"...สำหรับประเทศไทย หากหน่วยงานภาครัฐและอื่นๆ ร่วมกันจัดทำ Pension Dashboard เพื่อรวบรวมข้อมูลเงินบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยที่กระจัดกระจายและซับซ้อน ให้อยู่ในที่เดียว เป็นระบบ และ มีมาตรฐานจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลและออมเงินเพื่อการเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ..."
..................
1.บทนำ
เมื่อกล่าวถึงการวางแผนทางเงินเพื่อวัยเกษียณ หลายคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัวและยุ่งยาก แต่แท้จริงแล้วการวางแผนทางการเงินมีความสำคัญกว่าที่คิด
ลองพิจารณาชีวิตของตัวละครสมมติ 2 คน สะท้อนชีวิตของคน 2 กลุ่ม คนแรก นาย “มีเงิน” อายุ 22 ปี จบปริญญาตรี เดิมทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งได้รับเงินเดือน 18,000 บาท และ ใช้จ่ายหมดทุกเดือน โดยรายจ่ายแต่ละเดือนแบ่งเป็น ค่าเช่าหอและค่าผ่อนมือถือ 7,000 บาท ค่าเดินทาง 2,000 บาท เหลือประมาณ 8,000 - 9,000 บาท เป็นค่ากินอยู่ ค่าสังสรรค์กับเพื่อน แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เขาถูกเลิกจ้าง และต้องกู้ยืมเงินนอกระบบมาประทังชีวิต กรณีตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในวัยที่เพิ่งเริ่มทำงานและมีรายได้ไม่สูงนัก การใช้ชีวิตโดยไม่ได้วางแผนทาง การเงินให้ดี ทำให้ไม่มีเงินออมไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน จึงไม่ต้องพูดถึงการวางแผนการออมเพื่อวัยเกษียณที่ดูจะเป็นเป้าหมายที่ห่างไกลสำหรับคนกลุ่มนี้
ตัวละครที่สอง นาง“พอเพียง” อายุ 55 ปี เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอยู่กับลูกชายวัย 20 ปี ทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งมีรายได้เดือนละ 85,000 บาท มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเทอมลูกชาย ค่าผ่อนบ้านรวมรายจ่ายอื่นๆ เฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท แต่ด้วยรายได้ที่สูงจึงทำให้เธอยังมีเงินเหลือเก็บเดือนละประมาณ 25,000 บาท อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความกระจัดกระจายของเงินออมและสิทธิประโยชน์ที่ตัวเองมี อาทิ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ของบริษัท รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ จึงทำให้ไม่สามารถแยกประเภทเงินออมที่ตัวเองมีได้อย่างชัดเจน
ปัญหาที่ตัวละครสมมติทั้ง 2 คนเผชิญเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
โดยจากการสำรวจทักษะทางการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561) พบว่า แม้คนไทยกว่าร้อยละ 82.8 ได้คิดถึง การออมและการวางแผนการออมเพื่อวัยเกษียณแล้ว แต่มีเพียงร้อยละ 18.6 เท่านั้นที่ทำตามเป้าหมายการออมที่กำหนดไว้ได้จริง โดยมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ที่เห็นความสำคัญของการออมและได้ดำเนินการตามแผนการออมเพื่อวัยเกษียณของตัวเอง ผลการศึกษานี้ยังพบว่า กลุ่มคน Gen Z หรือกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (เกิดหลังปี 2540) มีแนวโน้มออมเงินน้อยลงสะท้อนจากสัดส่วนร้อยละ 44 ของคน Gen Z เท่านั้นที่มีเงินออม ขณะที่สัดส่วนคนมีเงินออมทั้งหมดต่อประชากรไทยอยู่ที่ร้อยละ 77
นอกจากนี้ โสมรัศมิ์ และคณะ (2560 และ 2563) พบว่าคนไทยมีหนี้เร็ว เป็นหนี้จนแก่ และ คนอายุน้อยมีหนี้เสียสูง (รูปที่ 1) จึงเห็นได้ชัดว่า ปัญหาทางการเงินของคนไทยมีความเชื่อมโยงกันและ มีจุดเริ่มต้นที่สำคัญอยู่ที่การออมและการวางแผนทางการเงิน เพราะนอกจากการออมจะช่วยในยามฉุกเฉิน ขาดรายได้และยามเกษียณ การออมยังช่วยตัดวงจรหนี้ (ไม่เป็นหนี้เร็ว หนี้สูง หนี้นาน) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ การวางแผนทางการเงินที่ดียังมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ดังนั้น หากคนไทยหันมาใส่ใจให้ความสำคัญ และเริ่มวางแผนการออมตั้งแต่เนิ่น ๆ ปัญหาทางการเงินก็จะไม่เกิดขึ้น
บทความนี้จึงขอนำเสนอแนวคิดที่จะช่วยวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล โดยเฉพาะการวางแผนเงินออมเพื่อการเกษียณ โดยการรวบรวมข้อมูลเงินออมส่วนบุคคลแบบครบวงจร เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการข้อมูลและวางแผนเงินออมเพื่อวัยเกษียณของตัวเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในตอนท้ายของบทความคณะผู้เขียนฯ ได้แนะนำเครื่องมือที่หลายประเทศนำมาใช้ในการช่วยวางแผนชีวิตหลังเกษียณของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถออกแบบชีวิตหลังเกษียณได้สะดวก มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น
2.ข้อมูลการออม ครบ จบที่เดียว ช่วยวางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณได้ ?
หลายคนยังจินตนาการภาพการออมเพื่อวัยเกษียณไม่ออก ด้วยระยะเวลาในอนาคตที่ยาวนานถึง 20-30 ปี ทำให้มีโอกาสที่จะขาดการติดตามเงินบำนาญของตนเองอย่างสม่าเสมอ เรียกได้ว่าออมจนลืมแล้วว่ามีเงินอยู่ที่ไหน และเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งประโยชน์ของการรวบรวมข้อมูลไว้ในที่เดียว ไม่ใช่แค่การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ออมเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อีกมากที่จะทำให้ชีวิตหลังเกษียณของผู้ออมเป็นเรื่องใกล้ตัวและคาดการณ์ได้
2.1 เห็นภาพรวมสิ่งที่มีและเจอสิ่งที่หายไป
ข้อมูลการออมแบบครบวงจรจะช่วยให้เห็นภาพรวมการออมในปัจจุบันของตนเองและทำให้จัดการกับเงินออมที่กระจัดกระจายหลายที่สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น กรณีประเทศอังกฤษ พบว่าในปี 2561 มีเงินบำนาญที่ไม่มีผู้มาขอรับสิทธิสูงถึง 19.4 พันล้านปอนด์ฯ ครอบคลุม 1.6 ล้าน พอร์ตเงินบำนาญ (Pension Pot)1 (Wilkinson 2018) โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ออมย้ายที่อยู่และย้ายงาน และไม่ได้ปรับปรุงข้อมูลติดต่อปัจจุบันไว้ รัฐบาลอังกฤษจึงแก้ปัญหานี้โดยรวบรวมข้อมูลการออมไว้ในที่เดียว เพื่อช่วยให้ประชาชนติดตามเงินออมของตนเองได้สะดวกมากขึ้น
2.2 เกษียณอย่างมีความสุขต้องมีเงินเท่าไหร่
แต่ละคนควรจะมีรายได้เดือนละเท่าใดหลังเกษียณ เพื่อให้ใช้ชีวิตในอีก 20 หรือ 30 ปีที่เหลือได้อย่างไม่ลำบาก สามารถลองคำนวณได้ดังนี้
เริ่มที่การคำนวณค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ จากรูปที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น นาย “มั่นคง” อายุ 40 ปี เป็นข้าราชการเขาคาดว่าตนเองน่าจะใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนประมาณร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน หรือ 20,000 บาท (หากปัจจุบันมีรายจ่าย 25,000 บาท) สมมติให้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3 ทุกปี หากเขาเกษียณอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า เขาจะต้องใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 36,000 บาท และหากนาย “มั่นคง” คาดว่าตนเองจะใช้ชีวิตหลังเกษียณประมาณ 20 ปี เขาจะต้องใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 8,640,000 บาท
คำถามถัดมา คือ ภายในระยะเวลาอีก 20 ปีที่เหลือในวัยทำงานของเขาจะหาเงินจำนวนดังกล่าวมาจากที่ไหนบ้างและผลประโยชน์จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะเพียงพอหรือไม่สิ่งเหล่านี้สามารถตอบได้ง่าย หากมีการรวบรวมข้อมูลการออมเพื่อเกษียณของตนเองและติดตามผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้สามารถประเมินวงเงินที่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้
2.3 การเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
การเจ็บป่วยต่างๆ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญสำหรับคนวัยเกษียณ จึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันด้วย ซึ่งการมีข้อมูลเงินออมเพื่อเกษียณทั้งหมด จะช่วยยกระดับการเตรียมความพร้อมในวัยเกษียณได้รอบด้านมากขึ้น ทำให้ทราบว่าจะมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานผลประโยชน์อื่นใดบ้างหลังเกษียณและจะเพียงพอหรือไม่หากต้องเข้าโรงพยาบาล
3.หากอยากจะรวบรวมเงินออมเพื่อเกษียณของตนเอง มีข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องรู้?
เงินบำเหน็จบำนาญ (Pension) คือ เงินออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบทั้งการออมร่วมกันระหว่างผู้ออม นายจ้าง และรัฐบาลการออมผ่านแผนการออมที่ถูกจัดสรรไว้ที่ทำงานหรือการออมส่วนบุคคลผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เมื่อผู้ออมเกษียณอายุจะได้รับเงินที่ออมไว้พร้อมกับเงินสมทบ รวมถึงผลตอบแทนจากการออมซึ่งการรับเงินมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยอาจเลือกรับเป็นงวดหรือรับเงินก้อนใหญ่ก็ได้ ทั้งการออมร่วมกันระหว่างผู้ออม นายจ้าง และรัฐบาล การออมผ่านแผนการออมที่ถูกจัดสรรไว้ที่ทำงานหรือการออมส่วนบุคคลผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เมื่อผู้ออมเกษียณอายุจะได้รับเงินที่ออมไว้พร้อมกับเงินสมทบ รวมถึงผลตอบแทนจากการออมซึ่งการรับเงินมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยอาจเลือกรับเป็นงวดหรือรับเงินก้อนใหญ่ก็ได้
สำหรับประเทศไทยมีระบบบำหน็จบำนาญที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเงินสวัสดิการจากรัฐบาลได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากภาครัฐที่ทุกคนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันเมื่ออายุครบ 60 ปี ยกเว้นผู้ที่ได้รับบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเดิมหรือสิทธิประโยชน์อื่นจากหน่วยงานของรัฐ 3 นอกจากนี้ ยังมีการออมเพื่อยามเกษียณรูปแบบต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังรูปที่ 3 (สุปราณี และ นวพร, 2556)
3.1 การออมภาคบังคับ
ผู้ออมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ คือ พนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่หักเงินเดือนส่วนหนึ่งเพื่อสะสมเข้ากองทุนที่เป็นเงินบานาญ โดย กองทุนเหล่านี้มี 2 แบบด้วยกัน คือ
(1) การสะสมร่วมกัน 3 ฝ่าย (ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล) ได้แก่ กองทุนประกันสังคม (มาตรา 33) และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน) ซึ่งนอกเหนือจากการจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนและสมาชิกแล้ว ทั้งสองกองทุนนี้ยังให้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการอีกด้วย
(2) กองทุนแบบสะสมร่วมกัน 2 ฝ่าย (ลูกจ้างและนายจ้าง) ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งกองทุนประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ โดยที่สมาชิกจะได้รับเงินเมื่อเกษียณอายุหรือออกจากงานแล้วเท่านั้น
3.2 การออมภาคสมัครใจ
สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Self-employed) เช่น พ่อค้าแม่ค้า หรือ ฟรีแลนซ์ สามารถออมเงินเพื่อวัยเกษียณได้เช่นกัน โดยสามารถเลือกสะสมผ่าน กองทุนประกันสังคม (มาตรา 39 และ 40) หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองใดกองหนึ่ง ซึ่งทั้งสองกองทุนมีรัฐบาลร่วมสะสมเงินออมให้ด้วย
3.3 การออมส่วนบุคคล
การออมในส่วนนี้ คือ การออมผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ผู้ออมสามารถเลือกออมเองได้อิสระเพื่อสร้างรายรับยามเกษียณเพิ่มเติม อาทิ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity)
แนวทางการจัดทำ Checklist ทางเลือกการออมของบุคคลในแต่ละอาชีพในบทความนี้ (Box 1) แสดงทางเลือกทั้งหมดที่แต่ละอาชีพสามารถเลือกได้ โดยครอบคลุมทั้งการออมภาคบังคับ การออมภาคสมัครใจ และการออมส่วนบุคคล
ผู้อ่านสามารถลองทำ Checklist ง่าย ๆ ตามแนวทางข้างต้นได้ ตัวอย่างเช่น นางสาว “สุขใจ” เป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่จะได้รับ คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจะได้รับเงินสมทบทุกเดือนจากนายจ้างร้อยละ 5 ของเงินเดือน นอกจากนี้ สุขใจยังสามารถซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกษียณและใช้สิทธิลดหย่อนภาษี นอกจากที่กล่าวมาแล้ว หากสุขใจอยากออมเพิ่มเติมยังสามารถซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีก (รูปที่ 4)
นอกจากนี้ ผู้ออมเงินอาจมีการออมในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น เงินฝากธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์ สลากออมทรัพย์ กรมธรรม์ประกันชีวิต เงินลงทุนต่าง ๆ เช่น หุ้นกู้ หุ้นสามัญ กองทุนรวมอื่นนอกเหนือจาก RMF รวมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม เงินฝากในบัญชีธนาคารที่สามารถถอนออกมาใช้ได้ก่อนเกษียณ รวมถึงสินทรัพย์ที่อาจได้รับในอนาคตแต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ยามเกษียณ เช่น ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ หรือเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ไม่นับว่าเป็น Pension แต่เงินออมและเงินลงทุนส่วนนี้มีความสำคัญสำหรับรองรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย
จะเห็นได้ว่า การออมเพื่อวัยเกษียณมีทางเลือกที่หลากหลาย และมีสิทธิประโยชน์รออยู่มาก ยิ่งเตรียมความพร้อมไว้มาก ยิ่งจะก้าวสู่วัยเกษียณได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
4. "Pension Dashboard" ทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์?
การเก็บออมเพื่ออนาคตที่ว่ายากแล้ว การรวบรวมข้อมูลการออมเพื่อวัยเกษียณได้ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะต้องอาศัยการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระเบียบ ความสามารถทางบัญชีและคณิตศาสตร์
ในประเทศที่มีฐานข้อมูลประชาชนดีมักจะมี Pension Dashboard ให้ประชาชนได้ใช้ในการวางแผนชีวิตหลังเกษียณของตนเองและสามารถติดตามเงินบำนาญของตนเองได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของตนเองที่อยู่กับภาครัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อยอดการใช้ประโยชน์ข้อมูลการออมของประชาชนได้อีก โดยเพิ่มรูปแบบการคำนวณที่ซับซ้อนเข้าไป เช่น ประมาณการรายได้จากเงินออมหลังเกษียณ เป็นต้น
Pension Dashboard คือ หน้ากระดานที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับเงินบำนาญที่ผู้ออมจะได้รับเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เงินบำนาญ สิทธิประโยชน์ และผลตอบแทนจากการออม ซึ่งถ้าย้อนกลับไปที่คำถามว่า “หลังเกษียณ คุณจะมีเงินออมเท่าไหร่ และคิดว่าจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลือหรือไม่” หากมี Pension Dashboard จะสามารถคำนวณได้ในทันที
ในบางประเทศมี Pension Dashboard ที่พัฒนายิ่งขึ้นไปอีก สามารถเรียกดูผลประโยชน์เงินบำนาญของตนเองในแต่ละช่วงอายุได้ รวมถึงสามารถคำนวณรายได้หลังเกษียณและประมาณการได้ว่า ตนเองจะมีเงินเพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณหรือไม่ อีกทั้งยังสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนการเกษียณอายุได้อีกด้วย โดยสามารถเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่จะได้รับระหว่างการเกษียณก่อนอายุและการเกษียณตามอายุได้ และที่สำคัญผู้ใช้งานไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องของการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเนื่องจาก Pension Dashboard มีระบบปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานและมีระบบการยืนยันตัวตนที่รัดกุม ทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกบุคคลที่ 3 นาไปใช้งานผิดวัตถุประสงค์
ในปัจจุบันมีหลายประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก ที่ภาครัฐร่วมมือกับบริษัทเอกชนและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการจัดทำ Pension Dashboard ให้กับประชาชน และเปิดให้เข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ หรือ Application โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนหันมาใส่ใจการวางแผนเงินออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณและสามารถติดตามได้อย่างสะดวกมากขึ้น
5.ความสำเร็จจากประสบการณ์ต่างประเทศในการสร้าง Pension Dashboard
หากพิจารณาประสบการณ์ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Pension Dashboard พบว่า ภาครัฐเป็นข้อต่อสำคัญในการริเริ่มให้บริการข้อมูลการเกษียณแบบครบวงจรกับประชาชน เนื่องจากในการจัดทำต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันของหน่วยงานราชการ ภา คเอกชน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ นักพัฒนาแอปพลิเคชัน (Application Developer) และนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) รวมถึงต้องใช้เวลาจัดเตรียมระบบและโครงสร้าง เนื่องจาก Pension Dashboard เป็นการรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลลับ และจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างหลายหน่วยงาน
เช่นในกรณีประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจัดเป็นประเทศแรก ๆ ที่ริเริ่มจัดทำ Pension Dashboard ต้องใช้เวลามากถึง 14 ปี (พ.ศ.2542 – 2556) จึงสามารถรวบรวมบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ครบทั้งประเทศ โดยในช่วงแรกสามารถรวบรวม ได้เพียงไม่กี่ราย แต่หลังจากที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของ Pension Dashboard รวมถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ดีขึ้นทำให้ประเทศเดนมาร์กสามารถจัดทำ Pension Dashboard รายบุคคลของประชากร ทั้งประเทศได้สำเร็จในปี 2556 (Lindley 2019)
จะเห็นได้ว่าการจัดทำ Pension Dashboard เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ซึ่งถ้าหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศไทยสามารถร่วมกันทำได้สาเร็จ จะกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการออมในระยะยาวและช่วยยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไทยได้
6.บทส่งท้าย
Pension Dashboard เป็นแนวคิดที่จะช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ช่วยให้ผู้ใช้งาน คุ้นเคยกับการวางแผนทางการเงินในระยะยาว และเข้าใจว่า การวางแผนเพื่อการเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อผู้ใช้งานมีความรู้ความเข้าใจ มากขึ้น จะได้ประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจเพื่อชีวิตหลังเกษียณของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีชีวิตยามเกษียณอย่างมีความสุข ซึ่งคณะผู้เขียนฯ เชื่อว่าการวางแผนเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่ดีย่อมมีจุดเริ่มต้นมาจากการวางแผนทางการเงินที่รอบคอบ
สำหรับประเทศไทย หากหน่วยงานภาครัฐและอื่นๆ ร่วมกันจัดทำ Pension Dashboard เพื่อรวบรวมข้อมูลเงินบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยที่กระจัดกระจายและซับซ้อน ให้อยู่ในที่เดียว เป็นระบบ และ มีมาตรฐานจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลและออมเงินเพื่อการเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้ภาครัฐบริหารฐานะทางการคลังได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย
บทความโดย : ธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท. , พิชามญชุ์ กิตติอัครเสถียร ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. และ ถิรนันท์ สงวนจีน ผู้วิเคราะห์ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/