"...คอร์รัปชันในการจัดทำงบประมาณฯ เป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างภาคการเมือง ภาคธุรกิจและหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดทำงบประมาณ ภายใต้วัฒนธรรมอุปถัมภ์ แทรกแซง ปกปิด ติดสินบน ทำให้เงินงบประมาณแผ่นดินที่มีอย่างจำกัด ต้องสูญเสียหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นประชาชนและสื่อมวลชนไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งๆ ที่เงินเหล่านี้คือภาษีของประชาชน..."
“การขายงบประมาณ” ในสภาผู้แทนราษฎรเรื่องฉ้อฉลขั้นรุนแรงที่รับรู้กันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ข่าว ส.ส. เรียกเงิน 5 ล้านบาทจากอธิบดีกรมน้ำบาดาล กลายเป็นเรื่องฮือฮาก็เพราะครั้งนี้ ส.ส. กล้าขอเป็นตัวเงิน อธิบดีก็กล้าสู้กล้าเปิดโปง ไม่ยอมเป็นเบี้ยล่าง
นักการเมืองได้อะไร จากเกมอุบาทว์
การพิจารณางบประมาณประจำปีของสภาฯ ดูเป็นเรื่องปรกติที่ ส.ส. หลายคนจะยื้อให้ยืดเยื้อและกดดันข้าราชการเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์บางอย่างแก่ตัวเองและพวกพ้อง
1. เรียกรับผลประโยชน์ เมื่อถูกดึงเรื่อง แขวนงบอย่างผิดปรกติ เป็นที่ทราบกันว่าสิ่งที่ต้องทำคือ ให้เอกชนที่ “วิ่งงบประมาณ” นำเงินไปเคลียร์ ทำนองเดียวกับที่อธิบดีกรมน้ำบาดาลโดน วิธีที่สอง ข้าราชการต้องรับปากว่าจะจัดสรรเงินจากกองทุนในความดูแลหรืองบโฆษณา งบการตลาดของหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนหรือบริจาคให้โครงการที่นักการเมืองเสนอ วิธีที่สาม ข้าราชการระดับสูงต้องนำของกำนัลไปมอบเพื่อแสดงการยอมรับในอำนาจบารมี เช่น ไวน์ พระเครื่อง เนื้อวากิว
2. จัดสรรงบ ดึงโครงการลงในเขตเลือกตั้งของนักการเมืองและพวกพ้อง วิธีนี้นักการเมืองอาจตามไปมีเอี่ยวในการจัดซื้อจัดจ้างอีกทอดหนึ่ง
3. รีดข้อมูลภายใน เป็นการบีบบังคับให้ข้าราชการเอาความลับสำคัญที่ศึกษาตระเตรียมไว้มามอบให้ เช่น บัญชีรายชื่อผู้รับเหมาชั้นพิเศษ แผนการลงทุนในอนาคต ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ตีราคาเป็นเงินได้ ที่สำคัญจะช่วยให้เกิดการได้เปรียบอย่างมากต่อคู่แข่งขันทางการค้าและการเมือง
แก้ไม่ได้หรือไม่คิดจะแก้?
กระบวนการจัดทำงบประมาณที่ล้าหลังและเต็มไปด้วยช่องว่างให้คดโกงได้โจ๋งครึ่มเช่นนี้ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2546 และมีข้อเสนอเป็นวาระปฏิรูปในปี 2558 แต่วันนี้ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร
ที่เป็นเช่นนี้เพราะขบวนการผลาญชาติและกลโกงถูกส่งต่อ เรียนรู้ เลียนแบบกันรุ่นสู่รุ่น รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 และฉบับปัจจุบัน ห้ามมิให้ ส.ส. และ กมธ. แปรญัตติ พ.ร.บ.งบประมาณด้วยวิธีการใดๆ ที่ทำให้ตนและพวกพ้องได้ประโยชน์
มาตรการนี้ไม่มีใครเกรงกลัว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมี ส.ส. คนไหนถูกดำเนินคดีในศาลด้วยข้อหานี้เลย เพิ่งมีเพียงคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิป ส.ส. รัฐบาล และพวก ในโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล ว่าทำการทุจริตเชิงนโยบาย โดยเข้าไปครอบงำ บงการการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าวโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
แต่ผ่านไป 8 ปี ไม่มีใครรู้ว่า สุดท้ายแล้วอัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องคดีนี้ให้เป็นคดีประวัติศาสตร์หรือไม่
ในการจัดทำงบประมาณยังมีหลายกรณีที่ขาดธรรมาภิบาล เป็นต้นว่า
“หน่วยราชการบางหน่วยมีอำนาจต่อรองในกระบวนการจัดเตรียมงบประมาณสูง โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย ซึ่งมักปรากฏความไม่ชอบมาพากลและไม่โปร่งใสในการจัดหาอาวุธของกองทัพ นอกจากนี้ ภายหลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 งบประมาณกระทรวงกลาโหมและกองทัพเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ตามแผนการป้องกันประเทศ”
คอร์รัปชันในการจัดทำงบประมาณฯ เป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างภาคการเมือง ภาคธุรกิจและหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดทำงบประมาณ ภายใต้วัฒนธรรมอุปถัมภ์ แทรกแซง ปกปิด ติดสินบน ทำให้เงินงบประมาณแผ่นดินที่มีอย่างจำกัด ต้องสูญเสียหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นประชาชนและสื่อมวลชนไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งๆ ที่เงินเหล่านี้คือภาษีของประชาชน
คอร์รัปชันในรัฐสภา คือคอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ทำลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกฎหมายและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำลายศักดิ์ศรีของประเทศในสายตานานาชาติ
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการโกงบ้านกินเมืองของนักการเมืองในการจัดทำงบประมาณ และแนวทางแก้ไข จากรายงานการวิจัยของ ป.ป.ช. เรื่อง การปฏิรูประบบงบประมาณของไทยเพื่อต่อต้านการทุจริต, พ.ศ. 2555 และรายงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วาระปฏิรูปที่ 4 : การปฏิรูประบบงบประมาณและการคลังท้องถิ่น : การปฏิรูประบบงบประมาณ, พ.ศ. 2558
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)