หมายเหตุ : คำกล่าวของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน “ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ” วันที่ 17 ส.ค. 63 เวลา 13.30 น. ณ ห้อง Auditorium อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ถนนสุขุมวิท 101 กรุงเทพมหานคร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานยกกำลังสองการศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศและได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับหัวข้อการขับเคลื่อนการศึกษาไทยว่า การยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ ถือเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาไทย โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและอุปสรรค ที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการนำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษา เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของเรา ภายใต้การนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน พร้อมทั้ง ตั้งเป้าหมายการดำเนินงาน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งในโลกยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เราจึงต้องเตรียมความพร้อมในการผลิตและพัฒนากำลังคนในทุกมิติ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้ง ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย อาทิ การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ภาษาต่างประเทศ การสนับสนุนการเรียนรู้กับชุมชน เป็นต้น เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้หลังจบการศึกษา
นอกจากนี้ ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลาหลายปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาไทยหลายด้าน โดยขอฝากให้กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา และครู ร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงฝากการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ เช่น การลดจำนวนการบ้านของเด็กนักเรียน, การแนะแนวเด็กให้พัฒนาความสามารถได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามพรสวรรค์ของแต่ละคน, การสอนประสบการณ์นอกห้องเรียนให้นักเรียน, การลดงานเอกสารของครู, การอบรมและพัฒนาครูอย่างมีประสิทธิภาพ, การเตรียมกำลังคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-curve เป็นต้น โดยเฉพาะการตั้งศูนย์อบรมและพัฒนาครูในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ครูได้อยู่ในห้องเรียนกับเด็กมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับการอบรม ถือเป็นการพัฒนาท้องถิ่นด้วย
ในส่วนของการอาชีวศึกษา ขอฝากผู้ประกอบการภาคเอกชนในการรับเด็กอาชีวศึกษา เข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพิจารณาการรับเข้าทำงานเมื่อจบการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กอาชีวะมีงานทำ และได้พัฒนาทักษะให้มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ เนื่องจากระบบการศึกษาของไทย มีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สิ่งสำคัญ คือ การวางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ในการร่วมกันรับผิดชอบ และร่วมกันพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพื่อให้คนเหล่านี้เติบโตและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในอนาคต
เราได้ทำการปฏิรูปทั้งในด้านการคัดเลือก และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการสอนที่ได้มาตรฐาน มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการเรียนรู้ การสร้างสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา รวมไปถึงหลักเกณฑ์การวัดและประเมินผลการเรียน ที่สำคัญการวัดและประเมินผลงานการสอนของคุณครูทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพของคุณครู ทั่วประเทศสู่มาตรการการเรียนการสอนระดับสากล
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น มีการศึกษาที่เป็นเลิศ เท่าทันบริบทภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นการศึกษาที่สามารถ พัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและตลาดได้ โดยมุ่งเน้น การพัฒนาศักยภาพบุคคล สู่ความเป็นเลิศตามบริบทในแบบฉบับของนักเรียนที่แต่ละคนต้องการ
จากสิ่งที่ผมได้พบเห็นทุกท่านในวันนี้ ผมเห็นถึงความมุ่งมั่นของภาคเอกชน และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือ ร่วมใจกับภาครัฐเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นทัดเทียมมาตรฐานโลก และผมรู้สึกยินดีกับเยาวชนของชาติที่ได้รับการดูแล ได้รับการฝึกสอน ผ่านความร่วมมือที่กระชับแน่นจากภาคเอกชนชั้นนำระดับโลก
ผมมีความหวัง และเชื่อมั่นว่า หน้าประวัติศาสตร์ด้านการศึกษาไทยที่ได้ถูกเขียนขึ้นใหม่ในวันนี้ จะเป็นพันธกิจที่ร่วมกันที่สืบสานอย่างต่อเนื่อง เป็นพันธกิจที่จะต้องร่วมกันก้าวเดินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะพันธกิจนี้ มีทุกท่านในที่นี้ รวมถึงประชาชนคนไทย เป็นหุ้นส่วน มีความรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างเยาวชนไทยให้เติบโต เป็นคนดี เป็นคนเก่ง อย่างมีคุณภาพ เป็นฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตกลายเป็นผู้นำ และเป็นผู้รับช่วงต่อในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคตต่อไป
รูปภาพจาก : spm.thaigov.go.th/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage