"...สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน เรามีพื้นฐานเดิมอยู่จากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ทรงวางแนวทางให้บริษัทผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล ผลกำไรแต่ละปีไม่คืนทุนในเวลารวดเร็ว ทำให้คนที่ไม่เห็นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสนับสนุนบริษัทที่ขาดทุน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่เป็นหลักการตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ ทำมาอย่างต่อเนื่องจนมีต้นทุน มีความรู้ และได้รับการคัดเลือกจากบริษัทแอสตราเซนเนกาในวันนี้ ซึ่งหากไม่ได้ทำไว้เมื่อ 10 ปีก่อน เราคงจะไม่มีทางเข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดสและอีก 35 ล้านโดสที่รัฐบาลจะอนุมัติจองซื้อเพิ่มอีก เพื่อให้เพียงพอต่อประชาชน..."
............................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถานบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศไทย
นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า เนื่องจากมีผู้สงสัยในการจัดหาวัคซีน ว่าเป็นไปด้วยความนิ่งนอนใจ ล่าช้า ไม่หลากหลาย และไม่ครอบคลุมกับประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบความจริง
นพ.เกียรติภูมิ ย้ำว่า "ต้องขอแสดงความสำนึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อวงการสาธารณสุขที่มีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงวันนี้ ทำให้ระบบการแพทย์ของประเทศไทยไม่น้อยหน้าใครในโลก ส่วนในรัชกาลที่ 10 นั้นในปี 2562-2563 ก็มีการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาให้หลายครั้งรวมกว่า 4 พันล้านบาท และพระราชทานอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงรถโมบายตรวจหาเชื้อนิรภัย ช่วยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังพระราชทานขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้วย"
นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ประเทศไทยเริ่มทำแผนการจัดหาวัคซีนโควิดตั้งแต่วัคซีนอยู่ในขั้นการทดลองแล้ว เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา โดยได้ศึกษาติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอดว่าใคร ทำอะไร ถึงไหนบ้างแล้ว
"ในช่วงแรกยังเป็นช่วงที่มีข้อมูลจำกัด และยังไม่มีข้อมูลสำเร็จ มีเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าเท่านั้น เราจึงเริ่มจากการตั้งเป้าหมายจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทย 50% โดยพิจารณาจาก 3 แนวทาง คือ 1. การจองซื้อผ่านความร่วมมือโครงการโคแวก ที่เป็นเหมือนวัคซีนถังกลาง นำเอาวัคซีนหลายเจ้ามารวมกัน ให้หลายประเทศมาซื้อ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 20 % ซึ่งประเทศไทยได้แสดงความสนใจและมีการเจรจาไปแล้วหลายครั้ง แต่เงื่อนไขในการจองซื้อราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับคู่ค้าเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ อาจมีความยุ่งยากในการทำสัญญาจองซื้อและการได้วัคซีน ซึ่งเมื่อประเมินแนวทางนี้จนถึงปัจจุบันแล้ว พบว่าคงเป็นไปได้ยาก 2. การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทแอสตราเซนเนก้าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทสยามไบโอเอน 26 ล้านโดส คิดเป็น 20% และ 3. การเปิดทางไว้เจรจากับบริษัทอื่นๆ อีก 10% นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ เพื่อในอนาคตประเทศไทยจะพึ่งพาตัวเองในเรื่องวัคซีนได้"
"เราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว สถานการณ์วัคซีนโควิด ไม่ได้มีข้อมูลสำเร็จรูป ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางตามสถานการณ์อยู่ตลอด ดังนั้นการได้ซิโนแวคในช่วง ก.พ.-เม.ย.2564 และแอสตราเซนเนก้าอีก 26 ล้านโดส ในช่วง พ.ค.2564 รวมถึงการเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมให้ได้ตามเป้า 50% ในปลายปี 2564 ถือว่าไม่ได้ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วไป ทั้งนี้ประเทศที่ฉีดก่อน เขาได้จองซื้อตั้งแต่การวิจัยยังเป็นวุ้น ซึ่งมีการดำเนินการที่แตกต่างจากประเทศไทยที่ต้องรอบคอบในการดำเนินการ" นพ.ศุภกิจ ยืนยัน
ส่วนการจองซื้อวัคซีนโควิดนั้น นพ.นคร กล่าวว่า ไม่ใช่การเจรจาการจองซื้อที่เหมือนในสถานการณ์ปกติทั่วไป ทำให้ต้องใช้ข้อมูลหลาย ๆ อย่างมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา จะต้องพิจารณารูปแบบวัคซีนว่าเป็นอย่างไร มีแนวโน้มในการใช้อย่างไร และนำมาใช้ภายในประเทศได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาจากชื่อของบริษัทหรือตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว
"ในกรณีของบริษัทแอสตราเซนเนก้าที่มีการเจรจาเพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย ทางบริษัทดังกล่าวจึงต้องมีการทบทวนคุณสมบัติบริษัทต่างๆในประเทศไทยด้วย แต่มีเพียงบริษัทสยามไบโอไซที่มีศักยภาพพร้อมรับการถ่ายทอดการผลิตวัคซีนรูปแบบไวรัสเวคเตอร์ ซึ่งแม้แต่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เพราะต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่" นพ.นคร กล่าว
นพ.นคร ระบุว่า "สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน เรามีพื้นฐานเดิมอยู่จากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ทรงวางแนวทางให้บริษัทผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล ผลกำไรแต่ละปีไม่คืนทุนในเวลารวดเร็ว ทำให้คนที่ไม่เห็นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสนับสนุนบริษัทที่ขาดทุน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่เป็นหลักการตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ ทำมาอย่างต่อเนื่องจนมีต้นทุน มีความรู้ และได้รับการคัดเลือกจากบริษัทแอสตราเซนเนกาในวันนี้ ซึ่งหากไม่ได้ทำไว้เมื่อ 10 ปีก่อน เราคงจะไม่มีทางเข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดสและอีก 35 ล้านโดสที่รัฐบาลจะอนุมัติจองซื้อเพิ่มอีก เพื่อให้เพียงพอต่อประชาชน"
ส่วน นพ.โอภาส ชี้แจงถึงการจองวัคซีนแอสตราเซนเนก้าว่า ประเทศไทยได้ซื้อวัคซีนจากบริษัทดังกล่าว โดยที่จ้างบริษัท สยามไบโอไซมาร่วมผลิตวัคซีนด้วย ซึ่งได้ทำข้อตกลงระหว่างกันในการจ้างว่าต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เป็นลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดแบบให้เปล่า ไม่ต้องเสียค่าถ่ายทอด และเมื่อผลิตเสร็จแล้วจะขายให้คนไทยในราคาต้นทุน ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ดังนั้น ค่าจ้างในการผลิตที่บริษัทสยามไบโอไซ คิดก็จะเป็นในราคาต้นทุนเช่นเดียวกัน เพราะทุกอย่างเป็นการจัดซื้อที่สะท้อนในราคาต้นทุนทั้งสิ้น
"การจัดหาวัคซีนนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเราไม่ได้ทำตามกระแส หรือทำตามประเทศอื่น ทั้งนี้ในการดูแลความปลอดภัย เราก็มีเรามีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบด้วย"
"การฉีดวัคซีนฟรีแก่ประชาชนจำนวนมาก ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งในการหารือเมื่อเดือน มี.ค.- เม.ย. 2563 เคยประมาณการณ์ไว้ว่าวัคซีนอาจจะมีราคาสูงถึงหลัก 1,000 บาทต่อโดส แต่ราคาที่ประเทศไทยจองซื้อกับบริษัทแอสตราเซนเนก้านั้นอยู่ที่ 5 เหรียญต่อโดส หรือประมาณ 150 บาท ซึ่งถูกที่สุดในท้องตลาดขณะนี้ ขณะที่ของบางบริษัทที่บางประเทศจัดซื้อนั้นราคาประมาณ 19 เหรียญ ซึ่งแพงกว่าที่เราจองถึงซื้อ 4 เท่า และบางบริษัทก็ขายในราคาสูงกว่า 30 เหรียญ ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ และได้นำวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และราคาที่เหมาะสมมาให้กับประชาชน" นพ.โอกาส ระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage