"...เมื่อพิจารณาจากหลักประชาธิปไตย ประชาธิปไตยโดยทางผู้แทนราษฎรนั้น สภาประกอบด้วยเสียงข้างมากซึ่งเป็นเสียงที่มีพลังในการตัดสินใจ ในขณะที่เสียงข้างน้อยแทบจะไร้พลังในการดำเนินการหรือการตัดสินใจใดๆ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคุ้มครองเสียงข้างน้อย ..."
.............................................
จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภาจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2560) ได้ลงมติเสียก่อนว่าต้องการจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รวมถึงเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นด้วย ทำให้เกิดความไม่พอใจกับบางคนบางกลุ่ม จนถึงกับมีการกล่าวว่า "เมื่อประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หากจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ย่อมยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญได้" ซึ่งคำกล่าวนี้ก็ไม่ผิดด้วยตรรกะที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) แต่เป็นคำกล่าวที่ตื้นเขินในทางกฎหมายมหาชนเป็นอย่างมาก
การมีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น อาจมีข้อขัดแย้งในเรื่องความชอบธรรม โดยหากไม่มีการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Le contrôle de constitutionnalité) ก็แสดงว่าฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้และอาจจะนำมาซึ่งกฎหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นที่จะต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย (Démocratie) ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้มาจากประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาต่อไป หลักการทั้งสองซึ่งได้แก่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Le contrôle de constitutionnalité) และประชาธิปไตย (Démocratie) ก็หาได้เป็นหลักการที่ขัดแย้งกัน โดยเมื่อพิจารณาจากหลักประชาธิปไตย ประชาธิปไตยโดยทางผู้แทนราษฎรนั้น สภาประกอบด้วยเสียงข้างมากซึ่งเป็นเสียงที่มีพลังในการตัดสินใจ ในขณะที่เสียงข้างน้อยแทบจะไร้พลังในการดำเนินการหรือการตัดสินใจใดๆ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคุ้มครองเสียงข้างน้อย หากเสียงข้างมากดำเนินการที่ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ วิธีการและเงื่อนไขต่างๆในการออกกฎหมายหรือการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติไว้
ดังนั้น ถ้าการออกกฎหมายหรือการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนได้มอบให้ไว้ในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็แสดงให้เห็นว่ากฎหมายหรือการกระทำนั้นไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน (La volonté générale) หากแต่เป็นเจตนาส่วนตัวของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงสามารถที่จะยกเลิกกฎหมายหรือให้การกระทำนั้นเป็นโมฆะได้เพื่อปกป้องเจตนาร่วมกันของประชาชนไม่ให้ถูกบิดเบือนโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ความชอบธรรมของการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Légitimité du contrôle de constitutionnalité) กับระบบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่กลับเป็นการส่งเสริมระบบประชาธิปไตยให้เป็นระบบที่มีความชอบธรรมและเป็นระบบที่มีเหตุมีผล
ด้วยเหตุนี้ คำกล่าวที่ว่า "เมื่อประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หากจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ย่อมยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญได้" เป็นคำกล่าวที่อาจจะสอดคล้องกับตรรกะที่ว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) ย่อมจะกำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ว่า "ประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือในการสนองความต้องการของตน" โดยไม่ได้คำนึงหรือคิดถึงประชาชนอย่างแท้จริงว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจจะสั่นคลอนหากฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายหรือกระทำการใดได้โดยอำเภอใจโดยไม่มีศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือควบคุมการกระทำดังกล่าว
ดร. ศาสดา วิริยานุพงศ์
14 มีนาคม 2564