"...จุดมุ่งหมายของเรือดำน้ำโจมตีคือการขัดขวางเส้นทางลำเลียง เป้าหมายของเรือดำน้ำก็คือเรือลำเลียงหรือเรือสินค้า ไม่ใช่เรือรบ เรือดำน้ำโจมตีปฏิบัติภารกิจได้จำกัดเฉพาะการโจมตีเรือลำเลียงเท่านั้น และง่ายต่อการถูกทำลายด้วยเรือปราบเรือดำน้ำธรรมดา เรือดำน้ำโจมตีจึงไม่ใช่อาวุธที่จะสร้างความยำเกรงให้กับเรือรบผิวน้ำ ดังนั้นเรือดำน้ำโจมตี S26T จึงไม่ใช่อาวุธป้องปรามแต่อย่างใด..."
การจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีน สร้างประเด็นถกเถียงระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอย่างกว้างขวางตั้งแต่การจัดซื้อลำแรกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในปีนี้ที่กองทัพเรือเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีก 2 ลำซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
เหตุผลหลัก ๆ ที่เราต้องจัดซื้อเรือดำน้ำตามที่รัฐบาลชี้แจง คือ
(1) กองทัพเรือจำเป็นต้องมีเพราะเพื่อนบ้านเรามีแล้ว
(2) เราต้องปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
และ (3) งบประมาณที่ใช้เป็นงบประมาณในส่วนของกองทัพเรือเอง ถึงไม่ซื้อเงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้เอาไปใช้พัฒนาประเทศ อีกทั้งกองทัพเรือได้ตัดงบประมาณของกองทัพเรือบางส่วนคืนรัฐบาลเพื่อใช้แก้ปัญหาช่วงโควิด-19 ไปแล้ว
ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่จะมองเรื่องความมั่นคงทางทะเลเป็นหลัก และคิดว่าเรือดำน้ำจะช่วยให้กองทัพเรือมีศักยภาพทางทะเลสูงขึ้น
ส่วนผู้คัดค้านส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลสนับสนุนที่น่าสนใจหลายด้าน เช่น
(1) การซื้อเรือดำน้ำจะทำให้เกิดการสูญเสียเงินออกนอกประเทศ แทนที่จะปรับลดงบประมาณส่งคืนส่วนกลาง เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งการจัดซื้อเรือดำน้ำในเวลานี้ถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในยามที่ประเทศกำลังมีปัญหา
(2) ความคุ้มค่าของเรือดำน้ำต่อการทหารของไทย เนื่องจากพื้นที่ทะเลของไทยส่วนใหญ่เป็นทะเลน้ำตื้น การปฏิบัติการของเรือดำน้ำ อาจทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากอาจถูกตรวจพบได้ง่าย ดังนั้น แทนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไทยอาจเสริมประสิทธิภาพการต่อต้านเรือดำน้ำมากกว่า
(3) การรักษาผลประโยชน์ของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้ใช้การทหาร แต่เป็นการเจรจาทางการทูตเป็นหลัก โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ รวมทั้ง ผลประโยชน์ทางทะเลของไทยก็แตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่วนใหญ่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
และ (4) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วในช่วงปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยี Drone Submarine ที่อาจทำให้เทคโนโลยีเรือดำน้ำในปัจจุบันตกยุคอย่างรวดเร็ว
ทั้งสองฝ่ายต่างมีเหตุผลของตน แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาในขีดความสามารถของเรือดำน้ำ S26T ของจีนว่าทำอะไรได้บ้าง กองทัพเรือเองก็ได้แต่ชี้แจงในภาพรวมเหมือนเหตุผลที่รัฐบาลแจ้ง
บทความนี้จะวิเคราะห์ว่าเรือดำน้ำ S26T ของจีนว่าทำอะไรได้บ้าง หรือไม่ได้บ้าง โดยแยกตามสาขาการปฏิบัติการทางเรือในยามสงบกับยามวิกฤติ เพื่อเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการจัดซื้อเรือดำน้ำ
ยามสงบ
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล เรือดำน้ำไม่ว่าประเภทใดก็ไม่สามารถกระทำได้ ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ว่างในเรือมีน้อย ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งมีความเร็วต่ำ ทำให้การเดินทางเข้าพื้นที่เป้าหมายต้องใช้เวลานาน
การลาดตระเวณและการหาข่าว ไม่เหมาะสม วิสัยทัศน์จากเรือดำน้ำมีจำกัด ค่าใช้จ่ายสูง ไม่คล่องตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ฝั่ง ที่เรือดำน้ำ S26T ของจีนเข้าไม่ได้ เพราะต้องการความลึกอย่างน้อยประมาณ 30 เมตร ซึ่งเป็นระดับปลอดภัยขณะลอยลำ ดังนั้น การลาดตระเวนและการหาข่าวจึงใช้เรือผิวน้ำขนาดเล็ก เช่น เรือตรวจการณ์ที่กองทัพเรือใช้อยู่ได้ผลดีกว่า และประหยัดกว่า
การป้องปราม เรือดำน้ำในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการใช้งานคือ
(1) เรือดำน้ำทางยุทธศาสตร์ (Ballistic Missile Submarine) เป็นเรือดำน้ำขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ติดตั้งอาวุธนำวิถีข้ามทวีป (Submarine-Launched Ballistic Missiles – SLBMs) หัวรบนิวเคลียร์ (nuclear warheads) ภารกิจของเรือดำน้ำทางยุทธศาสตร์คือ การป้องปรามทางยุทธศาสตร์ โดยเป็นฐานยิงอาวุธนำวิถีข้ามทวีปหัวรบนิวเคลียร์ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการป้องปรามด้วยเรือดำน้ำ จึงหมายถึงเรือดำน้ำชนิดนี้
และ (2) เรือดำน้ำโจมตี (Attack Submarine) เป็นเรือดำน้ำที่ออกแบบสำหรับโจมตีเรือเรือผิวน้ำ มีอาวุธที่สำคัญคือ ตอร์ปิโด และอาวุธปล่อยนำวิถี (cruise missile) ส่วนเรือดำน้ำปราบเรือดำน้ำ (Anti-submarine submarine) เป็นเรือดำน้ำที่ออกแบบสำหรับการปราบเรือดำน้ำโดยเฉพาะ ต้องมีอุปกรณ์ตรวจจับเรือดำน้ำ(sonar) และอาวุธปราบเรือดำน้ำที่ยิงจากใต้น้ำสู่ใต้น้ำ ซึ่งเป็นคนละประเภทกับที่ติดตั้งบนเรือดำน้ำปกติ ยิ่งกว่านั้นการใช้เรือดำน้ำปราบเรือดำน้ำยังไม่มีผลงานที่ประจักษ์แต่อย่างใด จึงต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรือดำน้ำโจมตีทุกลำจะโจมตีเรือดำน้ำได้ และบางลำก็ไม่มีขีดความสามารถในการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบของเรือนั้น ๆ
ดังนั้น การมีเรือดำน้ำจึงไม่ได้หมายความถึงการมีขีดความสามารถของเรือดำน้ำทุกชนิด ซึ่งเรือดำน้ำ S26T ของจีนก็ไม่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ และไม่มีขีดความสามารถในการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี
จุดมุ่งหมายของเรือดำน้ำโจมตีคือการขัดขวางเส้นทางลำเลียง เป้าหมายของเรือดำน้ำก็คือเรือลำเลียงหรือเรือสินค้า ไม่ใช่เรือรบ เรือดำน้ำโจมตีปฏิบัติภารกิจได้จำกัดเฉพาะการโจมตีเรือลำเลียงเท่านั้น และง่ายต่อการถูกทำลายด้วยเรือปราบเรือดำน้ำธรรมดา เรือดำน้ำโจมตีจึงไม่ใช่อาวุธที่จะสร้างความยำเกรงให้กับเรือรบผิวน้ำ ดังนั้นเรือดำน้ำโจมตี S26T จึงไม่ใช่อาวุธป้องปรามแต่อย่างใด
การสำรวจสมุทรศาสตร์ใต้น้ำ เรือดำน้ำทำไม่ได้ เพราะการสำรวจสมุทรศาสตร์ใต้น้ำต้องใช้ยานใต้น้ำที่ออกแบบโดยเฉพาะ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าเรือดำน้ำโจมตีมาก การนำไปใช้ในการนี้ต้องดัดแปลงและซื้ออุปกรณ์เพิ่มจึงไม่คุ้มค่า
โดยสรุป ยามสงบเรือดำน้ำจึงไม่มีภารกิจที่เหมาะสมเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและสภาวะความไม่แน่นอนสูง เพราะในภาพรวม การซื้อเรือดำน้ำจะต้องจ่ายเงินออกนอกประเทศ 36,000 ล้านบาท เท่ากับราคาข้าวประมาณ 6 ล้านตัน (ตันละ 6,000 บาท) ถ้าเงินจำนวนนี้อยู่ในประเทศจะสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจได้มหาศาล นอกจากนั้น การซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายออกนอกประเทศตามมาอีกมาก
ยามวิกฤติ
ภาพสถานการณ์ทางทะเลที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย และกองทัพเรือต้องมีส่วนในการใช้กำลังทางเรือแก้ปัญหาที่สำคัญมีเพียงสองภาพคือ
1. ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ คู่ขัดแย้งที่สำคัญคือ จีน กับ สหรัฐฯ แนวโน้มน่าจะเป็นสงครามเย็นมากกว่าการใช้กำลัง ซึ่งไทยไม่อยู่ในพื้นที่พิพาท แม้จะมีความรุนแรงถึงขั้นปะทะกันบ้าง กองทัพเรือก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ผลกระทบต่อประเทศไทยจะเป็นทางเศรษฐกิจ เช่น การขนส่งสินค้าอาจหยุดชะงัก ค่าขนส่งอาจแพงขึ้น และกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งหมด คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลที่จะแก้ปัญหา ทั้งการสร้างดุลอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และการสนับสนุนการขนส่งสินค้าโดยใช้เรือไทย เพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าจำเป็น
2. การโดนปิดอ่าวไทยซึ่งเป็นช่องทางลำเลียงทางทะเลที่สำคัญของไทย เป็นสถานการณ์ที่เรากลัวและมักใช้เป็นข้ออ้างในการเสริมสร้างกำลังทางเรือ รวมทั้งการซื้อเรือดำน้ำเสมอ เพราะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือลำเลียงของเราโดนเรือดำน้ำจม 2-3 ลำ (ร.ล.สมุย นอกฝั่งตรังกานู และเรือไทยนาวา 3 นอกอ่าวชุมพร) แต่ในความเป็นจริงเรือที่โดนจม เรือเหล่านี้เป็นเรือที่ไม่มีอาวุธที่จะสู้กับเรือดำน้ำ และเราไม่มีเรือปราบเรือดำน้ำเลย เรือดำน้ำต่างชาติจึงปฏิบัติการได้โดยอิสระ ยิ่งกว่านั้น เรือดำน้ำต่างชาติที่ข้ามมหาสมุทรเข้ามาโจมตีเรือไทยที่ปากอ่าวไทยมีระวางขับน้ำแค่ 800-1,500 ตันเท่านั้น
ทหารเรือจะรู้ดีว่าการปิดอ่าวเป็นปฏิบัติการทางเรือที่ประสบความสำเร็จได้ยาก ต้องลงทุนสูง เพราะทะเลไม่ใช่บริเวณที่จะยึดครองได้เหมือนพื้นที่บก ประเทศที่จะทำการปิดอ่าวประเทศอื่นได้ต้องมีศักยภาพทางทหารสูงกว่าประเทศเป้าหมายมาก สำหรับประเทศไทยการที่จะโดนปิดอ่าวโดยประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปไม่ได้เลย
แต่หากประเทศไทยโดนปิดอ่าวจริง จะทำอย่างไร? คงต้องพิจารณาว่าข้าศึกใช้เรืออะไรปิดอ่าว (1) ถ้าปิดด้วยเรือรบผิวน้ำ อาวุธที่จะใช้ตอบโต้คือเรือรบผิวน้ำและเครื่องบิน (2) ถ้าปิดด้วยเรือดำน้ำ อาวุธที่จะตอบโต้คือเรือและเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ
การป้องกันเส้นทางลำเลียง เป็นอีกหนึ่งในหัวใจสำคัญในยามสงคราม ที่ต้องมีการป้องกันทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ต้องป้องกันทั้งเหนือน้ำ ใต้น้ำ และบนอากาศ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยเรือรบผิวน้ำ เรือปราบเรือดำน้ำ และเครื่องบิน แต่เรือดำน้ำไม่มีบทบาทเหล่านี้
ในขณะเดียวกัน การโจมตีเส้นทางลำเลียงของข้าศึก เช่นเดียวกับการป้องกัน สามารถโจมตีทั้งเหนือน้ำ ใต้น้ำ และบนอากาศ ด้วยเรือรบผิวน้ำ เครื่องบิน รวมทั้งเรือดำน้ำที่สามารถดักโจมตีเรือลำเลียงได้ แต่ปัญหาคือเราจะโจมตีเส้นทางลำเลียงข้าศึกที่ไหน? เป้าหมายคืออะไร? ขีดความสามารถพอหรือ? ภารกิจนี้กองทัพเรือคงไม่มีโอกาสปฏิบัติ
นอกเหนือจากขีดความสามารถของเรือดำน้ำที่ทำอะไรได้หรือทำไม่ได้แล้ว คงต้องคิดต่อว่า ในยามที่เรากำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และยังไม่เห็นจุดต่ำสุดของความตกต่ำ เราควรจะหยุดหรือเดินหน้าซื้อต่อไป
หยุดหรือยกเลิกการซื้อ ความเสียหายมากที่สุดคือ การเสียค่ามัดจำสำหรับเรือดำน้ำลำแรกที่จ่ายไปแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่อาจเจรจาขอคืนหรือเปลี่ยนไปซื้ออาวุธอื่นได้ และกรณีแบบนี้เป็นการเจรจาแบบมิตรประเทศที่กำลังมีปํญหาไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เดินหน้าซื้อต่อไป กองทัพเรือ (ประเทศไทย) ต้องจ่ายเงินให้จีนปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ต่อไปอีก 11 ปี เงินจำนวนนี้จะทำให้กองทัพเรือต้อง ลด/หยุด การพัฒนาด้านกำลังพล สวัสดิการ ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นค่าใช้จ่ายในการสร้างสิ่งอำนวยความสดวกที่จะตามมายังมีอีกนับหมื่นล้านบาท (เฉพาะเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำที่ซื้อจากจีนประมาณ 8.000 ล้านบาท) และประมาณปี 2574 กองทัพเรือจะได้รับเรือดำน้ำที่อาจกลายเป็นอาวุธโบราณไปแล้ว แต่ถ้าเศรษฐกิจทรุดต่ำลงอีกรัฐบาลคงต้องทุ่มเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจ งบประมาณที่จะแบ่งให้กองทัพเรือคงถูกตัดและได้รับน้อยลง กองทัพเรืออาจถึงขั้นล่มสลาย
หนทางแก้ปัญหา ทั้งรัฐบาลและกองทัพเรือจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ความมั่นคงกับความมั่งคั่งต้องไปด้วยกัน จะมองเฉพาะด้านไม่ได้ รัฐบาล ทหาร และประชาชน ต้องสอดคล้องกัน เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนว่างงาน อดหยาก ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ ประเทศจะระส่ำระสาย ทหารก็อยู่ไม่ได้ แต่กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำ (ในอีก 11 ปีข้างหน้า) กองทัพเรือยังอยู่ได้ เงิน 30,000 ล้านบาทอยุ่ในประเทศ เศรษฐกิจอาจเลวร้ายน้อยลง การสร้างงานในประเทศในปัจจุบันจึงสำคัญกว่าเรือดำน้ำ ดังนั้นรัฐบาล และ กองทัพเรือ ควรร่วมมือกันสร้างงานในประเทศ เช่น การส่งเสริมการสร้างอาวุธในประเทศเพื่อพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมการต่อเรือในประเทศ และหากอยากได้เรือดำน้ำจริงก็ก็สามารถสร้างในประเทศได้ ประเทศที่เคยซื้อเทคโนโลยีการต่อเรือจากอู่ของไทยก็สามารถสร้างเรือดำน้ำเองได้แล้ว และต้องไม่ลืมว่าเรือดำน้ำต่างชาติที่ข้ามมหาสมุทรเข้ามาโจมตีเรือไทยที่ปากอ่าวไทยมีระวางขับน้ำแค่ 800-1,500 ตันเท่านั้น การมีเรือใหญ่เกินไป แพงเกินไป อาจไม่เหมาะสมและสูญเปล่า
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก mthai.com