"...การลบบัญชีของทวิตเตอร์ของประเทศต่างๆซึ่งส่วนใหญ่ล้วนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการลบบัญชีของกองทัพบกไทยในครั้งนี้แม้ว่าจะดำเนินการโดยบริษัททวิตเตอร์ซึ่งไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐและรายงานจัดทำโดยนักวิจัยอิสระจากมหาวิทยาลัย แต่การดึงกองทัพเข้าไปเป็นเป้าหมายจึงไม่ต่างจากการปฏิบัติการไอโอบนโซเชียลมีเดียแก่ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามของสหรัฐอเมริกาซึ่งน่าจะมีแรงจูงใจอื่นๆนอกจากการละเมิดกฎของทวิทเตอร์ แต่เพียงอย่างเดียว..."
............................
กลายเป็นข่าวที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับกองทัพบกอีกครั้งหลังจากที่เคยถูกพาดพิงเรื่องการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อมีรายงานจากศูนย์สังเกตการณ์ด้านอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยได้เปิดเผยรายงานของบริษัททวิตเตอร์ที่มีการลบบัญชีจำนวน 926 บัญชีของผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวไทยที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารในประเทศไทยและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้บัญชีทวิตเตอร์ ในการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของกองทัพบก
การลบบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการลบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพซึ่งบริษัททวิตเตอร์เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการด้านข้อมูลซึ่งขัดกับหลักการของทวิตเตอร์ (Twitter rules) นอกจากนี้รายงานที่เผยแพร่ในเวลาใกล้เคียงกันบริษัททวิตเตอร์ได้มีการลบบัญชีในลักษณะเดียวกันของประเทศ คิวบา(526 บัญชี) อิหร่าน(104 บัญชี)
ซาอุดิอาระเบีย(33บัญชี) และองค์กรวิจัยด้านอินเทอร์เน็ต IRA (Internet Research Agency) ของรัสเซีย(5 บัญชี) อีกด้วย รวมทั้งก่อนหน้านี้บริษัททวิตเตอร์ได้ลบบัญชีของผู้ใช้ในประเทศจีน รัสเซีย ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย UAE อียิปต์ ฮอนดูรัส เซอร์เบีย และ อินโดนิเซีย มาแล้วเช่นกัน
ทำไมต้องลบบัญชีกองทัพ ?
เหตุผลโดยสรุปที่บริษัททวิตเตอร์ต้องลบบัญชีผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบกไทย เท่าที่รายงานอ้างไว้ ได้แก่
- เป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการข้อมูลภายในประเทศซึ่งสนับสนุนกองทัพบกไทย แต่โจมตีพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน
- พฤติกรรมการใช้ทวิตเตอร์ซึ่งมีการทวิตเหตุการณ์เฉพาะบางเหตุการณ์ เช่น กรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่(ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในภายหลัง) เหตุการณ์ การกราดยิงที่โคราชที่ผู้ก่อเหตุเป็นทหาร แต่กองทัพใช้ทวิตเตอร์เบี่ยงเบนความสนใจการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ โดยเน้นเรื่องกองทัพให้ความช่วยเหลือหลังจากเกิดเหตุการณ์เป็นอย่างดี เป็นต้น
-บัญชีที่สร้างขึ้นมีการสร้างขึ้นไม่ปกติและกระจุกตัว โดยพบว่าบัญชีถูกสร้างขึ้นในช่วงธันวาคม ปี 2019 หรือ มกราคม 2020 และมีการทวิตในเดือนกุมภาพันธ์เป็นส่วนใหญ่และมีจำนวนน้อยที่ทวิตหลังจากเดือนมีนาคม
-บัญชีที่เข้าข่ายถูกลบเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการด้านข้อมูลของกองทัพบกโดยใช้โซเชียลมีเดียที่ไม่ซับซ้อน มีการปฏิสัมพันธ์ของบัญชีที่ใช้ต่ำ บัญชีจำนวนมากไม่มีผู้ติดตาม
-บัญชีที่ใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารใช้ยุทธวิธีแบบง่ายๆ เช่นสนับสนุนการทวิต ของประชาสัมพันธ์ของกองทัพ โต้แย้งทวิตของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เป็นต้น
ข้อมูลประกอบการลบบัญชีทวิตเตอร์
ข้อมูลประกอบการลบบัญชีทวิตเตอร์ที่ปรากฏในรายงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นบัญชีทวิตเตอร์ที่มีการสนับสนุนหรือเชียร์กองทัพ รวมทั้งข้อมูลแสดงกิจกรรมต่างๆของกองทัพ แล้ว การลบบัญชีครั้งนี้ในรายงานให้น้ำหนักกับหลักฐานจากข้อมูลของพรรคก้าวไกลที่มีการอภิปรายในสภาในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งส่วนหนึ่งมีคำให้สัมภาษณ์ของทหารที่อ้างว่าได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการทางข้อมูลบนโซเชียลมีเดียด้วย
นอกจากนี้ในรายงานยังได้กล่าวถึงสภาวะทางการเมืองของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา การแบ่งกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง สถาบันกษัตริย์ รวมทั้งการเกิดขึ้นของกลุ่มใหม่โดยการนำของนักการเมืองรุ่นใหม่จากพรรคอนาคตใหม่/พรรคก้าวไกล ที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่จากการใช้โซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพและข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียของกองทัพ เป็นต้น
ในรายงานของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดไม่พบข้อมูลหรือคำอธิบายจากทางกองทัพซึ่งเข้าใจว่าผู้วิจัยไม่ได้นำมาพิจารณาประกอบการลบหรือไม่ลบบัญชีของผู้ใช้
กฎเกณฑ์ของแพลตฟอร์ม
การลบบัญชีของผู้ใช้โซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่างๆนั้นเป็นที่เข้าใจได้ เนื่องจากอาจขัดต่อกฎหมายของประเทศที่ให้บริการรวมทั้งอาจขัดต่อ “กฎเกณฑ์ของแพลตฟอร์ม” (Law of Platform ) ซึ่งโซเชียลมีเดียทุกรายต่างมีกฎของตัวเองเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการให้บริการ เช่น Twitter มีกฎที่เรียกว่า Twitter rules Facebook มีกฎที่เรียกว่า Community Standard และ YouTube มีกฎที่เรียกว่า Community Guideline เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียหรือรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ไม่สามารถเข้าใจถึงขั้นตอนการใช้กฎเกณฑ์และวิธีการตัดสินใจของเจ้าของแพลตฟอร์มในการลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนแพลตฟอร์มและเป็นความคลุมเครือที่บุคคลภายนอกไม่สามารถล่วงรู้ได้ซึ่งอาจนำไปสู่คำถามถึงเรื่องความโปร่งใสของแพลตฟอร์ม(Platform transparency) ได้เช่นกัน
ความท้าทายของโซเชียลมีเดีย
โลกของอินเทอร์เน็ตแม้ว่าเป็นจะเป็นโลกที่เรียกกันว่าโลกไร้พรมแดนในเชิงของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร แต่ความรับผิดชอบของคนกลางที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตมีขอบเขตที่ชัดเจนทั้งสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งและกฎหมายมีผลบังคับแก่ผู้ประกอบการและผู้ใช้ในสถานที่นั้นๆ ต่างจากโซเชียลมีเดียรายใหญ่ของโลกซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่แต่สามารถให้บริการแก่คนทั่วโลก ทั้งในประเทศที่มีกฎหมายที่เข้มงวดและในประเทศที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คน
การที่แพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียมีฐานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาแต่สามารถให้บริการได้ทั่วโลก แพลตฟอร์มเหล่านี้จึงทำตัวเสมือนทำธุรกิจอยู่ในบ้านตัวเองโดยอิงกับวัฒนธรรมและกฎเกณฑ์ต่างๆของสหรัฐอเมริกาและมักเพลิดเพลินกับ ข้อยกเว้นความรับผิด(Safe harbor) ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา จนลืมไปว่าตัวเองกำลังทำธุรกิจในประเทศอื่นๆอีกนับร้อยประเทศทั่วโลกภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศ และปัญหาที่มักพบอยู่เสมอคือความล่าช้าในการลบข้อมูลซึ่งมีการร้องขอจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ จนดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้กำลังเตะถ่วงความรับผิดชอบและเป็นผู้ถือไพ่เหนือกว่ารัฐบาลของประเทศใดๆ
ลบบัญชีทวิตเตอร์ - ปฏิบัติการสองมาตรฐาน ?
หลายต่อหลายครั้งที่ปรากฏข่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอความร่วมมือและแจ้งเตือนบรรดาโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม เป็นต้นว่า Facebook Twitter และ YouTube ให้ลบ ข้อความ ภาพ หรือลิ้งค์ที่กระทรวงดีอีเอสเห็นว่าขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีงามของคนไทย ทั้งข้อความเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบัน การพนัน ลามก ยาเสพติด ลิขสิทธิ์ ฯลฯ แต่คำขอของกระทรวงดีอีเอส มักไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรหรือมักถ่วงเวลาให้ล่าช้าออกไป
ความล่าช้าในการลบข้อความออกจากแพลตฟอร์มตามคำร้องขอของกระทรวงดีอีเอสหรือแม้แต่การอุทธรณ์คำสั่งศาลของ Facebook ในบางกรณีเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ถึงขั้นตอนในการดำเนินการของผู้ให้บริการเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ใช้และในขณะเดียวกันก็ปกป้องธุรกิจของตัวเองจากการถูกแทนที่ด้วยแพลตฟอร์มที่ใหม่กว่า แต่การประวิงเวลาเป็นนิจโดยขาดเหตุผลหรือคำอธิบายที่ชัดเจนของผู้ให้บริการเกือบทุกแพลตฟอร์มต่อคำร้องขอของกระทรวงดีอีเอสราวกับนัดหมายกันไว้ จนถึงขั้นกระทรวงดีอีเอสต้องแจ้งความเอาผิดแก่ผู้ให้บริการ เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็คงยากที่จะเข้าใจต่อการตัดสินใจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้
ในทางกลับกันการตัดสินใจลบบัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกหมายหัวว่าเป็นปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของกองทัพบกซึ่งบริษัททวิตเตอร์เห็นว่าขัดต่อนโยบายของบริษัท
กลับเป็นการปฏิบัติการที่ตรงข้ามกับคำขอร้องของภาครัฐอย่างสิ้นเชิงและพิสูจน์ให้เห็นว่า ในโลกของข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดียนั้น ผู้ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จคือเจ้าของแพลตฟอร์มที่แทบไม่มีตัวตนในประเทศไทย แต่สามารถกุมอำนาจด้านข้อมูลข่าวสารของคนทั้งโลกเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ จัดการข้อมูลหรือแม้แต่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาลที่อยู่ห่างไกลออกไปนับพันไมล์ได้อย่างไม่ยากเย็น
แม้แต่กองทัพซึ่งดูเหมือนว่ามีความแข็งแกร่งในโลกแห่งความจริง แต่เมื่อใดก็ตามที่เข้าไปอยู่ในเกมของโซเชียลมีเดียที่กองทัพขาดอำนาจการควบคุมกลับกลายเป็นหมากในเกมให้เจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ลากเข้าไปเล่นอย่างง่ายดาย ทั้งๆที่ข้อมูลที่สนับสนุนกองทัพจำนวนมากในบัญชีไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยใดๆต่อสังคมหรือโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างรุนแรงจนถึงขั้นต้องถูกลบบัญชี แม้กองทัพบกได้ออกมาชี้แจงในภายหลังว่ากองทัพบกใช้ทวิตเตอร์อย่างเปิดเผยและเพื่อการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพเท่านั้น แต่ข่าวการถูกลบบัญชีของกองทัพด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นปฏิบัติการไอโอได้ถูกแชร์ รีทวีต คอมเมนต์ บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์และแพลตฟอร์มอื่นๆอย่าง ดุเดือด สะใจและกว้างขวางจนกองทัพบกกลายเป็นจำเลยของสังคมโดยยากที่จะลบล้างข้อกล่าวหาได้ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากองทัพบกกำลังถูกบีบจากอิทธิพลของแพลตฟอร์มให้มีพื้นที่บนโซเชียลมีเดียน้อยลงแม้ว่าจะเป็นการใช้แพลตฟอร์มเพื่อกิจกรรมที่อาจไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการเมืองก็ตาม
เมื่อโซเชียลมีเดียถูกใช้เพื่อปฏิบัติการไอโอ
การปฏิบัติการด้านของมูลข่าวสารในโลกของโซเชียลมีเดียต่างจากการสื่อสารทางเดียวผ่านสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์หรือแม้แต่การใช้ใบปลิวเช่นในอดีตอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลบางประเทศตระหนักดีว่าการปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดียโดยยืมมือแพลตฟอร์มของประเทศอื่นอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มยอดนิยมจากสหรัฐอเมริกานั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกควบคุมและการถูกสอดแนม หลายประเทศจึงพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่การสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะต้องใช้ทั้งเงิน เทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของผู้คนจึงจะประสบความสำเร็จ
เมื่อปี 2019 รัฐบาลจีนปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารโดยการส่งข้อมูลบิดเบือนผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อรบกวนการประท้วงในฮ่องกงและต้องการสร้างภาพให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับรู้ว่าอาจมีอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ประท้วง การปฏิบัติการด้านข้อมูลครั้งนั้นประมาณการว่ารัฐบาลจีนได้จ้างคนถึง 2 ล้านคนในการสร้างข้อความโฆษณาชวนเชื่อบนโซเชียลมีเดีย และคาดว่าข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อที่คนจำนวน 2 ล้านคนสร้างขึ้นนั้นมีมากถึง 448 ล้านข้อความ ปริมาณข้อมูลที่มากมายมหาศาลเหล่านี้น่าจะสร้างการรับรู้ของผู้คนอย่างกว้างขวางและสร้างภาพความหวาดกลัวในการชุมนุมตามเจตนาของรัฐบาลจีนได้ไม่มากก็น้อย
ก่อนหน้านั้น VK ซึ่งเป็นเหมือน Facebook สัญชาติรัสเซีย ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย(FSB : Federal Security Service) ซึ่งเป็นเหมือนหน่วยงาน เคจีบี ในอดีต เพื่อใช้แพลตฟอร์ม VK สอดแนมประชาชนชาวยูเครน การปฏิเสธการร่วมมือของ VK ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน และในที่สุดประธานาธิบดีปูติน ด้วยความร่วมมือของพันธมิตรได้เข้าครอบครองแพลตฟอร์ม VK ได้ในที่สุด ทั้งจีนและรัสเซียจึงมีโซเชียลมีเดียที่พัฒนาภายในประเทศของตัวเองและสามารถควบคุมโซเชียลมีเดียได้เกือบเบ็ดเสร็จ
ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นฐานของแพลตฟอร์มยอดนิยมมีพฤติกรรมไม่ต่างจากประเทศอื่นๆที่ตัวเองมักกล่าวหาว่ามีการสอดแนม เพราะสหรัฐอเมริกาเองมักถูกกล่าวหาอยู่เสมอว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารโดยใช้เทคโนโลยีที่เหนือกว่าในการบิดเบือนข้อมูลแก่ประเทศต่างๆที่ตัวเองต้องการจะล้มรัฐบาลและสั่นคลอนสถานภาพของประเทศที่สหรัฐอเมริกาเห็นว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตัวเองอยู่เสมอ
การลบบัญชีของทวิตเตอร์ของประเทศต่างๆซึ่งส่วนใหญ่ล้วนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการลบบัญชีของกองทัพบกไทยในครั้งนี้แม้ว่าจะดำเนินการโดยบริษัททวิตเตอร์ซึ่งไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐและรายงานจัดทำโดยนักวิจัยอิสระจากมหาวิทยาลัย แต่การดึงกองทัพเข้าไปเป็นเป้าหมายจึงไม่ต่างจากการปฏิบัติการไอโอบนโซเชียลมีเดียแก่ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามของสหรัฐอเมริกาซึ่งน่าจะมีแรงจูงใจอื่นๆนอกจากการละเมิดกฎของทวิทเตอร์ แต่เพียงอย่างเดียว
อ้างอิง
1. https://fsi.stanford.edu/news/twitter-takedown-october-2020
2. https://www.bbc.com/thai/thailand-54275519
3. https://www.khaosod.co.th/politics/news_5081260
4. The Hype Machine โดย Sinan Aral
5. Twitter and Tear Gas โดย Zeynep Fufekci
ภาพประกอบ