"...องค์ประกอบขยะทะเลที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไทยทำสถิติสำรวจไว้บอกว่า เป็นหมวด พลาสติกอันได้แก่ ขวด หลอด จานชามพลาสติกราว30% เป็นโฟม ราว 20% เป็นถุงพลาสติก ซองถุงขนมอบกรอบ 37% ที่เหลือคือวัสดุอื่นที่ยังไม่ถึงขนาดอันตรายเท่าสิ่งที่แจกแจงไป เช่นแก้ว เช่นกระป๋อง ซึ่งจมลงและยังไม่สร้างปัญหาขึ้นมาเพราะการย่อยสลายของมันเกิดคนละแบบกับพลาสติกที่จะแตกตัวออกมา..."
...............................
ปัจจัยสาเหตุในการเผาทำลายป่าทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุดมาจากการรุกป่าเพื่อปลูกพืชไร่ ไม่ใช่เพื่อจะกินเองหรอกแต่เพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกพืชไร่เสร็จก็เผาตอซังทิ้ง เกิดควันที่ทั้งสร้างภาวะโลกร้อนและทำร้ายปอดสิ่งมีชีวิตทั่วไปเสียอีกต่อ
ไม่นับเนื่องสร้างภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่ร้อนจากเปลวไฟนะครับ แต่ร้อนเพราะควัน ฝุ่น และคาร์บอนไดออกไซด์จะกาอให้เกิดภาวะเรือนกระจกเพิ่มในชั้นบรรยากาศ ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปในอวกาศ น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว อากาศทั่วโลกปั่นป่วน บลาๆๆเล่าได้อีกยาว
สังคมของมนุษย์ยุคใหม่สนใจสุขภาพ เริ่มใช้แรงงานน้อยลง จึงพยายามลดคาร์โบไฮเดรตเปลี่ยนมาเพิ่มที่การกินโปรตีนแทน
โปรตีนมาจากปศุสัตว์กับโปรตีนจากทะเลจึงเป็นที่มาหลักๆของโปรตีนโลกที่สังคมมนุษย์ใช้บริโภค
และแม้บางคนไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังใช้เกลือทะเลมาปรุงอาหาร มันก็คือน้ำทะเลที่ระเหยจนเหลือแต่สิ่งเล็กๆที่เป็นผลึกของความเค็มคือเหลือเกลือและ บัดนี้รวมถึงไมโครของพลาสติกที่ก็ไม่อาจระเหยไปพร้อมไอน้ำนั่นเอง
วงจรบนจานอาหารของเราจึงพาเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่างเสมอ และเท่าที่สังเกต พาไปในทางทำลายล้างเสียเป็นส่วนมาก ไม่ทำลายสุขภาพตัวเองก็ทำลายสรรพสิ่งในโลก ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว สลับไปสลับมาตามรสนิยม
ขยะทะเลจึงไม่ใช่ปัญหาจากแต่แพขยะขนาดใหญ่ยักษ์ที่ลอยเท้งเต้งไปมาตามกระแสน้ำอุ่นน้ำเย็นในมหาสมุทรแล้วซัดเข้ามาที่ฝั่งหรือหาดทรายของแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น
แต่รวมถึงขยะทะเลที่พัดเข้ามาติดชายฝั่งแล้วฝังตัวลงไปในป่าชายเลน และใต้ผืนทราย ใต้ตมเลนของพื้นทะเลซึ่งเป็นบ้านหลังแรกของสัตว์ทะเลเสมอด้วย
องค์ประกอบขยะทะเลที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไทยทำสถิติสำรวจไว้บอกว่า เป็นหมวด พลาสติกอันได้แก่ ขวด หลอด จานชามพลาสติกราว30% เป็นโฟม ราว 20% เป็นถุงพลาสติก ซองถุงขนมอบกรอบ 37% ที่เหลือคือวัสดุอื่นที่ยังไม่ถึงขนาดอันตรายเท่าสิ่งที่แจกแจงไป เช่นแก้ว เช่นกระป๋อง ซึ่งจมลงและยังไม่สร้างปัญหาขึ้นมาเพราะการย่อยสลายของมันเกิดคนละแบบกับพลาสติกที่จะแตกตัวออกมา
แปลว่า87%ของขยะทะเล จะค่อยๆแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกตามเวลาทางสูตรเคมีของมัน
พลาสติกและโฟมที่ผลิตเป็นครั้งแรกเชิงอุตสาหกรรมของโลกในช่วง60ปีที่ผ่านมานั้น ด้วยอายุของมันจึงยังอยู่ครบแทบทุกชิ้นถ้าไม่ถูกเผาไปเสียก่อน และส่วนใหญ่เดินทางไปตามการไหลของน้ำไปถึงมหาสมุทรกันแล้ว
นวัตกรรมที่ฝรั่งเริ่มคิดทำในสองปีมานี้เช่น ใช้ตาข่ายไนล่อนคลุมปลายท่อระบายน้ำทิ้งของเมือง เพื่อสกัดขยะไม่ให้ไปต่อจนถึงทะเล วางทุ่นลอยในแม่น้ำใหญ่เพื่อดักขยะที่ลอยมา หรือแม้แต่เรือเก็บขยะ ทั้งแบบทันสมัยไฮเทคหรือแบบพายกันไปเก็บอย่างดั้งเดิม จึงเป็นวิธีที่ทำได้เฉพาะกับขยะลอยน้ำให้เราเห็นด้วยตาและมีขนาดที่ใหญ่ราวฝ่ามือขึ้นไปทั้งสิ้น
แต่ถ้าเล็กระดับหลอดดูด ก้นบุหรี่ หรือแท่งสำลีปั่นหู ไม้จิ้มฟันพลาสติก ฝาขวด จะเล็ดลอดตาข่ายและการตักด้วยเครื่องมือต่างๆได้ต่อไป
ส่วนขยะใต้น้ำและไมโครพลาสติกที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนั้น เท่าที่รู้ มนุษย์เรายังไม่มีปัญญาจะทำอะไรกับมันได้ มากไปกว่าดำน้ำลงไปจัดการทีละนิดๆ
ที่เราเคยสะเทือนใจกับมาเรียม พะยูนน้อย วาฬ โลมา เต่าและนกทะเลที่ตายไปเพราะกลืนขยะทะเลเข้าไปแล้วกะเพาะย่อยพลาสติกไม่ได้หรือแห อวน สายเบ็ดและเปลือกบรรจุภัณฑ์พันตัวมันจนมันว่ายน้ำไม่ไหวทำให้มันตายนั้น ไม่เพียงแต่จะยังมีต่อไปเรื่อยๆ แถมจะมีมากขึ้น
ซึ่งนั่นเป็นภาพที่หดหู่ใจ
แต่เมื่อไหร่ที่ไมโครพลาสติกกลับเข้ามาสะสมในร่างกายผู้กินเกลือทะเล และหรือเนื้อสัตว์ที่มีไมโครพลาสติกสะสมไปนานเข้า
ทีนี้เราเองอาจจะได้เผชิญกับภาวะฉุกเฉินอีกรูปแบบด้านอาหาร ที่ประวัติศาสตร์ยังไม่เคยพยากรณ์เอาไว้
ดังนั้น ความตื่นตัวในการเปลี่ยนวิถีการกินอยู่ การบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ การขจัดสิ่งเหลือใช้ที่ไม่ย่อยสลาย จึงต้องใช้มากกว่าสายตาเป็นเครื่องตัดสิน
ทะเลเป็นเครื่องมือธรรมชาติที่ใช้รองรับการทำละลายขั้นสุดท้ายของทุกวงจรของโลกใบนี้ มีเพียงไอน้ำที่ระเหยจากทะเลเท่านั้นที่กลับไปเริ่มกระบวนการบริสุทธิ์ได้ใหม่
ที่เหลือจึงได้แต่สะสมปนกันต่อไป
เอาขยะที่จะเป็นอันตรายต่อสรรพสิ่งออกจากทะเลกันดีกว่า
วันหนึ่งในอนาคต รัฐประเทศต่างๆอาจจะต้องร่วมลงขันสร้างเรือโรงไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากขยะทะเลที่แล่นกวาดเก็บขยะขึ้นมาเผาอย่างถูกต้องทางวิชาการโดยไม่ต้องกลับเข้าฝั่งในแต่ละทะเลและคาบสมุทร
ฟังดูอาจเกินจินตนาการไปก็ได้ แต่ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นหนึ่งในวิธีจัดการขยะทะเลที่กำลังมีปริมาณไล่หลังจำนวนปลาในทะเลเสียแล้ว
ถ้ารอจนทะเลสำรอกหรือเป็นไข้ แม้ยังไม่มีคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่ง แต่ก็จะสามารถสร้างความวินาศให้วัฏจักรการอยู่รอดของทุกชีวิตบนบก เช่นกัน
เปลี่ยนแปลง เปิดใจ และร่วมกันเรียนรู้ใหม่ เรื่องขยะกับตัวเราครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา