"...จากนี้ไปก็ต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับอื่น ๆ ที่จะมีตามมาอีก โดยเฉพาะร่างฯของพรรคก้าวไกล ร่างฯของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างฯของคณะรัฐมนตรี ร่างฯของประชาชน 50,000 คน ให้ครบ ๆ ก่อนจะมีความเห็นในภาพรวม..."
เมื่อวันที่ 17 สิงหา พรรคเพื่อไทยในนามของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมร่างแรกไปแล้ว โดยไม่ปรากฎว่ามีพรรคก้าวไกลร่วมแถลงด้วยในครั้งนี้
ร่างฯที่ยื่นไปเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แก้ไข 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 - แก้ไขเนื้อหาในมาตรา 256 หลัก ๆ คือให้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้แค่เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาตามปกติเท่านั้น ไม่ต้องมีเงื่อนไขต้องได้เสียงของส.ว. 1 ใน 3 ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 และต้องได้เสียงของส.ส.พรรคฝ่ายค้านร้อยละ 20 ในวาระที่ 3 รวมทั้งยกเลิกการที่ต้องนำไปลงประชามติในบางประเด็น
พูดง่าย ๆ คือแก้ไขกลับไปให้เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ
ประเด็นที่ 2 - เพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.ร. เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับขึ้นมาใช้แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560
เรามาดูขั้นตอนรายละเอียดโดยสังเขปในประเด็นนี้กันหน่อย
- กำหนดให้มีส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ใช่จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนแต่ละคนมีสิทธิเลือกได้เพียง 1 คน พูดง่าย ๆ ว่านำเอานวัตกรรมการเลือกตั้งส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาประยุกต์ใช้
- ให้ส.ส.ร.ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 45 คน องค์ประกอบมาจากจากส.ส.ร. 30 คน โดยให้คำนึงถึงพื้นที่ประกอบด้วย และผู้เชี่ยวชาญอีก 3 สาขา ๆ ละ 5 คน รวม 15 คน
- ให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป และในทุกจังหวัด โดยให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง
- กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่ประชุมส.ส.ร.ครั้งแรก ทั้งนี้ส.ส.ร.ต้องจัดประชุมครั้งแรกภายใน 30 วันนับจากวันประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.ร.
- ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ โดยกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย - ประเด็นนี้แหละที่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย
- เมื่อส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้วส่งให้ก.ก.ต.นำไปจัดทำประชามติ ภายใน 45 - 60 วัน
- หากร่างรัฐธรรมนูญตกไปไม่ว่าจะโดยเหตุใด ให้ส.ส.ร.หมดสมาชิกภาพไป แต่มีบทบัญญัติให้สามารถเริ่มกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้อีกโดยกลับไปเริ่มนับ 1 โดยเลือกตั้งส.ส.ร.ชุดใหม่
ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า จะไปถึงจุดนี้ได้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมตามมาตรา 256 คือนอกจากจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาแล้ว ยังจะต้องเป็นเสียงของส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 และต้องมีเสียงของส.ส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในวาระที่ 3
และที่สำคัญที่สุด เมื่อผ่านรัฐสภาตามเงื่อนไขข้างต้นแล้วยังต้องนำไปทำประชามติก่อน
สรุปเป็นเบื้องต้นว่าการจะไปถึงรัฐธรรมนูญใหม่ได้ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านนี้ อย่างน้อย....
- ต้องผ่านการลงประชามติ 2 ครั้ง
- ต้องมีการเลือกตั้งส.ส.ร.โดยตรง 1 ครั้ง
และถ้ารวมกับข้อเสนอต่าง ๆ ว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วให้มีการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งส.ส.ตามกติกาใหม่ ก็ต้องเพิ่มลงไปอีกข้อ...
- ยุบสภา/เลือกตั้งส.ส.ชุดใหม่
ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินให้ก.ก.ต.ประมาณ 15,000 ล้านบาท
แต่ถ้านับเฉพาะกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ก็จะเหลือเพียง 11,000 ล้านบาท
จำนวนทั้งสองนี้ไม่นับค่าใช้จ่ายของส.ส.ร. 200 คน และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกจังหวัดและเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง แม้จะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุอุปสรรค แต่ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่ตัองรับรู้และเตรียมการไว้
เพราะเป็นเงินที่นะต้องใช้ภายใน 18 เดือนนับจากร่างฯฉบับนี้ผ่าน
ทั้งนี้ ระยะเวลาของโรดแม้ปไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากเป็นไปตามร่างฯนี้ ถ้าไม่นับการยุบสถาเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นอย่างน้อยที่สุดเร็วที่สุดก็ 15 เดือน โดยแยกเป็น...
- ระยะเวลาในการกระบวนการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งรวมการจัดประชามติด้วย อย่างเร็วที่สุดไม่น่าจะต่ำกว่า 5 เดือน
- ต่อด้วยระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งส.ส.ร.อีก 3 เดือน
- สุดท้ายคือระยะเวลาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของส.ส.ร. รวมประชามติด้วย อีกไม่น้อยกว่า 7 - 8 เดือน
โดยถ้านับรวมเวลายุบสภาเลือกส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยก็บวกเข้าไปอีก 3 เดือน
วันนี้ เอาแต่ข้อมูลดิบก่อน
จากนี้ไปก็ต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับอื่น ๆ ที่จะมีตามมาอีก โดยเฉพาะร่างฯของพรรคก้าวไกล ร่างฯของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างฯของคณะรัฐมนตรี ร่างฯของประชาชน 50,000 คน ให้ครบ ๆ ก่อนจะมีความเห็นในภาพรวม
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3219634128080519&id=100001018909881