"...ในฐานะผู้ใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ รู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถดูแลน้องให้ปลอดภัยได้ และได้แจ้งไปยังผู้ปกครองของน้องทั้งสองทราบแล้วว่า สถานการณ์การชุมนุมมีความเสี่ยงและอันตรายมากขึ้น จึงขอให้ผู้ปกครองให้การดูแลเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เข้ามาในพื้นที่การชุมนุมตามลำพัง และขอยืนยันว่าสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ ไม่ได้ส่งเด็กไปทำข่าว ไม่คิดจะแสวงหาประโยชน์จากเด็ก..."
----------------------------------------
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนของคนในสังคมและคนแวดวงสื่อมวลชน!
กรณีปรากฎข่าวว่า น้องอ๋อง และน้องอิคคิว จากช่องยูทูป : เด็กเล่าข่าว ch ลงพื้นที่ทำข่าวเจอลูกหลงการชุมชนทางการเมืองบริเวณโดยรอบรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมผู้เกี่ยวของถึงปล่อยให้เด็กทั้งสองคนเข้าไปทำข่าวการชุมนุมซึ่งสุ่มเสี่ยงอันตรายแบบนั้นได้ ผู้ปกครองควรจะต้องอธิบายให้คำแนะนำที่เหมาะสมและห้ามปราม เพราะขนาดสื่อมืออาชีพยังต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มงวดในการทำข่าวประเภทนี้ ต้องมีปลอกแขนแสดงความเป็นสื่อมวลชนด้วย และที่สำคัญยังมีข่าวอื่นอีกจำนวนที่พร้อมให้เด็กกลุ่มนี้ ไปลองฝึกลองทำเพื่อหาประสบการณ์ได้
เกี่ยวกับกรณีนี้ น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชี้แจงกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนพาเด็กชายอายุ 10 ปี และ 13 ปี ลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมบริเวณโดยรอบรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 จนหนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บจากการฉีดน้ำผสมสารเคมี
น.ส.ฐปณีย์ ระบุว่า น้องเด็กเล่าข่าว ทั้ง 2 คน ไม่ได้เป็นพนักงานในสังกัดของสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ และไม่ได้เป็นผู้ชักนำ ผู้นำพา หรือส่งเด็กมาทำข่าวในการชุมนุม ที่ผ่านมาดิฉันได้พบเด็กทั้งสองคนในสถานที่ชุมุนม เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 และได้สอบถามทราบว่าผู้ปกครองอนุญาตให้เข้ามาได้ และทั้งสองคนมีความชื่นชอบ มีความฝันอยากเป็นนักข่าว จึงขอเรียนรู้การทำข่าวจากพี่ๆนักข่าวในสนามข่าว ที่ไม่ได้มีเพียงสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ แต่มีพี่ๆนักข่าวที่ให้ความเอ็นดูน้องทั้งสองคนช่วยกันให้คำแนะนำ
“ทุกครั้งที่ทั้งสองคนจะมาทำงานข่าว จึงจะโทรหาดิฉัน เพื่อแจ้งว่าจะมาทำข่าว ซึ่งดิฉันจะแจ้งเตือนทุกครั้ง หากการชุมนุมใดที่เสี่ยงต่ออันตราย ไม่สนับสนุนให้ทั้งสองคนเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม แต่เนื่องจากทั้งสองคนมีความตั้งใจที่จะมาเรียนรู้การทำข่าว และบอกว่าจะระมัดระวังตัวให้ดีที่สุด ซึ่งเมื่อมาแล้วในฐานะผู้ใหญ่ในพื้นที่ จึงเห็นว่าการที่เด็กได้มาอยู่ใกล้ตัวเราจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่จะสามารถให้ความคุ้มครองเด็กได้” น.ส.ฐปณีย์ กล่าว
น.ส.ฐปณีย์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 เมื่อตำรวจเริ่มใช้มาตรการควบคุมฝูงชน ทุกคนไม่สามารถเคลื่อนย้ายหากันได้ ทีมข่าวก็กระจัดกระจายไปตามจุดต่างๆ ส่วนเด็กทั้ง 2 คน ทีมงานได้เน้นย้ำให้ไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย และได้ออกไปอยู่ที่ศูนย์การค้าสุพรีม คอมเพล็กซ์ แยกบางกระบือ ถนนสามเสน ห่างจากแนวปะทะแล้ว และขณะนั้นไม่ได้อยู่ในการดูแลของทีมข่าว จึงไม่ทราบเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุกับน้องอ๋อง
“ทราบข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่น้องอิคคิวเด็กเล่าข่าวอีกคน ทานข้าวอยู่กับพี่ช่างภาพที่รู้จักในห้าง น้องอ๋องได้ออกไปดูเหตุการณ์การชุมนุม ที่ด้านนอก และได้รับผลกระทบจากการฉีดน้ำผสมสารเคมี ซึ่งได้ล้างตา ล้างหน้าในเบื้องต้น แล้วเข้ามาพักภายในศูนย์การค้า จนผ่านไป 30 นาที รู้สึกหายใจไม่ออก จึงไปขอความช่วยเหลือที่รถพยาบาล เพื่อนำส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา ซึ่งพบว่าอาการปลอดภัยดี และหลังเกิดเหตุได้โทรศัพท์สอบถามด้วยความห่วงใย ทราบว่าถึงโรงพยาบาลและครอบครัวได้มาดูแลแล้ว” น.ส.ฐปณีย์
น.ส.ฐปณีย์ กล่าวยืนยันว่า ในฐานะผู้ใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ รู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถดูแลน้องให้ปลอดภัยได้ และได้แจ้งไปยังผู้ปกครองของน้องทั้งสองทราบแล้วว่า สถานการณ์การชุมนุมมีความเสี่ยงและอันตรายมากขึ้น จึงขอให้ผู้ปกครองให้การดูแลเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เข้ามาในพื้นที่การชุมนุมตามลำพัง และขอยืนยันว่าสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ ไม่ได้ส่งเด็กไปทำข่าว ไม่คิดจะแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ส่วนที่พบมีการสัมภาษณ์ เป็นการสอนการทำข่าว ให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งถือเป็นการให้เด็กอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากสถานการณ์การชุมนุม และคำนึงถึงหลักสิทธิเด็กเสมอ
"เราเห็นถึงความตั้งใจ ความใฝ่ฝันของเด็กที่อยากเป็นนักข่าว เรามิอาจปิดกั้นความฝันของเขาได้ แต่เราจะช่วยสอนเขาในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดกับเด็ก และคงต้องให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป" น.ส.ฐปณีย์ กล่าว
ขณะที่ นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การให้เด็กได้เรียนรู้การเป็นผู้สื่อข่าวนั้นถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเด็ก
"แต่ว่าในสถานการณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยง แม้แต่นักข่าวจริงๆเองยังเคยได้รับผลกระทบ บาดเจ็บหรือเสียชีวิต"
"หากรู้ว่ามีเด็กเล็กอยู่ในพื้นที่ ถ้าเตือนได้ ควรจะเตือนว่าเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเสี่ยงต่อความรุนแรง และถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะแจ้งให้ผู้ปกครองได้รับทราบ เพราะแม้แต่ผู้ปกครองเองก็อาจจะไม่มีประสบการณ์อย่างที่นักข่าวเคยมี"
"ในสถานการณ์ปกติ การให้เยาวชนเรียนรู้การทำข่าวถือว่าเป็นประโยชน์เพราะในวิชาชีพการทำข่าวสามารถฝึกให้เด็กมีความคิดที่หลากหลาย และเรียนรู้ที่จะใช้เสรีภาพในการคิดในมุมที่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของเยาวชนนั้นเอง ตัวเด็กอาจจะไม่รู้ ผู้ปกครองเด็กก็อาจจะไม่มีประสบการณ์ หากนักข่าวซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักกันเตือนได้ควรจะต้องเตือน" นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ กล่าวทิ้งท้าย
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (อ้างอิงรูปภาพจาก:https://medhubnews.com)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage