“...ผมใช้ รธน.ทุกฉบับมาจนปี 2560 ทุกฉบับมีจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง โดยทั่วไปสรุปได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทางก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยมาโดยลำดับ เพียงแต่ รธน.ที่เขียนโดยคณะยึดอำนาจ เขาจะมีบทเฉพาะกาลที่ให้ผู้ยึดอำนาจมีโอกาสครองอำนาจต่อไปอีก 1 สมัย ... จนฉบับปี 2560 เขียนบทเฉพาะกาลไว้ยาวกว่าปกติ คือไม่ใช่ 4 ปี แต่ให้อำนาจ ส.ว.ให้ 5 ปี เท่ากับอยู่ได้ 2 สมัย..."
----------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาหัวข้อเรื่อง 'ประชาธิปไตยไทย บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง' เนื่องในวันธรรมศาสตร์ครบรอบ 86 ปี ว่า ตนอยู่กับการเมืองมาตั้งแต่ต้น 50 กว่าปีเศษ ถือว่ามีส่วนได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง ตนตัดสินใจสมัครเป็นผู้แทนราษฎรปี 2512 ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2511 ซึ่งผู้ใหญ่ที่รักเราก็ถามว่า ทำไมเราคิดสั้น เพราะ รธน.ฉบับดังกล่าวห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี และมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 3 ใน 4 ของ ส.ส. คล้ายๆกับ รธน.ปี 2560 ถึงได้บอกว่า รธน.ฉบับปัจจุบันถอยไปไกลพอสมควร
“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ตอนร่าง รธน.ฉบับนี้ก็เชิญผมไปพบเป็นส่วนตัว ด้วยเหตุผลว่าผมใช้ รธน.มามากกว่าทุกคน น่าจะให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ ผมจึงได้บอกไปว่า สิ่งที่ผมให้ความเห็นไม่ใช่ข้อกฎหมาย แต่จะกราบเรียนว่ากฎหมายสำคัญก็จริงอยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นที่มาของปัญหาถึงขั้นทหารต้องยึดอำนาจ ไม่ได้มาจาก รธน. แต่มาจากพฤติกรรมของคนใช้ คือไม่เคารพ รธน. นี่คือที่มาของปัญหาทั้งหมด” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า รธน.ปี 2540 ตนเป็นคนใช้คนแรกก็ราบรื่น แต่เมื่อเปลี่ยนผู้ใช้ก็มีปัญหา กลายเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงที่ดีและเลวมาก เพราะเส้นทางประชาธิปไตย หากย้อนกลับไป 88 ปีจนถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่เริ่มใช้ รธน.ฉบับถาวร 10 ธ.ค.2475 ฉบับนั้นถ้าไปอ่านดูบทบัญญัติกฎหมาย ดูจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะก่อนที่จะมีกฎหมายฉบับนี้บ้านเมืองเราปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพียงแต่ในหลวงของเราไม่ได้ใช้อำนาจเป็นเผด็จการที่จะไปรังควานคน อย่างตอนที่พระองค์ท่านสละราชสมบัติเมื่อปี 2477 มีพระราชหัตถเลขาของพระองค์ ความว่า แม้พระองค์ท่านจะอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์ท่านยังไม่เคยใช้อำนาจอย่างที่คณะราษฎรใช้
“พูดง่ายๆก็คือ พระองค์ท่านยินดีที่จะสละพระราชอำนาจให้กับประชาชน แต่ไม่พร้อมที่จะให้อำนาจนี้อยู่ในมือของคนกลุ่มนี้ ซึ่งได้ทำสิ่งที่พระองค์เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวต่อไปว่า ในระบอบประชาธิปไตยมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทาง เช่น บทบัญญัติ รธน.ซึ่งกำหนดโครงสร้างการปกครองไว้ว่าเปลี้ยนไปอย่างไรจากปี 2475-2563 ทั้งนี้ รธน.ปี 2475 เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นประชาธิปไตย กำหนดบทบัญญัติเอาไว้ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช่อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี ตุลาการ และนิติบัญญัติ บทบัญญัติบางมาตราที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย 88 ปี คือบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ไม่มีความเปลี่ยนแปลง อยากให้อ่านมาตราของปี 2475 กับ ปี 2560 ก็ยังคงเหมือนเดิมเกือบทุกถ้อยคำเกือบทุกพยางค์ แต่แน่นอนว่าวันเวลาที่เปลี่ยนไป เราไม่ได้พร้อมมาตั้งแต่ต้น และเราคงจะไม่มีวันที่จะสมบูรณ์ตลอดไป อยากให้ทำความเข้าใจ ในระบบประชาธิปไตย ปัญหากับบ้านเมืองเป็นของคู่กันเสมอ จะหวังความราบรื่น ไม่มีปัญหา คงเป็นสิ่งเกินเลยความเป็นจริง ไม่มีระบบไหนปิดบังได้ เพียงแต่ระบบเผด็จการอาจปิดข้อมูลปิดความจริงได้ แต่ระบบประชาธิปไตยปิดไม่ได้ จึงต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อปัญหากับบ้านเมืองเป็นของคู่กัน จึงต้องมีองค์กรมารับผิดชอบอย่างเป็นระบบ
ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า บ้านเมืองเราประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกให้รู้ว่า ทั้งหลักที่ดีและคนดีที่ต้องไปด้วยกัน เพราะขนาด รธน.ปี 2540 ที่ว่าดีที่สุด แต่ทำไมต้องยึดอำนาจ ก็ด้วยเหตุผล 4 ข้อที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อ้างถึง คือ 1.มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน 2.มีพฤติกรรมแตกแยกสามัคคี 3.มีพฤติกรรมแทรกแซงองค์กรอิสระจนปฏิบัติหน้าที่มิได้ 4.มีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งหมดนี้ รธน.ปี 2540 ไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นพฤติกรรมของฝ่ายที่ใช้กฎหมาย ดังนั้นประสบการณ์หลายตอน จึงไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของ รธน. แน่นอนว่าบทบัญญัติบางช่วงมีบางครั้งที่เห็นว่า ไม่เปิดโอกาสให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อย่างที่เอ่ยในเบื้องต้นคือ รธน.ปี 2511
“ตั้งแต่ รธน.ปี 2511 ผมใช้ รธน.ทุกฉบับมาจนปี 2560 ทุกฉบับมีจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง โดยทั่วไปสรุปได้ว่า มีความเปลี่ยนแปลงในการก้าวหน้าทางประชาธิปไตยมาโดยลำดับ เพียงแต่ รธน.ที่เขียนโดยคณะยึดอำนาจ เขาจะมีบทเฉพาะกาลที่ให้ผู้ยึดอำนาจมีโอกาสครองอำนาจต่อไปอีก 1 สมัย แล้วเมื่อเข้าสู่วาระปกติต่อไป เป็นแบบนี้เกือบทุกฉบับ จนฉบับปี 2560 เขียนบทเฉพาะกาลไว้ยาวกว่าปกติ คือไม่ใช่ 4 ปี แต่ให้อำนาจ ส.ว.ให้ 5 ปี เท่ากับอยู่ได้ 2 สมัย เพราะสภาครบวาระ 4 ปี นั่นคือเหตุผลให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่รับ รธน.ฉบับนี้” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวต่ออีกว่า สำหรับคนใช้ รธน.รู้สึกว่า ฉบับนี้นอกจากจะไม่อยู่กับที่ ไม่ไปข้างหน้า แต่ยังถอยหลัง บทบัญญัติถึงขั้นเขียนตำแหน่งไว้เลยว่าใครจะได้เป็น ส.ว. แบบนี้ไม่เคยมี แบบนี้ถอยไปพอสมควร อย่างไรก็ตาม ตนก็พอเข้าใจ เมื่อไปคุยกับคนเขียนก็จะเข้าใจว่า เขาอ่านข้อเท็จจริงบ้านเมืองไว้อย่างไร ซึ่งมีเหตุผลของแต่ละฝ่าย แต่สำหรับเราที่ยืนหยัดในแนวทางประชาธิปไตย ก็อยากเห็น รธน.ที่เป็นมาตรฐานประชาธิปไตย และข้อสรุปของ รธน.นั้นก็เป็นสรุปของความเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองมาโดยลำดับ กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมาก และลบก็มี แต่บ้านเมือง 88 ปี ในฐานะที่อยู่ในเส้นทางภาคปฏิบัติ พูดได้เต็มปากว่าในทางข้อเท็จจริงเหตุการณ์บ้านเมืองผ่านกระบวนการประชาธิปไตยท่ามกลางวิกฤติของปัญหามาเป็นระยะทั้งภายในและภายนอกประเทศ
“ตอนผมเป็นนายกฯครั้งแรก สื่อมวลชนจะถามว่ามีการยึดอำนาจอีกหรือไม่ เพราะทุกคนไม่ไว้ใจ ผมก็บอกว่าจะไม่สร้างเงื่อนไขให้ทหาร จึงกำหนดข้อหนึ่ง ห้ามปรนเปรอยศทหาร เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น คือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มีคนจะประจบเอาใจให้ยศ พล.อ. ผมก็ห้ามกองทัพให้ยศ พล.ต.สนั่น ก็งอนๆอยู่ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ ห้ามมีพ่อค้าขายอาวุธมายุ่งเกี่ยว ทุกอย่างทำตรงไปตรงมา จนเป็นนายกฯสมัยที่ 2 ผมเป็น รมว.กลาโหม 3 ปี ทำหน้าที่วันสุดท้ายเหลือเงินราชการลับ 7.5 ล้านบาท ผมเป็นคนแรกที่สั่งให้คืนทั้งหมด บอกกระทรวงเขาว่า ผมมาจากเลือกตั้ง ผมไม่ได้เป็นรัฐบาลบาลจากทหาร ผมขอคืนทั้งหมด เป็นหนี้บุญคุณประชาชน คนเขายอมไม่ขายเสียงเพื่อเลือกเรา แล้วเราจะมารับประโยชน์เช่นนี้ไม่ได้” นายชวน กล่าว
ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า ช่วงหนึ่งของประชาธิปไตยก็มีเส้นทางที่น่ากลัว เช่น เส้นทางการใช้ รธน.ปี 2540 ขอย้ำว่าไม่ใช่ความผิดของ รธน. แต่เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากฝ่ายการเมืองในภาคปฏิบัติ เช่น นโยบาย 8 เม.ย.2544 ที่มาของเหตุการณ์ในภาคใต้ทุกวันนี้ เป็นนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้โจรกระจอกให้เสร็จภายใน 3 เดือน และกลายเป็นที่มาที่คิดว่าเป็นช่วงหนึ่งของเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤติจนมีผลถึงขณะนี้ ที่มีการคำนวณว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 6,000 คน นี่คือเหตุการณ์ที่บอกว่า เป็นผลต่อความเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง บทเรียนเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องทบทวนว่าสามารถป้องกันเหตุการณ์ในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งได้ประชุมกับเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าหารือเรื่องคณะกรรมการปรองดอง ที่จะมีอีกชุด อยากให้ทำระยะยาว คือชุดป้องกันเหตุการณ์ในอนาคต มันป้องกันไม่ได้หมดหรอก แต่เรารู้ว่าในอดีต 88 ปีมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่ควรจะเกิดแล้วมันเกิด เช่นการใช้วิธีการนอกกฎหมาย นอก รธน. อันเป็นเหตุให้ รธน.ปี 2550 ต้องเขียนวรรคสอง ในมาตรา 3 ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอื่นๆ ต้องปฏิบัติโดยยึดหลักนิติธรรม เป็นการเขียนเพื่อย้ำว่า ตลอดเวลาที้บังคับใช้ รธน.ปี 2540 คุณใช้วิธีการนอกกฎหมาย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง นั่นคือที่มา อย่าไปใช้วิธีนอกกฎหมาย จนในที่สุดคนร้ายจะใช้อ้างเหตุผลในการก่อเหตุ และกลุ่มประเทศมุสลิมจะเอาไปพูดต่อไป ทั้งกรณีตากใบ-กรือเซะ ก็เป็นเรื่องที่เขาจะเอาไปพูดอีก 500 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage