"...แม้ความหวังในการปฏิรูปตำรวจจะเหลือริบหรี่มาก แต่ก็ยังคงไม่สิ้นหวังครับ หากแต่จะต้องทำงานกันหนักและยากลำบากยิ่งขึ้น เสียงจากพี่น้องประชาชนและข้าราชการตำรวจที่ต้องการระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีหลักประกันความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบันจะมีความหมายมากขึ้น และถ้าดังพออาจถึงขั้นมีบทบาทชี้ขาด..."
................................
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวานนี้ 19 ม.ค. 2564 และน่าจะส่งถึงรัฐสภาภายในวันนี้ แม้ผมจะยังไม่เห็นตัวร่างทั้งหมด แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นร่างเดิมที่ครม.เคยมีมติอนุมัติไปครั้งหนึ่งแล้วตั้งแต่เมื่อ 15 ก.ย. 2563 โดยมีการปรับแก้เล็กน้อยในประเด็นกองทุนเพื่อการสืบสวนสอบสวนป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญาให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง คือให้ยังคงต้องอยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติการบริหารกองทุนหมุนเวียน
แต่ไม่ใช่ร่างเดิมที่คณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ยกร่างมาทั้งหมด
หากแต่ได้รับการปรับแก้โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่มติครม. 15 ก.ย. 2563 ระบุไว้เองว่าเป็น ‘ร่างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบให้เป็นไปตามรูปแบบการร่างกฎหมาย’ โดยในมติครม.วานนี้เรียกให้งงเสียใหม่ว่า ‘ร่างที่สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาได้แก้ไขแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ’ ซึ่งผมจะยังคงเรียกเหมือนเดิมว่า ‘ร่างฉบับแปลงสาร’ เพราะเห็นว่าสารัตถะน่าจะไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง (4) และกลับทำให้ยิ่งถอยห่างออกจากเป้าหมายที่ต้องการให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
เท่ากับเป็นการไม่เชื่อความเห็นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบคดีบอส กระทิงแดงชุดท่านอาจารย์วิชา มหาคุณที่แถลงล่าสุดเมื่อ 30 ก.ย. 2564 เสนอให้ครม.ทบทวนมติเดิมโดยให้ส่งร่างฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์เข้ามาให้รัฐสภาพิจารณา
ร่างฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์กับร่างฉบับแปลงสารที่กำลังจะพิจารณาในรัฐสภา มีจุดแตกต่างหลายประการด้วยกัน แต่ขอยกมาเฉพาะ 8 จุดสำคัญเรียงลำดับตามมาตรา โดยในชั้นนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะหัวข้อและคำอธิบายสั้น ๆ ก่อนเป็นปฐม
1. การระบุเกณฑ์นายตำรวจอารักขาบุคคลสำคัญไว้ เพื่อแก้ปัญหาสูญเสียกำลังพลตำรวจไปติดตามบุคคลต่าง ๆ โดยไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน - ถูกตัดออกหมด
2. องค์ประกอบ ก.ตร. - เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่มีผลเป็นการเพิ่มสัดส่วนของกรรมการจากตำรวจให้มากขึ้น
3. วิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. - เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ 2 ประเด็น หนึ่งคือให้ก.ตร.จัดเลือกเอง แทนที่จะเป็นองค์กรภายนอกคือก.ก.ต. อีกหนึ่งคือลดฐานตำรวจผู้มีสิทธิเลือกลง จากนายตำรวจสัญญาบัตรทุกคน เหลือเป็นตั้งแต่รองผู้กำกับขึ้นไป
4. การแบ่งระดับสถานีตำรวจเป็น 3 ระดับ เล็ก กลาง ใหญ่ และนายตำรวจที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้กำกับหรือผู้กำกับเป็นครั้งแรก ให้เริ่มจากสถานีระดับเล็กหรือระดับกลางก่อน เมื่ออยู่ครบ 2 ปีแล้ว จึงจะไปดำรงตำแหน่งในสถานีระดับใหญ่ได้ - ลดเหลือเพียง 2 ระดับ โดยยังคงกำหนดให้ดำรงตำแหน่งในสถานีระดับเล็กก่อน แต่ตัดเงื่อนเวลา 2 ปีออก
5. การบริหารภายในสายงานสอบสวน - จากให้มีผู้บังคับบัญชาของสายงานสอบสวนโดยเฉพาะเป็นขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาทั่วไปเหมือนเดิม
6. ระบบคะแนนประจำตัว - ถูกตัดออก โดยยังคงใช้ระบบแบ่งกองเหมือนเดิมอยู่เป็นส่วนใหญ่
7. เกณฑ์การย้ายข้ามสายงานหรือข้ามกองบัญชาการ - เข้มข้นน้อยลง
8. การตั้งส่วนราชการหรือหน่วยงานขึ้นใหม่ในช่วง 10 ปี - ถูกตัดออกหมด
จุดหลักสำคัญที่สุดคือจุดที่ 5, 6 และ 7
จุดที่ 6, 7 และรวมถึง 4 คือการปฏิรูปใหญ่ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่แท้จริง ป้องกันการวิ่งเต้น ป้องกันการซื้อขายและประมูลตำแหน่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขจัดทุกข์ของตำรวจและทุกข์ของประชาชนไปพร้อมกัน น่าเสียดายที่มาถูกวิสามัญฯเสียก่อนมาถึงรัฐสภา
ขอเห็นตัวร่างกฎหมายที่ส่งมาถึงรัฐสภาชัด ๆ แล้วค่อยลงรายละเอียดเปรียบเทียบตัวบทเป็นมาตรา ๆ กันอีกที
แม้ความหวังในการปฏิรูปตำรวจจะเหลือริบหรี่มาก แต่ก็ยังคงไม่สิ้นหวังครับ หากแต่จะต้องทำงานกันหนักและยากลำบากยิ่งขึ้น เสียงจากพี่น้องประชาชนและข้าราชการตำรวจที่ต้องการระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีหลักประกันความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบันจะมีความหมายมากขึ้น และถ้าดังพออาจถึงขั้นมีบทบาทชี้ขาด
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
20 ม.ค. 2564