การได้เห็นความแข็งขันของทีมเอกชนในลำปางที่พยายามจับมือร่วมกัน และร่วมกับภาคประชาสังคม ดูแลลำปาง มีนักวิชาการเข้าร่วมวง และทำงานศึกษามาช่วยเพิ่มเติมอย่างนี้
จึงพอจะถอดได้เป็นอีกบทเรียนความน่าสนใจของสูตรผสม การรักษาและพัฒนาบ้านเมือง ที่สร้างการมีส่วนร่วม การแบ่งบทบาท การมีบทนำบทหนุน การเติมเต็มให้ในข้อจำกัดของภาคีร่วมพัฒนา
ขอปิดท้ายบทความซีรี่ย์ชุดทริปเยือนลำปางกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา นี้ด้วยการขอบคุณฝุ่นควันที่พาให้เราจัดทริปออกไปค้นความเป็นไปในพื้นที่
ขอบคุณทีมข้าราชการและภาคเอกชนตลอดทั้งภาคชุมชนที่ได้ทำให้เห็นเป็นประจักษ์ ว่า
ความเปลี่ยนแปลงเกิดได้ ถ้าการสื่อสารระหว่างกันในแต่ละระดับ ''เชื่อมติด''
ความยั่งยืนในการพัฒนาและสร้างระบบ เกิดได้ ถ้าการจัดการแบบ''มีใจ''
ถูกใช้เป็นกาวเชื่อมจนได้ใจ
มีผู้รับบทนำ มีผู้รับบทหนุน
ทั้งในระบบราชการ ระบบชุมชน ระบบเอกชน เพื่อมุ่งเป้าหมายเดียวกัน แบบให้เกียรติและไว้ใจกันและกัน
อ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโสเคยอธิบายให้ผมฟังเมื่อนานมาแล้วว่า
...''การทำงานเชิงเครือข่ายนั้นใช้เงื่อนไขอยู่2อย่าง คือ1ยอมรับข้อจำกัดของกันและกัน และ2 ให้เกียรติไว้วางใจกันและกัน
แล้วเราจะได้พลังเพื่อการพัฒนา''.....
ที่ผมเชื่อว่า อย่าว่าแต่ไฟป่า ฝุ่นควันเลย
เรื่องใหญ่กว่านี้ ก็จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
************************
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/