"...กระบวนการยุติธรรมจะใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะความยุติธรรม เป็นเรื่องของความเท่าเทียม เป็นระบบที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องใช้หลักนิติธรรม ต้อง respect to the law ไม่ใช่ respect to the man ไม่อย่างนั้นจะผิดหลักนิติธรรม และจะกลายเป็นกระบวนการไม่ยุติธรรม เพราะพึ่งบุคคล พึ่งอำนาจ พึ่งพาการสั่งการ..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย ปัญหาแท้จริงอยู่ตรงไหน?’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการ วิกฤติกระบวนการยุติธรรมไทย นายกฯต้องปฏิรูปอะไร และอย่างไร? ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คำว่าปฏิรูปเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจที่ต้องพูด เพราะส่วนใหญ่จะใช้คำว่าปฏิลูบปฏิคลำ ไม่ใช่ปฏิรูปจริงๆ เพราะการปฏิรูปต้องเริ่มจากการคิดใหม่ทำใหม่ แต่ที่ผ่านมา ถ้าองค์กรคิดว่าทำดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา ก็จะไม่เกิดการปฏิรูป เรารู้ดีว่ากระบวนการยุติธรรมเริ่มต้นสมัยใหม่จริงๆ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่ปี 2477 ถ้าเปรียบเป็นคน อยู่มาถึงปัจจุบันก็ฟันฟางหัก กินอะไรไม่ได้ สังขารแย่เต็มที ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกันมาเป็นระยะ เป็นการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ต้องการดำเนินการ วันนี้ถ้าเราไปศึกษาดูให้ดี กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกไม่เหมือนเดิม ทั้งระบบกล่าวหา ระบบไต่สวน ที่ได้มีการเคลื่อนเข้าหากัน มีการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ปรับปรุงใช้จนกลมกลืนกันทั้งสองระบบ
@อย่ามองผู้ต้องหาเป็นคนผิดคนเลวตั้งแต่ต้น
เราต้องคิดถึงการตั้งโจทย์ให้ถูกต้องก่อน ต้องมีความเห็นถูกก่อน หรือที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ถ้าตั้งโจทย์ไม่ถูก เราก็จะเป๋ ไม่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง โจทย์แรกคือเราตั้งสมมติฐานตั้งแต่โบราณ คือ ผู้ต้องหาทุกคนสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด หลักนี้ใส่ไว้ใน ป.วิอาญามาตรา 227 ตั้งแต่ปี 2477 แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้นเป็นความจริงเลย แต่มันเป็นแค่ข้อสันนิษฐานที่ไม่ได้เป็นความจริง เพราะในทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะตำรวจ อัยการ ศาล เมื่อถูกจับมาเป็นผู้ต้องหา เขาจะถูกตราหน้าตราบาปว่าเป็นคนชั่ว คนผิด คนเลว
ผมจำได้สมัยเป็นผู้พิพากษา และประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ตรวจคำพิพากษาของผู้พิพากษาศาลฎีกา มีท่านหนึ่งเขียนในคำพิพากษาว่า ถ้าไม่ผิด เขาจะจับมาหรือ ผมก็สะท้อนใจมาก และได้โต้แย้งคัดค้านไปว่าไม่ตรงกับหลักกฎหมาย ป.วิอาญา และในที่สุดก็ต้องเปลี่ยน เพราะไม่อย่างนั้นจะเท่ากับว่าเรายอมทำตามความคิดที่ผิด
@ยุติธรรมชุมชนช่วยฟื้นฟูคนสู่สังคม
เรื่องของผู้ต้องหามันไกลถึงขั้นที่ว่าเขาจะมีโอกาสแก้ตัวได้หรือไม่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสุดท้ายที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้คือ กระบวนการยุติธรรมที่มีการฟื้นฟู กรณีอย่างนี้จะไม่มองว่า ผู้ต้องหาคือผู้ที่มีความเลวร้ายในสังคม แต่จะมองว่า เขาจะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างไร แต่กระบวนการกลับคืนสู่สังคมของ Restorative justice ที่เป็นระบบของชุมชน ไม่ใช่ระบบของสถาบันที่มีตำรวจอัยการศาลอีกต่อไป ขณะนี้หลายประเทศมีวิธีคิดไว้ว่าชุมชนมีความสำคัญมาก เราไม่เคยแตะเลย เราไม่เคยพูดถึงเลยว่า หากมีคดีเกิดขึ้นแล้วให้มาปรึกษาหารือกันระหว่างผู้ต้องหา ผู้ปกครอง หรือคนที่อยู่ด้วย และผู้ที่เป็นฝ่ายเสียหาย หรือระบบสมัยใหม่ที่เราพูดถึงเหยื่อ เราก็ไม่รู้จัก แม้กระทั่งคนที่ติดยาเสพติดที่เราเรียกว่าเป็นเหยื่อ เพราะเขาเข้าไปสู่กระบวนการที่เรียกว่าเป็นคนไข้ ไม่ใช่อาชญากร ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาไปมาก แต่ไทยยังทำแบบครึ่งๆกลางๆ อาจจะมีแตะบ้าง แต่ไม่ได้เข้าไปถึงเนื้อในรายละเอียด และระบบของไทยเป็นระบบของสถาบัน ความเป็นสถาบันแข็งตัวมาก ไม่สามารถมานั่งเจรจาหรือเชิญมาพูดคุยกันได้ เป็นระบบที่ต้องออกหมายเรียก หมายจับ สารพัด กระบวนการทั้งหมด หากมาเชิญคุยกันแบบไม่เป็นทางการจะถือเป็นเรื่องผิดหมดในกระบวนการยุติธรรมของไทย
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนอย่างยิ่งคือกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นของชุมชน ที่ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แคนาดา มีกฎหมายในลักษณะนี้ หมายความว่าคดีเล็กน้อยให้หลุดจากระบบปกติ ให้ไปถูกบริหารจัดการโดยชุมชน ใช้วิธีประชุมหารือกัน ผู้พิพากษาเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา และมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องนั่งฟัง กระบวนการยุติธรรมต้องไม่มองผู้ต้องหาและเหยื่อเป็นสิ่งที่ต้องจัดการว่าใครผิดใครถูกอีกต่อไป แต่ต้องทำให้เห็นว่า มันจะเปลี่ยนได้และต้องทำให้สังคมหรือชุมชนกลับคืนดีอย่างเดิม
@หยุดพึ่งพาบุคคคลมากกว่ากฎหมาย
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการยุติธรรมอีกเรื่องหนึ่ง คือ ระบบอุปถัมภ์ ที่แทรกซึมในกระบวนการยุติธรรมจนแยกไม่ออก เพราะเราพึ่งพาอาศัยกับผู้มีอำนาจสูงสุดกันมา ไม่ว่าจะผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางการปกครอง ผู้นำด้านองค์กรปกครองท้องถิ่น หรืออะไรก็ตาม ฉะนั้นใครที่เอาชนะเหนือกฎหมายได้ ก็สามารถเป็นใหญ่ เป็นที่พึ่งพาอาศัย กระบวนการยุติธรรมจะใช้ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะความยุติธรรม เป็นเรื่องของความเท่าเทียม เป็นระบบที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องใช้หลักนิติธรรม ต้อง respect to the law ไม่ใช่ respect to the man ไม่อย่างนั้นจะผิดหลักนิติธรรม และจะกลายเป็นกระบวนการไม่ยุติธรรม เพราะพึ่งบุคคล พึ่งอำนาจ พึ่งพาการสั่งการ
เมื่อไรที่ตำรวจ อัยการ ศาล ถ้ามีแนวความคิดในกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากหลักนิติธรรม ก็จะไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรมคือการใช้เหตุผลไม่เป็นหลัก ไม่ใช้อำเภอใจเป็นหลัก กระบวนการยุติธรรมจึงได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเรื่องลึกลับดำมืด หมายความว่าใครมีอำนาจที่จะทำเรื่องการจับกุมใครก็ยุ่งไม่ได้ สอบสวนใครก็ยุ่งไม่ได้ หรือแม้แต่ฟ้องคดีก็ยุ่งไม่ได้ ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของเราไม่เป็นองค์รวม ทำงานแยกส่วน จึงกลายเป็นกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม เพราะไม่ได้ปรึกษาหารือหรือช่วยกันแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้าเป็นไปเพื่อความยุติธรรม เช่น จับคนผิด เราไม่มีระบบการแก้ไขที่สมบูรณ์แบบ เราไม่สามารถทำได้เหมือนศาล ที่เมื่อสั่งการผิด ยังมี ป.วิอาญามาตรา 27 แก้ไขได้ แล้วทำไมตำรวจ อัยการ จึงเปลี่ยนไม่ได้ ในที่สุดแล้ว จึงต้องหาทางออกโดยใช้การร้องขอความเป็นธรรม นำมาซึ่งการผิดปกติ ทำให้คนมองเห็นว่า สั่งไม่ฟ้องได้อย่างไร ทั้งที่สั่งฟ้องไปแล้วตั้ง 13 ครั้ง
ขณะนี้เราได้เริ่มต้นทำในร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ที่เตรียมเข้าสู่สภา เป็นจุดเริ่มต้นว่า หากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ พนักงานสอบสวนต้องบอกให้อัยการมาทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจะทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตั้งแต่เริ่ม ซึ่งในระบบทั่วโลก ไม่มีใครให้ตำรวจสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว ขอยืนยันว่าไม่มี ต้องให้อัยการเข้ามาร่วมด้วยเสมอ
ตนเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่น อัยการเป็นคนถือข้อมูลอาชญากรรมทั้งประเทศ เพราะเป็นคนตรวจสอบดูแลตั้งแต่แรก ฐานข้อมูลชัดเจนมาก จึงคลุมได้หมดว่า ถ้าจะจัดการอาชญากรรมในท้องที่ต้องทำอย่างไร แต่ไทยไม่มีนิสัยทำงานร่วมกันแบบนี้ตั้งแต่ต้น ไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องจัดการปัญหาด้วยกัน ทำให้ต่างฝ่ายต่างจัดการ
@คนทำงานเพื่อตำแหน่งมากกว่าสร้างความสงบสุข
สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอีกเรื่องนอกจากระบบอุปถัมภ์ และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่ผมคิดว่าทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจเดินรุดหน้าไปได้ เพราะคนใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมากกว่าสิ่งที่มันควรจะปรับให้กลายเป็นประโยชน์ของประชาชน เพราะเวลาทำงานจะทำงานเพื่อตำแหน่ง เพื่อยศ เพื่อเกียรติ เพื่อหน้าที่ แต่ไม่ได้มองว่าประชาชนจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ระบบอวยยศ อวยตำแหน่ง กลายเป็นคำถามว่า ตำรวจจับได้กี่คน ทำคดีค้างเสร็จไปแล้วเท่าไร นับผลงานเป็นจำนวน แต่ไม่ได้นับผลงานจากความสงบสุข การอวยยศพนักงานสอบสวนที่แล้วมา จึงไม่ได้แยกออกจากระบบใหญ่ทั้งหมด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage