"...อย่างสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ เราจะเห็นว่าทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์หมดเลย มีใบอนุญาตถูกต้อง แต่เป็นใบอนุญาตที่ยอมให้การแข่งขันไม่เกิดขึ้น ไม่มีความสมบูรณ์ อัตราดอกเบี้ยก็เลยไม่ลงมาสู่จุดที่ควรจะเป็น ลักษณะปัญหาอย่างนี้จึงต้องมีกลไก คือ ธนาคารออมสิน เข้าไปทำให้การแข่งขันหมุนเร็วขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยลดลงมา..."
...............
เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม ที่ วิทัย รัตนากร เข้าทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 และวันนี้ ธนาคารออมสิน กำลังก้าวเดินไปสู่บทบาทใหม่ในการเป็น ‘โซเชียลแบงก์’ หรือ 'ธนาคารเพื่อสังคม' พร้อมทั้งเปิดภารกิจเขย่าตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและสินเชื่อขายฝากที่ดิน โดยตั้งเป้าหมายกด ‘อัตราดอกเบี้ย’ ในตลาดลงมา เพื่อช่วยเหลือรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันต้องแบกภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่นๆในอัตราที่สูง
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสสนทนากับ วิทัย ถึงการแนวทางปรับบทบาทของธนาคารออมสินไปสู่การเป็น ‘โซเชียลแบงก์’ และที่มาที่ไปของการที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งนี้ รุกเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและสินเชื่อขายฝากที่ดิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ถาม : บทบาทธนาคารออมสินในการเป็นโซเชียลแบงก์เป็นอย่างไร?
วิทัย : ออมสินอยู่ระหว่างการปรับธนาคารเป็นโซเชียลแบงก์เต็มที่ ซึ่งการทำอย่างนี้มีเป้าหมายหลักจริงๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยคนที่มีรายได้น้อย ช่วยคนฐานราก ช่วยชุมชน ช่วยพ่อค้าแม่ค้ารายเล็ก ถ้าทำได้เราหวังว่าจะช่วยคนได้เยอะ
“อย่างปัญหาโควิด-19 รอบนี้ ซึ่งกระทบมาก คนจำนวนมากประสบปัญหาเรื่องการเงิน เรื่องความเป็นอยู่ โดยจะเห็นได้ว่าคนต่างจังหวัดที่เข้ามากรุงเทพ สุดท้ายพอเจอเรื่องโควิด ต้องกลับบ้านหลายล้านคน และตอนนี้ก็ยังไม่กลับมา เห็นได้เลยว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมีผลสูงมาก”
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนเม.ย.เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ธนาคารออมสินได้ออกโครงการต่างๆให้กับรัฐบาล และออกผลิตภัณฑ์สินค้าให้รัฐบาล รวมถึงธนาคารเองด้วย เพื่อช่วยคนกลุ่มนี้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเราดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 16 โครงการ เราช่วยคนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านคนในช่วงที่ผ่านมา และนี่ถือเป็นบทบาทหลักของเราในการนำ และเปลี่ยนองค์กรไปสู่โซเชียลแบงก์อย่างเต็มที่
@รุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ-กดดอกเบี้ยเหลือ 18%
นอกจากการเป็นโซเชียลแบงก์โดยการออกผลิตภัณฑ์เดิมไปแล้ว ในอนาคตเราจะมีสิ่งที่ตั้งใจทำไว้ โดยได้ประกาศไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การเข้าไปรุกในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซด์ อันนี้เพื่อเข้าไปช่วยรายย่อย ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่อยู่ในตลาดไมโครไฟแนนซ์อยู่แล้วก็ได้ โดยเรามีเป้าหมายที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในราคาที่ถูกลง
“พวกเราเองกู้เงินเสียดอกเบี้ย 5-10% แต่ผู้มีรายได้น้อยโดนดอกเบี้ยสูงมาก สมัยก่อนโดนดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถที่ 28% แม้ว่าต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเพดานดอกเบี้ยลงมาเหลือ 24% เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2563 ซึ่งเราเข้าไปวิเคราะห์แล้ว ก็เชื่อว่าตลาดนี้กำไรสูงมาก ถ้าปรับดอกเบี้ยลงได้ อาจลงไปอยู่ที่ 18% นี่คือเป้าหมาย แม้ว่ามาร์จิ้น (กำไร) อาจลดลงหน่อย แต่ได้ฐานเยอะ ช่วยคนได้เยอะ
และถ้าไปดูจะพบว่าประชาชนที่ใช้สินเชื่อประเภทนี้ (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ) อยู่ประมาณ 3 ล้านคน ถ้าเราเข้าไป คน 3 ล้านคนนี้ จะได้รับประโยชน์โดยตรงทันที และคนที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มนี้ ก็จะสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์นี้ในราคาถูกลง และด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ส่วนเราเองก็ทำธุรกิจได้ด้วย ซึ่งเป็นการช่วยคนได้ ช่วยสังคมได้ด้วย นี่้เป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ของเรา”
@เตรียมเปิดตัวสินเชื่อขายฝากที่ดิน หลัง SME โดนพวกปล่อยกู้นอกระบบฟันดบ.
อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังจะทำ คือ ในยุคของโควิดเห็นได้ชัดเลยว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สมัยก่อนโควิดเมื่อมีกำไร ก็เอาเงินไปซื้อที่ดิน เก็บที่ดินไว้ แต่พอเจอโควิดจะเห็นเลยว่า เดิมที่เขาตั้งใจเก็บเงินซื้อที่ดิน และเมื่อถึงเวลาจะเอาที่ดินไปขาย เพื่อนำเงินมาทำธุรกิจ แต่ปรากฎว่าที่ดินขายไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ เพราะไม่มีใครที่มีกำลังซื้อ เมื่อจะเอาที่ดินมาเข้าธนาคาร ธนาคารก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ เพราะงบการเงินขาดทุน หรือติดเครดิตบูโร หรือวิเคราะห์รายได้ก็ไม่ผ่าน
จึงเป็นช่องทางทำมาหากินของกลุ่มปล่อยกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งส่วนหนึ่ง คือ กลุ่มที่รับขายฝากที่ดิน และจะพบว่าเอสเอ็มอีโดนคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก โดนเก็บค่าธรรมเนียมตั้งต้น เช่น Up-Front Fee (ค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ) ในอัตรา 5-10% หรือบางคนโดนดอกเบี้ยขายฝากในอัตรา 15-20% ต่อปี บางคนโดนไป 30% ต่อปี เราเองจึงอยากจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้
“การขายฝากจะมีเอาเปรียบในตลาดสูงมาก เราจึงจะออกผลิตภัณฑ์ที่สามารถเข้าไปช่วยทดแทนการขายฝากได้ โดยใช้ที่ดินเป็นหลัก อันนี้กำลังหารือกับธปท.อยู่ และกำลังรอการอนุมัติ ซึ่งธปท.สนับสนุนเรามากในเรื่องนี้ อยากให้เราทำภารกิจช่วยเหลือคนจนได้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คนเหล่านี้เข้าไปสู่วงจรขายฝากที่ดิน ที่สุดท้ายแล้ว 1-2 ปี จะถูกยึดที่ดิน นี่เป็นความน่ากลัว และเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมของหนี้นอกระบบอีกอย่างหนึ่ง”
(ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่พหลโยธิน)
ถาม : ธนาคารออมสินจะแข่งขันกับเอกชนที่มีความคล่องตัวกว่าได้อย่างไร?
วิทัย : สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ตอนนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มผู้เล่น กลุ่มหนึ่งเป็นแบงก์ และอีกกลุ่มเป็นบริษัทนอนแบงก์ (ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน) โดยหลักแล้วตลาดอยู่ในคอนโทรล (ควบคุม) ของนอนแบงก์เป็นหลัก อนุมัติเร็ว 1-2 ชั่วโมงก็อนุมัติได้หมดเลย ได้เงินเร็ว แต่ว่าดอกเบี้ยสูงมาก 24-28% เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการกดดอกเบี้ยให้ลงมาอยู่ระดับ 16-18% ให้ได้ เราต้องมารุกตลาดนี้ และต้องสามารถแข่งขันได้ ทำงานได้เหมือนที่เขาทำ
แต่ด้วยกฎระเบียบทั้งหลายในความเป็นแบงก์ เวลาจะทำธุรกิจนี้ก็มักจะตั้งเป็นบริษัทข้างนอก ทำให้แบงก์หลายแห่งที่เขามาในธุรกิจนี้ จะต้องมีบริษัทลูก หรือบริษัทร่วมทุนในการทำธุรกิจนี้อยู่ข้างนอก เพราะสปีดเร็วกว่า ผ่อนคลายเรื่องข้อจำกัดหลายเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งออมสินเองก็มีความจำกัดเรื่องการเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้ามาทำธุรกิจนี้ และมีเป้าหมายจะช่วยคน โดยกดดอกเบี้ยจาก 24-28% ให้เหลือ 16-18% เราต้องสู้กับเขาได้ แข่งกับเขาได้
“การทำด้วยโครงสร้างที่อยู่ข้างนอกเป็นสิ่งจำเป็น อาจเป็นการร่วมทุนก็ได้ หรือเขาตั้งบริษัทใหม่แล้วเราเข้าไปร่วมทุนก็ได้ ถือหุ้นร่วมกันก็ได้ โดยออมสินจะให้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่ยังมีกำไร แม้มีมาร์จินน้อยลงหน่อย เพราะเราต้องการช่วยคน แล้วไปเอากำไรจากบริษัทนี้แทน โดยแบ่งกำไรเข้ามา ซึ่งเราจะเข้าไปถึงหุ้น 49% และถ้าทำได้ จะทำให้เกิดสปีด แข่งขันได้ และดอกเบี้ยในตลาดก็จะลง นี่เป็นเป้าหมายระยะยาวของเรา”
ส่วนระยะเวลาการอนุมัติสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั้น โดยหลักแล้วสินเชื่อจำนำทะเบียน เดี๋ยวนี้อนุมัติกันใน 1-3 ชั่วโมงเท่านี้ แล้วได้เงินเลย และชัดเจนว่าได้เงินเท่าไหร่ ใช้ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนมอเตอร์ไซด์ ไม่ตรวจเครดิตบูโร ไม่วิเคราะห์รายได้ ดูที่ฐานของตัวหลักประกันเป็นหลัก ซึ่งธนาคารออมสินเองตั้งเป้าหมายว่า ถ้าจะแข่งขันในธุรกิจนี้ให้ได้ ระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมงเช่นกัน
ถาม : มีแรงเสียดทานมากน้อยเพียงใด หลังออมสินเข้ามาทำสินเชื่อใหม่ทั้ง 2 ประเภท?
วิทัย : สูงมากแน่นอน เพราะถ้าไปจับตรงไหนที่ไปกระทบผลประโยชน์ ก็ได้รับแรงกดดันชัดเจน อย่างสินเชื่อจำนำทะเบียน การที่เราเข้าไปปรับโครงสร้างดอกเบี้ยที่สูงๆในตลาดจาก 24-28% ให้เหลือ 16-18% แน่นอนว่าประชาชนที่เป็นฐานใหญ่จะได้ประโยชน์ และเราก็ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง และธปท. แต่จะมีนายทุนบางกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการธนาคารออมสินเข้าไปแข่งขันในตลาดนี้
“เราใช้ market forces เราใช้การแข่งขันในตลาดของเราเอง เข้าไปกดดอกเบี้ยในตลาดให้ลงมา ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์เต็มที่ แต่แน่นอนว่ามีนายทุนบางกลุ่มเสียประโยชน์บ้าง เพราะจากที่มีกำไรส่วนเกินสูงๆมาก อาจจะมีกำไรสัดส่วนลดลงบ้าง แต่เราพยายามอธิบายว่าตลาดที่ใหญ่ขึ้น กำไรมาร์จินอาจจะลดลงในแง่ของเปอร์เซนต์ แต่ด้วยปริมาณที่สูงขึ้น เขาน่าจะได้กำไรอยู่พอสมควร ซึ่งนี่เป็นการช่วยคน และไม่ทำให้ธุรกิจเสียหายเกินไป”
ถาม : ธนาคารออมสินมีความเสี่ยงที่จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นหรือไม่?
วิทัย : อย่างเรื่องจำนำทะเบียนรถยนต์ การที่เราเข้าตลาดที่อัตราดอกเบี้ย 18% หากเทียบกับตอนนี้ ธนาคารออมสินทำธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย เพื่อฐานรากเป็นหลักอยู่แล้ว ปัจจุบันเกือบทั้งหมดไม่มีหลักประกันด้วย และไม่มีตัวไหนเลยที่ได้ดอกเบี้ย 16-18% เพราะฉะนั้น การเข้าตลาดที่ 16-18% เรามั่นใจมากว่าเรายังมีกำไรสูง และสูงกว่าธุรกิจที่เราทำปกติในทุกวันนี้ด้วย แต่ว่าช่วยลดดอกเบี้ยในตลาดลงมาได้จำนวนมาก
“เมื่อเข้าตลาดไปที่ 16-18% แล้ว จึงค่อยมาประเมินว่าระยะยาวดอกเบี้ยจะวางไว้ตรงไหน และมั่นใจว่ากำไรไม่ได้ลดลงแน่นอน และความเสี่ยงไม่ได้เยอะกว่าความเสี่ยงในปัจจุบัน เพราะสินเชื่อปัจจุบันส่วนมากไม่มีหลักประกัน แต่อันนี้มีรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์เป็นหลักประกัน”
เช่นเดียวกับสินเชื่อที่เราจะทำเรื่องที่ดิน ซึ่งเราจะเข้าไปช่วยเรื่องการขายฝากได้ ซึ่งไม่ได้ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่ม เพราะเป็นการให้สินเชื่อตามธุรกิจปกติ แล้วก็มีที่ดินเป็นหลักประกัน เพียงแต่ว่าจะให้สปีดเร็ว ไม่ตรวจเครดิตบูโร ถ้าเป็นเอสเอ็มอีก็ไม่วิเคราะห์รายได้ ไม่ดูงบการเงิน เพื่อเอาสินเชื่อตรงนี้มาช่วยรีไฟแนนซ์เรื่องการขายฝากที่ดิน หรือเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการตรงๆ แล้วไม่ต้องจ่ายตังก์เรา 1 ปี เราให้ 3 ปีค่อยมาคืนเงินเรา"
ถาม : มองว่าวันนี้ปัญหาสำคัญๆของประเทศมีอะไรบ้าง และออมสินจะมีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างไร?
วิทัย : ปัญหาของประเทศไทย นอกจากเรื่องโครงสร้างของการแข่งขัน เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน และเรื่องสังคมสูงวัยแล้ว คิดว่าปัญหาเชิงสังคมหลักๆ มองได้เป็น 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการที่ธนาคารออมสินเปลี่ยนเป็นโซเชียลแบงก์ หัวใจหลัก คือ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เราจะให้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำลง เราจะเข้าไปแทรกแซงตลาด โดยการใช้ market forces ทำให้เกิดความเป็นธรรม ทำเรื่องการเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง เพื่อช่วยคน เข้าไปพัฒนาชุมชน พ่อค้าแม่ค้ารายเล็กให้เขาสามารถกลับมาเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแรง หรือเป็นชุมชนที่แข็งแรง สร้างรายได้ต่อไป นี่เป็นแนวทางของเรา
"ผมเชื่อว่าปัญหาหลักของเราตอนนี้ที่รุนแรงมากของสังคมไทยก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเกิดมาจากทั้งวัฒนธรรม การศึกษา และการจัดผลประโยชน์ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจ
อย่างสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ เราจะเห็นว่าทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์หมดเลย มีใบอนุญาตถูกต้อง แต่เป็นใบอนุญาตที่ยอมให้การแข่งขันไม่เกิดขึ้น ไม่มีความสมบูรณ์ อัตราดอกเบี้ยก็เลยไม่ลงมาสู่จุดที่ควรจะเป็น ลักษณะปัญหาอย่างนี้จึงต้องมีกลไก คือ ธนาคารออมสิน เข้าไปทำให้การแข่งขันหมุนเร็วขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยลดลงมา หรืออย่างเรื่องการศึกษา เรื่องวัฒนธรรม และอีกหลายอย่างถือเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา”
(วิทัย รัตนากร)
@ขยับแบงก์ออมสินสู่ผู้นำองค์กรต่อต้านการทุจริต
นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมแล้วยังมีอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงในประเทศไทยเหมือนกัน คือ ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล
“ผมอยู่หน่วยงานรัฐและเอกชน กลับไปกลับมา ก็เห็นปัญหานี้พอสมควรในหลายหน่วยงาน ซึ่งเราเห็นปัญหานี้ในภาพใหญ่ของประเทศด้วย และผมเห็นว่าถ้าเราแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่ได้ แก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลไม่ได้ ประเทศไทยจะมีตัวเหนี่ยวรั้งอย่างนี้ไปตลอด นี่เป็นเรื่องจริงที่ผมคิดว่าถ้าร่วมกันแก้ ช่วยกันแก้ ตั้งใจแก้กันจริงๆ แต่แน่นอนว่าต้องใช้กำลัง มีความเหนื่อย และมีแรงเสียดทาน
แต่ถ้าช่วยกันทำในทั้งสองข้อนี้ได้ น่าจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับแน่นอน ผมมีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ อย่างธนาคารออมสิน เราจะพยายามทำให้ธนาคารออมสินเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูงและสูงขึ้น ซึ่งเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่จะทำให้มีความแข็งแรง เราจะยืนหยัดต่อต้านไม่ยอมรับเรื่องการคอร์รัปชั่น หรือการมีผลประโยชน์ส่วนตัว และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจริง ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เกิดอะไรขึ้นมาเลย"
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องที่วัดยาก จับยาก อย่างในธนาคารออมสินเอง เราต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร ต้องสร้างวัฒนธรรมให้คนไม่รับเรื่องการทุจริต ถ้าเห็นแล้วต้องสู้กัน ต้องช่วยกัน ไม่ใช่ว่าถ้ามีใครทำทุจริต หรือมีใครทำเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วเราก็อยู่เฉยๆ ยอมรับกับมันไป หรือไม่อยากยุ่ง อันนี้ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา
เหมือนสมัยก่อนที่ผมเป็นเลขาธิการ กบข. (คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) เรารณรงค์เรื่อง ESG (Environmental, Social, and Governance) ฉะนั้น เราจะไม่เข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เราได้รวมตัวกับนักลงทุนสถาบัน 32 แห่ง ไม่ทำธุรกิจ ไม่ลงทุนในบริษัทที่มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งจะมีการกระบวนการที่ชัดเจนออกมา และที่ผ่านมาก็เคยมีประกาศว่าไม่ลงทุนในบริษัทไหนบ้างที่มีของการปั่นหุ้น หรือทำผิดกฎหมาย
“ธนาคารออมสินก็เหมือนกัน เราสามารถทำลักษณะเดียวกันได้ เช่น เรามีคอนเซ็ปต์เรื่อง responsibility banking คือ เราไม่ทำธุรกิจ เราไม่ให้สินเชื่อกับคนที่ทำผิดกฎหมาย เราไม่ให้สินเชื่อกับคนที่ทำผิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือมีปัญหาธรรมภิบาล เพราะรายได้แบบนี้ เราก็ไม่อยากได้ โดยเราจะรณรงค์อย่างนี้ ค่อยๆทำช่วยกันไป ไปจนถึงการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต และการไม่ยอมรับกับสิ่งที่ไม่ดีงามเหล่านี้ ซึ่งต้องใช้เวลา”
เหล่านี้เป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนธนาคารออมสินยุค วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 17 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสังคมไทยที่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างรุนแรง
อ่านประกอบ :
ทรัพย์สิน 397 ล.‘วิทัย รัตนากร’ผอ.แบงก์ออมสินป้ายแดง-สมเด็จวัดระฆัง 5 องค์ 9.5 ล.
เปิดยื่นกู้รอบสอง! สินเชื่อฉุกเฉิน ‘ออมสิน’ รายละ 5 หมื่นบาท-ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage