"...เราได้รับการร้องเรียนเข้ามาจำนวนหนึ่ง ถึงการคุกคามของคนที่เห็นต่าง ไม่ใช้เฉพาะรัฐคุกคามประชาชน แต่มีประชาชนคุกคามประชาชนด้วย เราคิดว่าตอนนี้เรามีสังคมที่ค่อนข้างจะเสรีมากขึ้น มีการแสดงออกไปถึงโรงเรียน สถานศึกษา อยากให้เรายอมรับในความเห็นซึ่งกันและกัน ยอมรับความเห็นของคนที่เห็นต่างไปจากเรา ไม่ว่าฝั่งใดก็ตาม เพราะนี้คือส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย..."
---------------------------------------
สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเริ่มมีความคุกรุ่นมากขึ้น นับตั้งแต่มีการชุมนุมเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กลายเป็นไฟลามทุ่งกระจายตัวไปตามต่างจังหวัด มหาวิทยาลัย และลงไปสู่ระดับโรงเรียน นำมาสู่การชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องหลักอยู่ 3 ข้อ คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภา
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการขยับของหลายฝ่ายเพื่อตอบรับข้อเรียกร้อง พรรคการเมืองเสนอเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการจับกุมและออกหมายจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม (อ่านประกอบ : ไทม์ไลน์ชุมนุมประท้วง รบ.-เปิดหมายจับ 3 ลอต'แกนนำม็อบ'ถูกคุมตัวแล้ว 6 ราย)
นอกจากวาระการแก้ไข รธน. อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในสภาผู้แทนราษฎร คือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ รับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ภายใต้กรอบระยะเวลา 90 วัน ต้องรับฟังผ่านเวทีปราศรัย - สัมภาษณ์บุคคล เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วสารทิศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) คุยกับ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ภูมิใจไทย ในฐานะเลขานุการ กมธ.ชุดดังกล่าว เพื่อถอดสูตรคลายความขัดแย้ง ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายไปมากกว่าเดิม
@แนวทางการทำงานของ กมธ.ชุดนี้เป็นอย่างไร
เรามีความตั้งใจอยากให้ กมธ. คณะนี้เป็นทางออกของสังคม เนื่องจากเราเห็นสังคมที่มีความขัดแย้งในลักษณะนี้มา 10 กว่าปีแล้ว เราจะเห็นได้ว่า หากวันใดก็ตามที่ผู้ประท้วงกับรัฐบาลไม่มีจุดที่สามารถคุยกันได้ ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ให้มานั่งคุยกัน จะเกิดทางตันของประเทศ เราคิดว่าการได้มานั่งคุยกันในรายละเอียดที่จะนำไปสู่ทางออกในสังคมประชาธิปไตย แต่ในอดีตที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าต่างคนต่างยืนอยู่คนละฝั่ง ถ้าภาครัฐทำอย่างหนึ่ง ผู้ชุมนุมจะไปทำอีกแบบหนึ่ง แล้วข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็จะไม่ได้รับการเติมเต็มจากภาครัฐ สุดท้ายก็จบลงด้วยการเผชิญหน้า จบลงด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เราเลยตั้ง กมธ.รับฟังความเห็นนักเรียน นักศึกษาฯ คณะนี้ขึ้นมา มากกว่านั้นเราได้ขอโควตาฝั่งของรัฐบาลให้ผู้ชุมนุมที่เห็นต่างกับรัฐบาลมาเป็น กมธ.ด้วย เพราะด้วยบทบาทของกรรมาธิการสามารถเชิญหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจงได้ ผู้ชุมนุมจะได้ถามกับหน่วยงานต่างๆ ได้โดยตรง เราอยากให้ผู้ชุมนุมเข้ามาเห็นกระบวนการทางกฎหมายว่ามันเป็นอย่างไร เราเลยเสนอให้ตั้ง กมธ.คณะนี้ขึ้นมา
แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายค้าน ก็เป็น กมธ.ฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว กลายเป็นว่า กมธ.คณะนี้ ภาพจะติดลบทางสังคม เราโดนตั้งคำถามว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการถ่วงเวลาหรือไม่ เราก็เรียนตามตรงว่า ทุกเรื่องที่มีการตั้งกมธ. หรือส่งผลสรุปให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ เป็นหนึ่งในพิธีกรรมทางการเมือง เราส่งผลสรุปไปแล้ว นายกหรือรัฐบาลจะทำหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล
@มองภาพรวมของการชุมนุมครั้งนี้อย่างไร
ผมก็ได้มีโอกาสไปดูการชุมนุม เวทีแรกที่จังหวัดศรีสะเกษบ้านของผม การชุมนุมผ่านไปด้วยความเรียบร้อยดี ผู้ชุมนุมได้ทำความเข้าใจกับตำรวจเพื่อหาขอบเขตการชุมนุมว่ามีอยู่ตรงไหนบ้าง และต้องขออนุญาติหน่วยงานใดบ้างตามกฎหมาย ถือว่าผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างดี เนื้อหาที่อภิปรายในวันนั้น มีความหลากหลายมาก โดยสรุปแทบทุกเวที มีหลักใหญ่ใจความอยู่ 3 ข้อเรียกร้อง 1.ให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน 2.ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ให้มีการยุบสภา ในแต่ละเวทีก็มีรายละเอียดปีกย่อยที่จะแตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น เวทีชุมนุมของนักเรียน จะมีการพูดถึงปัญหาเรื่องทรงผม เรื่องพิธีไหว้ครู ความหลากหลายทางเพศ หรือเวทีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะพูดเรื่องของการจัดการภายในมหาวิทยาลัยจากคณะผู้บริหารที่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษา เป็นต้น
@พบอะไรจากการรับฟังความเห็นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
ด้วยต้นทุนของ กมธ.ที่ต่ำ เราก็พยายามเต็มที่ ตั้งที่ปรึกษาที่มีความเห็นด้วยกับฝั่งผู้ชุมนุม ทำงานให้เร็วที่สุด เราออกไปสังเกตการณ์ รับฟังเสียงผู้ชุมนุมทุกครั้งที่มีกิจกรรม เพื่ออยากแสดงให้เห็นว่าเรารับฟังความคิดเห็นจริง และเราไม่เกี่ยงว่าเป็นฝ่ายไหน เพราะในขณะเดียวกันเราก็รับฟังฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม เราคิดว่าหน้าที่ของ กมธ.ต้องตรงไปตรงมา
เราได้เชิญทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาใน กมธ.มีการพูดคุยกับตำรวจว่า ให้ใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ได้หรือไม่ แต่ด้วยหน้าที่ของตำรวจถ้ามีคนไปร้องว่ามีคนทำผิดกฎหมาย ก็ต้องจับกุม แต่จะช้าจะเร็วขึ้นอยู่กับกระบวนการ เราขอให้เขาใช้หลักรัฐศาสตร์มากหน่อยได้ไหม จนเขาตอบกลับมาว่าอยากให้เขาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่ บางครั้งเรื่องพวกนี้เราก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน
กมธ.เข้าใจทุกฝ่าย ฝั่งของผู้ชุมนุมก็มีความอึดอัดที่ถูกดำเนินคดี ทางฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องทำตามกฎหมาย สิ่งที่เราทำได้คือให้หลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย การเห็นด้วยหรือเห็นต่างไม่ใช่ความผิด เพราะเป็นสิทธิ์ แต่เมื่อไหร่ที่ทำผิดกฎหมายเท่ากับว่าเปิดโอกาสให้กับฝั่งตรงข้ามได้จู่โจมเราแล้ว และจะเป็นต้นเหตุให้สถานการณ์มีโอกาสบานปลายได้
เราได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) มาพูดคุย ทางนั้นก็เห็นตรงกันว่า สามารถทำกิจกรรมชุมนุมได้ในโรงเรียนตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้มีคำสั่งให้ผู้บริหารโรงเรียนสามารถอนุมัติการจัดกิจกรรมได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปขอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอทางเทศบาลใช้เสียง ในขณะเดียวกับคุณครูในโรงเรียนก็จะได้แนะนำให้น้องนักเรียนได้ว่าเขาควรจัดกิจกรรมอย่างไรไม่ให้เกินขอบเขตการทางกฎหมาย เพราะการแสดงออกเป็นเสรีภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมายด้วย (อ่านประกอบ : นร.ชุมนุมได้ ! สพฐ.ออกหนังสือด่วน ให้ร.ร.เปิดพื้นที่แสดงออกสิทธิเสรีภาพ )
เราทำงานเชิงรุกให้เร็วที่สุดเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ เวลาของ กมธ.ชุดนี้ได้มา 90 วัน แต่ภายในอาทิตย์นี้เราจะสรุปผลแล้ว ใช้เวลารับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 20 กว่าวัน แล้วจะนำรายงานเข้าสภาวันที่ 27 ส.ค. รวมแล้วประมาณ 30 วัน
@ข้อสรุปเบื้องต้นเป็นอย่างไร
สิ่งที่ กมธ.อยากจะเห็น อยากให้สังคมไทยไปสู่การเมืองมิติใหม่ ที่ไม่ใช่การเผชิญหน้ากันเหมือนในอดีต 15 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่อยากฝากฝั่งรัฐบาล คือการบังคับใช้กฎหมาย ก็ขอให้ใช้ดุลพินิจประกอบกับสถานการณ์ อย่าให้มีการกระทำอะไรที่เหมือนกับว่าเติมเชื้อไฟเข้ากองฟืน ยกตัวอย่างประเด็นที่ผู้ชุมนุมมีความสงสัยว่าจะถูกยัดข้อหา คุกคาม ส่งคนไปติดตาม หรือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปพูดคุยนอกรอบ ที่จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้เห็นต่าง เรื่องเหล่านี้ควรจะหลีกเลี่ยง หากทางฝั่งรัฐไม่อยากสูญเสีย ผมเห็นว่ารัฐควรถอยให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
สิ่งที่อยากจะฝากต่อผู้ชุมนุมก็คือ หากข้อเรียกร้องของท่านได้รับการเติมเต็มแล้ว ขอให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการที่จะทำให้สังคมเดินหน้าได้ต่อไป และสิ่งหนึ่งที่อยากฝากกับสังคมไทยคือ เราได้รับการร้องเรียนเข้ามาจำนวนหนึ่ง ถึงการคุกคามของคนที่เห็นต่าง ไม่ใช้เฉพาะรัฐคุกคามประชาชน แต่มีประชาชนคุกคามประชาชนด้วย เราคิดว่าตอนนี้เรามีสังคมที่ค่อนข้างจะเสรีมากขึ้น มีการแสดงออกไปถึงโรงเรียน สถานศึกษา อยากให้เรายอมรับในความเห็นซึ่งกันและกัน ยอมรับความเห็นของคนที่เห็นต่างไปจากเรา ไม่ว่าฝั่งใดก็ตาม เพราะนี้คือส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage