"...การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะต้องนำไปให้ประชาชนลงประชามติตามมาตรา 256(8) ว่าจะให้มีการตั้งสสร. เพื่อไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็ย่อมถือว่าประชาชนเห็นชอบกับการตั้งส.ส.ร. ก็เท่ากับประชาชนเห็นชอบให้สสร.ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐสภา ก็เท่ากับประชาชนเห็นว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรากับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความแตกต่างกัน..."
..............................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น 1 ใน 4 นักวิชาการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เสนอความเห็นต่อศาลในการวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ สำหรับนักวิชาการอีก 3 คนประกอบด้วย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60 และ ศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
...........................................
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
1 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งในปีพศ. 2555 และในปี 2564 ว่ารัฐสภาสามารถอาศัยบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้. โดย”ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
2. คำว่า “ ก่อน “ ที่ศาลใช้นี้ ศาลไม่ได้พูดชัดว่า “ก่อน “ อะไร จึงมีผู้ตีความเป็น 2 ทางคือ 1) ก่อนมีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือ 2) ก่อนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ
แต่เมื่ออ่านคำวินิจฉัยช่วงสุดท้ายที่ศาลตัดสินว่า “ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” แล้วนำประโยคช่วงสุดท้ายนี้ไปรวมกับประโยคแรก ก็จะชัดเจนขึ้นว่า
1) ศาลต้องการให้มีประชามติครั้งแรกก่อนมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประชามติครั้งที่สองหลังมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2 )การจัดทำประชามติจะมีแค่ 2 ครั้งเท่านั้น
“ก่อน” คำนี้จึงหมายถึง ก่อนมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หาใช่ก่อนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ซึ่งการตีความเช่นนี้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 256(8)ที่บัญญัติให้จัดทำประชามติภายหลังจากที่รัฐสภาลงมติในวาระ 3 แล้ว ซึ่งเป็นเวลาก่อนมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( ที่จัดทำโดย ส.ส.ร. )นั่นเอง
หากตีความคำว่า “ก่อน” ว่าหมายถึงก่อนการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดผลที่ผิดปรกติหลายประการคือ
1) การจัดทำประชามติก่อนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆให้การรับรองไว้ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำประชามติที่ขัดและไม่ชอบกับตัวบทของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั่นเอง
2 ) หากจะต้องทำประชามติก่อนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมก็เท่ากับตีความว่าจะต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้งเพื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( ครั้งแรกก่อนเสนอญัตติ ครั้งที่สองภายหลังรัฐสภาเห็นชอบในวาระที่สามตามมาตรา 256(8) และครั้งที่สามเมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว)ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มีการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง
3) การจัดทำประชามติแต่ละครั้งจะใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ถ้าต้องจัดทำประชามติถึงสามครั้งก็จะใช้งบประมาณของประเทศจำนวนมหาศาลซึ่งไม่น่าใช่เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญ
4) การจัดทำประชามติถึง 3 ครั้ง เสมือนว่าไม่ต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เลย ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ได้
3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า”รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้” ไม่มีประโยคใดเลยที่วินิจฉัยว่ารัฐสภาต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยตนเอง ในทางตรงกันข้าม
1) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้กระทำโดยรัฐสภานั่นเอง
2)การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะต้องนำไปให้ประชาชนลงประชามติตามมาตรา 256(8) ว่าจะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็ย่อมถือว่าประชาชนเห็นชอบกับการตั้งส.ส.ร. ก็เท่ากับประชาชนเห็นชอบให้ ส.ส.ร.ทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐสภา ก็เท่ากับประชาชนเห็นว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรากับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความแตกต่างกัน
3)รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านประชามติของประชาชนก็มิได้จัดทำโดยประชาชน แต่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน
4)รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพ.ศ.2540 ที่นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทยก็มิได้ร่างโดยประชาชน แต่ร่างโดยสสร.
กล่าวโดยสรุปการลงมติของรัฐสภาวาระที่สาม ต่อด้วยการจัดทำประชามติจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อทำประชามติเสร็จแล้วจึงค่อยนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยนำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ตามมาตรา 256(8) ประกอบกับมาตรา 256(7)
ศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดความเห็น ‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ ต่อศาล รธน.อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage