สื่อสิ่งพิมพ์ต้องตระหนักว่า ได้ทำหน้าที่เหมือนที่ได้เคยทำมากน้อยแค่ไหน มันอาจลดน้อยถอยลงจากปัญหาส่วนตัว และจากอุปสรรคเทคโนโลยี แต่เราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะในปี 2563 มันได้สะท้อนแล้วดังนั้น เรื่องเหล่านี้ ต้องทำให้เจ้าของสื่อเข้าใจให้ได้
.......................
หมายเหตุ:สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข้อมูลจากเว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการมอบรางวัลชิ้นงานข่าวที่เข้าชิงรางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2563 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ปรากฎการณ์ สื่อสิ่งพิมพ์ส่งข่าวประกวดน้อยลงส่งสัญญาณในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากำลังเป็นสัญญาณน่าห่วงถึงคุณภาพของสื่อกระดาษ ล่าสุดข่าวประกวดที่ส่งเข้าชิงรางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2563 อันเป็นเกียรติยศสูงสุดของวงการสื่อ เหลือเพียงนสพ.ยักษ์ใหญ่ 2 ฉบับเท่านั้น คือ ไทยรัฐ กับ เดลินิวส์ ขณะที่ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมมีมติไม่มีการมอบรางวัลข่าวในปี 2563 เช่นทุกปี เพราะมีข่าวส่งประกวดน้อยมากจนไม่สามารถตัดสินได้ ถือเป็นปีแรกของประวัติศาสตร์การประกวดข่าว
นสพ.ไทยรัฐส่งเข้าชิง 3 ข่าว ได้แก่ 1. ข่าวบอส กระทิงแดง คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจนจริงหรือ 2. ข่าว"ม็อบราษฎร" ปลุกฝันคนรุ่นใหม่สู่การพลิกโฉมประเทศ 3. ข่าว"โควิด-19" ไวรัสล้างโลก ส่วน นสพ.เดลินิวส์ส่ง 4 ข่าว 1.ข่าวแชร์ระบาด ลวงลงทุน "เก๊" 2.ข่าวอุ้มทายาทตระกูลดังบิดสำนวน 3.ข่าวถอดบทเรียนกาฬโรคม้า บินลัดฟ้าข้ามทวีปคร่าชีวิตม้าไทยครั้งใหญ่ 4.ข่าวเจาะลึกโควิด-19 ผลปรากฎว่า ไม่มีข่าวใดชนะรางวัลข่าวยอดเยี่ยม มีก็เพียงรางวัลชมเชย 1 รางวัล คือ ข่าว กาฬโรคม้าของเดลินิวส์
นี่ไม่ใช่ปีแรกที่ไม่มีการประกาศรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ปี 2562 ก็เช่นกัน และก็มีเพียงไทยรัฐ กับ เดลินิวส์เท่านั้นที่ส่งข่าวประกวดต่างจากช่วงหลายปีมานี้ กิจกรรมข่าวประกวดได้รับสนใจจากสื่อนสพ.กันอย่างพร้อมเพรียงและต่างก็ได้รับรางวัลข่าวประเภทต่างๆ ครบครัน
สัญญาณนี้แปลความได้หรือไม่ว่า คุณภาพข่าวของนสพ.ลดน้อยลง สอดคล้องกับอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ที่ช่วงขาลงจากสถานการณ์ดิสรัปชั่น สื่อออนไลน์รุกคืบแทนสื่อกระดาษในหลายปีมานี้เกิดผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการปิดหนังสือพิมพ์ ปิดนิตยสาร ลดหน้า ลดเซคชั่น หลายสำนักโดยเฉพาะนสพ.ระดับตำนานยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างแข่งกันเปิดโครงการเออรี่รีไทน์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
0ดิสรัปชั่นกระทบคุณภาพ
คนสื่ออยากทำ แต่องค์กรไม่พร้อม
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการประกวดข่าวรางวัลอิศรา อมันตกุล วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ นสพ. ส่งข่าวประกวดน้อยลงมาจากหลายปัจจัย 1. จำนวน นสพ.ที่เหลือน้อยลงเพราะถูกปิดเหลือแต่ออนไลน์ จากพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป
2. นสพ.ที่เหลืออยู่ แต่ละแห่ง มีความพร้อมที่ต่างกัน แต่เกือบทุกองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะในกองบรรณาธิการ มีการลดจำนวนคน คนที่เหลือจึงต้องทำงานเพิ่มขึ้น และไม่สามารถทำเฉพาะเจาะจงกับข่าวที่มีความสำคัญ มีผลกระทบ มีความขัดแย้ง หรือที่เห็นว่า น่าติดตามเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเพื่อตอบปัญหาความขัดแย้งของข่าวนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านทุจริต
3.นโยบายขององค์กรสื่อที่ไม่เน้นข่าวเจาะ ไม่ทุ่มเททรัพยากรลงไปในข่าวใดข่าวหนึ่ง แม้ว่าตัวคนทำสื่ออยากทุ่มเท ทำข่าวที่ตัวเองอยากจะหาคำตอบ
4.ปัจจัยเรื่องการพัฒนาคน แม้คนทำสื่อ อยากจะพัฒนาตัวเอง แต่ก็ไม่มีเวลา ทุกอย่างจึงถอยหลังลงไปหมด
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เขาตั้งข้อสังเกตุว่า ข่าวประกวดที่ส่งมาในปีล่าสุด เน้นในเชิงปริมาณ ตั้งแต่เป็นกรรมการตัดสินประกวดข่าวมา 15 ปี ไม่เคยเห็นการส่งข่าวเดียวที่หนาเป็นร้อยๆหน้าถึง 2 เล่ม แต่ทั้งหมดก็คือ ข่าวตามกระแส น้อยครั้งที่ไปสืบค้นเพิ่ม หรือ สัมภาษณ์แหล่งข่าวในลักษณะวิเคราะห์เจาะลึก ที่เห็นคือ อาศัยความถี่ กระแส และพื้นที่ของตัว ทำให้ข่าวที่ส่งมามีเนื้อหาที่หนา เป็นแต้มต่อเทียบกับสื่ออื่นที่ส่งมาประกวดเรื่องเดียวกัน แต่มันไม่ใช่คำตอบของข่าวเชิงสืบสวน ขณะที่ บางข่าวที่ส่งมาน่าสนใจมาก มีการเชื่อมข้อมูลจากสื่อภูมิภาคและสื่อส่วนกลาง แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงดวงดาว ซึ่งมาจากปัญหาคนทำสื่อเองว่าเขาเข้าใจวิธีการทำข่าวสืบสวนมากน้อยแค่ไหนด้วย
บรรยงค์ กล่าวยอมรับว่า การที่ข่าวสืบสวนในนสพ.ลดน้อยลงสะท้อนถึงคุณภาพของสื่อสิ่งพิมพ์เช่นกัน เพราะกลายเป็นว่า สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเนื่องจากกระบวนการของสื่อ แม้เราจะนำเสนอข่าว แต่ถ้าเป็นการนำเสนอตามกระแส มันไม่ส่งผล แต่ที่ส่งผลในข่าวประกวดปี 2563 (ข่าวประกวดเรื่องโควิด และ บอสกระทิงแดง) เป็นเพราะจำนวนสื่อที่มากโดยเฉพาะทีวี และสื่อออนไลน์ ที่เล่นข่าวกระหน่ำพร้อมกัน นำเสนอตามกระแสในเชิงปริมาณ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
0เตรียมเปลี่ยนหลักเกณฑ์
ให้สื่อออนไลน์ส่งข่าว-ภาพ ร่วมชิง
ปรากฎการณ์ที่สื่อนสพ.ส่งเข้าประกวดเข้ามาน้อย ทำให้สมาคมนักข่าวฯ มีแผนที่จะเปิดให้สื่อออนไลน์ทั่วไป สามารถร่วมส่งข่าว และภาพข่าวเข้าชิงรางวัลอิศรา อมันตกุลด้วยโดยอาจเริ่มในปีหน้า ประเด็นนี้ บรรยงค์ กล่าวว่า เมื่อเราเห็นปัญหา ก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบการประกวดข่าว ที่ไม่ใช่แบบที่ทำอยู่แบบที่ผ่านๆมา
“อาชีพของเราคือ เนื้อหา แต่จะสื่อสารอย่างไร ไปถึงตัวผู้รับสารไม่ว่าจะเปลี่ยนจากแผง แต่ไปมือถือแทน เราก็ส่งเสริมการประกวดโดยไม่สนใจว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรือ สื่อออนไลน์ ก็ให้ส่งมาหมด กรรมการก็ดูไปตรงนี้
...เราต้องสะท้อนให้เจ้าของสื่อเห็นว่า เมื่อทิศทางเป็นอย่างนี้ เรื่องนี้ก็ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ของสื่อในรูปแบบที่สังคมเขายังเชื่อถือในตัวเราอยู่ การสื่อสารปัจจุบันไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่อีกแล้ว เพียงแต่หน้าตาและรูปแบบการนำเสนอเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ถ้าผู้บริหารสื่อเข้าใจ และสนับสนุนองค์กรวิชาชีพเพื่อให้นักข่าวตัวเองพัฒนา และให้โอกาสทำงานบนพื้นที่แพลตฟอร์มดิจิตัล ถ้าเป็นเช่นนี้โอกาสที่เราจะทำให้ประชาชนยอมรับเราในการถ่ายทอดข่าวสารเชิงลึกมันยังมีอยู่ต่อไปได้”
เขากล่าวว่า ยืนยันว่า หากสื่อออนไลน์ส่งข่าวเข้ามาประกวดร่วมกับสื่อสิ่งพิมพ์ จะไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะแม้ว่า สื่อออนไลน์ สามารถนำเสนอข่าวสารให้ผู้อ่านได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สื่อออนไลน์ที่มีบทบาททุกวันนี้ คือ สื่อออนไลน์ของสื่อสิ่งพิมพ์กระแสหลัก สุดท้ายไม่ว่า ใครจะส่งข่าวแบบไหนจะวัดกันที่เนื้อหาที่นำเสนอ และไม่ใช่การประกวดข่าวออนไลน์แต่มันเป็นการประกวดข่าวเหมือนเดิม เพียงแต่ใครจะนำเสนอไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการรายงานข่าวเชิงสืบสวนได้
เป็นกรรมการประกวดข่าวนสพ.ของสมาคมนักข่าวฯมา 15 ปี บรรยงค์ เล่าว่า ยุคทองของข่าวประกวดข่าวย้อนหลังไปเกือบ 10 ปี ช่วงนั้นยังไม่มีสื่อออนไลน์ ตอนนั้นสื่อสิ่งพิมพ์ ส่งมาหลากหลายมาก ไม่ว่า นสพ.รายวัน รายสามวัน หรือ รายสัปดาห์ ถือได้ว่า เป็นช่วงนั้นมีข่าวสืบสวนจริง ๆ แต่หลังจากเริ่มมีสื่อออนไลน์ที่ปรากฎข่าวบนมือถือ ข่าวสืบสวนก็ค่อยๆ ลดน้อยลงไป
บรรยงค์ กล่าวว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก็ยังให้กำลังใจคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ในภาวะที่ยากลำบากนี้ แม้ว่าข่าวสืบสวนจะลดน้อย แต่เวลานี้ที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังเป็นสื่อหลักอยู่ และอยู่รอดได้เพราะปรับตัวเป็นออนไลน์ บางส่วนก็เป็น E- newspaper เป็นสื่อกระแสหลักที่มีสื่อออนไลน์ควบคู่ไปด้วย
อีกจุดเด่นของสื่อนสพ.คือ เมื่อปรากฎเป็นตัวอักษร มันผ่านการประมวล ความคิดที่สอง มีความน่าเชื่อถือ นสพ. มีคอลัมน์แสดงความคิดเห็น คือ คนที่ผ่านชั่วโมงบิน มีประสบการณ์งานสนาม ทำให้งานเขียนของเขามีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมา ถ้าหากพูดถึงคุณภาพ ก็ยังมีอยู่ เห็นได้ชัดจากแหล่งข่าว หน่วยงานภาครัฐ ยังให้การยอมรับสื่อสิ่งพิมพ์กระหลัก
“เพียงแต่ว่า สื่อสิ่งพิมพ์ต้องตระหนักว่า ได้ทำหน้าที่เหมือนที่ได้เคยทำมากน้อยแค่ไหน มันอาจลดน้อยถอยลงจากปัญหาส่วนตัว และจากอุปสรรคเทคโนโลยี แต่เราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะในปี 2563 มันได้สะท้อนแล้วดังนั้น เรื่องเหล่านี้ ต้องทำให้เจ้าของสื่อเข้าใจให้ได้”
0 “ผมไม่อยากให้มันล่มสลาย”
สื่อจำเป็นต้องมีลายเซ็นของอาชีพ
สกุล บุญยทัต อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากรในฐานะกรรมการตัดสินข่าวประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล ยาวนานเกือบ 20 ปี กล่าวว่า สมัยก่อนนสพ.ส่งประกวดกันหลายฉบับ และมีจำนวนเรื่องที่ส่งมาก ทั้งกรุงเทพธุรกิจ หรือโพสต์ทูเดย์ที่ก็ได้รางวัล แต่ตอนหลังปิดตัวไป ตอนนี้เหลือแค่ นสพ.ไทยรัฐ กับ เดลินิวส์ ที่ส่งข่าวประกวด
สกุล บุญยทัต อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร
สาเหตุที่ข่าวประกวดหายไป อาจเพราะคนทำข่าวน้อยลง นักข่าวคนเดียวอาจต้องทำข่าวหลายด้าน ข่าวเจาะจึงน้อยมาก อุดมคติในการทำข่าว การทะลุทะลวงข่าวมีน้อย ไม่กล้าเปิดโปงอะไร แต่เมื่อเราทำสื่อจำเป็นต้องมีลายเซ็นของอาชีพบ้าง เหมือนฟุตบอลเราอาจเล่นไม่ดีเหมือนลิเวอร์พูล แต่ก็ยังมีบางคนที่แสดงออกว่า ยังเล่นได้ดี เพียงแต่หลังๆมานี้มันไม่มีเลยเป็นเรื่องน่าคิดมาก
“หลายข่าวมันสามารถเจาะได้ให้ถึงที่สุดกว่านี้ คนนอกอาจมองว่าเหตุที่นักข่าวไม่เจาะข่าว เพราะคุณไม่มีเวลา โดนเซ็นเซอร์โดยคำสั่งบางอย่าง แต่ผมก็ไม่อยากให้มันล่มสลายไปหมดทั้งกระบวนการ เพราะอ่านข่าวแล้วมันจะไม่มัน”
อาจารย์สกุล กล่าวว่า เมื่อก่อน คนข่าวจริงจังมาก เนื้อข่าว การแสดงความเป็นกลางชัดเจน แต่วันนี้มันผิดฝาผิดตัวค่อนข้างมาก ยุคข่าวประกวดที่เฟื่องฟูที่สุดก็ยุคประสงค์ วิสุทธิ์ สมัยอยู่มติชน ทำข่าวได้รางวัลใหญ่หลายครั้ง ก็อยากให้บรรยากาศนั้นมากลับมา แต่หลังๆ มานี้รางวัลใหญ่จะไม่ค่อยได้กัน มีแค่รางวัลชมเชย สิ่งสำคัญ คือ ข่าวทุกวันนี้หาแก่นสารของข่าวจริงๆ ไม่ได้ ก็แปลกไม่ใช่เกิดกับ นสพ.เท่านั้น แต่ทีวี วิทยุ ตอนนี้นำเสนอข่าวเหมือนเพลย์เซฟ ไม่ค้นข้อมูลอะไร อย่างนี้ก็ตาย ไม่ต่างจากระบบการสอนในมหาวิทยาลัย
“ปัญหาตอนนี้ก็เหมือนคนทำหนังไม่ดูหนัง คนทำข่าว อ่านข่าวน้อย ส่วนพิธีกรที่เขาอ่านข่าว ผมเองก็ไม่อยากเชื่อว่า หลายครั้งที่เขาอ่านข่าวแบบสดๆ ยังพลาดแบบไม่ใช่ธรรมดา แต่แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ ซึ่งมันไม่ใช่”
นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยปี2564 ผู้นี้ ยังฝากถึง สมาคมนักข่าวฯ ว่า ต้องทำอะไรซักอย่างให้มีสื่อกลับมามีพลัง อย่าหมดกำลังใจ มิฉะนั้นตายแน่ เราต้องสู้อย่างมีทิศทาง ต้องสร้างโลกแห่งความหมาย ความจริง ประสบการณ์ของนักข่าว จินตนาการสำคัญ เพราะมันจะบอกว่า เราต้องไปค้นต่อตรงไหน ต้องเดินด้วยภาวะแบบไหน ส่วนตัวเคยถามถึงการสอนในมหาวิทยาลัยว่า สอนกันลักษณะไหน มีผลทำให้เกิดสิ่งที่ปรากฎวันนี้หรือไม่
“ผมไม่อยากให้คนสื่อสิ่งพิมพ์พูดเองว่า นสพ.กำลังจะตาย มันน่าเศร้าใจ เพราะมันมาจากคนสื่อพูดเอง เหมือนผมมาจากฝั่งวรรณกรรม ผมก็รู้ว่า คนอ่านหนังสือน้อยลง ไปอ่านออนไลน์มากขึ้น ตอนนี้ผมเป็นนายกฯสมาคมนักเขียน ผมก็แย้งไปว่า มันไม่จริงนะ ปัจจุบันนี้ คนกลับมาอ่านหนังสือมากในช่วง 1-2 ปี แต่เดิม 3-4 ปีที่ผ่านมา หนังสือขายไม่ได้ แต่ด้วยคำพูดที่ว่า หนังสือตายแล้ว คนไปอ่านออนไลน์ดีกว่า แม้คนก็ไปขายในออนไลน์จริง แต่สุดท้ายก็ยังมีคนกลับมาพิมพ์เป็นเล่มอยู่เช่นกัน นสพ.ในต่างประเทศดังๆ ปัจจุบันยังไม่ตายแม้แต่ข่าวกีฬาด้านเดียว ก็ยังขายได้ ดังนั้น ถ้าเรายังร่วมใจสู้” อาจารย์สกุล กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ 1. สถิติการส่งข่าวประกวดหนังสือพิมพ์รางวัลอิศรา อมันตกุลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เริ่มเหลือจำนวนลดน้อยเพียง 2 ฉบับในปีล่าสุด จากเกือบ 10 ฉบับในอดีตที่ เคยส่งเข้าประกวด อันเป็นผลจากสถานการณ์ดิสรัปชั่น ทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับปิดตัวลง มีการปรับลดขนาดองค์กรอย่างต่อเนื่อง กระทบการทำงานของนสพ.ในภาพรวม
ภาพ 2. ข่าวสืบสวน "ถอดบทเรียนกาฬโรคม้า บินลัดฟ้าข้ามทวีปคร่าชีวิตม้าไทยครั้งใหญ่” โดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้รับรางวัลชมเชยรางวัลอิศรา อมันตกุล ถือเป็นรางวัลเดียวในปี 2563 ที่คณะกรรมการฯ มีมติมอบให้ เป็นอีกปีที่ไม่มีผลงานข่าวใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม
ภาพ 3. รางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2563 ในชื่อ “รักษ์ปลอดภัย” โดยวิชาญ เจริญเกียรติภากุล ช่างภาพนสพ.บางกอกโพสต์ ได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาท เป็นภาพบรรยากาศงานแต่งงานในยุคโควิด -19 ที่โรงพยาบาลสงฆ์ เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวและแขกเหรื่อใส่แมสป้องกันขณะร่วมงาน จะถอดแมสก็ต่อเมื่อถ่ายรูป สะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่คนไทยเผชิญในทุกกิจกรรม
ภาพ 4. ปี 2561 เป็นปีล่าสุดที่มีผลงานข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล คือข่าว “เปิดโปงขบวนการโกงเงินคนจน” โดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ในปีนั้นมีนสพ.ส่งประกวด 7 ฉบับ รวมจำนวน 13 ข่าว
ภาพ 5. "โพสต์ทูเดย์" และ "คมชัดลึก" นสพ. 2 ฉบับที่ปิดตัวไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นนสพ.ที่ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล โดย "คมชัดลึก" ได้รางวัลข่าวยอดเยี่ยมปี 2560 เรื่อง แผนสกัดยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่จากหมูสู่มนุษย์ ขณะที่ "โพสต์ทูเดย์" ได้รางวัลข่าวดีเด่น ปี 2554 เรื่องทวงสิทธิ 10 ล้านคน ลดเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ และในปี 2558 ได้รางวัลดีเด่น เรื่องเปิดแผลน่านฟ้าไทย พิษสงมาตรฐานการบินบกพร่อง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage