“...การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน การทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้ ต้องได้รับการผลักดันร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ขณะที่การระบาดของโควิด ทำให้การศึกษาขยายขอบเขตออกไป เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีพรมแดน เพียงแต่ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างได้กลายเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างที่ควรจะเป็น การออกมาแสดงความเห็นของเยาวชนก็คือเสียงของอนาคตที่่ผู้ใหญ่ในสังคมสมควรจะรับฟัง อย่างน้อย ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งก็ต้องการที่จะมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เกี่ยวกับปัญหาที่สังคมต้องเผชิญ เพราะเยาวชนก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเช่นเดียวกัน...”
........................................................................
สถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้สถานศึกษาต้องปิดอย่างต่อเนื่อง จนเกิดปรากฏการณ์โควิดสไลด์ (COVID Slide) หรือสภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากการหยุดเรียนเป็นระยะเวลานาน เมื่อวันที่ 23-24 ม.ค.2564 ผู้นำเยาวชนอาเซียนจึงร่วมหารือกันในการประชุมเพื่อการริเริ่มนโยบายครั้งที่ 5 (Young ASEAN Leader Policy Initiative: YALPI) ภายใต้หัวข้อ 'ผนึกกำลังผู้นำเยาวชนร่วมรับมือความเหลื่อมล้ำทางสังคมยุคโควิด-19'
น.ส.อาทิมา สมเพาะ หนึ่งในทีมผู้แทนการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (YALPI) ประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำเยาวชนทั่วโลกอายุระหว่าง 18-25 ปี ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งในปี 2564 เราชวนเยาวชนอาเซียนมาร่วมพัฒนาโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชุมชน โดยมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน และลดการระบาดของโควิดใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.เด็กเยาวชนด้อยโอกาส 2.แรงงานสตรี และ 3.แรงงานข้ามชาติ
"การระบาดไม่เพียงคุกคามสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มคนเปราะบาง แต่ยังสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตอีกด้วย อย่างไรก็ตามนโยบายป้องกันและตอบโต้โควิด ยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความจําเป็นและความต้องการของกลุ่มคนชายขอบต่างๆได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นต่อกลุ่มคนดังกล่าว และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาในกลุ่มเด็กเยาวชนด้อยโอกาส การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาเข้าสูระบบออนไลน์ซึ่งเป็นผลจากการแพร่กระจายของโควิด" น.ส. อาทิมา กล่าว
น.ส.อาทิมา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีทีมเยาวชนจาก 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย สมัครเข้าร่วมทั้งหมด 43 ทีม คัดเลือกจนได้ 12 ทีมสุดท้ายที่อยู่ระหว่างพัฒนาแผนปฏิบัติการ (Initiative Plan) โดยแผนของทีมหรือ 'white paper' ที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จะถูกนำไปพัฒนาต่อโดยองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วม ทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร (NGO) ซึ่งปีนี้ประกอบด้วย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มูลนิธิรักษ์ไทย (Raks Thai Foundation) เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ. - Equitable Education Fund : EEF)
ทั้งนี้ น.ส.กนิฏฐ์อาภา อารมย์ดี ตัวแทนการประชุมวิชาการระดับนานาชาติประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำในหลายๆด้าน จึงตระหนักได้ว่า "ถ้าปัญหาการศึกษายังไม่ถูกแก้ไข ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข หรือสังคมต่างๆ อีกทั้งยังจะทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอื่นๆไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพด้วย
“การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน การทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้ ต้องได้รับการผลักดันร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ขณะที่การระบาดของโควิด ทำให้การศึกษาขยายขอบเขตออกไป เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีพรมแดน เพียงแต่ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างได้กลายเป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างที่ควรจะเป็น การออกมาแสดงความเห็นของเยาวชนก็คือเสียงของอนาคตที่่ผู้ใหญ่ในสังคมสมควรจะรับฟัง อย่างน้อย ในฐานะเยาวชนคนหนึ่งก็ต้องการที่จะมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เกี่ยวกับปัญหาที่สังคมต้องเผชิญ เพราะเยาวชนก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเช่นเดียวกัน” น.ส.กนิฎฐ์อาภา เปิดใจ
ด้าน Chheu Suymeang ผู้แทนโครงการประชุมวิชาการระดับนานาชาติประเทศไทย จากประเทศกัมพูชา กล่าวว่า แม้ตนเองจะเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตในเมือง แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมของกัมพูชา แค่เดินไปตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเมืองหลวงของประเทศ หรือตามริมแม่น้ำ จะเห็นเด็กยากจน และเด็กด้อยโอกาสมากมายยังดิ้นรนกัดฟันขายของเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว บางรายสถานการณ์เลวร้ายถึงขนาดต้องสละโอกาสทางการศึกษาของตัวเองเพื่อมาทำงานจุนเจือครอบครัวเต็มตัว ทั้งที่่อยู่ในวัยที่ต้องเรียน
“ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ซึ่งสถานะดังกล่าว ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ค่อนข้างมาก ตนเองเชื่อว่าควรให้ความสำคัญการศึกษาเป็นลำดับแรกๆ เนื่องจากการศึกษาคือโอกาสพื้นฐานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาวอย่างยั่งยืนที่สุด ทั้งนี้การมีระบบโครงสร้างสวัสดิการของรัฐที่ดี และการมีบทบาทของพ่อแม่ เป็นความสำคัญที่สุดในการสนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา ซึ่งนอกจากหาทางสื่อสารกับพ่อแม่ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญแล้ว ยังต้องขอให้ภาครัฐยังต้องช่วยในเรื่องของจัดสรรอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เพื่อช่วยให้เด็กๆ เผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำได้” Chheu Suymeang ระบุ
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า อาเซียนถือเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (Jomtien Declaration: Education for All) ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้ร่วมกันประกาศความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (ASEAN Declaration on Strengthening Education for out-of-school Children and Youth) แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของประชาคมอาเซียนต่อเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษามาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทาง กสศ. มีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนพลังของเยาวชนอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับประชากรรุ่นน้องในอาเซียนที่มีสัดส่วนของประชากรมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน โดย กสศ. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ และประสบการณ์การแก้ไขปัญหาในระบบการศึกษาของไทยจากผลกระทบของโควิด ในปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา ทั้งมาตรการช่วยเหลือนักเรียนและครัวเรือนยากจนพิเศษ การใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลสารสนเทศในการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์การทำงาน และการระดมการมีส่วนร่วมด้วยระบบ iSEE เป็นต้น
โดย กสศ.ได้กำหนดโจทย์การสร้างนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อนำการศึกษาไปให้ถึงเด็กด้อยโอกาส ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากปรากฎการณ์ 'โควิดสไลด์' หรือสภาวะการเรียนรู้ถดถอยจากการปิดโรงเรียนยาวนาน ทั้งนี้สำหรับทีมที่ได้รับการคัดเลือก กสศ.จะสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ให้เกิดการขยายผล เป็นโครงการทดลองในพื้นที่นำร่องต่อไปภายในปีนี้
“กสศ.เชื่อมั่นในพลังและความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน และพร้อมจะสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ และองค์ความรู้เพื่อการต่อยอดขยายผล ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัยในประชาคมอาเซียน เพื่อร่วมกันออกแบบทิศทางของเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาในอนาคตของอาเซียน และรับมือกับปัญหาที่ท้าทายด้วยความรู้ความสามารถ ความมีจิตสาธารณะ และการเป็นพลเมืองของโลกนี้ร่วมกัน” ดร.ไกรยส กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage