"...สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระบรมราชินีเคียงคู่พระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการปั้นพระบรมรูปด้วยพระองค์เอง ในยามที่ทรงพระชรา และมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง ได้ทรงมีพระอุตสาหะอุทิศเวลาอย่างยาวนาน พระราชทานวินิจฉัย และข้อแนะนำ เพื่อให้พระบรมรูปเหมือนพระองค์จริงมากที่สุด ด้วยความรักความผูกพัน..."
---------------------------------------------------
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ทีมสงบ 1051 ผู้ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ขนาด 4 เท่าขององค์จริง เพื่อประดิษฐานหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แทนพระบรมราชานุสาวรีย์เดิมที่มีขนาด 1.5 เท่าขององค์จริง
สืบเนื่องจากที่ ทีมสงบ 1051 ในฐานะผู้ออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้เสนอแนวความคิดต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นร่วมกันในการเคลื่อนย้ายพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งประดิษฐานบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาเดิม พร้อมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องมาประดิษฐาน ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเล็งเห็นถึงคุณค่า ความสำคัญ และความผูกพันต่อองค์พระบรมราชานุสาวรีย์เดิม ซึ่งได้ประดิษฐานอยู่คู่กับอาคารรัฐสภามาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้กรมศิลปากรได้มีมติทักท้วงว่า พระบรมราชานุสาวรีย์เท่าครึ่งพระองค์จริง มีขนาดเล็กเกินไป ไม่เหมาะสมที่จะนำมาประดิษฐาน ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 หน้าอาคารัฐสภาแห่งใหม่ ถนนเกียกกาย รวมทั้งได้เสนอให้มีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์องค์ใหม่ ขนาด 4 เท่าของพระองค์จริงขึ้น เพื่อความสมพระเกียรติ โดยให้นำพระบรมราชานุสาวรีย์องค์เดิมไปประดิษฐานในหอเกียรติยศ พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย ภายในอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น
กลุ่มกิจการร่วมค้าสงบ 1051 ในฐานะผู้ออกแบบ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวและขอคัดค้านการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง โดยขอให้นำพระบรมราชานุสาวรีย์เดิมมาประดิษฐานแทน เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและคุณูปการ ต่อประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทย ด้วยเหตุผล และคุณค่าสำคัญ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1.พระบรมราชานุสาวรีย์ แห่งความรักและความศรัทธา พระบรมราชานุสาวรีย์เดิมมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ ระดับชาติ และเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์องค์แรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีความผูกพันกับเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ คือ
1.1.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเททองหล่อพระบรมรูป เสด็จเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รวมถึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายบังคพระบรมราชานุสาวรีย์ ด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524-2544
1.2.สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระบรมราชินีเคียงคู่พระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการปั้นพระบรมรูปด้วยพระองค์เอง ในยามที่ทรงพระชรา และมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง ได้ทรงมีพระอุตสาหะอุทิศเวลาอย่างยาวนาน พระราชทานวินิจฉัย และข้อแนะนำ เพื่อให้พระบรมรูปเหมือนพระองค์จริงมากที่สุด ด้วยความรักความผูกพัน
1.3.เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจ ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ช่วยระดมเงินบริจาค โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 10,000,000 บาท มีเงินบริจาคของประชาชน 2,000,000 บาท และเงินบริจาคของสมาชิกรัฐสภา 300,000 บาท
1.4.องค์พระบรมราชานุสาวรีย์ ได้ประดิษฐานเป็นสัญลักษณ์ ภาพจำ คู่กับอาคารรัฐสภาเดิม มาอย่างยาวนาน เป็นที่เคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของสมาชิกรัฐสภา ตลอดจนบุคคลทั่วไป มีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งหน่วยงานราชการ และประชาชน พร้อมใจกันมาถวายราชสักการะเป็นจำนวนมาก
2.พระบรมราชานุสาวรีย์ แห่ง ‘ธรรมราชา’ ผู้ส่งเสริมประชาธิปไตย พระบรมราชานุสาวรีย์เดิมมีขนาดครึ่งของพระองค์จริง เป็นขนาดที่เหมาะสมเพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับพสกนิกรและเข้าถึงได้ สื่อถึงความเป็น ‘ธรรมราชา’ ผู้สร้างประโยชน์และเป็นที่รักประชาชนโดยมีทศพิธราชธรรมเป็นที่ตั้ง ในทางตรงกันข้ามการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาด 4 เท่าของพระองค์จริงจะสร้างความรู้สึกน่าเกรงขามและมีระยะห่าง สื่อถึงการปกครองโดยอำนาจอยู่เหนือประชาชนไม่สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตยในปัจจุบัน
3.พระบรมราชานุสาวรีย์ ที่ ‘สง่างาม’ สอดคล้องกับปริมณฑล ในการออกแบบพื้นที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ผู้ออกแบบต้องการให้ความสำคัญกับพระบรมราชานุสาวรีย์เดิม โดยกำหนดที่ตั้งอันเป็นจุดตัดของแนวแกนสำคัญของอาคาร มีการสร้างกรอบมุมมองให้เกิดความ ‘สง่างาม’ โดยกำหนดระยะที่ตั้งและขนาดอย่างเหมาะสม ไม่รู้สึก ‘ถูกกดข่ม’ จากขนาดของอาคารด้านหลัง สร้างความรู้สึกใกล้ชิดและพิเศษ แก่ประชาชนที่เข้ามาสัมผัสพื้นที่และพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งอยู่ในปริมณฑลของอาคารรัฐสภา
ในขณะที่แนวความคิดของกรมศิลปากร ซึ่งเสนอให้ขยายขนาดพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็น 4 เท่าพระองค์จริง เพื่อให้เกิด ‘ความสง่างาม’ แต่ในความเป็นจริงการขยายขนาดพระบรมราชานุสาวรีย์ ดังกล่าวจะไม่มีผลแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก
นอกจากนี้ ตำแหน่งของพระบรมราชานุสาวรีย์ และบริเวณพื้นที่หน้าอาคารรัฐสภา ที่อยู่ลึกเข้าไปจากถนนสามเสน ซึ่งเป็นถนนหลักหน้าโครงการถึง 150 เมตร จึงไม่มีมุมมองที่สามารถมองเห็น องค์พระบรมราชานุสาวรีย์ เปรียบเทียบกับอาคารรัฐสภาได้ ดังนั้น ขนาดที่ใหญ่ขึ้น 4 เท่า จึงไม่มีผลต่อความสง่างามของพระบรมราชานุสาวรีย์ในบริบทเมือง เช่นกัน
4.พระบมราชนุสาวรีย์ ที่ ‘สร้างแบบอย่าง’ การใช้งบประมาณอย่างสมประโยชน์เนื่องจากการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นโครงการที่มีการจับตามองจากทุกฝ่าย การตัดสินใจใช้งบประมาณควรเป็นไปด้วยความประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สังคม ซึ่งการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง ขึ้นใหม่ โดยที่สามารถนำพระบรมราชานุสาวรีย์เดิม มาประดิษฐานได้ ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณค่าใช้จ่าย ทั้งในการหล่อองค์พระบรมราชานุสาวรีย์และฐานที่ประดิษฐาน ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รัฐสภาจึงควรต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ
5.การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง จะทำลายความสัมพันธ์ของสัดส่วน ความสวยงาม และเปลี่ยนแปลงความหมายของงานออกแบบรัฐสภาในภาพรวมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบงานออกแบบรัฐสภาในภาพรวมซึ่งรับผิดชอบโดยทีมออกแบบกิจการร่วมค้าสงบ 1051 นั้นได้ออกแบบให้เครื่องยอด โถงรัฐพิธี และพิพิธภัณฑ์ เป็นจุดหมายขององค์ประกอบระยะไกลและได้ลดทอนสัดส่วนลงมาโดยลำดับตามหลักวิชาการ และหลักสุนทรียศาสตร์ของการรับรู้ และการมองเห็น โดยพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และศาลาแก้ว ทั้งคู่อยู่ในแนวเดียวกัน รับหน้าที่เป็นจุดสนใจระยะใกล้ ซึ่งมีสัดส่วนปรับเข้าหาสัดส่วนปกติ เพื่อความเป็นมิตร มีขนาดที่ไม่ข่มประชาชน โดยมี Reflexting Pond ด้านหน้าทำหน้าที่ เป็นบ่อสะท้อนเงาของเรือนยอด ช่วยลำดับสัดส่วน และนำสายตาเข้าสู่อาคาร และพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
การขยายสัดส่วนพระบรมรูปฯ เป็นขนาด 4 เท่า จะทำลายความสัมพันธ์ในการลดทอนสัดส่วนจากฉากหลัง และทำลายความสัมพันธ์ในเรื่องขนาดสัดส่วนกับศาลาแก้วที่ได้วางไว้ในแกนเดียวกัน ไม่ทำหน้าที่เป็นจุดหมายระยะใกล้ ข่มผู้คน และ ไม่ได้สัดส่วนกับศาลาแก้ว และเปลี่ยนความหมายของพระบรมราชานุสาวรีย์จาก ‘ธรรมราชา’ เป็น ‘เทวราชา’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่พ้นสมัย
การเข้าถึงโดยรถนต์ของประชาชนจะเข้าถึงผ่านชั้น B1 มาสู่ชั้นใกล้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดมหึมา ซึ่งไม่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทใดๆ ที่ควรจะเป็นในงานออกแบบ การที่พระบรมรชานุสาวรีย์ขนาดมหึมา จะโผล่ชั้นหน้าระเบียงบันไดขนาดใหญ่ จะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่จำเป็น ทำให้การแก้ปัญหาด้านสายตานี้ จะทำลายการใช้สอยชานพักนี้ในด้านมุมมอง
การเสนอให้ยกเลิกบ่อสะท้อนเงาด้านหน้า ทำให้องค์ประกอบที่ผู้ออกแบบได้วางไว้เพื่อลำดับการเข้าถึงตัวอาคารหายไป ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนในสัดส่วนที่เหมาะสม ที่ได้ออกแบบไว้อย่างลงตัวถูกทำลายลง ทำให้ความเชื่อมโยงของประชาชนในการเข้าถึงรัฐสภา ขาดองค์ประกอบที่เป็นมิตรในเชิงสัดส่วนไปอย่างไม่สามารถแก้ไขได้
ผู้ออกแบบ (สงบ 1051) เป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวมการออกแบบ ขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่รัฐสภายินยอมให้การออกแบบที่คำนึงถึงเพียงสัดส่วนย่อยมาทำลายแนวคิดหลัก ทางด้านการรับรู้ และสุนทรียศาสตร์ ที่ได้ถูกออกแบบไว้อย่างดี ต้องเสียหายไปโดยไม่มีผู้ใดสามารถรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นทั้งในด้านสัดส่วน ลำดับการเข้าถึงความงาม
จากประเด็นทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญให้คณะผู้ออกแบบ (สงบ 1051) ยื่นหนังสือขอคัดค้านการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง เพื่อสืบสานจิตวิญญาณ และความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นภาพจำและสัญลักษณ์อันแนบแน่นของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage