"...ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คำสั่งใหม่ไม่ได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดความเห็นของพนักงานสอบสวนที่เห็นควรสั่งฟ้อง ซึ่งตรงกับความเห็นของพนักงานอัยการในท้องที่เกิดเหตุและสั่งฟ้องในข้อหานี้ ไม่น่าเชื่อ จึงถึงขนาดที่ผู้รักษาการในตำแหน่งรอง อสส. ต้องกลับความเห็นและคำสั่งเดิม..."
นายวัส ติงสมิตร (ซ้าย) นายวรยุทธ อยู่วิทยา (กลาง) และ นายเนตร นาคสุข (ขวา)
1.ความเห็น มีทั้งที่เห็นว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว (เจ้าของคำสั่ง-นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด) และไม่ชอบด้วยกฎหมาย (นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธาน คณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ.)
2.ประธาน ก.อ. เห็นว่า นายเนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด(อสส.) ไม่มีอำนาจออกคำสั่งใหม่ เพราะเดิม อสส. เป็นผู้สั่งฟ้อง(ข้อเท็จจริง สั่งให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรม) ผู้รักษาการในตำแหน่ง รอง อสส. จึงไม่มีอำนาจในการกลับคำสั่งของ อสส. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตน
ผู้เขียนเห็นว่า การใช้เหตุผลอย่างนี้น่าจะจะมีปัญหาโต้แย้งได้หลายประการ อย่างน้อยที่สุดก็คือ คดีนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่ อสส. จะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เพราะคำสั่งฟ้องเดิมน่าจะเป็นของพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ แต่นายวรยุทธหรือบอส อยู่วิทยา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ 1 ร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงาน อสส. 10 กว่าครั้ง จน อสส. ในขณะนั้น สั่งให้ยุติกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมเท่านั้น อสส. ไม่ได้มีคำสั่งให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.)
3.ผู้รักษาการในตำแหน่งรอง อสส. ในขณะนั้น อ้างว่า ตนมีอำนาจพิจารณาปัญหาการร้องขอความเป็นธรรม เพราะ อสส. คนปัจจุบันได้มีคำสั่งที่ 1515/2562 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 มอบให้ตนรับผิดชอบงานคดีร้องขอความเป็นธรรมด้วย จึงเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน อสส. มีอำนาจพิจารณาคดีร้องขอความเป็นธรรมของฝ่ายนายบอส และได้ใช้อำนาจของ อสส. พิจารณาคดีนี้แล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องนายบอสได้ จึงมีคำสั่งกลับความเห็นและคำสั่งเดิมเป็นสั่งไม่ฟ้องนายบอสในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่ต้องเสนอคำสั่งไม่ฟ้องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145/1 ซึ่งเหตุผลของ รอง อสส. ไม่น่าจะมีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะอ้างว่า มีอำนาจสั่งใหม่ เนื่องจากปฏิบัติราชการแทน อสส. แต่ตอนออกคำสั่งใหม่ไม่ฟ้อง กลับอ้างว่าสั่งในฐานะ รอง อสส. ซึ่งย้อนแย้งกันเอง
4.ผู้รักษาการในตำแหน่งรอง อสส ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ในประการสำคัญว่า เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีก มีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติม 2 ปาก (พลอากาศโท และนาย จ.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน สอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญ
ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่า เหตุเกิดจากดาบตำรวจผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 เข้าไปในช่องทางที่ 3 ซึ่งเป็นช่องทางที่นายบอสขับรถยนต์เฟอร์รารี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในระยะกระชั้นชั้นชิด ทำให้นายบอสไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่ความประมาทของนายบอส แต่เกิดจากความประมาทของดาบตำรวจผู้ตาย การกระทำของนายบอสจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พยานหลักฐานไม่พอฟ้องนายบอสในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิม ฝ่ายดาบตำรวจผู้ตายได้รับชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายนายบอสจนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับนายบอสอีกต่อไป จึงสั่งไม่ฟ้องนายบอสในข้อหาดังกล่าว กลับความเห็นและคำสั่งเดิม กรณีสั่งไม่ฟ้อง เสนอ ผบ.ตร.พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145/1
5.ผู้เขียนพิจารณาเนื้อหาในคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวในข้อ 4 แล้วเห็นว่า ความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญตามที่อ้างเป็นความเห็นที่เข้าสู่สำนวนภายหลังเกิดเหตุหลายปี ไม่ใช่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในช่วงเกิดเหตุ อีกทั้งขัดแย้งกับสภาพความเสียหายที่ด้านหน้าของตัวถังรถเฟอร์รารี่ซึ่งเป็นรถแข่งหรู สร้างด้วยวัสดุที่แข็งและทนทาน กระจกหน้ารถบุบเป็นวงกว้าง สภาพศพดาบตำรวจผู้ตายและเครื่องหมายบนเสื้อของผู้ตายติดอยู่ที่หน้ารถเฟอร์รารี่
ส่วนการสอบสวนพยานบุคคล 2 ปากเพิ่มเติม ก็เพิ่งจะมีการสอบสวนหลังเกิดเหตุเป็นเวลานาน 7 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่า เหตุใดพยานจึงมีเหตุต้องขับรถยนต์มาในเวลาเกิดเหตุ และรู้เห็นเหตุการณ์จริง จนถึงขนาดสามารถสรุปได้ว่า เป็นประจักษ์พยานที่น่าเชื่อถือ
ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คำสั่งใหม่ไม่ได้ให้เหตุผลว่า เหตุใดความเห็นของพนักงานสอบสวนที่เห็นควรสั่งฟ้อง ซึ่งตรงกับความเห็นของพนักงานอัยการในท้องที่เกิดเหตุและสั่งฟ้องในข้อหานี้ ไม่น่าเชื่อ จึงถึงขนาดที่ผู้รักษาการในตำแหน่งรอง อสส. ต้องกลับความเห็นและคำสั่งเดิม
6.องค์กรอัยการไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แม้พนักงานอัยการจะมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ต้องกระทำโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 248 และพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21)
คดีนี้ ผู้รักษาการในตำแหน่งรอง อสส. ไม่ได้แสดงเหตุผลอันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553
คำสั่งไม่ฟ้องของผู้รักษาการในตำแหน่งรอง อสส. ที่กลับคำสั่งฟ้องเดิมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุที่จะให้เพิกถอนได้ เมื่อเพิกถอนคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว คำสั่งฟ้องเดิมมีผลใช้บังคับต่อไป
วัส ติงสมิตร
อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐ และ กสม.