“...แต่ของสังคมไทยต้องเพิ่มเรื่อง ความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีข้าราชการดี ๆ หลายคนต้องติดคุก เพราะมาจากความเกรงใจ ไปแก้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักการเมืองให้ได้ประโยชน์ แต่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย…”
..................................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘คุณธรรมโปร่งใส ยุค 4.0’ ในงานสัมมนาสาธารณะ หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 11 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนหนึ่ง ดังนี้
----
มีหลายคนตั้งคำถามว่า โควิด-19 กับต้มยำกุ้ง อย่างไหนหนักกว่ากัน
หลายคนร้อยละ 99 ตอบว่า โควิด-19 หนักกว่า ที่ผมไม่กล้าพูดว่าร้อยละ 100 เพราะฟังจากบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์บอกว่า วิกฤติต้มยำกุ้งหนักกว่า ธุรกิจล้มละลายเลย
แต่โดยภาพรวมวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ไม่ได้กระจายไปทั่วโลกแบบนี้ ไม่ถึงขั้นคนฆ่าตัวตายกันมากมาย เป็นวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ไม่ถึงวิกฤติสังคม โดยประเทศไทยได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 2 ประเทศจากทั่วโลกในแง่ว่า สามารถแก้ไขวิกฤติต้มยำกุ้งได้โดยไม่เกิดวิกฤติสังคม
ผมเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้นมาจาก ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมครอบครัวแบบคนไทย ที่ครอบครัวไม่ทอดทิ้งกัน เช่น เมื่อลูกตกงานสมัยนั้น กลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ แต่เข้าใจว่าคนแถบยุโรป เขายากที่จะมีแบบนี้ เมื่อเขาเจอวิกฤตินิดเดียว เจอคนไร้บ้าน (Homeless) กระจายทั้งเมือง เราไม่ค่อยมีลักษณะนั้น เพราะซึมซับระบบวัฒนธรรมครอบครัว เป็นเรื่องจริงที่ลดปัญหาได้
ย้อนกลับมาวิกฤติโควิด-19 ในไทย แม้แต่วงการแพทย์ที่ชื่นชมกันอยู่ ในสภาเคยมีสมาชิกยืนขึ้น แล้วปรบมือยกย่อง ผมบอกว่าเราไม่ต้องปรบมือยืนขึ้นหรอก เพราะเราต้องให้เขามากกว่านั้น
ขออธิบายเพิ่มว่า ที่จริงงานสาธารณสุขไทย หลายคนอาจไม่รู้บทบาทดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 แต่สาธารณสุขไทยมีบทบาทมานานแล้ว เพราะคุณสมบัติของแพทย์ไทย คือความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะจบจากสถาบันการศึกษาใด ต่างอยู่ภายใต้ปรัชญาของพระราชบิดาที่พระราชทานว่า ให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง โดยหลักสูตรการแพทย์ไทยทุกแห่งนำปรัชญาดังกล่าวมาใช้ในการเรียนการสอน
ผมเคยพูดย้ำเรื่องนี้ในที่ประชุมอาเซียนว่า ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จ เพราะลักษณะพิเศษของสังคมไทยมีความเมตตากรุณา มีน้ำใจ แต่ไม่อยู่ใน 17 ข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดังนั้นเมื่อตัวแทนของยูเอ็นมาพบผมที่รัฐสภา เลยแนะนำว่า น่าจะทำเพิ่มข้อ 18 คือ สังคมต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เพราะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่มีเงินมากเงินน้อย แต่เพราะความมีน้ำใจที่ถือเป็นประเด็นสำคัญ
ส่วนแนวทางเรื่องธรรมาภิบาล ภาพรวมตอนเกิดเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เมื่อรัฐบาลประกาศปรับค่าเงินบาท ขณะนั้นประชาชน หรือผู้ประกอบการธุรกิจที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศไม่ได้เรียมตัวป้องกัน ทำให้หลายคนประสบปัญหา
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่ตัดสินใจปรับค่าเงินบาท เพราะมีผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายธนาคาร หรือฝ่ายการเงินในไทย มาบอกกับท่านว่า สู้ได้ แม้รักษาค่าเงินบาทในประเทศไม่ได้ แต่เอาเงินสำรองประเทศมาสู้ได้ ไม่ต้องปรับค่าเงิน แต่ในที่สุดเงินสำรองประเทศที่เอามาสู้ก็เกือบหมด เอาไม่อยู่ เมื่อเอาไม่อยู่ ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมเลยแจ้ง พล.อ.ชวลิต ว่า ให้ปรับค่าเงินบาท
นี่เป็นข้อมูลใหม่ เรื่องนี้ที่ผมพูดผมเห็นใจท่าน (พล.อ.ชวลิต) เพราะการที่จะปรับหรือไม่ปรับค่าเงินบาทขณะนั้น เพราะมีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมายืนยัน เมื่อปรับค่าเงินบาท กลายเป็นเรื่องบานปลาย เพราะในคำพิพากษาของศาลฎีกา ระบุว่า มีบุคคลอื่นนอกเหนือจากนายกรัฐมนตรี อยู่ในห้องประชุมก่อนประกาศปรับค่าเงินบาทด้วย ทำให้ความลับถูกเปิดเผยออกมา
ส่วนผมตอนนั้นเป็น รมว.กลาโหม ต้องแก้วิกฤติด้วย เพราะกองทัพอากาศทำสัญญาจัดซื้อเครื่องบิน F-18 วงเงินกว่า 2-3 หมื่นล้านบาทขณะนั้น ทำสัญญามัดจำไว้หมดแล้ว ถ้าผิดสัญญาค่าปรับเท่าไหร่ แต่ตอนนั้นไม่อาจจ่ายเงินได้ เพราะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในไทย ทำให้ท้ายที่สุดมีการไปกู้เงินจาก IMF โดยมีเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้หลายอย่าง
ต่อมาเมื่อ พล.อ.ชวลิต ลาออก ผมเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ได้ตั้งทีมเศรษฐกิจเจรจากับ IMF เพื่อปลดล็อกเงื่อนไขหลายอย่าง และผมเองบินไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจากับกระทรวงกลาโหม เพื่อขอยกเลิกสัญญาจัดซื้อเครื่องบิน F-18 พร้อมกับขอเงินมัดจำคืนด้วย
“คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ตอนนั้นเป็นล่ามให้ผมในการพูดคุยกับ รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ผมบอกไปเลยว่าไม่อาย เพราะมีปัญหาจริง ๆ เลยขอเงินมัดจำคืน รมว.กลาโหมสหรัฐฯเขาก็ยิ้ม เข้าใจ ผมบอกเขาว่า ไม่อายที่มาพูด เพราะเหมือนคนเห็นแก่ได้ ท้ายที่สุดเขา (รมว.กลาโหมสหรัฐฯ) เจรจาสำเร็จ มีการคืนเงินมัดจำให้ประเทศไทยทั้งหมด”
ด้วยวิกฤติเหล่านั้นเอง ทำให้ต้องมีการศึกษาเรื่องธรรมาภิบาลขึ้นในไทยอย่างจริงจัง โดย 1 ปีหลังผมเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายคุณอภิสิทธิ์ และทีมงานรับผิดชอบศึกษาเรื่องนี้ เคาะออกมาเป็นนโยบาย ใช้คำว่า การบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐและเอกชน ต่อมาคือคำว่าธรรมาภิบาล เพื่อป้องวิกฤติต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยมีประเด็นสำคัญเช่น หลักนิติธรรม สำคัญที่สุด หลักกฎหมาย การมีส่วนร่วมประชาชน หลักความรับผิดชอบต่อสังคม
แต่ของสังคมไทยต้องเพิ่มเรื่อง ความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีข้าราชการดี ๆ หลายคนต้องติดคุก เพราะมาจากความเกรงใจ ไปแก้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักการเมืองให้ได้ประโยชน์ แต่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย เช่น กรณีนักการเมืองท่านหนึ่งแก้ไขกฎหมายเอื้อบริษัทของผู้มีอำนาจในประเทศ หรือกรณีทนายความประจำพรรคการเมืองหนึ่งวิ่งเต้นคดีให้ผู้มีอำนาจในพรรค เพราะเกรงใจภรรยาตัวเอง ที่เป็น ส.ส.ในพรรค แล้วภรรยาตัวเองเกรงใจ ภรรยาของผู้มีอำนาจภายในพรรค เป็นต้น
นี่คือลักษณะของสังคมไทย ความเกรงใจไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ต้องเกรงใจให้ถูกเรื่อง โดยหลักธรรมาภิบาลเชื่อว่าทุกคนจำได้หมด แต่ปัญหาคือในภาคปฏิบัติที่คนไม่ยอมทำตาม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage