"...พบว่าจากจำนวนกว่า 33,000 คน มีประชาชนอยากฉีดวัคซีนแน่นอน 50 % มีแนวโน้มที่จะฉีดนั้นสูงถึง 85% และไม่อยากฉีดวัคซีนเลย 5% โดยประชาชนอยากเลือกฉีดวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา หรือทวีปยุโรปมากกว่าของจีนหรือไทย ทั้งนี้ผลของความแตกต่างระหว่างกันไม่ได้ออกมาแตกต่างกันมากนัก..."
..............................................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เรื่อง ความหวังคนไทยกับวัคซีนโควิด-19 ผ่านรายการ NBTรวมใจ สู้ภัยโควิด-19 ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดมีบริษัทกว่า 200 แห่งทั่วโลก พยายามคิดค้นวัคซีน แต่ปัจจุบันวัคซีนที่สามารถใช้ในภาวะฉุกเฉินมีเพียง บริษัทโมเดอร์นา, บริษัทซิโนแวค, บริษัทแคนไซโน, บริษัทไซโนฟาร์ม, บริษัทสปุตนิก 5, บริษัทไฟเซอร์, บริษัทไซโนฟาร์ม และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยวัคซีนที่สามารถใช้ในภาวะฉุกเฉินได้มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีน mRNA, วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ชนิดทำหมันแล้ว และ วัคซีนเชื้อตาย
อย่างไรก็ดี การจะผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะปกติจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีในการศึกษาและทดสอบให้ได้มีประสิทธิภาพ 99% แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเราใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้นในการดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าว ซึ่ง ศ.นพ.ยง ยืนยันว่า ผลการทดสอบประสิทธิที่ภาพที่ออกมานั้น แม้จะยังเป็น 'การศึกษาที่ยังไม่สิ้นสุด' หรือเป็นการศึกษาเบื้องต้น แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาเบื้องต้น พบว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ก็สามารถนำมาใช้ได้เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิดได้
@ตัวเลขไม่ใช่เครื่องชี้วัดผลลัพธ์ของวัคซีน
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า โดยปกติตลาดเป็นของผู้ซื้อ แต่สำหรับสถานการณ์โควิดที่มีสินค้าอย่างจำกัด ตลาดจึงเป็นของผู้ขาย เนื่องจากความต้องการในวัคซีนมีมาก เพราะฉะนั้นใครที่มีอำนาจหรือเงินมากกว่า ย่อมจะได้รับวัคซีนก่อน อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล เนื่องจากกรมอนามัยโลก (WHO) ประกาศอย่างชัดเจนว่าหากวัคซีนที่ผ่านการทดสอบและมีประสิทธิภาพมากกว่า 50 % สามารถใช้ได้ตามปกติ
"บางครั้งเราอย่าไปยึดติดอยู่กับตัวเลข แต่ให้ยึดติดกับความจริง โดยให้พิจารณาจากปัจจัยรอบด้านก่อน ตัวอย่างเช่น ประชากรที่เขาใช้ศึกษาคือกลุ่มไหน เช่น ในอดีตเรามีการนำวัคซีนเอดส์มาทดสอบในประเทศไทย ปรากฎว่ามีประสิทธิภาพเพียง 30% แต่เมื่อนำไปศึกษาในประเทศแถบแอฟริกาพบผลลัพธ์เป็น 0% แสดงให้เห็นว่าหากศึกษาจากประชากรที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับผลลัพธ์ที่ต่ำกว่าการศึกษาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ" ศ.นพ.ยง กล่าว
สำหรับผลการทดสอบจากบริษัทซิโนแวค ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวได้รับผลลัพธ์การศึกษาประสิทธิภาพในประเทศตุรกีได้ 90% อินโดนีเซียได้ 65% บราซิลครั้งแรกได้ 70% แต่ในบราซิลครั้งที่ 2 ได้ต่ำกว่า 60 % ซึ่งจากการตรวจสอบถึงความแตกต่างของผลลัพธ์ พบว่าการศึกษาประสิทธิภาพในครั้งที่ 2 นั้น ศึกษาจากประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ บุคลากรทางการแพร่ และกลุ่มเสี่ยงสูงติดเชื้อโควิด
ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง กล่าวถึงความเหมาะสมในการฉีดวัคซีนว่า ให้พิจารณาถึงความเสี่ยงตามช่วงอายุ คือ อายุตั้งแต่ 50 ปี โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 1% อายุตั้งแต่ 60 โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 3-4 % อายุตั้งแต่ 70 ปี โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 10 % และอายุตั้งแต่ 80 โอกาสจะเสียชีวิตอาจมากถึง 20% ส่วนในวัยตั้งแต่ 20 ปีนั้นแทบไม่มีโอกาสเสี่ยง โดยโอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ต่อ 100-1,000 คน
ขณะเดียวกันให้พิจารณาตามความเสี่ยงในการรับโรคจากการประกอบอาชีพ และความแข็งแรงด้วย โดยขอให้ประชาชนนำมาพิจารณาชั่งน้ำหนักกัน แล้วค่อยตัดสินใจจะฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้ ในส่วนของกลยุทธ์ในการฉีดวัคซีนนั้น หากต้องคิดแทนครอบครัว ประชาชนสามารถเลือกได้เช่นกันว่า จะฉีดให้กับบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น ผู้สูงอายุภายในบ้าน หรือจะฉีดให้กับกลุ่มที่แพร่เชื้อง่าย เช่น กลุ่มวัยทำงานที่ยังแข็งแรงอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อเข้าสู่บุคคลภายในบ้านก็ได้
@ผลสำรวจ 3 หมื่นคน อยากรับวัคซีนล็อตแรกสูงถึง 50%
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ตนเองได้ทำแบบสอบถามออนไลน์ สอบถามถึงความต้องการฉีดวัคซีนฟรีล็อตแรกที่ภาครัฐจะนำเข้ามา โดยให้ตอบแบบสอบถาม 7-8 ข้อ ผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่าจากจำนวนกว่า 33,000 คน มีประชาชนอยากฉีดวัคซีนแน่นอน 50 % มีแนวโน้มที่จะฉีดนั้นสูงถึง 85% และไม่อยากฉีดวัคซีนเลย 5% โดยประชาชนอยากเลือกฉีดวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา หรือทวีปยุโรปมากกว่าของจีนหรือไทย ทั้งนี้ผลของความแตกต่างระหว่างกันไม่ได้ออกมาแตกต่างกันมากนัก
@คาดวัคซีนโควิดไม่ต้องฉีดทุกปี
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงระยะเวลาในการป้องกันโรคโควิดของวัคซีนว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ ตนเองจึงยังไม่ทราบ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวพึ่งออกและอยู่ในขั้นของการศึกษาที่ยังไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นต้องติดตามต่อไป แต่ทั้งนี้คาดว่าจะไม่ต้องฉีดทุกปีเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะโควิดกลายพันธุ์ได้น้อยกว่าไข้หวัดใหญ่กว่า 10 เท่า แต่อาจจะฉีดทุกๆ 5 ปีไหม ตนเองก็ยังไม่ทราบ ซึ่งต้องรอผลการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตามโควิดจะไม่มีวันหายไป แต่เชื้อจะพัฒนาความรุนแรงให้น้อยลง เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ไม่ได้หากเราเสียชีวิต ซึ่งในอนาคตโควิดอาจกลายเป็นเหมือนหวัดปกติ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage