"...หมายเหตุ: การยื่นคำขาดแบบ เอาหรือไม่เอา (all or nothing) ควรมีให้น้อยๆ ยกตัวอย่างเช่น พรรคที่หาเสียงจะแก้รัฐธรรมนูญ บอกแค่ว่าจะแก้ แต่ไม่บอกว่าแก้ประเด็นไหนบ้าง ไม่เอ่ยเลยว่าเสนอแก้หมวดไหน แก้ให้เป็นอย่างไร ดิฉันเลือกไม่ลงเพราะไม่รู้ว่าเขาอยากแก้ตรงกับที่เราอยากให้แก้หรือเปล่า ติดนิสัยมาจากการทำงานการเงิน เราไม่เซ็นเช็คที่ไม่ระบุจำนวนเงิน ไม่ระบุชื่อผู้รับอยู่แล้ว จะให้เลือกพรรคที่บอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแบบเปิดกว้างครอบจักรวาลก็กระไรอยู่..."
**********************************
เรามีรัฐธรรมนูญ/ธรรมนูญปกครอง ทั้งฉบับจริงและฉบับชั่วคราวมาแล้วรวม 20 ฉบับ ใน 88 ปี ทั้งหมดนี้มีเพียงฉบับเดียวคือฉบับ พ.ศ. 2475 ที่ใช้ไปแล้วนำมาแก้ไขเพื่อใช้ใหม่อีกครั้ง รวมแล้วใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 ประมาณ 20 ปี
เราเคยร่างรัฐธรรมนูญกันมาแล้วหลายรูปแบบ ร่างง่ายๆ ก็มี ขอพระราชทานมาก็มี เปิดสภาใหญ่มีคนทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันให้ความคิด (ที่เรียกว่าสภาสนามม้า) ก็เคย ให้ผู้เชี่ยวชาญคณะใหญ่ช่วยกันร่างก็เคย ถึงกับครั้งหนึ่งเคยได้ยินว่าเราได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดแล้ว แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นอายุก็ยังสั้นอยู่นั่นเอง เมื่อมีคนใช้รัฐธรรมนูญในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ (abuse คือ ab-use) หรือรู้สึกว่าผิดวัตถุประสงค์ หนักๆ เข้าก็ล้มกระดาน แล้วตั้งต้นเรียงหมากขึ้นกระดานใหม่ แทนการพยายามหาทางผ่าทางตันกันด้วยรัฐธรรมนูญ
สรุปแล้ว แม้ว่าผู้ร่างจะเอาจริงเอาจังมากกับการหยิบยกรัฐธรรมนูญประเทศต่างๆ มาวิเคราะห์ และพยายามหาทางร่างของไทย แต่ก็เหมือนยำใหญ่ ลางเนื้อชอบลางยา และเมื่อนำออกใช้ ทุกฝ่ายที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่มีฝ่ายใดศรัทธาจริงจังว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพและกระทำตามให้ถึงที่สุดก่อน ในเมื่อไม่ศรัทธา พอเริ่มใช้ก็จะตั้งต้น “ตีความ” แล้วก็ตีกันเองกับการตีความ สุดท้ายก็เลิกตีความ หันไปตีกันเองตรงๆ ฯลฯ เป็นวัฏจักรไป ไม่ว่าร่างนั้นจะได้ประชามติมาจากประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ได้ ก็ดูเหมือนจะไม่สำคัญ การร่างและการรอคอยรัฐธรรมนูญดูจะน่าสนใจกว่าการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ได้มาแล้ว
คราวนี้ สิงหาคม 2563 มีข้อเสนอให้ยุบสภาแล้วร่างรัฐธรรนูญใหม่
เราหวังจะได้อะไรขึ้นมาจากการนี้บ้าง คิดไหมว่าทำแบบเดิม คิดในกรอบเดิมๆ ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์คล้ายๆ เดิม ไม่แตกต่างไปได้ และผู้ร่างรัฐธรรมนูญหลายคนก็ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้วด้วย จะสร้างสรรค์และแตกต่างจากเดิมได้แค่ไหนหรือ
วันนี้จึงขอเสนอวิถีใหม่ ที่น่าจะมีประสิทธิภาพกว่าแบบที่ผ่านมา 2 ครั้งสุดท้าย จะทำได้หรือไม่ อยู่ที่ว่าคนทำติดอยู่ในกรอบแค่ไหน
1. เลือกวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ทีละประเด็นสองประเด็น แทนวิธีร่างใหม่ทั้งฉบับ เพื่อไม่ต้องถกกันทุกประเด็นในคราวเดียวกัน ในเวลาจำกัด
2. เปิดเวทีคุยกันอย่างกว้างขวาง หลายกลุ่ม เลือกทีละประเด็น มีข้อมูลวิชาการประกอบ มีข้อดีข้อเสียของประเด็นนั้นๆ ประกอบ เช่น
หมวดว่าด้วย ส.ว. จะมีหรือไม่ ถ้าจะมี มีเพื่ออะไร มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง และจะมีที่มาอย่างไร
หมวดว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นคืออะไร ใหญ่เล็กแค่ไหนจึงจะเหมาะสมกับภารกิจที่จะให้ทำ จะให้ท้องถิ่นทำอะไรบ้าง มีอำนาจด้านไหน แค่ไหน เป็นต้น ซึ่งอาจออกแบบได้ใหม่ ไม่ต้องติดกรอบว่ามีจังหวัด ตำบล อำเภอ (และในทางกลับกันก็ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแต่ชื่อเรียก โดยทุกอย่างคงเดิม)
3. ทุกประเด็นมีการเสนอทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ ก. ข. ค. ……
4. เปิดลงประชามติทีละประเด็น ไม่ต้องรอรวมทุกประเด็นพร้อมๆ กัน (เหมือนเราปรับปรุงบ้าน เราทำทีละส่วน ทีละห้องได้ ไม่ต้องรีบร้อนลนลาน เร่งตัวเอง และไม่ต้องรื้อทีเดียวทั้งบ้าน)
5. นำประชามติมาประมวลรวมแล้วร่างเป็นภาษากฎหมาย แต่ละประเด็นจะไปอยู่หมวดไหนบ้าง ใช้กี่มาตรา ก็แล้วแต่ความเหมาะสมในเชิงการร่างกฎหมาย และมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จชัดเจนในแต่ละเรื่องที่ลงประชามติไปแล้ว
6. นำออกใช้
ข้อเสนอนี้ตั้งใจแก้ปัญหาหลายอย่าง
1. รักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ ไม่ฉีกทิ้งอีกต่อไป อยากได้อะไรก็ปรับแก้เอา ส่วนจะแก้หมวดไหนประเด็นไหนก่อน หมวดไหนประเด็นไหนทีหลัง ก็แล้วแต่ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ทะเลาะกันไม่จบในกำหนดเวลาหนึ่ง ก็ส่งไปลงประชามติด้วย ให้ตีกันในคูหาลงคะแนน ไม่ต้องตีกันบนถนนหรือตามลานชุมนุม ก็รู้กันเองว่า ยิ่งทะเลาะกันนานๆ การแก้ก็ยิ่งช้า ทุกฝ่ายต้องเลือกเอาว่าจะเอาแบบไหน
2. ไม่ต้องยุบสภา สภาจะยุบต่อเมื่อถึงบทบัญญัตินั้นๆ หรือเมื่อหมดวาระไปเองตามครรลองของกฎหมายในเวลานั้น ด้วยวิธีนี้การร่างก็ไม่ต้องรีบร้อน เราแก้รัฐธรรมนูญกันได้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเพราะรัฐธรรมนูญควรอายุยืนยาวกว่าคนร่าง คนแก้ และแก้แล้วแก้อีกก็ได้ เพราะเราแก้ทีละหมวด ทีละประเด็น
3. คณะกรรมการร่าง คือกลุ่มสุดท้ายในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เท่าที่ผ่านๆ มาเราทำกลับข้าง คิดหลักการเอง ร่างเองจนจบ แล้วนำเสนอให้ลงประชามติ
4. ใครอยากมาออกความเห็น มาเสนอประเด็น ฯลฯ ในระหว่างกระบวนการ ทำฟรี เป็นหน้าที่พลเมือง ไม่ใช่ร่างไปกินเงินเดือนไป จนกระทั่งบางคนอาจเห็นช่องทำเป็นอาชีพ กรรมาธิการต่างๆ (ถ้ามี) ก็ทำฟรี เพราะเป็นหน้าที่เหมือนกัน
5. เปิดทางเลือกให้พลเมืองได้ออกความเห็นเป็นรายหมวดรายประเด็น แทนของเดิมที่ร่างมาเสร็จสรรพทั้งฉบับ แล้วบอกให้ลงประชามติรับหรือไม่รับทั้งฉบับ แบบ all or nothing
หมายเหตุ: การยื่นคำขาดแบบ เอาหรือไม่เอา (all or nothing) ควรมีให้น้อยๆ ยกตัวอย่างเช่น พรรคที่หาเสียงจะแก้รัฐธรรมนูญ บอกแค่ว่าจะแก้ แต่ไม่บอกว่าแก้ประเด็นไหนบ้าง ไม่เอ่ยเลยว่าเสนอแก้หมวดไหน แก้ให้เป็นอย่างไร ดิฉันเลือกไม่ลงเพราะไม่รู้ว่าเขาอยากแก้ตรงกับที่เราอยากให้แก้หรือเปล่า ติดนิสัยมาจากการทำงานการเงิน เราไม่เซ็นเช็คที่ไม่ระบุจำนวนเงิน ไม่ระบุชื่อผู้รับอยู่แล้ว จะให้เลือกพรรคที่บอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแบบเปิดกว้างครอบจักรวาลก็กระไรอยู่
การเปิดเวทีคุยกัน มี 2 เงื่อนไขที่ประสงค์ คือ
(1) คนพูดที่รู้จริง ไม่ใช่นักพูดที่พูดได้ทุกเรื่อง และมีบรรยากาศของการฟังกัน แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน
(2) พิธีกรที่ถามคำถามมีสาระ ตั้งคำถามให้คิด ถามแบบคนรู้คิด
เงื่อนไขในส่วนที่ไม่ต้องการคือ
X ไม่ต้องการเวทีปราศัยหาเสียง ไม่ต้องการนักพูดที่อ้อมค้อมวกวน ออกนอกประเด็น ไถลไป แถมา
X ไม่ต้องการเวทีโต้วาที ที่มีฝ่ายเสนอกับฝ่ายค้านมาตีฝีปากเอาชนะกันด้วยโวหาร และคำพูดเหน็บแนมกัน แบบว่าต้องอยู่ตรงกันข้ามกันตลอดเวลา เราต้องการเวทีของการสุมหัวกันคิดเพื่อชาติ
X ไม่ต้องการพิธีกรที่ถามแบบเลือกข้าง ถามแบบยุแยงให้เกิดอารมณ์รัก ชอบ โกรธ เกลียด หรืออารมณ์เอาชนะกันบนเวที
นวพร เรืองสกุล 20 สิงหาคม 2563