"...เมื่อปรากฏว่า ‘ภริยา’ และ ‘ท่าน’ มีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นซึ่งน่าจะเข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของภรรยาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2562 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่..."
มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงรายหนึ่งก่อนเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานเมื่อประมาณปลายปี 2562 ได้หย่ากับภรรยา โดยไม่ทราบเหตุผล แต่เรื่องดังกล่าวเริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้างเนื่องจากในประวัติของเจ้าหน้าที่รายนี้ที่ต้องยื่นให้กับองค์กรที่รับรองก่อนเข้ารับตำแหน่ง ระบุสถานภาพสมรสว่า ‘หย่า’
อย่างไรก็ตามมีปัญหาว่า เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐรายนี้เข้ารับตำแหน่งแล้วต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของภรรยาที่หย่าแล้วต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือไม่
เมื่อ ไปดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 วรรคสองระบุไว้ชัดเจนว่า การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐให้รวมถึงคู่สมรสด้วยซึ่งคู่สมรสให้รวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วยโดยหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด
สำหรับหลักเกณฑ์ ‘ผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา’โดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็น ‘คู่สมรส’ ของ ป.ป.ช.ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ที่เจ้าหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยนั้นกำหนดอยู่ในข้อ 3(2)ที่ระบุว่า
“เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่า มีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะดังกล่าว ทั้งนี้ ให้หมายรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะเป็นสามีภริยากัน”
เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 102 ประกอบข้อ 3 (2)ของ ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ต้องมาดูว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าว ซึ่ง “หย่า” จากภรรยา มีพฤติการณ์ “แสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะเป็นสามีภริยากัน” หรือไม่
ในหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าว เป็นหัวหน้าอยู่นั้น มีการจัดตั้ง “สมาคมภริยา...”เหมือนกับหน่วยงานรัฐแห่งอื่นๆ เช่น กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ซึ่งตามระเบียบของสมาคมดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่า นายกสมาคม...ต้องเป็นภริยาของหัวหน้าหน่วยงานนั้นโดยตำแหน่ง
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวได้”หย่า”กับภรรยาแล้ว ก็ไม่น่าจะมีสิทธิได้รับเลือกหรือแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่า ‘ภริยา’ของ ‘ท่าน’ กลับได้รับเลือกหรือแต่งตั้งเป็นนายกสมาคม มาตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวได้รังแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยงาน
เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมฯแล้ว ‘ภริยา’ ของ ‘ท่าน’ ได้ใช้หัวโขนในฐานะนายกสมาคมฯออกงานสังคมต่างๆอย่างเปิดเผย ซึ่งเห็นได้ในข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนอยู่เสมอๆ นอกจากนั้นทั้งสองยังปรากฏตัวร่วมกันทั้งในงานแต่งงาน(ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563) และงานบุญต่างๆร่วมกับผู้ยิ่งใหญ่อยู่เนืองๆ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างเสียงซุบซิบนินทาและความคับข้องใจให้กับบรรดาลูกน้องเป็นอย่างมากเพราะอยู่ในสภาพน้ำท่วมปาก พูดไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ต่อพฤติกรรมของหัวหน้าหน่วยงาน
ไม่ต่างจากบรรดาอัยการหนุ่มสาวที่ซื่อสัตย์สุจริตในขณะนี้ต่างเอือมระอาต่อพฤติกรรมและการกระทำของผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดบางคนจนโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงขนาดบ่นว่า ไปไหนมาไหนอยากเอาปี๊บคลุมหัว
เมื่อปรากฏว่า ‘ภริยา’ และ ‘ท่าน’ มีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นซึ่งน่าจะเข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของภรรยาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2562 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่
เพราะการ เป็นทั้ง “นายกสมาคม..” และการปรากฏตัวร่วมกันในงานสังคมบ่อยครั้ง ทั้งๆที่ ‘หย่า’ กันแล้ว น่าจะเป็นการ “แสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะเป็นสามีภริยากัน”
แต่น่าเสียดายที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯซึ่งร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบในกรณีดังกล่าวได้เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะนั้น เต็มไปด้วยความลักลั่นกล่าวคือตำแหน่งที่มีอำนาจอิทธิพลสูงในการให้คุณให้โทษกับประชาชน โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะเหมือตำแหน่งอื่นๆที่มีอำนาจน้อยกว่า
เมื่อตามกฎหมายไม่สามารถให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของภรรยาที่ ‘หย่า’กันแล้วหรือไม่
จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยตรงที่การตรวจสอบลำบากเพียงยกมือเท่านั้น คงไม่ต้องต้องใช้เวลานานหลายปีเหมือนกับคดีอื่นๆ