"...แม้ว่าภาครัฐเองจะพยายามติดตาม ควบคุม ออกกฎหมาย เพื่อให้การใช้โซเชียลมีเดียอยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย แต่ในช่วงเวลาอ่อนไหว ภาครัฐแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์หรือการเจรจาขอร้องเท่านั้นซึ่งกรณีหลังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ชุมนุมเช่นกันว่าจะยอมทำตามหรือไม่ การชุมนุมต่างๆทั่วโลกผู้ชุมนุมจึงอยู่ในสถานะถือไพ่เหนือกว่า ถ้าพวกเขาไม่กระทำการใดอันละเมิดกฎหมายหรือยั่วยุจนทำให้เกิดความรุนแรงจนควบคุมไม่ได้..."
.......................
ประเทศไทยว่างเว้นจากการชุมนุมประท้วงมาหลายปี นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2557 แต่พอผ่านพ้นจากการเลือกตั้งมาได้ไม่นานบรรยากาศของการประท้วงที่ห่างหายไปหลายปีเริ่มกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางความหวาดวิตกของบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งรัฐบาลที่เกรงว่าอาจเกิดการแพร่เชื้อโควิดขึ้นมาอีกหลังจากเราได้ผ่านพ้นความตึงเครียดจากโควิดมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เองได้ออกมาเตือนเช่นกันถึงความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดระหว่างการชุมนุม แต่คำเตือนของคุณประยุทธ์ไร้น้ำหนักแถมยังถูกมองว่าเป็นการคุกคาม การชุมนุมจึงเดินหน้าตามที่ประกาศไว้
ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่เริ่มเห็นการชุมนุมประท้วง ประเทศต่างๆหลายประเทศต่างมีการประท้วงท่ามกลางสถานการณ์โควิดด้วยเหตุผลต่างๆกัน การชุมนุมในยุคสิบปีที่ผ่านมานอกจากโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดียซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการนัดหมายรวมพลในการประท้วงแล้ว ผู้ชุมนุมยังใช้เทคนิคต่างๆช่วยในการอำนวยความสะดวก ป้องกันตัวเองและเป็นสัญลักษณ์ เช่น ผู้ชุมนุมในฮ่องกงใช้ร่มสีเหลืองเพื่อสื่อถึงการชุมนุมที่สันติและป้องกันตัวเองจากสเปรย์พริกไทยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ การใช้เลเซอร์แรงสูงเพื่อรบกวนสมาธิและเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่หรือเพื่อรบกวนระบบการจดจำใบหน้าของกล้องซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแยกแยะภาพผู้ประท้วงและผู้ชุมนุมคนไทยผูกโบสีขาว เป็นต้น
นอกจากจะใช้ทั้งเทคโนโลยีและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆแล้ว การชุมนุมในหลายต่อหลายประเทศมักจะตั้ง “ห้องสมุด” ขนาดเล็กหรือจะเรียกว่าแผงหนังสือก็ว่าได้เอาไว้ในที่ชุมนุมเสมอ เป็นต้นว่า การประท้วง Occupy Wall Street ซึ่งเป็นเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นที่นครนิวยอร์กเมื่อปี 2011 การประท้วงต่อต้านการว่างงานและคอรัปชันที่ จัตุรัส Puerta del Sol กรุงแมดริด ประเทศสเปนรวมทั้งการประท้วงที่ฮ่องกงก็จัดให้มีห้องสมุดไว้เช่นเดียวกัน กระแสการจัดห้องสมุดไว้ในการชุมนุมในประเทศต่างๆจึงเป็นเหมือนสิ่งที่คู่กับการชุมนุมในยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนถูกเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นโครงข่ายเดียวกันและยังแสดงถึง คุณค่าทางปัญญา ความรู้และการแสดงความรู้สึกในเชิงต่อต้านของผู้ชุมนุม การชุมนุมในหลายประเทศผู้จัดชุมนุมจึงมักไม่ลืมที่จะตั้งห้องสมุดไว้ในที่ชุมนุมเสมอ การชุมนุมบางแห่ง เช่น Occupy Wall Street มีหนังสืออยู่ในห้องสมุดการชุมนุมมากถึง 5,000 เล่มทีเดียว การจัดเตรียมห้องสมุดไว้ในที่ชุมนุมจึงเป็นการพัฒนาการของการชุมนุมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการชุมนุมยุคก่อนนอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีประเภทโทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย
การชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในประเทศไทยครั้งนี้มีรูปแบบและการแสดงออกในการประท้วงที่ไม่ต่างจากการประท้วงหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาจนเรียกได้ว่าเป็นการประท้วงที่มีเอกลักษณ์แบบไทยก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือการใช้เครื่องมือทางดิจิทัล เช่นโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดีย แม้ว่าการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆมาจะเริ่มมีการใช้โทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดียอยู่บ้าง แต่ช่วงเวลาหลายปีผ่านไป โทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังกว่าโทรศัพท์มือถือเมื่อหกปีก่อน โซเชียลมีเดียถูกพัฒนาให้มีฟังชั่นต่างๆมากขึ้นและมีเพื่อนในกลุ่มมากขึ้น โครงข่ายโทรศัพท์สามารถรองรับการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงและมีความเสถียรกว่าเดิม จึงทำให้หลายคนสามารถถ่ายทอดสดภาพและเสียงที่ตัวเองกำลังทำกิจกรรมในที่ชุมนุมได้อย่างชัดเจนแทบไม่มีสะดุด นอกจากนี้การส่งภาพ-ข่าวจากเวทีที่กรุงเทพก็สามารถถ่ายทอดไปยังเวทีคู่ขนานในบางจังหวัดโดยไม่ต้องเข้ามาร่วมการชุมนุมก็สามารถเห็นเหตุการณ์และฟังเสียงจากเวทีใหญ่รวมทั้งบุคคลต่างๆที่กำลังถ่ายทอดสดอยู่ได้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้ทำให้คนในเมืองไทยติดตามข่าวเวทีคู่ขนานในต่างประเทศ เช่นที่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ได้อย่างแทบไม่มีอะไรปิดกั้นได้ในทันที ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว
โซเชียลมีเดียมีคุณสมบัติที่สำคัญคือสามารถเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่ได้ผลกว่าแผ่นพับหรือวิธีโฆษณาอื่นๆ เพราะโซเชียบมีเดียคือสื่อไร้พรมแดนที่ข้อมูลสามารถเข้าถึงผู้คนอย่างกว้างขวางได้ภายในเสี้ยววินาที ปัจจัยที่ทำให้โซเชียลมีเดียทรงพลังเกิดจากการที่คนบางคนข้อมูลใช้ต้นทุนทางสังคมของตัวเองในการสนับสนุนข้อมูล ผู้ติดตามหรือกลุ่มเพื่อนจึงเชื่อถือข้อมูลนั้นและพร้อมที่จะส่งต่อข้อมูลให้กับผู้ที่อยู่ในโครงข่ายของตนเองโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ อันเนื่องมาจากความเชื่อถือต่อบุคคลผู้ส่งข่าวนั่นเอง การชุมนุมโดยการใช้โซเชียลมีเดียในการนัดหมายหรือโฆษณาชวนเชื่อจึงมีพลังทำให้การรวมตัวทำกิจกรรมในการชุมนุมเป็นไปด้วยความรวดเร็วภายในชั่วโมงหรือนาทีโดยไม่ต้องรอเวลานับวันดังแต่ก่อน
โซเชียลมีเดียที่ถูกใช้มากที่สุดในระหว่างการชุมนุมคงไม่พ้นสื่อสารพัดประโยชน์ เช่น Facebook Line Twitter และYouTube ซึ่งอัปเดตเหตุการณ์จากสื่อมวลชนช่องต่างๆและบุคคลทั่วไปอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงการชุมนุมคือ การปล่อยข่าวลวง ให้ร้ายและสร้างความเกลียดชังผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่มีทั้งด้านสร้างสรรค์และทำลายล้างอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน นอกจากนี้อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียยังเป็นเครื่องจักรกระพือความคิดเห็นที่สุดขั้วทางการเมืองในกลุ่มของตัวเองจนไม่ยอมรับฟังความเห็นอื่นแม้ ความเห็นนั้นเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าก็ตาม การโฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเชียลมีเดียจึงเป็นการเผยแพร่ข้อความที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเชื่อในสิ่งที่ไม่จริงแก่ผู้คนได้เช่นกัน
ปัจจุบันเราจึงไม่ได้อยู่ในโลกของสื่อหลักภายใต้การกำกับของบรรณาธิการแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เรากำลังอยู่ในโลกที่ทุกคนก็สามารถสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองอยากให้ใครๆทั่วโลกได้เห็นหรือรับสิ่งที่ผู้อื่นส่งมาให้ได้ในชั่วพริบตา นักข่าวพลเมืองจึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในบริเวณเวทีชุมนุม พวกเขาสามารถสื่อสารทั้งเสียง ภาพ ข้อความ ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงๆได้อย่างง่ายดายโดยไร้ขีดจำกัด สื่อหลักหลายแห่งมักนำข่าวสารของนักข่าวพลเมืองไปเผยแพร่ต่อและยังแสดงให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ภาครัฐไม่สามารถที่จะควบคุมเนื้อหาของข่าวสารไม่ว่าจะมาจากเวทีชุมนุมหรือมาจากบุคคลได้อีกต่อไปตราบเท่าที่โซเชียลมีเดียและโทรศัพท์มือถือยังอยู่ในมือของทุกคน การจับคู่ของโทรศัพท์มือถือกับโซเชียลมีเดียจึงทำให้ทุกคนมีอำนาจในการสื่อสารอยู่ในมือและทำให้แพลตฟอร์ม Facebook Twitter YouTube ฯลฯ กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญในการเชื่อมต่อผู้คนในโลกเข้าด้วยกัน สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายของโซเชียลมีเดียต่อสื่อกระแสหลักที่ผู้ประท้วงแทบไม่ต้องพึ่งพาและเป็นความท้าทายต่อภาครัฐในการกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นอย่างยิ่ง
แม้ว่าภาครัฐเองจะพยายามติดตาม ควบคุม ออกกฎหมาย เพื่อให้การใช้โซเชียลมีเดียอยู่ในกรอบแห่งกฎหมาย แต่ในช่วงเวลาอ่อนไหว ภาครัฐแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์หรือการเจรจาขอร้องเท่านั้นซึ่งกรณีหลังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ชุมนุมเช่นกันว่าจะยอมทำตามหรือไม่ การชุมนุมต่างๆทั่วโลกผู้ชุมนุมจึงอยู่ในสถานะถือไพ่เหนือกว่า ถ้าพวกเขาไม่กระทำการใดอันละเมิดกฎหมายหรือยั่วยุจนทำให้เกิดความรุนแรงจนควบคุมไม่ได้
สิ่งที่ต้องไม่ปฏิบัติเมื่อใช้โซเชียลมีเดียในระหว่างการชุมนุมคือการใช้ข้อความยั่วยุ ปลุกเร้าให้โกรธเกลียด หรือข้อความในทางลบใดๆไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม เพราะโซเชียลมีเดียคือเครื่องมือที่สามารถแพร่กระจายอารมณ์และความรู้สึกได้ทั้งในทางบวกและทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารในระหว่างการชุมนุมมักเป็นข้อมูลเชิงลบที่อ่อนไหวซึ่งสามารถกระตุ้นอารมณ์ให้โกรธ เกลียด จนนำไปสู่ความรุนแรงได้ ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐหรือฝ่ายชุมนุมจึงต้องระมัดระวังการสื่อสารในลักษณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้เร่งเร้าผู้ชุมนุมจนคุมอารมณ์ไม่อยู่
เครื่องมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองทำให้สิ่งแวดล้อมของการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง การชุมนุมในแต่ละปีที่ผ่านไปจึงมีรูปแบบและเทคนิคเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จนยากที่จะภาครัฐจะควบควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จเหมือนดังแต่ก่อน
อ้างอิง
Twitter and Tear Gas โดย Zeynep Tufekci
ภาพประกอบ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/898612
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage