"...การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่จะต้องจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและ “เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด”ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณไปหลายปีงบประมาณเงินในปีนั้นๆในอนาคตอาจจะไม่พอจ่ายเพราะราคาเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจจึงต้องมีเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาดสำรองเอาไว้ จึงเป็นความเสี่ยงทางการคลัง ..."
...........................................
'ผมได้เคยทักท้วงว่าสัญญาซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากจีนแบบรัฐต่อรัฐ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท อาจเข้าข่ายสัญญาระหว่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 และมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะมีผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินอย่างมีนัยสำคัญ ต้องเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน ถ้าลงนามไปอาจตกเป็นโมฆะ แนะนายกรัฐมนตรี "ประยุทธ์"ขณะนั้นการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายปี 2560 ถ้าไม่มั่นใจ สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนได้
แต่ปรากฎว่านายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ไม่ดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กลับให้พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ และคณะ เป็นผู้แทน ผบ.ทร. เดินทางไปลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล(จีทูจี) กับประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 4-7 พ.ค. 2560 และกำลังจะดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนอีกสองลำตามที่เป็นข่าวอื้อฉาวในบ้านเมืองที่ตกอยู่จะต้องใช้เงินแผ่นดินในเรื่อง “สงครามโควิต 19” มิใช่สงครามการสู้รบตาทที่กองทัพเรืออ้างแต่อย่างใด
การทำสัญญาดังกล่าว อาจเข้าข่ายสัญญาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 178 เรื่องการทำสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ และยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่จะต้องจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและ “เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด”ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณไปหลายปีงบประมาณเงินในปีนั้นๆในอนาคตอาจจะไม่พอจ่ายเพราะราคาเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจจึงต้องมีเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาดสำรองเอาไว้ จึงเป็นความเสี่ยงทางการคลัง ซึ่งล้วนเป็นการจ่ายเงินแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น และในกรณีที่รายได้จากภาษีอากรต่ำกว่างบประมาณรายจ่ายเป็นผลให้งบประมาณรายจ่ายปีนั้นๆขาดดุล รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อนำมาชดเชยงบประมาณที่ขาดดุลหรือรายจ่ายสูงกว่ารายได้ กรณีจึงเห็นได้ชัดเจนว่า งบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำทั้งสิ้นมิใช่เงินของกองทัพเรือตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา และกองทัพเรืออ้างว่าเป็นของกองทัพเรือแต่ประการใด มิใช่เงินของกองทัพเรือตามที่อ้างแต่ประการใด
รัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ระบุไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการทําหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรีเขตศุลกากรร่วมหรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทําให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้มีกฎหมายกําหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จําเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทําหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําขอ
อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 ได้บัญญัติไว้ว่า “....หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพัน....หรือมีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา...” ที่ต้องนำมาใช้ในฐานะประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยประกอบมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560
กองทัพเรือได้ยืนยันเมื่อวันจันทร์ ที่ 24 สิงหาคม 2563 ที่จะต้องจัดซิ้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณไปถึง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2569 รวมวงเงินทั้งสิ้น 22,500 ล้านบาท แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าแต่ละปีมีเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดเท่าไรและรวมทั้งหมดมีจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด และจำเป็นอย่างไรจึงต้องตั้งเงินจำนวนนี้ไว้
ผมจึงขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้ากองทัพเรือยังฝืนทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนในลำที่ ๒และ๓ ในวงเงินทั้งสิ้น 22,500 ล้านบาทแทนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันและผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโรคโควิด อันเป็นการกระทำที่ผิดจากเจตน์จำนงของประชาชนชาวไทยและ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกด้วย
สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเดียวกับการทำสัญญาซื้อเรือดำน้ำลำแรกที่ผมเคยได้ให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก pixabay