"...กระบวนการการผลิตวัคซีนโควิดของไทยนั้นมีการเริ่มต้นไปแล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การผลิตวัคซีนนั้นเป็นกระบวนการที่ยาวนานไม่ใช่ว่าปั๊มวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะได้เลย ต้องมีการเรียนรู้เทคนิคเตรียมสถานที่จนกระทั่งเอาหัวเชื้อโรคมาเพาะเลี้ยงแบบสมมติและเพาะเลี้ยงจริงจนขยายจำนวนสามารถนำเอามาทำตามขั้นตอนต่อๆไปได้ ซึ่งขั้นตอนพวกนี้ถือว่ายาวพอสมควร ..."
......................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) :สืบเนื่องจากกระแสข่าวการอนุมัติวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดสำนักข่าวอิศราได้สัมภาษณ์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย ว่าสรุปแล้วจะมีขั้นตอน ช่วงเวลาอย่างไรกันแน่ ภายหลังมีกระแสข่าวว่าสยามไบโอไซเอนซ์ได้เริ่มกระบวนการผลิตไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
@ มีข่าวว่าวัคซีนโควิดไทย เริ่มการผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ไปแล้ว
นพ.ศุภกิจ : คืออย่างนี้ กระบวนการการผลิตวัคซีนโควิดของไทยนั้นมีการเริ่มต้นไปแล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การผลิตวัคซีนนั้นเป็นกระบวนการที่ยาวนานไม่ใช่ว่าปั๊มวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะได้เลย ต้องมีการเรียนรู้เทคนิคเตรียมสถานที่จนกระทั่งเอาหัวเชื้อโรคมาเพาะเลี้ยงแบบสมมติและเพาะเลี้ยงจริงจนขยายจำนวนสามารถนำเอามาทำตามขั้นตอนต่อๆไปได้ ซึ่งขั้นตอนพวกนี้ถือว่ายาวพอสมควร
@ มีการผลิตลอตวัคซีนเป็นทางการแล้ว
นพ.ศุภกิจ: ยังไม่มี ...ที่เห็นข่าวกันว่าบริษัทไฟเซอร์ ที่เห็นไปฉีดกันที่ต่างๆ คือ เขาแทงหวย มีการผลิตเป็นจำนวนมากตั้งแต่ยังไม่มีการทดลองเลยด้วยซ้ำ ซึ่งถ้ามันได้ผลก็โอเค แต่ถ้าไม่ได้ผลก็โยนทิ้ง
@ ของไทยคือเราได้วัตถุดิบแล้วแต่ยังต้องรอใช่ไหม
นพ.ศุภกิจ: อย่างที่เรียนไปแล้วว่ากระบวนการมันสลับซับซ้อน คำว่า วัตถุดิบ นี่อาจจะไม่ใช่วัตถุดิบซะทีเดียว คือมันเป็นเทคโนโลยีที่จะต้องเอาเชื้อไวรัส จะต้องมีการใช้อะดีโนไวรัส (จุลินทรีย์ไวรัสขนาดเล็กขนาดกลางที่มีสายดีเอ็นเอเกลียวคู่เดี่ยว)จากลิงชิมแปนซีเป็นตัวพารหัสพันธุกรรมที่ติดไปด้วยเข้าไปสู่เซลล์และกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้นการเลี้ยงไวรัสให้มันมีจำนวนต้องใช้เวลา คือในทุกหลอดนั้นจะต้องมีไวรัสพวกนี้อยู่ ดังนั้นจึงต้องใช้การเพาะเลี้ยงไวรัสเหล่านี้ซึ่งต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งละเอียดอ่อน ไม่ได้ทำกันได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นถึงต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมา ทีนี้ ตอนนี้เขาก็เริ่มกระบวนการมาตลอด และก็เริ่มกระบวนการที่จะเลี้ยงไวรัสจริงๆ เพื่อจะขยายจำนวนกันต่อไป
@ คือหมายความว่าถ้าที่อังกฤษมีการมีการอนุมัติวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เราสตาร์ทได้เลยใช่ไหม
นพ.ศุภกิจ: คือเราสตาร์ทแล้วไง แต่ขั้นตอนที่สำเร็จมันต้องมีการอนุญาต ประเทศไทยก็ต้องมีการขออนุญาตจากทางองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งก็ต้องมีการตรวจเอกสารกันอีกว่าวัคซีนมันโอเคไหม ถ้าข้อมูลมันมากพอ เราถึงอนุญาตให้ใช้วัคซีนได้ในประเทศไทย แต่ทีนี้กระบวนการพวกนี้เราสามารถกระทำคู่ขนานกันไปได้ เราไม่ต้องรอว่าวันหนึ่งสยามไบโอไซน์ทำเป็นวัคซีนออกมาส่งให้โรงพยาบาลฉีดแล้ว ถึงไปขอ อย. ถ้าทำแบบนี้ก็ตาย โดยเฉพาะกรณีของเราซึ่งวัคซีนมันก็เป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยด้วย ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ อย.ก็มีความร่วมมือกับสยามไบโอไซน์ด้วย ก็เลยมีการดูรายละเอียดกันไปเรื่อยๆ โดยเริ่มดูกันตั้งแต่วันนี้เลย พูดง่ายๆ เพราะฉะนั้นพอข้อมูลเขา สมมติมีการผลิตออกมาเป็นตัวขวดพร้อมฉีดเราก็จะอนุญาตให้ฉีดได้เลย
@ ทวนอีกรอบคือถ้ามีการอนุมัติวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าในต่างประเทศ เราจะทำอย่างไรต่อ
นพ.ศุภกิจ: คือ แอสตร้าเซนเนก้าเขาก็มีฐานการผลิตอยู่หลายประเทศทั้งที่อินเดีย บราซิล ซึ่งแต่ละที่ ช้าเร็วไม่เหมือนกัน ของเรานั้นเพิ่งมีการเซ็นสัญญาไปเมื่อเดือนที่แล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการลงนาม ซึ่งที่อังกฤษผมเชื่อว่าเขาก็มีโรงงาน และพร้อมจะฉีดแล้ว
@สรุปก็คือถ้าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีการอนุมัติ ก็ต้องรอขั้นตอนหน่วยงานในประเทศไทยอีกที
นพ.ศุภกิจ: คือของใครก็ของมัน ต้องบอกแบบนี้ เพราะนี่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ของเรายกเว้นเราจะนำของอังกฤษเข้ามา นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันไม่มีแน่เพราะว่าหลักการของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าก็คือว่ามีเทคโนโลยีเสร็จแล้ว และเอาไปทดลอง เขาจะไปหาแหล่งผลิต ซึ่งประเทศไทยเป็นไม่กี่แห่งซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตในโลกนี้ เพราะฉะนั้นหลายแหล่งต่างคนต่างก็ผลิตกันไป โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ทีนี้วัคซีนที่จะใช้กับคนไทย 26 ล้านโดสมันมาจากวัคซีนที่อยู่ในบ้านเรา ที่เราผลิตมา
@ คือเราดีลได้จากโคแวกซ์ (COVAX:โครงการริเริ่มระหว่างประเทศที่นำโดยองค์การสหประชาชาติ และพันธมิตรอื่นๆ เพื่อรับรองการเข้าถึงวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) ได้จำนวน 26 ล้านดังกล่าวนี้ใช่หรือไม่
นพ.ศุภกิจ: ไม่เกี่ยวกัน คือที่เราผลิตนี่เราใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นไวรัลเวกเตอร์ โดยทางสถาบันวัคซีนกามาลายา ก็ได้ผลิตวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน แต่ว่าไวรัลเวกเตอร์ก็มีการใช้ไวรัสคนละตัวกันกับของรัสเซียอีกเช่นกัน แต่เขามีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยซึ่งก็คือบริษัทสยามไบโอไซน์ ซึ่งจริงๆไม่ได้มีการผลิตแค่ 26 ล้านโดสให้คนไทยนะ ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเขาตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะผลิตให้ได้ปีละประมาณ 200 ล้านโดส แต่ที่เราดีลได้จำนวน 26 ล้านโดสดังกล่าวนั้นก็เพราะว่าถ้าหากเราไปดีลเยอะ เราก็ต้องออกเงินก่อนเยอะ แต่เราเอา 20 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว ถ้าเราอยากจะเอา 50 เปอร์เซ็นต์แต่ต้นเลยเขาก็ยินดี แต่ถ้ากรณีการมีปัญหากับวัคซีน มันก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน อันที่จริงผมเคยแถลงข่าวไปหลายครั้งแล้วว่าที่ผ่านมาผลการทดลองวัคซีนแต่ละเจ้าที่ประกาศว่าได้ผลกันเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ อาทิของไฟเซอร์นั้น ทั้งหมดเป็นการทดลองเบื้องต้นเท่านั้น อีก 6 เดือน หน้าตาอะไรก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้ ที่บอกว่ามีประสิทธิภาพอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเหลือแค่ 50 ก็เป็นไปได้ หรือเรื่องความปลอดภัยก็อาจจะมีความเป็นได้เช่นกัน สมมติว่าวันนี้ เนื่องจากเราเซ็นสัญญารับถ่ายทอดและเริ่มกระบวนการผลิตที่บริษัทสยามไบโอไซน์แล้ว กระบวนการต่างๆนั้นก็จะนำไปสู่การผลิตอย่างจริงๆจังๆกันในช่วงเวลาประมาณ 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็ประมาณ 6 เดือนที่ว่ามานั้นคือมีวัคซีนพร้อมฉีดให้กับคนไทยเลย แต่ว่ามันก็ไม่ได้ออกมาทีเดียว 26 ล้านโดสอย่างแน่นอน แต่คงจะค่อยๆออกมา แต่ขอยืนยันว่าในเรื่องของกระบวนการขึ้นบัญชี กระบวนการทางกฎหมายนั้น คงจะไม่ใช่เรื่องที่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันไปกับวัคซีนอยู่แล้ว
@แล้วที่เคยมีข่าวว่าเราดีลกับของโคแวกซ์นี่เป็นอย่างไร
นพ.ศุภกิจ: ต้องชี้แจงก่อนว่าเราดีลกัน 3 ช่อง ช่องหนึ่งก็คือของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งมันจบไปแล้ว ก็คือจอง 26 ล้านโดส ผลิตในเมืองไทย ช่องทางที่ 2 ก็คือช่องทางของโคแวกซ์ ซึ่งมันยังไม่จบ โดยหลักการของโคแวกซ์เขาก็เป็นคนกลาง เพื่อป้องกันกรณีว่าประเทศร่ำรวยจะกักตุนวัคซีน จนทำให้ประเทศที่ยากจนนั้นประสบปัญหา เขาก็เลยหาทุนมาก้อนหนึ่งแล้วให้นักวิจัย บริษัทวัคซีนทั่วโลกสิบกว่าเจ้ามาลงถังกลางกันว่าถ้าผลิตวัคซีนได้แล้วก็จะเอามาลงถังกลางไว้ ซึ่งเขาตั้งเป้ากันว่าจะได้วัคซีนในโครงการโคแวกซ์ประมาณ 2 พันล้านโดส โดยประเทศจนๆก็จะได้สิทธิซื้อวัคซีนประมาณ 2-3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อโดส แต่ถ้าประเทศกลางๆอย่างเราโดดเข้าไปร่วมตรงนี้ ไปเซ็นสัญญากับเขาก็จะซื้อได้ด้วยราคา 10 ดอลลาร์ ส่วนประเทศรวยไปเซ็นสัญญา ก็จะคิดราคาวัคซีนอยู่ที่ 20-30 ดอลลาร์
ซึ่งเขาก็ตั้งเป้าว่าประเทศรวยนั้นจะต้องช่วยประเทศที่จนกว่า ที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศเขามีความสนใจในเรื่องโคแวกซ์ รวมถึงประเทศไทย เพราะมันก็เหมือนกับเราได้แทงม้าหลายตัวเนื่องจากมีการวิจัยวัคซีนแล้วเอามาใส่ไว้ในถังกลางเป็นจำนวนหลายสิบเจ้า ถ้าอันนี้ไม่ได้ผล เราเลือกวัคซีนตัวอื่นที่ได้ผลมันก็ยังพอไหว แต่ปัญหาก็คือเรื่องโคแวกซ์เราก็ต้องจองซื้อเหมือนกันและต้องจองซื้อนี้ได้ ส่วนจะได้วัคซีนจากเจ้าไหน เราก็ไม่รู้ โคแวกซ์เขาจะจัดการให้เรา อันนี้มันเลยเกิดความยาก เราก็เลยกำลังเจรจากันอยู่ แต่ส่วนตัวผมก็ต้องยอมรับว่ามันก็ลำบากพอสมควร ในตอนหลังเราก็พบว่าโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ทุกประเทศเขาล้วนไปมีการดีลตรงกับบริษัทผู้ผลิตกันทั้งนั้น เพราะถ้าเราดีลกับโคแวกซ์ว่าจะเอาวัคซีน อย่างที่เราดีลตอนนี้ว่าจะเอา 26 ล้านโดส ลอตแรก 10 ล้านโดสมาเขาอาจจะส่งวัคซีนมาให้เราเจ้าหนึ่ง ขายให้เราด้วยราคา 10 ดอลลาร์ต่อโดส แต่ลอต10 ล้านโดสต่อไป วัคซีนอาจจะเป็นอีกเจ้าหนึ่ง และราคาอาจจะอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ก็ได้ ดังนั้นนี่คือเหตุผลที่ผมบอกว่าการดีลกับโคแวกซ์ ณ เวลานี้มันก็มีปัจจัยความยากเรื่องนี้อยู่ และตอนนี้เราก็ยังคงมีการพูดคุยกันอยู่ และยังไม่ได้จ่ายเงินไปให้กับเขาแต่อย่างใด
ส่วนช่องที่ 3 ก็คือเราไม่สนใจแล้วว่าจะเป็นใคร แต่จะเป็นการเจรจากับที่อื่นๆระหว่างประเทศ เช่นพรุ่งนี้ประเทศจีนเขามีการทดลองวัคซีนสำเร็จดีเรียบร้อย และเขามาเจรจากับเราว่าจะขายวัคซีนให้เราโดสละ 15 ดอลลาร์จะเอาหรือไม่ ตรงนี้เราก็จะมีอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่ง 2-3 วิธีที่ผมกล่าวมาก็น่าจะทำให้เราได้วัคซีนเป็นจำนวนพอสมควร แต่ที่ผ่านมานั้นอาจจะมีประเด็นที่มีการเสนอข่าวคาดเคลื่อนกันเล็กน้อยก็คือเรื่องโคแวกซ์ เพราะบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นเป็นบริษัทที่จะส่งวัคซีนของบริษัทเข้าไปในถึงกลางคือที่โคแวกซ์ด้วย ดังนั้นจึงอาจจะมีเรื่องเข้าใจผิดว่า ที่ปรากฏเป็นข่าวว่าเราจัดหาวัคซีน 26 ล้านโดสจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นเป็นการจัดหาจากโคแวกซ์ ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ มันเป็นคนละช่องทางกัน โดยทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเขาผลิตวัคซีนได้เท่าไร เขาก็อาจจะนำเอาวัคซีนไปใส่ถังโคแวกซ์ไว้เป็นจำนวนหนึ่งเช่นกัน
@สรุปก็คือเราดีลโดยตรงกับแอสตร้าเซนเนก้าเลย โดยได้ดีลว่าจะเป็นฐานการผลิตให้เขา
นพ.ศุภกิจ: ใช่แล้ว สรุปก็คือเราก็จะไปเป็นโออีเอ็ม (ผู้ผลิตอุปกรณ์ตามแบบฐาน) ให้กับเขานี่แหละ บริษัทสยามไบโอไซน์ก็จะได้เทคโนโลยีในการผลิต ส่วนข้อตอบแทนที่บริษัทแอสต้าเซนเนก้าจะได้ก็คือว่าวัคซีนจำนวนร้อยล้านโดสที่เขาจะนำไปใช้ต่อไป และตอนนี้ก็มีข่าวว่าภายใต้สายการผลิตนี้ประเทศอินโดนีเซียก็จองมาแล้วร้อยล้านโดสเช่นกัน เพราะถ้าสยามไบโอไซน์ผลิตสำเร็จก็ตามข้อตกลงคือให้ไทย 26 ล้านโดส ให้อินโดนีเซียไปร้อยล้านโดส แต่อินโดนีเซียเขาซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าเช่นกัน
@แล้วเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี่ก็คือข้อตอบแทนที่เราจะได้ หลังจากที่อังกฤษมีการอนุมัติวัคซีนแล้ว
นพ.ศุภกิจ: ถ่ายทอดไปแล้ว คืออันที่จริงเขาถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้เราไปตั้งแต่เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาแล้ว มีการคุยกันตลอด รวมไปถึงการเตรียมโรงงานต่างๆ แต่อย่างที่บอกว่ามันเป็นกระบวนการที่ยาว ซึ่งถ้าอังกฤษอนุมัติไปแล้ว อย่างที่ผมบอกก็ต้องให้ อย.นั้นรับรองอีกทีหนึ่ง เช่นเดียวกัน สมมติว่าไฟเซอร์ มีการอนุมัติกันที่อังกฤษ ที่สหรัฐอเมริกาไปแล้ว แต่ว่าพอมาถึงประเทศไทย เราก็ต้องมีการให้ อย.รับรองอีกเช่นกัน แล้วก็ต้องนำมาให้กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ตรวจสอบ ถ้าเราบอกไม่โอเคมันก็ไม่ได้ เพราะต้องเข้าใจว่าการอนุมัติในต่างประเทศนั้นเป็นการอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉิน ซึ่งอาจมีการหย่อนกติกาบางอย่างไป เพื่อให้มีการเร่งกรใช้งาน แต่การอนุมัติในประเทศไทยซึ่งมีสถาการณ์ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับประเทศเขาที่มีการติดเชื้อวันละ 2-3 แสนคน การอนุมัติวัคซีนในประเทศไทยก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักตามขั้นตอนมากกว่าเช่นกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage