"...เราจะมีสภาเมือง เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการพัฒนา การนำเงินก้อนนี้มาใช้ไปสู่การที่ชาวบ้านตรวจสอบได้ เพราะวันนี้คนกำลังเป็นห่วง เราจึงออกสโลวแกนในโค้งสุดท้ายว่า “ต่อไปต้องเปลี่ยนตรัง เอาลูกหมาไปเฝ้าปลาย่าง” เพราะแมวกินปลาย่างอยู่แล้วถูกต้องไหมครับฉะนั้นเงินก้อนนั้น ก็เหมือนปลาย่าง เราจะทำให้ตรังปลอดทุจริต..."
----------------------------------------------------
มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งเวทีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สำหรับพื้นที่จังหวัดตรัง ทั้งตำแหน่ง ‘นายก อบจ.’ และ ‘สมาชิก อบจ.’ ล่าสุดลงชิงชัยกัน 3 ขั้วหลัก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวบ้าน
หนึ่งในผู้ลงชิงชัยที่สมน้ำสมเนื้อกับขั้วการเมืองเดิม คือ ‘สาธร วงศ์หนองเตย’ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเบอร์ 2 และหัวหน้าทีมผู้สมัคร สจ.ทีม ‘ตรังพัฒนาเมืองตรัง’ ซึ่งทั้งเปิดตัวและลงพื้นที่หาเสียงอย่างเข้มข้นในเวลานี้
ทีม ‘ตรังพัฒนาเมืองตรัง’ นำโดย ‘สาธร’ ประกาศนโยบาย 12 ข้อ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะเป็นการ ‘เปลี่ยน’ บทบาทการทำงานของ ‘อบจ.ตรัง’ ในรูปแบบใหม่ อันมาจากการตีความอำนาจตาม พ.ร.บ.การกระจายอำนาจสู่องกรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
‘สาธร’ เกิดที่ตลาดห้วยยอด เป็นน้องชายของ ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’ ส.ส.ตรังพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันอายุ 58 ปี มีบทบาทในหน้าที่ผู้ช่วยดำเนินงาน ส.ส.ของ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภานับแต่ปี 2529 กระทั่งการเลือกตั้งปี 2538 ส.ส. ตรังเพิ่มเป็น 4 เขต ‘สาธร’ จึงมาทำหน้าที่ผู้ช่วยดำเนินงานให้กับ ‘ส.ส.สาทิตย์’ จนถึงปัจจุบัน สำนักข่าวอิศรา สนทนากับ ‘สาธร’ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค.
@ตัดสินใจลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร
ในฐานะที่ผมเป็นนักกิจกรรมเป็นประธานกลุ่มตรังตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการออกค่ายอาสา เป็นที่รวมคนตรัง พวกเราเคยพูดกันว่าสักวันหนึ่งเรา มีโอกาสจะกลับมาพัฒนาจังหวัดตรัง หลังจากนั้นก็เป็นคนทำงานทางการเมืองตั้งแต่เป็นผู้ช่วย ส.ส.ตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบันก็เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. ผมมีแนวทางทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องหลักที่เราจับอยู่ก่อนหน้านี้คือเรื่องที่ดินทำกิน ก็มีโอกาสดูสิ่งที่เป็นตรัง ว่าตรังควรขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดแล้วก็คนที่ตั้งใจจะพัฒนาเมือง น่าจะทำได้ดีกว่านี้
ผมเป็นคนวงนอกที่นั่งดูการบริหารของ อบจ.ตรัง แล้วคิดว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา มันขาดการประสานงาน การเชื่อมลงไปพบชาวบ้าน ทุกคนก็มองว่าในฐานะองค์กรปกครองขนาดใหญ่ ในท้องถิ่นน่าจะพากันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายของคนที่ทำงานการเมือง คือ การอยู่ดี กินดี ของชาวบ้าน การมีงานทำ การมีอาชีพ ก็คือเห็นจุดที่ขาดการนำเสนอต่อชาวบ้านต่อการตัดสินใจ ในการเลือกการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาท้องถิ่นขนาดใหญ่ก็เลยตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้
@เฝ้าดูจากมุมนอกในห้วงเวลา 20 กว่าปี เห็นตรังเป็นอย่างไร
คิดว่าในสายตาของพวกเราเองทุกคน ก็เห็นอยู่ครั้ง เราไปบ้านมดตะนอย อ.กันตัง เราเห็นชุมชนเข้มแข็ง ผมไปดูวิสาหกิจชุมชนที่ ต.บ้านโพธิ์ เขาทำอาหารหมูขาย ซึ่งผมถามว่าเคยคุยกับ อบจ.ตรังไหม เขาตอบว่าคุยกันครั้งเดียว แล้วก็เงียบไป อย่างน้อยในท้องตลาดเขากำหนดราคาหมูไม่ได้ แต่เขาสามารถกำหนดราคาอาหารหมูให้ถูกลง ดังนั้นเราจะเห็นว่ามุมของจังหวัดตรัง เรามีดีเพียงแต่ขาดการบริหารจัดการ ขาดการรับฟัง จนไปสู่กำหนดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
25 ปีที่ผ่านมา อบจ.ตรังทำแต่ถนน สะพาน คนตรังมีมุมมองแบบนั้น ซึ่งทุกคนอยาก ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งนี้นั่นคือหลักการนโยบาย 12 ข้อ เพื่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งพูดได้ชัดเจนว่าต้องเป็นเมืองสุจริต เพราะ ณ วันนี้มีงบประมาณที่เป็นเงินสำรองกับเงินสะสม รวมอยู่เกือบ 3,000 ล้านบาท ผมก็นั่งคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นคนบอกผมว่าเราเป็นพ่อบ้าน บ้านหลังเล็กๆ มีเงินฝากธนาคาร 3 ล้าน แต่พอลูกอยากจะไปเรียนต่อ เราบอกว่าไม่มีเงิน ลูกต้องออกมาตัดยาง บางคนลูกอดข้าวบอกอยากได้กับข้าวดีๆ แต่พ่อกลับเอาเงินไปซื้อปลากระป๋อง แทนที่จะได้กินกับข้าวดีๆ แทนที่ลูกจะได้กินหมู กินปลา ได้พัฒนาตัวเอง แสดงว่า พ่อบ้านมีความภูมิใจที่เก็บเงินในธนาคาร แต่เอาดอกผลแค่ 48 ล้านบาทมาใช้
@เงินจำนวนมากขนาดนี้จะบริหารอย่างไรให้โปร่งใส
วันนี้คนตรังเข้าใจอยู่แล้วว่าถ้ากลุ่มการเมืองที่ไม่สุจริตด้วยอาชีพหรือจะอะไรก็แล้วแต่ จะนำไปสู่รูปแบบเดิมที่ผ่านมา 25 ปี แต่การเมืองใหม่เราประกาศการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้งบประมาณจากเงินสะสม เงินฝากเหล่านี้ เราจะมีสภาเมือง เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการพัฒนา การนำเงินก้อนนี้มาใช้ไปสู่การที่ชาวบ้านตรวจสอบได้ เพราะวันนี้คนกำลังเป็นห่วง เราจึงออกสโลวแกนในโค้งสุดท้ายว่า “ต่อไปต้องเปลี่ยนตรัง เอาลูกหมาไปเฝ้าปลาย่าง” เพราะแมวกินปลาย่างอยู่แล้วถูกต้องไหมครับฉะนั้นเงินก้อนนั้น ก็เหมือนปลาย่าง เราจะทำให้ตรังปลอดทุจริต ผมไม่มีธุรกิจการเมือง บ้านผมครอบครัวผม หรือว่าผมไม่มีรถแบ็คโฮสักคัน เรามีอาชีพสุจริต สิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านตระหนักว่าการเมืองของแต่ละทีม ที่เข้ามาอาสารับใช้พี่น้อง มันเป็นทิศทางใด ในเมื่อปลาย่างรออยู่ เราจะเลือกคนแบบไหนเข้ามา ทีมของผมชัดเจนคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แล้วก็เดินตามสัญญาประชาคมที่เราประกาศนโยบายเปลี่ยนตรัง
@ทำไม่ส่งผู้สมัคร ส.อบจ. 18 เขต จาก 30 เขต
คือการเมืองรอบนี้ไม่ปกตินะครับ ผมตั้งทีมเสร็จมีคนสนใจลงสมัครในทีมผมเกือบ 30 เขตความหมายการเมืองไม่ปกติ คือผู้สมัครบางคนคุยกับผมเสร็จรุ่งเช้าปิดโทรศัพท์หนีหาตัวไม่เจอ บางคนก็บอกว่าถูกเขาห้ามเอาไว้ ผมก็ไม่รู้ว่าเขาที่ห้ามคือใคร ผมก็ให้เกียรติผู้สมัครไม่ล้วงลูกว่าคนที่ห้ามคือใคร ผมไปเจอคน อ.กันตัง อีกคนที่บอกจะสมัครกับทีมผมแกบอกว่าอายคุณสาธรตอนแรกตั้งใจจะมาช่วย คุณสาธรเข้าใจไหมว่าการเมืองมันไม่ปกติ ผมไม่ต้องอธิบายนะ เพราะพูดไปก็จะเป็นปัญหากับชีวิตผม
@สโลแกนที่ว่า เปลี่ยนตรังให้ดังกว่าเดิมคืออะไร
การเปลี่ยนแปลงให้ดังกว่าเดิมตั้งแต่การพัฒนาเมืองไปจนถึงการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองในจังหวัดตรัง เพราะผมคิดว่าระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่เป็น อบจ.มาเราไม่เห็นตัวผู้สมัครนายก อบจ.ทำการเมืองแบบมีส่วนร่วมของประชาชนฉะนั้นการเปลี่ยนตรังครั้งนี้ นอกจากจะเปลี่ยนตรังให้ดังกว่าเดิมแล้ว ต้องไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง โครงสร้างทางการเมืองที่ผ่านมามันเป็นโครงสร้างการเมืองผ่านตัวแทน แต่สำหรับผมคือ Change คือเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม การพบกับประชาชนโดยตรง รับฟังความคิดเห็นทีมผมเป็นทีมสุจริตไม่ได้ทำธุรกิจการเมือง ฉะนั้นการเปลี่ยนหมดทุกอย่างในทางโครงสร้างการเมืองของตรัง ที่นำไปสู่การเมืองของประชาชนเสียงของคนตรังทุกคนต้องดังเท่ากัน
@การเลือกตั้งกับสังคมไทย เป็นค่านิยมไปแล้วว่าสุดท้ายแพ้ชนะกันที่ธนบัตรมากกว่า
นี่เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับผมในมุมมองที่ทำกิจกรรมการเมืองมาตลอด ทุกครั้งก็หวั่นไหวปัจจัยการเงินซึ่งก็น่ากลัวนะครับ ถ้าจำนวนเท่านี้ไม่เอาเขาจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผมทำงานการเมืองมา สุดท้ายแล้วหัวจิตหัวใจของคนตรัง เงินไม่เป็นปัจจัยสำคัญคนจำนวนมากมองถึงอนาคตของลูกหลาน มองถึงปัญหาประเทศ มองถึงปัญหาจังหวัดมากกว่าปัจจัยทางการเงิน เพราะหนึ่งเสียงของทุกคนกำหนดอนาคตตรังได้
@การทำงานของ อบจ.ตรังจะมีส่วนเรื่องแก้ปัญหาปากท้องของคนตรังอย่างไร
วันนี้ตรังเรามีของดี มีทรัพยากรที่ดีมากมาย เช่น ต.นาหมื่นศรี ยังคงอนุรักษ์พื้นที่ทำนาปลูกข้าว มีวิวหลักล้านก็มีร้านค้าผุดขึ้นมา แต่โดยขาดการบริหารจัดการ ภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมไปนั่งฟังสภาองค์กรชุมชนบอกว่าเมืองตรัง ของกินดีอาหารดีเมืองตรัง ต่อไปว่าอะไรคือของดีเมืองตรังอาหารทะเลอาหารแปรรูป ผมไป อ.กันตัง เขาทำกะปิใส่กุ้งไม่มีอะไรเจือปน เรามีวัตถุดิบอาหารทะเล ที่มาจาก อ.หาดสำราญ บอกว่าของดีเมืองตรังที่มากกว่าขนมเค้ก หมูย่าง ที่ผ่านมาอบจ.ไม่ได้สนับสนุนและส่งเสริมจัดการตรังมีดีมากกว่าสิ่งที่เห็น ตรังเที่ยวได้ทั้งปีทั้งหน้าฝน หน้าไฮซีซั่นส์ เพราะตรังมีตั้งแต่ทะเล ภูเขา ทุ่งนา ศิลปวัฒนธรรมประวัติศาสตร์เมืองเก่า มีวิถีชีวิต แต่ อบจ.ต้องเข้ามาช่วยบริหารจัดการ แล้วรับฟังผู้ประกอบการ เป็นตัวเชื่อม เพราะอานิสงส์ คือ ปากท้อง รายได้ อาชีพของคนตรัง
เราต้องเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภายใต้การจัดสรรทรัพยากรอย่างสมดุล แน่นอนคนนี้จะได้มาก คนนี้จะไม่ได้ คนนี้จะสูญเสียแต่หน้าที่ของรัฐ หรือ อปท.ขนาดใหญ่ต้องไปดูว่า ในฐานะที่คุณเสียสละ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลของจังหวัดตรัง และในมุมมองของ อบจ.จะชดเชยในสิ่งที่เขาเสียประโยชน์ได้อย่างไร มันต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างสมดุล แล้วดูแลคนที่เสียประโยชน์ เช่น เรามีท่าเรือชาวบ้านตั้งแต่ แหลมขาม แหลมไทร ไปยังสุดท้ายถึงตะเสะและท่าข้าม ฉะนั้น 1.ท่าเรือของชาวบ้าน เพื่อให้เกิดต่อประโยชน์ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตประจำวัน กับเพื่อสร้างรายได้จากอาชีพ การหาปูหาปลาไปจนถึงท่าเรือขนาดใหญ่ของ อบจ.ที่ทำไว้ แต่ก็หยุดนิ่งคือท่าเรือคลองสน และท่าเรือนาเกลือ เราจะเชิญมืออาชีพเข้ามาช่วยแนวคิดการพัฒนาท่าเรือ พัฒนาระบบโลจิสติกส์เราต้องกลับมาฟื้นฟู
ตรังเป็นเมืองยางพาราถ้าโลจิสติกส์ดี ทำท่าเรือ นาเกลือให้มีความเคลื่อนไหวขึ้นมา ต้นทุนของโลจิสติกส์จะลดลงกิโลกรัมละ 3 บาทชาวสวนก็จะได้ประโยชน์ ค่าขนส่งถูกลงการรับซื้อน้ำยางก็ราคาสูงกว่าราคาจังหวัดอื่น
@เรื่องไหนสำคัญเป็นพิเศษที่ตั้งใจจะเข้าไปทำงาน
ทุกเรื่องสำคัญหมด เพียงแต่ต้องจัดลำดับในการทำงานเพราะ 25 ปี ที่ผ่านมา ตรังมีเนื้อที่ประมาณ 3 ล้านไร่ ปลูกยางเกินครึ่งหนึ่ง คือ 1.6 ล้านไร่ และมีปลูกในพื้นที่ทับซ้อน ที่ดินรัฐ ไม่มีเอกสารสิทธิ์อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงคนตรัง คือยางพารา มีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ วันนี้เราไปดูที่ปลายน้ำ เราเห็นว่าในพื้นที่มีการรวมกลุ่มแล้วสามารถทำผลิตภัณฑ์ออกมา คนที่เป็นสมาชิกสามารถขายน้ำยาง ได้ราคาสูงกว่าราคาตลาด ถึงกิโลกรัมละ 2 บาท ฉะนั้น อบจ.ต้องเป็นหน่วยงานที่นำร่อง ใช้ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของยางพารา เช่น 1.การทำถนนเพื่อกระตุ้นการใช้น้ำยาง 2.หลักนำทางหรือหลักทางโค้งถนน เปลี่ยนจากปูนซีเมนต์เป็นยางพารา 3.หมอนหรือที่นอน บทบาทของ อบจ.ต้องกระตุ้น การใช้ปลายน้ำของยางพาราให้สูงขึ้น แล้วร่วมพัฒนาต้นทาง ให้ชาวสวนยางมีน้ำยางที่มีเปอร์เซ็นต์ดี ตามที่ปลายทางต้องการกลางน้ำ เช่น ไม้ยางพารา โรงเลื่อย เราต้องพัฒนาทักษะของคนในอาชีพนี้ เกินครึ่งหนึ่งของเมืองตรังคือยางพารา เรื่องนี้จึงเป็นนโยบายสำคัญของทีม
สุดท้ายผมต้องฝากบอกให้คนออกมาเปลี่ยนตรัง วันที่ 20 ธ.ค.นี้ จินตนาการตรังว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าในร้านโกปี๊คงจะได้ยินว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องเปลี่ยน ให้ลูกหมาไปเฝ้าปลาย่างเพราะมันคือเสียงสะท้อนของประชาชนที่บอกพวกผม ไม่ใช่ผมเขียนมาเพื่อให้ชาวบ้านคิดตามผม แต่ทุกอย่างมาจากชาวบ้านที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องเงินหรือเรื่องอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีการกระตุ้นจนไปสู่การเปลี่ยนแปลงจากการเมืองแบบเดิมๆวันนี้ผมไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงให้ดังกว่าเดิมเฉยๆ แต่ผมจะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองตรัง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage