นพ.เกียรติภูมิ: "ที่ผ่านมาในการทดลองการใช้วัคซีนของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่เคยทำให้ใครเสียชีวิต" vs วิโรจน์: “คำชี้แจงก็ยังมั่นใจว่าวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า นั้นดูเหมือนจะไม่มีปัญหา ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นไม่มีใครที่จะมั่นใจได้แบบนั้น และถ้าหากพบว่าวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า นั้นมีปัญหาทางปฏิบัติแล้วจะทำอย่างไร แต่ว่าก็ไม่มีคำตอบจากนายอนุทินอีกเช่นกัน”
.................................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา บรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลเป็นวันที่สอง ภายหลังนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในประเด็นเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 นั้น
@ภูมิใจไทยควงบิ๊ก สธ.แถลงโต้นอกสภาปมวัคซีนโควิด-19
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ห้อง 203 อาคารรัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้แถลงข่าวชี้แจงตอบโต้นายวิโรจน์นอกสภา โดยในห้องดังกล่าวนายวิโรจน์ได้เข้าไปสังเกตการณ์ และจดข้อมูลด้วย
นพ.เกียรติภูมิ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในเรื่องการเตรียมการจัดซื้อวัคซีน เราเตรียมการอย่างดีที่สุดมีการจองไว้แล้วในปี 2564 สามารถฉีดให้ประชาชนได้ 63 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ โดยวัคซีนที่ได้มาจะมา 3 เฟส เฟสแรกจะมาน้อย แต่ระยะหลังจะมามากขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวเสริมถึงการบริหารวัคซีนว่า ในเฟสแรกจะมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง อาทิ กรุงเทพฯ จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกันนี้เรายังมีมาตรการเฝ้าสังเกตการณ์ผู้ที่ได้รับวัคซีน ถ้ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต จะมีการชดเชยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
"ที่ผ่านมาในการทดลองการใช้วัคซีนของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่เคยทำให้ใครเสียชีวิต" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
@'วิโรจน์'โต้กลับทันควัน! ยังไม่ได้คำตอบจาก'อนุทิน'ถ้าได้วัคซีนช้าแก้ปัญหายังไง
ต่อมา นายวิโรจน์ เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งโต๊ะเเถลงเเละชี้เเจงในประเด็นแผนบริหารวัคซีนของรัฐบาลที่ถูกนำไปอภิปรายในสภา สรุปได้ว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามก็คือวัคซีนจะมาทันหรือไม่ ทันหรือไม่เพียงพอ จะเป็นไปตามแผนหรือไม่ โดย ณ เวลานี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากนายอนุทิน หรือไม่เคยได้รับการชี้แจงเลยคือว่า ถ้าหากวัคซีนประสบปัญหากับความล่าช้าแล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไร และจะมีวัคซีนตัวอื่นมาทดแทนหรือไม่ จะแก้ปัญหาอย่างไรกับกรณีที่ประเทศไทยได้แทงวัคซีนแค่ยี่ห้อเดียว วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน คงไม่สามารถเอาไปนับได้เพราะว่ามีแค่ 2 ล้านโดสเท่านั้น ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับวัคซีนจำนวน 63 ล้านโดสจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และจะทำอย่างไรถ้าหากวัคซีนมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศแอฟริกาใต้
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ถ้าวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนทั้งในการจองซื้อ และในการจัดซื้อวัคซีนปรากฏออกมาเลย ไม่มีคำชี้แจงอีกว่าจะทำอย่างไรถ้าหากเกิดปัญหาผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า
“คำชี้แจงก็ยังมั่นใจว่าวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า นั้นดูเหมือนจะไม่มีปัญหา ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นไม่มีใครที่จะมั่นใจได้แบบนั้น และถ้าหากพบว่าวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า นั้นมีปัญหาทางปฏิบัติแล้วจะทำอย่างไร แต่ว่าก็ไม่มีคำตอบจากนายอนุทินอีกเช่นกัน” นายวิโรจน์ กล่าว
@ตั้งข้อสังเกต ไฉน สธ.อ้างหนังสือแอสตร้าเซเนก้าส่งมาก่อนอภิปราย 1 วัน
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญก็คือในห้องประชุม 203 มีการเอาหนังสือภาษาอังกฤษ ทำโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ถึงกระทรวงสาธารณสุข ข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวก็คือมีการลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 หรือคือก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงแค่ 1 วันเท่านั้นเอง เลยต้องถามว่า ทำไมบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ถึงทำหนังสือในระยะเวลาดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่มีหนังสือแบบนี้ในลักษณะล่วงหน้า และถ้าหากมีหนังสือล่วงหน้าจริงก็ควรนำมาเปิดเผยด้วยเพื่อให้ได้เห็นไทม์ไลน์ในการจัดหาวัคซีนอย่างชัดเจน
นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้อยคำในหนังสือนั้นระบุว่า The Evaluation Process started in Q2 2020 ถ้าไม่ลองแปลให้ดี หลายคนอาจคิดว่ากระบวนการคัดเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนส์ฯ นั้นสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ในความเป็นจริงถ้าหากลองแปลตรงตัวแล้ว จะแปลว่า กระบวนการประเมินบริษัท สยามไบโอไซเอนส์ฯ เริ่มต้นขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 แต่ไม่มีการระบุว่า การสรุปว่าผลการประเมิน สรุปเมื่อไรกันแน่ และผลการสรุปเป็นอย่างไร และไม่มีการชี้แจงว่ามีการแต่งตั้งให้กระทรวงต่างประเทศให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปร่วมเจรจาด้วยจริงหรือไม่
“ที่ให้การกันไว้ในห้องกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุขว่า เงื่อนไขของการสั่งซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ตัดสินใจเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนส์ฯ เป็นข้อเท็จจริงเพียงใด และเงิน 600 ล้านบาทที่เป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทย และจากภาษีประชาชนนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเลือกวัคซีนจากบริษัท สยามไบโอไซเอนส์ฯ และจาก แอสตร้าเซนเนก้า ใช่หรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นเรื่องการเจรจาวัคซีนโคแวกซ์นั้น ที่ผ่านมา 7 เดือนเศษแล้วที่บอกว่าไปเจรจากัน ผลการเจรจานั้นเป็นอย่างไร ทำไมประเทศทั้ง 172 ประเทศ ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนถึงเข้าร่วม แต่ประเทศเราถึงปฏิเสธแค่ประเทศเดียว ทำไมถึงเราไม่กระจายความเสี่ยงในแบบที่นานาอารยะประเทศได้กระทำกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าในกรณีโคแวกซ์นั้น ถ้าประเทศไทยเข้าร่วมอาจต้องเข้าข่ายเป็นประเทศที่มีข้อผูกมัดเรื่องการจ่ายเงินสนับสนุนโคแวกซ์มากกว่าจะเป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี นายวิโรจน์กล่าวว่า สาระสำคัญของโคแวกซ์ก็คือไม่ใช่ราคา แต่เป็นการสร้างความมั่นใจว่าเราจะได้วัคซีนแน่ ๆ และในประเด็นเรื่องการกระจายความเสี่ยงในช่วงที่งานวิจัยวัคซีนยังไม่มีความแน่นอน และความต้องการวัคซีนก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ
“ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับราคามากนัก จ่ายแพงก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้ ผมแค่ตั้งข้อสังเกตว่าราคาที่แตกต่างกัน ถ้าหากมีการเปิดสัญญาให้โปร่งใส ประชาชนจะได้ตรวจสอบได้ว่า ที่ประเทศนี้ซื้อได้ถูกกว่า เพราะอาจมีการจ่ายเงินสนุบสนุนงานวิจัยใด ๆ ก็ตาม” นายวิโรจน์ กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage