"...บังเอิญว่าหนนี้ กฏหมายนี้อยู่ในหมวดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีกติกากำกับวิธีพัฒนาเรื่องตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 เป็นการเฉพาะ จึงเริ่มถูกผู้ทัก ว่าจะเลือกส่งร่างกฏหมายใดก็ได้ตามดุลยพินิจของฝ่ายบริหารมารัฐสภานั้นอาจจะไม่ตรงตามคำในรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เลยมีคำถามเกี่ยวกับความชอบด้วยขั้นตอนวิธีเดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. และมาตรา260 ว่า ร่างกฏหมายได้เกิดและเดินทางมาถูกตามวิธีที่รัฐธรรมนูญ2560กำหนดหรือไม่..."
............................................
มีคนถามว่า ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่กำลังจะมาสู่การพิจารณาของรัฐสภา จะให้ประโยชน์อะไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจแต่ละนาย
และจะทำให้เกิดอะไรกับประชาชนทั่วไป?
กฏหมายจัดการองค์กร ไม่ว่าฉบับไหนก็มักจะเป็นการให้โครงสร้าง ให้อำนาจแก่กันเองในองค์กรไม่ใช่หรือ ?
ผมไล่ศึกษาดูแล้ว จึงขอเล่าว่า ร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯหนนี้ อาจจะสามารถให้อะไรมากกว่านั้นได้แยะ...
เราจึงควรมาสำรวจกันสักหน่อย ว่า ร่างกฏหมายนี้มีสาระสำคัญอะไร
ถ้าเราเชื่อว่า หากกฏหมายตำรวจมีระบบที่ให้ความมั่นใจแก่ตัวตำรวจแต่ละคนว่า เขาจะได้รับการมอบบำเหน็จความชอบ หรือได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ไม่ถูกแทรกแซงจากอะไรก็ไม่รู้ ไม่ว่าจากภายในหรือภายนอก แต่เอาประโยชน์ต่องานและประโยชน์ต่อประชาชนเป็นที่ตั้ง
และถ้าเขามั่นใจว่าเครื่องมือเครื่องใช้ที่เขาควรมีจะค่อยๆได้รับการจัดสรร จะเร็วหรือช้า จะมากหรือน้อย หากมีความโปร่งใส เชื่อถือคุณภาพได้ เขาก็จะมีความหวัง มีสมาธิและสามารถพัฒนาประสิทธิภาพที่เขาควรมีต่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนได้ดีขึ้น
ถ้าเราเชื่อว่างานที่เคยมอบให้ตำรวจทำ มีปริมาณมากเกินปริมาณกำลังพล และตำรวจแต่ละคนมีหน้างานกว้างเกินไป หากกฏหมายใหม่จะผ่องถ่ายหน้าที่บางอย่างออกไปให้หน่วยอื่นรับไปดำเนินการแทน
ตำรวจก็คงจะเหลือเวลากลับมาดูแลภารกิจตำรวจแท้ๆได้ดีขึ้น
ผมได้ลองเอามุมนี้มาคิดแล้ว ก็เห็นพ้อง
ร่างกฎหมายตำรวจฉบับใหม่นี้ กำหนดห้ามมิให้ตำรวจสังกัดสถานีตำรวจ ถูกยืมตัวไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่น
เพราะตำรวจโรงพักต้องอยู่ทำงานให้ประชาชนเต็มที่ที่สุด
ทุกวันนี้ ฟังว่า ตำรวจบางคนแม้มีชื่ออยู่ที่โรงพักก็จริง แต่ตัวจริงไปนั่งที่อื่น ถูกยืมไปช่วยราชการบ้าง ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ คณะทำงานนั่นนี่โดยกระทรวงอื่น จังหวัดอื่น กรมอื่น เลยไม่มีใครเจอตัวได้ที่สถานีตำรวจที่ตำแหน่งจริงของเจ้าตัวสังกัดอยู่
นี่คือไส้ในของร่างกฏหมายนี้ ที่เราควรได้รู้จักเป็นเรื่องที่หนึ่ง
คืนตำรวจโรงพัก ให้โรงพักเค้าไป...
ร่างกฏหมายตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ ยังมีเรื่องการตัดโอนงานที่เห็นแวว ว่าไม่น่าจะจำเป็นต้องทำเองด้วยมือตำรวจ ออกไปจากตำรวจ
ผมเคยมีประสบการณ์ในประเด็นนี้ เพราะผมเคยมีโอกาสขอตัดโอนงานเซนเซอร์ภาพยนตร์ออกจากมือตำรวจ แล้วเอาไปไว้ที่กระทรวงวัฒนธรรมมาก่อน ทำให้พบความจริงที่ว่า แม้ตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจะหวงจะห่วงงานที่ตัวเคยดูแลนั้นแค่ไหน แต่ก็จะไม่ยอมโอนย้ายตามงานนั้นๆออกไปจากระบบข้าราชการตำรวจหรอกครับ เพราะส่วนมากตำรวจทุกคนที่เข้ามาทำอาชีพตำรวจก็เพราะอยากโตในองค์กรตำรวจ
ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติหนนี้จึงให้โอนงานของตำรวจจราจรไปให้ กทม. ให้เมืองพัทยา ให้เทศบาลนคร รับไปทำต่อ ในอีกห้าปีข้างหน้า ถ้ากฏหมายผ่านรัฐสภาได้สำเร็จ
ทีนี้การจัดการจราจรของเมืองตั้งแต่พื้นที่จราจรบนถนนไปจนถึงบนทางเท้า ฝ่ายเมืองจะได้รับไปเต็มๆ เงินค่าปรับตามใบสั่งในอนาคตก็อาจจะได้ตกเข้าเมืองไปบำรุงปรับปรุงระบบจราจรให้มีผู้ทำผิดกฏจราจรในเมืองนั้นๆน้อยลง
กฏหมายนี้ให้ยุบตำรวจรถไฟ ให้ยุบกองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอีกหนึ่งและสองปีถัดไปตามลำดับ ถ้ากฏหมายผ่าน
และให้งานทะเบียน งานใบอนุญาตต่างๆที่มีกฏหมายบอกให้ไปขอจากตำรวจออกจากมือตำรวจไปในห้าปีเช่นกัน เช่นใบอนุญาตการพนัน ใบอนุญาตโต๊ะสนุกเกอร์บิลเลียด ใบอนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง เป็นต้น นี่ก็ไปเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองหรือหน่วยอื่นในพื้นที่ตามกฏหมายเรื่องนั้นๆต่อไป
นี่เล่าแบบคร่าวๆนะครับ รายละเอียดและขั้นตอนเงื่อนไขจะมีปรากฎในบทเฉพาะกาลของกฏหมายตำรวจแห่งชาติอีกพอควร
นี่นับเป็นสองเรื่องแรก
เรื่องที่ 3 คือ กฏหมายตำรวจแห่งชาติกำหนดให้การบริหารงานตำรวจในชั้นกองบัญชาการนครบาลและภูธร สามารถจัดแผนหรือมาตรการการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้ และเมื่อแผนนั้นได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว สำนักงบประมาณจะต้องจัดสรรให้เป็นไปตามตามแผนดังกล่าว ถ้าขาดกำลังพล ตัวสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องจัดอัตรากำลังให้ครบตามกรอบนั้นก่อนด้วย
ไม่ใช่ปล่อยอัตราที่นั่นขาดไปเรื่อย เพราะมัวแต่ไปพอกไว้ที่อื่น
อันนี้นับว่าก้าวหน้า และทำให้ระบบตำรวจต้องทำแผนร่วมกับผู้ว่า นายอำเภอ ผู้บริหารในองค์กรท้องถิ่นและชุมชน ไม่จำกัดเฉพาะทำกิจกรรมแนวชุมชนสัมพันธ์
ในเรื่องนี้ ร่างกฏหมายนี้ยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบให้สถานีตำรวจในท้องถิ่นของตนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินด้วย
แบบนี้จะช่วยให้สถานีตำรวจในจุดที่มีนักท่องเที่ยวมาเยอะๆ มีกำลัง มีงบที่จะรับมือปริมาณงานได้เต็มมือขึ้น
องค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเค้ามีรายได้ แต่พอจะเอามาบำรุงงานให้สถานีตำรวจ เค้าอาจโดนหน่วยตรวจสอบบัญชีทักได้ว่าไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น
เลยต้องต่างคนต่างอยู่ ฝ่ายหนึ่งมีงบรายได้ท้องถิ่น อีกฝ่ายคือสถานีตำรวจได้แต่รอการจัดสรรเงินส่งมาจากส่วนกลาง ซึ่งอยู่ไกลจากการรับทราบข้อเท็จจริงในพื้นที่
เงินรายได้ท้องถิ่นทีนี้จะได้ถูกใช้พัฒนาระบบตำรวจในท้องถิ่นตัวเองได้
4. ร่างกฏหมายตำรวจนี้ จัดให้มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระดูแลเรื่องที่ตำรวจถูกร้องเรียนจากประชาชนในทุกๆกองบัญชาการ อันนี้ประชาชนก็น่าจะมั่นใจมากขึ้นว่าเรื่องที่ร้องเรียนตำรวจนายนั้นนายนี้ไป จะไม่ถูกเพิกเฉยหรือช่วยเหลือกันเองโดยผู้คนภายในระบบนั้นๆ
ว่าไปก็คล้ายกรรมการคลายทุกข์ให้แก่ประชาชนอย่างหนึ่ง อันนี้ก็นับว่าเป็นกลไกใหม่
5. กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจที่คัดบุคคลมาจากการประชุมตกลงของประธานศาลปกครองสูงสุด ของประธานศาลฎีกา กรรมการ ก.ตร. เลขาธิการ ก.พ. เพื่อมาเป็นคณะบุคคลที่รับพิจารณาการร้องทุกข์หรือการอุทธรณ์กันเองภายในระหว่างตำรวจเพื่อคุ้มครองระบบคุณธรรมในวงการตำรวจนั่นเอง
คือมีกรรมการช่วยคลายทุกข์ให้แก่ตำรวจ
และเพื่อลดความทับซ้อนของระดับนโยบาย กฏหมายนี้ยังให้ยุบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)แล้วเอาอำนาจหน้าที่เหล่านั้นมาวางไว้ที่คณะกรรมการตำรวจ(ก.ตร.)เพื่อให้เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจเสียที่จุดเดียว
6.ร่างกฎหมายตำรวจคราวนี้จัดแบ่งให้มีข้าราชตำรวจทั้งแบบมียศ และเกิดข้าราชการตำรวจแบบไม่มียศขึ้นมา กล่าวคือข้าราชการตำรวจสายงานอำนวยการและสนับสนุน และข้าราชการตำรวจสายงานวิชาชีพเฉพาะ จะเป็นตำรวจแบบไม่มียศ
7. มีการจัดตั้งกองทุนสืบสวนสอบสวน ป้องกันการทำผิดทางอาญา เพื่อให้มีความคล่องตัวในการมีเงินช่วยในการทำคดี และไม่ต้องรบกวนเงินส่วนตัวของพนักงานสอบสวนที่เบิกนั่นก็ไม่มี เบิกนี่ก็ไม่ได้ ทำให้เดินเรื่องได้ช้า ตลอดจนกฏหมายนี้วางหลักการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งในสายงานสอบสวนไว้ให้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้สายงานสอบสวนมีช่องทางเติบโตในแท่งงานตัวเอง
ด้วยว่าร่างกฏหมายตำรวจแห่งชาติครั้งนี้ พูดถึงเรื่องข้างต้นเหล่านี้นี่เอง ที่ผมเห็นว่าร่างกฏหมายครั้งนี้จึงสำคัญ เพราะนี่ไม่ใช่กฏหมายเพื่อให้อำนาจองค์กรเฉยๆอย่างที่เรามักจะเจอ
แต่เป็นกฏหมายที่มุ่งจัดการความสัมพันธ์ของตำรวจกันเองและความสัมพันธ์ของตำรวจกับประชาชน ให้มีผลในทางที่ดีขึ้น
ชักเคลิ้มมั้ยครับ?
แต่อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าเส้นทางเดินของการพัฒนาร่างกฏหมายขึ้นมา ถูกตั้งข้อสังเกตโดยสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านว่า มีร่างพระราชบัญญัติชื่ออย่างนี้อยู่ถึง 3 ร่าง แถมร่างมาโดยคนละคณะผู้ร่าง และยกร่างมาคนละช่วงเวลา แต่มาในเวลาใกล้ๆไล่ๆกัน แต่ละร่างก็น่าจะอ้างเหตุตามกฏหมายที่แตกต่างกันไป
กล่าวคือมีฉบับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ชุดพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ซึ่ง ครม.ตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา258 ง คณะนี้พัฒนาร่างกฏหมายขึ้นมาจากการหยิบพ.ร.บ.ตำรวจ2547 เดิมมาพัฒนา เมื่อพัฒนาเสร็จจึงส่ง ครม. จนผ่านความเห็นชอบในหลักการเมื่อ 20 มีนาคม2561
ภายหลังจากนั้น รัฐบาลจึงส่งร่างนี้พร้อมข้อสังเกตจากนายกฯและหน่วยงานต่างๆไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีการับไปตรวจพิจารณา จากนั้น ครม.มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โดยมี อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน
คณะกรรมการชุดอาจารย์มีชัย นำร่างแรกนี้ไปพัฒนาจนเป็นร่างใหม่ มีการแยกส่วนที่เป็นเรื่องการสอบสวนคดีอาญาออกไปเป็นอีกพระราชบัญญัติเฉพาะจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
ที่จุดนี้เอง เราจึงอาจเรียกได้ว่าเกิดมีร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติร่างที่ 2 ขึ้น และร่างใหม่ที่แยกร่างเป็นสองฉบับนี้ก็ถูกส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการ ครม. เพื่อเวียนขอความเห็นจากหน่วยต่างๆก่อนจะบรรจุเข้าวาระครม.
เมื่อร่างที่ 2 นี้ไปถึงตาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นพ้องด้วยในเนื้อหา จึงแจ้งมาที่สำนักเลขาธิการ ครม.เมื่อ14 กุมภาพันธ์ 2562 ว่ามีข้อทักท้วงหลายประการ
นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้เอาความเห็นทั้งหลาย ทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงคลัง สำนักงบประมาณ และจากสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม ส่งรวมกลับไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีการับไปพิจารณาอีกหน
จากนั้นมีคำสั่งสำนักนายกฯลงวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ (ร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติและร่างกฎหมายสอบสวนคดีอาญา)ซึ่งก็มีอาจารย์มีชัยเป็นประธานตามเดิม
คณะกรรมการนี้จึงได้เชิญผู้แทนหน่วยต่างๆเข้าร่วมประชุมพิจารณา เสร็จแล้วก็ส่งร่างให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาซึ่งส่งกลับไปสำนักเลขาธิการ ครม.อีกหนเมื่อ 5 มีนาคม 2563 เพื่อรอบรรจุเข้าวาระ ครม. สำนักเลขาธิดาร ครม.จึงนำร่างส่งเวียนออกไปหน่วยต่างๆเพื่อขอความเห็นประกอบกลับมาอีกครั้ง
คราวนี้ แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะตอบเห็นชอบในหลักการ แต่ก็แถมข้อสังเกตมาด้วยอีกถึง 14 ประเด็น
สำนักเลขาธิการ ครม.จึงเชิญอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดประชุมให้ เมื่อ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อพัฒนาร่างกฏหมายข้างต้นกับส่วนราชการต่างๆแล้วส่งเข้าผ่านความเห็นชอบของ ครม.สำเร็จเมื่อ 15 กันยายน 2563 ร่างนี้จึงนับเป็นร่างที่3 !!
และบัดนี้ร่างที่ 3 นี้นี่แหละที่เดินทางมาถึงรัฐสภาคราวนี้ โดยรัฐบาลแจ้งว่า เป็นร่างกฏหมายที่เป็นไปตามหมวด16 ตามรัฐธรรมนูญเรื่องการปฏิรูปประเทศ แปลว่าจะไม่ใช่การเสนอให้ผ่านสภาผู้แทนราษฏรก่อนแล้วค่อยเอามาผ่านวุฒิสภา แต่จะเป็นการผ่านที่ประชุมร่วมของทั้ง ส.ว.และ ส.ส.ไปในคราวประชุมเดียว ซึ่งนัยว่าจะสำเร็จเป็นกฏหมายใหม่ได้เร็วกว่าขั้นตอนของการเสนอร่างกฏหมายปกติ ที่ต้องรอผ่านทีละสภา ซึ่งอาจใช้เวลานาน
บังเอิญว่าหนนี้ กฏหมายนี้อยู่ในหมวดปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีกติกากำกับวิธีพัฒนาเรื่องตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 เป็นการเฉพาะ
จึงเริ่มถูกผู้ทัก ว่าจะเลือกส่งร่างกฏหมายใดก็ได้ตามดุลยพินิจของฝ่ายบริหารมารัฐสภานั้นอาจจะไม่ตรงตามคำในรัฐธรรมนูญหรือเปล่า
เลยมีคำถามเกี่ยวกับความชอบด้วยขั้นตอนวิธีเดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. และมาตรา260 ว่า ร่างกฏหมายได้เกิดและเดินทางมาถูกตามวิธีที่รัฐธรรมนูญ2560กำหนดหรือไม่
เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า
ในการแก้ไขปรับปรุงกฏหมายตามมาตรา 258 ง (คือกฏหมายปฏิรูประบบของตำรวจ)ด้านกระบวนการยุติธรรม ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย........ฯลฯ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (รัฐธรรมนูญปี 2569 ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 )
คำถามคือ คณะกรรมการที่ทำร่างกฏหมายทั้ง 3 ตอนข้างต้น
คณะไหนคือคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง?
นี่เป็นประเด็นท้าทายแรก!!!
รออ่านประเด็นท้าทายที่สอง ที่ก็เกี่ยวกับคำในรัฐธรมนูญเช่นกัน พรุ่งนี้ต่อภาค 2 ครับ