นักวิชาการชี้ 10 ปี การศึกษาไทย ลงทุนมาก แต่คุณภาพยังไม่ถึงเป้าหมาย - กสศ.เสนอปฏิรูประบบงบรายจ่ายด้านการศึกษา ปรับสูตรเงินรายหัว เน้นเด็กเป็นตัวตั้ง และสอดคล้องบริบทพื้นที่ ไม่ให้ รร.ขนาดเล็กเสียเปรียบ พร้อมกระจายงบการศึกษาให้ท้องถิ่นตัดใจสินบริหารเองได้ แก้ปัญหาตรงจุด
..................................
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติหรือ NEA ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Accounts: NEA)
รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ รายงานสถานการณ์รายจ่ายด้านการศึกษาไทย เปรียบเทียบตั้งแต่ปี 2551-2561 ระบุว่า 10 ปี บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาถึง 816,463 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นับว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม OECD (ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ต่อ GDP
หากพิจารณารายจ่ายต่อหัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดแยกเป็นของภาครัฐ 618,427 ล้านบาท (76 เปอร์เซ็นต์) ส่วนอีก 198,036 ล้านบาท (24 เปอร์เซ็นต์) เป็นรายจ่ายของภาคครัวเรือนและภาคเอกชน
@ รศ.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า กว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดิน ยังถูกนำมาใช้ด้านการศึกษาสูงสุดมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีแผนปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 แต่ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อพิจารณาจากคะแนนโอเน็ต และคะแนนจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA พบว่า ทักษะการอ่านและการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยต่ำกว่าระดับนานาชาติ แบบที่เรียกว่ารั้งท้ายมาอย่างต่อเนื่อง และยังเห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งด้านโอกาสและคุณภาพผู้เรียน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณที่ไม่เพียงพอ แต่อยู่ที่ไม่สามารถใช้งบประมาณได้มีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ต่อผู้เรียนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในมิติของโอกาส และคุณภาพอยู่มาก ข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้คือ การปรับสูตรงบประมาณรายหัว ให้เน้นความจำเป็นของนักเรียน และความแตกต่างของพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน รวมทั้งต้องสอดคล้องกับขนาดโรงเรียนด้วย
“สูตรการจัดสรรงบประมาณปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้คุณภาพใกล้เคียงกัน แต่กลับถ่างขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะที่ควบรวมไม่ได้เสียเปรียบ ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องดูแลเด็กเปราะบางมากกว่า มีปัญหาในหลายมิติ แต่งบประมาณไม่ได้ปรับตัวตาม คุณภาพการศึกษาแย่ลงเรื่อยๆ” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า เช่นเดียวกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ พบว่างบประมาณรายจ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มลดลง โดยในปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่ารวม 18,683 ล้านบาท ลดจากปี 2559 ที่มีจำนวน 28,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนงบประมาณในด้านนี้ยังถือว่าไม่มากนัก ดังนั้นจึงควรมีการจัดสรรงบประมาณอย่างทั่วถึงและให้กลุ่มเด็กยากจนด้อยโอกาสได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
@ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากข้อมูลของ NEA มีประโยชน์มากที่จะช่วยนำไปสู่ข้อเสนอต่างๆ ด้วยข้อมูลที่เป็นรูปธรรม แต่นอกจากงบประมาณแล้วก็ยังมีมิติอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการบริหารจัดการ โดยจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจในการบริหารงบประมาณของท้องถิ่นกับส่วนกลางแตกต่างกันมาก โดยงบท้องถิ่นมีเพียงแค่ 16% ขณะที่หลายประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาอย่างฟินแลนด์ อเมริกา มีสูงถึง 40% ซึ่งการกระจายงบไปท้องถิ่นที่ดีจะช่วยให้การบริหารมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น ของตัวเองได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม นอกจากไทยจะมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว การกระจายตัวของทรัพยากรน้อยมาก อยู่กลุ่มเดียวกับละตินอเมริกา ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ หรือประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีการกระจายตัวของทรัพยากรการศึกษาที่ดี ทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะประเทศฟินแลนด์โรงเรียนใกล้บ้านก็มีคุณภาพไม่ต่างกันไม่จำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนไกล ดังนั้นเราจะต้องทำให้เกิดการกระจายทรัพยากร กระจายอำนาจที่เพิ่มมากขึ้น
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาอย่างเป็นระบบชัดเจน ทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่ามีการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ดังนั้น กสศ. จึงจัดทำระบบบัญชีรายจ่ายการศึกษาที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
“คำถามแรกที่คนทั่วไปมักถามก็คือ ทำไมการศึกษาไทยลงทุนมาก แต่ได้ผลไม่มาก ทั้งที่การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน จะเห็นได้ว่างบประมาณด้านการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ปีละ 5-6 แสนล้านบาท แต่กลับไม่สะท้อนไปถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ด้วยเหตุนี้การจัดทำบัญชีรายจ่ายการศึกษาจะช่วยให้ทราบว่ามีการจัดสรรงบประมาณไปในกิจกรรมใดบ้าง จังหวัดใดได้มากหรือได้น้อย และเข้าถึงกลุ่มประชากรใดบ้าง เพื่อให้เกิดการทบทวนการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเสมอภาคมากขึ้น” ดร.ไกรยส กล่าว
@ ดร.ไกรยส ภัทราวาท
รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่า การพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนทิศทางการลงทุนด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความเสมอภาคมากขึ้น โดยล่าสุดได้มีการจัดทำในระบบออนไลน์และลงลึกในรายละเอียดถึงระดับจังหวัด
“การจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาก็เปรียบเหมือนการทำบัญชีรายจ่ายครัวเรือน เพื่อการศึกษาของลูกหลานเรา ฉะนั้นทุกภาคส่วนสามารถเข้ามานำข้อมูลนี้ไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาบนฐานของข้อมูลที่แท้จริง” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 การจัดเก็บงบประมาณทำได้น้อยลง เราจำเป็นต้องมีระบบสมาร์ทอินเวสต์เมนต์ โดยจะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลที่ดี และต้องดูว่าเรื่องไหนจำเป็นต้องลงทุนทันที เรื่องไหนรอได้ ดังนั้นหวังว่าการจัดทำงบประมาณปี 2565 NEA จะเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่เป็นประโยชน์ รู้ว่าจะต้องลงทุนตรงไหน โดยการลงทุนในมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุดคือการลงทุนในระบบการศึกษา ซึ่ง NEA คือพิมพ์เขียวในการลงทุนโดยมีข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://research.eef.or.th/nea/ เพื่อดูข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาย้อนหลังได้
นอกจากนี้ ก่อนที่จะมี กสศ. ประเทศไทยจัดงบแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำการศึกษาเพียง 0.5 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเคยประเมินว่า จะต้องใช้งบประมาณ 5 % เพื่อดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันได้รับการจัดสรรเพียง 5,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 1% ด้วยเหตุนี้ กสศ. จำเป็นต้องลงทุนอย่างแม่นยำ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดด้วยเครื่องมืออย่าง NEA รวมทั้งวางยุทธศาสตร์ที่ร่วมลงทุนกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยไม่อาจทำงานเพียงลำพังได้ การที่มี NEA จะทำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงจุดแม่นยำมากขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/