"...แม้บทบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492, 2511, 2517, 2539, 2540, 2549, 2550 และล่าสุดฉบับปัจจุบัน 2560 แต่ประเทศไทยมีการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นมาเพียง 2 ครั้งเท่านั้นในปี 2550 และ 2559 โดยเป็นเรื่องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญล้วน ๆ ไม่เคยมีการออกเสียงประชามติประเด็นอื่นเลย..."
....................................
แม้บทบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492, 2511, 2517, 2539, 2540, 2549, 2550 และล่าสุดฉบับปัจจุบัน 2560 แต่ประเทศไทยมีการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นมาเพียง 2 ครั้งเท่านั้นในปี 2550 และ 2559 โดยเป็นเรื่องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญล้วน ๆ ไม่เคยมีการออกเสียงประชามติประเด็นอื่นเลย ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทุกฉบับ หน้าที่และอำนาจในการจัดออกเสียงประชามติเป็นของคณะรัฐมนตรี หรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ (2492, 2511 และ 2517) รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 166 ที่ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะรัฐมนตรี
“ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” มาตรา 166 นี้อยู่ในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี แต่อุบัติเหตุการแพ้มติของรัฐบาลต่อกรรมาธิการเสียงข้างน้อย (อาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล) ในร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติมาตรา 9 เมื่อค่ำวันที่ 18 มีนาคม 2564 หากมีผลบังคับใช้ในที่สุด จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง เพราะการจัดให้มีการออกเสียงประชามติจะไม่ใช่หน้าที่และอำนาจเฉพาะของฝ่ายบริหารหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป หากแต่ขยายสาเหตุเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ส่วน คือ รัฐสภา และประชาชน
- การออกเสียงประชามติในกรณีที่ “รัฐสภา” ได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงประชามติและได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
- การออกเสียงประชามติในกรณีที่ “ประชาชน” เข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ดูเนื้อความเต็ม ๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาด้วยเสียงที่ชนะกันเฉียดฉิว 6 คะแนน โดยพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคโหวตให้พรรคฝ่ายค้าน
“การออกเสียงตามะระราชบัญญัตินี้มีดังต่อไปนี้
“(1) การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
“(2) การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร
“(3) การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง
“(4) การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
“(5) การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”
ประเด็นอยู่ที่ (4) และ (5) ครับ แม้จะถือได้ว่าเป็นมิติที่ก้าวหน้าและก้าวกระโดดอย่างยิ่ง แต่เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาบางส่วน และรัฐบาล มีความเห็นว่าขัดกับหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และอาจจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ที่ยกมาข้างต้น
กล่าวคือรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านกลไกต่าง ๆ เป็นการถ่วงดุลอำนาจของระบบรัฐสภา แต่ไม่ควรจะมีหน้าที่และอำนาจที่จะกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องกระทำการใด ๆ ตามมติของรัฐสภาโดยตรง อย่างน้อยสมควรจะเป็นการปรึกษาหารือโดยให้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่คณะรัฐมนตรีในฐานะเป็นฝ่ายบริหารที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อการจัดออกเสียงประชามติ 1 ครั้ง ส่วนที่ว่าอาจจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็เพราะแม้เนื้อความในมาตรานี้ในตอนท้ายจะเขียนว่าให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่กฎหมายที่ออกมาควรทำหน้าที่เพียงขยายความ กำหนดขั้นตอนรายละเอียดในการปฏิบัติให้ชัดเจน แต่ไม่ควรบัญญัติหลักการเกินกรอบของรัฐธรรมนูญมาตราที่ให้อำนาจ ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาใช้ดุลพินิจตัดสินใจว่าการใดถือเป็นเหตุอันสมควรที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ เมื่อใด กฎหมายที่ออกตามมาหากไปบัญญัติให้รัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันให้คณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติได้ อาจเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้รัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันสามารถกำหนดให้มีการจัดออกเสียงประชามติได้ สมควรบัญญัติไว้ในตัวรัฐธรรมนูญเอง
หากประสงค์จะขยายกรอบหลักการเพิ่มเติมจากมาตรา 166 สามารถดำเนินการได้โดยตรงโดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านวาระ 3 ต้องมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแน่ โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 (1) นั่นก็เป็นวิธีการหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นแน่ ! แต่ยังมีวิธีการอื่นที่ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาไปก่อนหน้าได้ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้มาตราต่อเนื่องจากมาตรา 9 ให้มีกรอบหลักเกณฑ์ให้เป็นการมัดมือชกคณะรัฐมนตรีเกินไป
คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายประชามติของรัฐสภาจะประชุมพิจารณาหาข้อสรุปในวันที่ 1-2 เมษายน ซึ่งนอกจากจะพิจารณาแนวทางการปรับแก้มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อาจจะมีข้อเสนอใหม่ ๆ จากคณะกรรมาธิการด้วยกัน อาทิ การเพิ่มบทเฉพาะกาลชะลอการบังคับใช้มาตรา 9 ส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ! ฟังดูอาจไม่เหมาะนัก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ !! ก่อนที่คาดว่าจะมีการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้งในวันที่ 7-8 เมษายน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายประชามติให้จบวาระ 2 และ 3 ถามว่ามีโอกาสที่จะไม่ผ่านวาระ 3 หรือไม่ ? ตอบว่าเป็นไปได้ยาก ! เพราะเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเอง หากตกไปคณะรัฐมนตรีจะต้องถูกทวงถามความรับผิดชอบ ถูกถามหามารยาททางการเมือง นั่นคือลาออกหรือยุบสภา ซึ่งยังไม่ใช่ผลที่สมาชิกรัฐสภาในส่วนที่เป็นสมชิกสภาผู้แทนราษฎรประสงค์ให้เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะแม้ว่าร่างกฎหมายบังคับใช้แล้ว ก็ยังมีวิธีการแก้ไขโดยการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 ที่ผ่านไปแล้วเข้ามาใหม่ทันทีเลยได้
สรุปว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้หลายวิธี โดยอาจใช้หลายวิธีผสมผสานกันได้ จุดเริ่มต้นคือพูดคุยกันให้รู้เรื่องให้เข้าใจกันในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลก่อนเป็นปฐม
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา