“… กรุงเทพฯ มีฝุ่น PM 2.5 อยู่ทุกเวลา…ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ผมว่าอาจสูงถึง 90% อันตรายมากและโดยเฉพาะ ฝุ่น PM 2.5 มันกระจุกอยู่ตามจุดอันตรายดังต่อไปนี้ คือ ป้ายรถเมล์แทบตลอดเวลา ตามสี่แยก ตามถนนที่รถติด เกิดขึ้นทุกวัน ไม่เลือกฤดู ไม่เลือกวันด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น ต้องให้ประชาชนเข้าใจคือ PM 2.5 PM 4 หรือ PM 10 มันไม่ได้มาตามฤดู เพราะมันอยู่กับเราทุกวัน เพียงแต่เปิดเผยให้เห็นในวันที่อากาศปิดเท่านั้น…”
..........................
นับแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 กรุงเทพฯ ถูกปกคลุมอย่างหนักไปด้วยฝุ่น PM 2.5 ก่อนที่ฝุ่นจะเบางบางจางลง กระทั่งหวนกลับมาเกินค่ามาตรฐานอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนมีนโยบายจัดการปัญหาด้วยหลายมาตรการ อาทิ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่ากทม.เตรียมพร้อมรับมือฝุ่นและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กทม. ที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ ตั้งแต่ 1 ธ.ค.-28 ก.พ.2564 แบ่งออกเป็นระยะตามสถานการณ์ฝุ่น คือ มาตรการสำหรับสถาน การณ์ฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ( มคก.ต่อลบ.ม. ) จะห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่ชั้นในของกทม. ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น.
รวมทั้งระบุถึงการกำกับดูแลสถานที่ก่อสร้าง ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมงดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กเล็กและประชาสัมพันธ์ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น 50 สำนักงานเขต และสวนสาธารณะ 20 แห่งทั่วกรุง เปิดสายด่วน 1584 เพื่อแจ้งเบาะแสรถควันดำ
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมาทาง กทม.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้างทำความสะอาดถนนเพื่อลดฝุ่นอยู่เป็นระยะ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า การใช้น้ำสามารถกำจัดฝุ่น PM 2.5 ได้หรือ ในเมื่ออนุภาคของฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก รวมทั้งมีข้อสังเกตว่า
มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้แก้ปัญหา สามารถช่วยลดทอนความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นควันได้จริงหรือไม่
กระทั่งล่าสุด ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ กลับมาเกินค่ามาตรฐานในระดับที่เป็นอันตรายต่อประชาชนอีกครั้ง!
สำนักข่าวอิศรา (www.isrsnews.org) สัมภาษณ์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 ที่นักวิชาการรายนี้เน้นย้ำว่าแท้จริงแล้ว PM 2.5 อยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ ทุกวัน ทุกวินาที
ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการทำงาน ผสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ อธิบาย สรุปบทเรียนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่แม้จะมีบริบทสาเหตุต่างจากกรุงเทพฯ แต่ก็สะท้อนถึงการทำงานแบบองค์รวมที่น่าสนใจ รวมทั้งเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่เรียกว่า ‘เชียงใหม่โมเดล’
ปรากฎรายละเอียดนับจากบรรทัดนี้ เป็นต้นไป
PM 2.5 อยู่กับคนกรุงทุกวินาที-ในกรุงเทพฯ กว่า 70% มาจากรถยนต์ :
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)/ภาพจากhttps://twitter.com/suchatvee_ae
@ คุณเคยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ กว่า 70% มาจากรถยนต์ ขอถามถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้ ?
ดร.สุชัชวีร์ : สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปเข้าใจผิดเสมอคือ เข้าใจว่า ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาว ช่วงธันวาคม หรือช่วงอากาศปิด อันนี้เป็นความคิดที่น่าเป็นห่วง ในความเป็นจริง PM 2.5อยู่กับเราทุกวันจริงๆ
การยืนยันทางการแพทย์ 100 % ยืนยัน แพทย์โรคปอด โรคหัวใจ หรือด้านสมอง ทางการแพทย์พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาหลายรอบ PM 2.5มันเล็กมากๆ เวลาเราสูดเข้าไปมันเข้าไปถึงในปอด จากในปอดเข้าไปถึงเส้นเลือด เส้นเลือดเราเล็ก ๆ มันก็เข้าไปได้ ทำให้เส้นเลือดเราขรุขระ เมื่อเส้นเลือดขรุขระ ทำให้การลำเลียงเลือดไปยังสมอง และหัวใจ โดยเฉพาะเด็กๆ สูดสะสมไปเรื่อยๆ คิดดูว่า เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็ขรุขระไปเรื่อยๆ ส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญา อันนี้การแพทย์ยืนยัน100 % ส่วนคนแก่ อย่างคุณพ่อคุณแม่ผม ถ้าสูดเข้าไปก็ส่งผลต่อระบบหัวใจ ต่อเรื่องของระบบการหายใจ เพราะฉะนั้น อันดับแรก คืออันตรายจริงๆ และไม่ใช่เพียง PM 2.5 เท่านั้น PM 4 หรือ PM 10 ที่ใหญ่ขึ้นมานิดหนึ่งก็อันตราย ซึ่งมาจากการก่อสร้าง ฝุ่นต่างๆ นี้ก็เป็นอันตรายไม่น้อยกว่ากันเท่าไหร่
@ เพราะฉะนั้น PM 2.5 อยู่คู่กับคนกรุงเทพทุกเดือน ทุกเวลา ?
ดร.สุชัชวีร์ : ทุกวินาที ที่เราคุยกันอยู่ตอนนี้ กรุงเทพฯ ก็มีฝุ่น PM 2.5 อยู่ทุกเวลา ดังนั้น ต้องแก้ที่จุดกำเนิด เมื่อแก้ที่จุดกำเนิดได้แล้ว ปัญหาปลายทางก็ทุเลา จุดกำเนิดคือรถยนต์เป็นหลัก รถยนต์จำพวกไหน คือรถสิบล้อที่เข้ามาไซต์งาน รถร่วมบริการ รถสองแถว รถอะไรต่างๆ แล้วรถพวกนี้ เจ้าของกิจการเขามีเป็นร้อยเป็นพันคัน ถ้ารัฐขอความร่วมมือกับเจ้าของเขา เจ้าของรถร่วมบริการ อย่างนี้ก็ช่วยได้เยอะ ควรคุยกับเขา จะช่วยได้เยอะ
@ PM 2.5 มาจากรถยนต์เป็นส่วนใหญ่จริงๆ หรือ ?
ดร.สุชัชวีร์ : ใน กทม.ผมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเอาเครื่องวัดฝุ่นคุณภาพสูงจากต่างประเทศ ไปทำการศึกษาวัดฝุ่นที่ป้ายรถเมล์ พบว่าก่อนรถเมล์จะมาฝุ่นก็ระดับนึง พอรถเมล์มา ฝุ่นขึ้นนิดนึง พอรถเมล์หยุด แล้วพอรถเมล์สตาร์ท พอเร่งเครื่องออกจากป้าย ปริมาณฝุ่นกระโดดขึ้นมาเลย มันชัดซะยิ่งกว่าชัดครับ ทุกการศึกษาระบุว่ามาจากรถ 70-80% แต่ในความเป็นจริง ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ผมว่าอาจสูงถึง 90%อันตรายมากและโดยเฉพาะ ฝุ่น PM 2.5 มันกระจุกอยู่ตามจุดอันตรายดังต่อไปนี้ ป้ายรถเมล์ แทบตลอดเวลา ตามสี่แยก ตามถนนที่รถติด พวกนี้จะหนักที่สุด และเกิดขึ้นทุกวัน ไม่เลือกฤดู ไม่เลือกวันด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้น ที่ต้องให้ประชาชน เข้าใจคือ PM 2.5 PM 4 หรือ PM 10 มันไม่ได้มาตามฤดู เพราะมันอยู่กับเราทุกวัน เพียงแต่มันเปิดเผยให้เห็นในวันที่อากาศปิดเท่านั้น แต่จริงๆ มันอยู่กับเราทุกวัน แล้วมันสะสมไปเรื่อยๆ
มาตรการรัฐ แก้ปัญหาได้แค่ไหน :
@ กรณีผู้ว่า กทม. สั่งให้หน่วยงานเอารถนำมาฉีดต้นไม้ หรือว่าจะมีมาตรการควบคุมไม่ให้รถสิบล้อ รถหกล้อเข้ากรุงเทพฯตามเวลาที่กำหนด หรือตรวจสอบรถที่มีท่อไอเสียไม่ดี วิธีเหล่านี้จะช่วยได้ไหม ?
ดร.สุชัชวีร์ : อย่างน้อยที่สุดคือมีความพยายาม มีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา
ลองดูทีละประเด็น ประเด็นแรก เรื่องการฉีดน้ำ อนุภาคของ PM 2.5 เล็กมากๆ ละอองน้ำจับไม่ได้หรอก เพราะน้ำละอองไม่เล็กเท่า PM 2.5 มันอาจจับ PM 10 ได้ อย่างไรก็ตาม เวลาละอองน้ำจับฝุ่นลงมาบนพื้น เมื่อเจอแสงแดดมันแห้ง มันก็กลับไปเป็นฝุ่นอีก เพราะฉะนั้น ต้องไปแก้ที่จุดกำเนิด คือน้ำช่วยเรื่องฝุ่นขนาดใหญ่ได้ และช่วยได้ในช่วงเวลาฝุ่นคลุ้งช่วงสั้นๆ แต่จากนั้น ฝุ่นก็ไปอยู่บนพื้น มันก็ขึ้นมาอีก ดังนั้น การแก้ให้ได้ผลจริงๆ ต้องไปแก้ที่ต้นตอ
ประเด็นที่สอง การกำหนดเรื่องรถไม่ให้เข้ากรุงตามเวลาที่กำหนด คือถ้ารถมีมาตรฐาน รถก็ไม่ได้ปล่อยฝุ่น รถที่มาตรฐานควรจะเข้าได้ แต่รถที่ปล่อยฝุ่นเกินมาตรฐานไปมากๆ ไม่ว่าเวลาไหนก็ไม่ควรจะเข้ามา ดังนั้นแล้ว มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น
@ การบูรณาการในการทำงานแก้ปัญหาเรื่องนี้ ควรจะมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างไร หรือแม้แต่การวัดฝุ่นที่ สจล.ทำอยู่ นำมาร่วมแก้ปัญหาได้หรือไม่ ?
ดร.สุชัชวีร์ : ที่จริงตอนนี้ เราร่วมมือกับ กทม. อยู่ ผมจะบอกเสมอว่าจุดตายของคนกรุงเทพฯ คือป้ายรถเมล์ เป็นจุดตายจริงๆ ป้ายรถเมล์ อันตรายที่สุด จริงอยู่มันเป็นปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุเราก็ไม่รู้จะแก้อย่างไรในบทบาทของเรา แต่ในส่วนปลายเหตุ เราจะช่วยป้องกันคนได้ยังไงบ้าง ฝุ่นนี่ไม่แพ้น้ำแต่แพ้ลม ฝุ่นเวลามันกระจุกตัวอยู่ เราสูดไปเข้มข้นมันมีพิษร้าย แต่ถ้ามีลมเป่า ความเข้มข้นมันก็ลดลง คนที่ป้ายรถเมล์ก็รับพิษน้อยลง เพราะฉะนั้น ที่ป้ายรถเมล์ ที่ สจล. ทำ คือติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ ก็จะส่งไปที่ป้าย มีป้ายแอลอีดีระบุว่าฝุ่นเกินมาตรฐาน กรุณาเอาผ้าปิดจมูก ดูแลตัวเอง เช่นเดียวกัน จะสั่งให้พัดลมเป่า เรามีโมเดลจำลองคณิตศาสตร์พบว่ามันช่วยได้จริงๆ ตรงนี้คือสิ่งที่ สจล. ทำ และพยายามร่วมมือกับ กทม. โดยจะเริ่มต้น 9 จุด ซึ่งเราตั้งใจอยากทำย่านราชประสงค์ ย่านพารากอน และสีลม จริงๆ แล้ว ไปวัดค่าฝุ่นเมื่อไหร่ในบริเวณที่กล่าวมา ก็ตกใจเมื่อนั้น ไม่ต้องรอฤดูกาล อยู่ระหว่างประสานงานกันอยู่ ก็อยากเห็นมันเกิด ทาง สจล. ก็พร้อมที่จะช่วย
@ การปลูกต้นไม้ช่วยได้ไหม ?
ดร.สุชัชวีร์ : มีส่วน แต่ PM 2.5 มันเล็กมาก การใช้วิธีนี้มันเหนื่อยจริงๆ อย่างที่เรียนย้ำ หากเป็น PM 4 กับ PM 10 ต้นไม้ช่วยได้เยอะ แต่พอมาถึง PM 2.5 ในความเป็นจริง มันเล็กมาก เล็กจนเหนื่อยที่จะใช้ต้นไม้ช่วย
ประชาชนต้องดูแลตัวเอง :
@ มีวิธีแก้ปัญหาอะไรที่ กทม. หรือรัฐบาลควรทำมากกว่านี้ หรือทำได้ดีกว่านี้ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ?
ดร.สุชัชวีร์ : ตอนนี้ประชาชนต้องดูแลตัวเอง หน้ากาก N95 มันอาจจะใส่แล้วรู้สึกรำคาญ ผมใส่แล้วก็หายใจไม่ออก แต่ PM 2.5 เรามองไม่เห็น ไม่มีกลิ่นเลยนะครับ ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา จริงๆ แล้ว ตามสี่แยกมีป้ายโฆษณาเยอะ น่าจะขอความร่วมมือเขาให้มีตัววิ่ง บอกว่ามี PM 2.5 PM 4 หรือ PM 10 เท่าไหร่ ถ้ามีมาก ประชาชนจะได้กลัวและใส่หน้ากาก น่าจะขอร้องเอกชนในส่วนนี้ได้บ้าง มันเป็นการที่จะช่วยได้เยอะ และเป็นกุศโลบาย เช่นกำลังมีการก่อสร้าง บริเวณนั้น ถ้าเห็นป้ายระบุปริมาณฝุ่นขึ้นสูง เขาก็ต้องกลัวคนร้องเรียน ก็ต้องปรับปรุง หรือมีเจ้าหน้าที่ ไปดูแล ดังนั้น ตรงจุดนี้น่าจะทำ ผมทำหนังสือถึงนายกฯ ในประเด็นนี้ก้ทำมาแล้ว พูดเรื่องนี้มาสองปีแล้ว
อยากฝากว่า PM 2.5 ร้ายกาจจริงๆ สำหรับตัวท่าน สำหรับลูกท่าน คุณพ่อคุณแม่ปู่ย่าตายาย อันตรายสุดๆ มันอยู่กับเราทุกวินาทีเพียงแต่มันไม่ได้เปิดเผยเท่านั้นแหละ อากาศปิดทำให้มันเปิดเผยออกมาเท่านั้นแหละ ดังนั้นเมื่อมันอยู่กับเราทุกวินาที ท่านยิ่งต้องป้องกันตัวเองนะครับ จะป้องกันยังไง ท่านก็ต้องบอกกับรัฐเหมือนกัน เช่น เราขับรถตามรถควันดำทุกวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดแล้ว เราต้องพูดต้องขอร้องบ่อยๆ มันจะต้องดีขึ้น
@ มีอะไรอยากฝากถึงหน่วยงานรัฐหรือ กทม. ?
ดร.สุชัชวีร์ : ก็ขอเป็นกำลังใจให้ รู้ว่าเป็นปัญหาที่สั่งสมมาเป็น 10 ถึง 20 ปี จนมาถึงยุคนี้ ก็ขอให้กำลังใจว่า เมืองใหญ่ๆ อย่างลอสแองเจลิส หรือโตเกียวเขาก็แก้ไขมาได้แล้ว ผมเคยไปวัดค่าฝุ่น ชั่วโมงเร่งด่วนที่โตเกียว พบ 2 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร โตเกียวยังทำได้ ลอสแองเจลิสยังทำได้ กรุงเทพฯก็ต้องทำได้แน่นอน
@ กรณีฝุ่น PM 2.5 ที่เชียงใหม่ กับกรุงเทพฯ มีอะไรที่ต่างกัน ?
ดร.สุชัชวีร์ : โอ้โห! ต่างกันสุดๆ แน่นอน เชียงใหม่ ก็มีเรื่องรถยนต์ แต่ส่วนใหญ่มาจากการเผาในที่โล่งแจ้ง ดังนั้น รัฐก็จัดการแตกต่างกัน ผมและ สจล.ทำงานร่วมกับภาคประชาชนเชียงใหม่ ทำงานร่วมกับ ม.แม่โจ้ และม.เชียงใหม่ทุกปี ประเด็นหนึ่ง
คือเอาหน้ากากไปช่วยพี่น้องประชาชน ประเด็นที่สอง คือ ให้ความรู้ว่าเราควรจะทำอย่างไร โดยมีศูนย์วิจัยของม.แม่โจ้และม.เชียงใหม่เป็นแนวร่วม และตอนนี้ก็ร่วมกับภาคประชาชนในเชียงใหม่ด้วย
แผนวาระแห่งชาติ เริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก:
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ/ภาพจากhttps://www.pcd.go.th/
@ แนวทางการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5ของกรมควบคุมมลพิษและการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มีแนวทางอย่างไร ?
อรรถพล : แนวทางการแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่กรมควบคุมมลพิษ แต่ในหลายภาคส่วน คือมีแผนวาระแห่งชาติอยู่ ที่เริ่มจากแผนเบาไปหาหนัก เริ่มจาก ปรับพฤติกรรมประชาชน แจ้งเตือน ตรงนี้เราทำแล้ว แต่ต้องมาดูสาเหตุหลัก ในเมือง สาเหตุมาจากการจราจร น้ำมันดีเซลเครื่องยนต์ดีเซล เราก็ต้องเริ่มที่จุดนี้ก่อน จุดนี้เราก็ต้องเริ่มด้วยการควบคุมรถที่มีควันดำ ไม่ให้ปล่อยควัน ตอนนี้ เราก็ร่วมกัน 3-4 หน่วยงาน มี กทม. กรมควบคุมมลพิษ และการขนส่งทางบก แล้วก็ตำรวจ 4 หน่วยงาน วันหนึ่ง ใน กรุงเทพฯ เราได้ตั้งจุดตรวจ 20 จุด แล้วก็ควบคุม
ปัญหานี้เราต้องจี้ไปที่สาเหตุหลัก ต้องจริงจังเรื่องการตรวจสภาพรถ เรื่องการควบคุม เรื่องที่จะเอารถสภาพไม่ดีมาปล่อยควันดำ โดยเฉพาะควันดำนี่คือ PM 2.5 เราจะลดตรงนี้ แล้วมันจะต้องมีแบบนี้เกิดขึ้นอีก เมื่อสภาพอากาศปิด เราเตรียมยกระดับการรับมือตรงนี้ เช่นเคยมีการผสานไปทางกระทรวงศึกษาธิการและทางกทม. ว่าถ้ายกระดับแล้ว จะเสนอไปทาง กทม. ว่า หยุดเรียนดีไหม หรือการ เวิร์ค ฟอร์ม โฮม ซึ่งมันได้ผล ตอนนำมาใช้ช่วงสถานการณ์โควิด ตอนนั้น ค่า PM 2.5 ลดลงไปมาก ตอนที่มีสถานการณ์โควิด และตอนที่มีการจราจรน้อยลง ดังนั้น ช่วยได้ ในเรื่องของการใช้รถ ลดการจราจร ส่วนขั้นตอน มาตรการต่างๆ คงจะเข้มข้นขึ้นถ้า PM 2.5 มากขึ้น แต่การจะไปเข้มเรื่องมาตรการทีเดียวมันก็จะส่งผลกระทบในหลายเรื่อง เราก็ต้องค่อยๆ ทำ
@ เป็นการบูรณาการหลายภาคส่วน ?
อรรถพล : ตอนนี้ ทุกหน่วยงานต้องทำ เพราะมันอยู่ในแผนวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นมติ ครม. ออกมาแล้ว เพราะฉะนั้น กระทรวงไหนที่รับผิดชอบต้องทำ จะเห็นว่าทุกๆกระทรวง ไม่ว่า ก.คมนาคม ก.มหาดไทย หรือ ปภ.(กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ที่เขาทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเขา ก.เกษตรฯ ก็จะไปดูเรื่องการเผาในที่โล่ง แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้ามีสถานการณ์เกิดขึ้นอีกครั้งเราก็จะมีประกาศห้ามเผาในที่โล่ง เมื่อมีสภาพอากาศเป็นสภาพอากาศปิดเหมือนเดิม ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
@ ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 มาจากรถควันดำใช่ไหม ?
อรรถพล : ถูกต้อง คือมาจากควันที่มีการสันดาปในรถดีเซลเป็นหลักเลย เพราะฉะนั้น เราต้องมาแก้ต้นเหตุตรงนี้ก่อน คนที่ใช้รถใช้ถนนก็ต้องร่วมรับผิดชอบแล้ว
@ กทม. พยายาม เอารถน้ำมาฉีด แก้ไขปัญหานี้ได้ไหม ?
อรรถพล : ช่วยได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ล้างฝุ่นให้ลงท่อไป อาจช่วยไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้เบาบางลง แต่ถ้าเรื่องควันดำ ถ้าเราเอาจริงเอาจัง มันบางลงแน่
@ ดร.สุชัชวีร์ นายกสภาวิศวกรและอธิบดี สจล. เสนอเรื่องการทำป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ที่ช่วยบอกค่าฝุ่น PM 2.5 กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยมีแนวคิดที่จะทำหรือไม่ ?
อรรถพล : ในระยะยาว ก็ต้องช่วยพัฒนากัน สเตชั่น ( Station-สถานี ) ต่างๆ ที่เรากระจายกันในกรุงเทพมหานคร มีไม่น้อยเลย แล้วแต่ละสเตชั่น มันถี่ไปแล้ว สเตชั่นหนึ่ง รัศมี 50 กม.เลย เพราะฉะนั้น แอพลิเคชั่นเท่าที่มีอยู่ก็ใช้ดูได้เพียงพอแล้ว เพราะมันกระจายทั่วพื้นที่ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น แต่ในอนาคต ถ้าเรามีงบประมาณ มีเครือข่ายภาคเอกชนที่จะมาแจ้งเตือนกันในพื้นที่ยิ่งในพื้นที่เล็กๆ ถี่ๆ ได้ก็ดี
สาเหตุหลักมาจากเครื่องยนต์ดีเซล:
@ ผู้ว่า กทม. มีนโยบาย จำกัดเวลาวิ่งของรถสิบล้อ ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ไหม ?
อรรถพล : อันนั้นคือมาตรการที่ต้องเพิ่มหลังจากทำระดับ 1 2 3 4 ถ้าไม่ลด ก็ต้องใช้มาตรการแล้ว เพราะว่าต้องเข้าใจว่าสาเหตุหลักมาจากเครื่องยนต์ดีเซล ตอนแรกเราก็จะทำ แต่เมื่อมีการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการ เราก็ผ่อนคลายให้ก่อน คือ ถ้ายังมีจุดแดงมากไม่เลิก ทุกๆ มาตรการต้องนำเอามาใช้ เพราะเราจะปล่อยให้ประชาชน ต้องมาเสียสุขภาพกับปริมาณหมอกควันที่ไม่ลดลงไม่ได้ เราก็ต้องเข้มขึ้น ยิ่งฝุ่นมันเพิ่มขึ้น มาตรการยิ่งต้องเข้มขึ้น
@ ที่ผ่านมา การตรวจสอบรถควันดำ แก้ปัญหา PM 2.5 ได้ผลไหม ?
อรรถพล : ได้ผล แต่ต้องเข้าใจว่าเราไม่โทษใคร เดิมที สังคมไทยโอนอ่อนผ่อนปรนกันมาตลอด ใครใช้รถเก่าก็ใช้ไป แต่จากนี้ไม่ได้แล้ว ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ แม้แต่หน่วยงานที่ตรวจสอบเกี่ยวกับสภาพรถ ก็ต้องเอาจริงเอาจังแล้ว เพราะถือว่าทุกคน ต้องช่วยกันแก้ไข
วิเคราะห์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่ :
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่/ภาพจาก http://www.hedlomnews.com/
@ ใน กทม. มี ผู้วิเคราะห์ว่า กว่า 70-80% ของสาเหตุในการเกิด PM 2.5 มาจากรถยนต์ แล้วในเชียงใหม่ ไฟจากป่า รถยนต์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่น PM 2.5 มาจากสาเหตุใดเยอะที่สุด ?
ชัชวาลย์ : ถ้าเป็นของเชียงใหม่ ข้อมูลเท่าที่วิเคราะห์กัน มาจากการเผาในที่โล่ง 70% แล้วก็รถยนต์ 30% นี่คือบริบทของเชียงใหม่ แต่ของกรุงเทพฯ น่าจะกลับกัน ที่กรุงเทพฯ รถยนต์ โรงงานน่าจะเป็นสาเหตุหลัก แต่ละที่ย่อมมีสาเหตุต่างกัน
@ เนื่องจากปัจจุบัน กรุงเทพฯ เผชิญกับฝุ่น PM 2.5 เมื่อเทียบกับในเชียงใหม่แล้ว ฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่เกิดจากอะไร และกระบวนการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร ?
ชัชวาลย์ : จริงๆ แล้ว PM 2.5 มันเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุมาก เขาเรียกว่าปัญหาที่มีความซับซ้อน เมื่อเรารวมหลายๆ ฝ่ายมาช่วยกันมอง เราก็พบว่า เริ่มต้นการมองปัญหาให้ตรง เปรียบเหมือนการมองเห็นช้างทั้งตัว สำคัญที่สุด
ก่อนหน้านี้ ประเด็นเรื่อง PM 2.5 มีลักษณะที่เรียกว่าอคติ เป็นมายาคติ มุ่งเน้นไปที่ป่าหรือคนบนดอย นี่ในแง่ของเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเน้นที่การดับไฟ ไฟในที่นี้หมายถึง ทั้งไฟป่า ไฟจากการเกษตร ไฟจากการเผาขยะ เผาใบไม้
ดังนั้น ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อเราวิเคราะห์สาเหตุแล้ว พบว่าการเผาในที่โล่งเป็นปัญหาใหญ่ของภาคเหนือจริง ปีที่แล้วก็ไหม้ในป่าเกือบ 90% ป่าสงวนแห่งชาติกับป่าอนุรักษ์ต่างๆ ส่วนที่เหลือก็อยู่ในพื้นที่เกษตร ส่วนใหญ่ชาวบ้าน ถูกกฎหมายป่าสงวน และป่าอนุรักษ์ทับที่ชาวบ้าน เพราะฉะนั้น จึงเกิดการทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่ข้าวโพด พื้นที่ป่าซ้อนๆ กัน
ประเด็นที่สอง สาเหตุเนื่องมาจากกลุ่มควันที่มาจากภาคเมืองด้วย คือการคมนาคมขนส่ง จริงๆ มันคือการเผาพวกฟอซซิลทั้งหลาย เผาน้ำมันจากการคมนาคมขนส่ง จากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มพวกนี้คือการเผาทุกวัน 365 วัน เมื่อเจอกับภาวะแอ่งกระทะในทางภาคเหนือ เพราะฉะนั้น มันจะเข้าไปกองอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น 365 วันจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือรถยนต์ ฝุ่นควันมันก็เข้าไปกองในพื้นที่ก่อน เมื่อเข้าฤดูแล้งช่วง ก.พ. มี.ค. เม.ย. เมื่อเจอผลกระทบจากการเผาในที่โล่ง แล้วมาเจอกับความกดอากาศหรือการยกตัวของอากาศช่วง มี.ค. เม.ย. อากาศมันยกตัวขึ้น เมื่อพ้นสงกรานต์ อากาศยกตัวขึ้นไปสูงขึ้น สถานการณ์มันก็จะเบาบางลงไปโดยอัตโนมัติ นี่คือการมองปัญหาอย่างเข้าใจรอบด้าน รวมถึงประเด็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นข้าวโพด หรือว่าอ้อย เช่นในกัมพูชา เหล่านี้คือการมองสาเหตุให้ครบ
การบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา :
@ กระบวนการบูรณาการ ทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ ของสภาลมหายใจเชียงใหม่ในการแก้ปัญหา PM 2.5 เป็นอย่างไร ?
ชัชวาลย์ : ที่ จ.เชียงใหม่ มีลักษณะที่มีกลุ่ม องค์กรมากมายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ ก็ทำงานไปและปล่อยให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาเป็นหลัก แต่ต่อมา สถานการณ์ฝุ่นควันในปี 62 สถานการณ์ฝุ่นเชียงใหม่ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก หลายคนเริ่มทนไม่ได้ ปล่อยไปไม่ได้แล้ว เพราะตลอดระยะเวลา 14 ปีแล้ว ที่เราพยายามผลักดันปัญหานี้เข้า ครม. และปัญหามันหนักขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาแล้ว ก็เลยรวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ ก่อตั้งกันเมื่อ 9 ก.ย. 62 แล้วก็ทำงานกันเรื่อยมา
วิธีการทำงานของเราคือ เมื่อเราวิเคราะห์ว่าสาเหตุมาจากไหน พบว่าทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิด PM 2.5 ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้ใช้รถยนต์ ภาคอุตสาหกรรม ภาคในเมืองหรือภาคชนบท ในป่า รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดนี้มีส่วนร่วมด้วยกันทั้งสิ้น เราเลยเห็นว่าเราควรมาช่วยกัน จึงสร้างแพลตฟอร์ม หรือพื้นที่กลางให้ทุกส่วนมาทำงานร่วมกันได้ เป็นการจัดองค์กรแบบแนวนอน ไม่มีการบังคับบัญชา คนที่มีใจก็เข้ามาร่วม และดำเนินการไปตามศักยภาพ
งานวิชาการก็สำคัญ มีการจัดระบบงานวิจัยที่ชัดเจน มีคณะทำงานแก้ปัญหาฝุ่นควันที่ภาคเหนือ เป็นคณะทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อมโยงกับหลายมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ก็เข้ามาช่วยกันทำงานเต็มที่ เพราะว่าเขาได้รับผลกระทบเยอะมาก เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจ
หน่วยงานรัฐมีวิธีการที่เขาเรียกว่า ‘ซีโร่ เบิร์นนิ่ง’ คือ มีการกำหนดวัน 60 วัน หรือ 110 วัน ห้ามเผา ใครเผาโดนจับ คือมันเป็นการใช้อำนาจมากเกินไป มันทำให้การเผาใต้ดิน ความหมายคือแอบเผา แต่แอบเผา ถ้าใครเห็นก็โดนจับ แต่จริงๆ แล้วในการเผา มันมีทั้งไฟที่จำเป็นและไฟที่ไม่จำเป็น ไฟที่จำเป็นเช่น การทำไร่หมุนเวียน จำเป็นต้องจุดไฟเผา ป่าทางเหนือมีป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณเยอะ ถ้าปล่อยให้พวกนี้สะสมเชื้อเพลิงมากๆ จะอันตราย วิธีของชาวบ้านและป่าไม้ เขาก็ใช้วิธีชิงเผา ซึ่งมันเป็นวิธีที่จำเป็น นี่คือปัญหาใหญ่ที่เราพยายามผลักดันให้เปลี่ยน
‘เชียงใหม่โมเดล’ การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน :
@ แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทำอย่างไร ?
ชัชวาลย์ : สภาลมหายใจ เสนอให้มีการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน โดยมีแผนระยะสั้น กลาง ยาว โดยการแก้ PM 2.5 จากทุกสาเหตุ เรียก ‘เชียงใหม่ โมเดล’ เราเสนอให้ผู้ว่าฯ ตั้งคณะกรรมการตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 ชื่อว่า ‘คณะกรรมการป้องกันและแก้ไข PM 2.5 อย่างยั่งยืน แบบบูรณาการจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน’
มีคณะทำงานด้านต่างๆ อาทิ ในภาคเมือง ดูแลเรื่องคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ที่อยู่ในเมือง มีคณะทำงานด้านเกษตร คณะทำงานด้านที่ดิน ป่าไม้ และมีคณะทำงานด้านเศรษฐกิจโดยเราอยากเปลี่ยนเป็นการผลิตแบบยั่งยืน ในภาคเกษตรมีการเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นแบบยั่งยืน เช่นมีไผ่ มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ส่วนของเกษตร ในนา เช่น เรื่องฟางข้าว เราเสนอให้มีเครื่องอัดฟางข้าวเป็นแท่ง เพื่อไปเลี้ยงสัตว์หรือทำปุ๋ย แทนที่จะเผา
นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง คือคณะกรรมการแก้ไขฝุ่นควันอย่างยั่งยืนในระดับตำบล โดยมีนายก อปท. แต่ละตำบลเป็นประธาน มีระดับอำเภอ ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน ซึ่งก็มีการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง จากที่เคยใช้วิธีซีโร่เบิร์นนิ่ง ที่กำหนดวันไม่ให้เผา เปลี่ยนมาเป็นการจัดการบริหารเชื้อเพลิงร่วมกัน คือถ้าที่ไหนต้องการเผา ให้ระบุวันมา โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยทำแอพลิเคชั่นที่จะคำนวณ วิเคราะห์ สภาพอากาศ ทิศทางลม ความกดอากาศ แรงยกตัวของอากาศ ว่ามีสภาพเช่นไร เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจว่าจะให้เผาหรือไม่ ในเวลาไหน อย่างไร ซึ่งในปี2564 จะใช้การบริหารจัดการในรูปแบบนี้เป็นปีแรก เป็นปีที่จะเริ่มต้น และสภาลมหายใจประกาศจะลดฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ 50% เราอยากลดให้ได้มากที่สุด แม้ส่วนอื่นๆ ยังเป็นปัญหาระยะยาว นอกจากนี้ เราผลักดันร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ร่วมกับภาคเอกชน เสนอไปที่สภาฯแล้ว โดยเราผลักดันร่วมกับหอการค้า
แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ เชียงใหม่เพียงจังหวัดเดียว ก็ทำไม่ได้ทั้งหมดหรอก เราจึงพยายามเชื่อมโยงสภาลมหายใจภาคเหนือ ตอนนี้มี 6 จังหวัดคือแม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ ที่จะค่อยๆ เชื่อมโยงกัน โดยอนาคตอาจเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ 8+3 จังหวัด ซึ่งเราอยากรวมกันให้ส่งเสียงไปยังรัฐบาล ให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน รอบด้าน และตรงจุด โดยเฉพาะเน้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน
ผลเป็นอย่างไร ติดตามดูกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage