"...ผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ซึ่งสร้างสภาวะแวดล้อมใหม่ (New Normal) ได้เร่งการเปลี่ยนโฉมหน้าของการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างลึกถึงแก่น ทั้งในเชิงเป้าหมายและเนื้อหาของการเรียนรู้ ภารกิจของมหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์ของสังคมให้ชัดเจนกว่าเดิม ไม่เน้นการศึกษาเพียงเพื่อ “ปริญญา” หากแต่ต้องมุ่งไปสู่ความรู้ความสามารถของบัณฑิตอย่างแท้จริง คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และที่สำคัญมากคือการยกระดับรูปแบบวิธีการเรียนการสอนและการสื่อสารที่ต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งบุคลากรในมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากรูปแบบการทำงานและการสื่อสารระหว่างกันในอดีตที่ผ่านมา..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์เพื่อการเสนอตัวเข้าสู่กระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีอยู่ และคาดว่าจะเข้ารับการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ในช่วงปลายปี 2563 นี้เช่นกัน
----------------
ในวาระที่จะต้องมีกระบวนการสรรหาอธิกาารบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอีกไม่ช้านี้ คนธรรมศาสตร์และสาธารณชนคงมีความสนใจว่าใครจะมาเป็นอธิการบดีในวาระต่อไป มหาวิทยาลัยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคน และโดยเฉพาะรูปแบบการเรียนรู้ ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากวิกฤต Covid - 19
ในฐานะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับแนวหน้าของไทย สังคมและคนธรรมศาสตร์เองย่อมมีความคาดหวังที่จะเห็นบทบาทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเชิงสร้างสรรค์และชี้นำสังคมให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องเป็นธรรม สอดคล้องกับคำขวัญที่ว่า “เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม” ซึ่งประสานภารกิจกับคุณค่าของความเป็นธรรมศาสตร์เอาไว้ด้วยกันอย่างดียิ่ง
หลังจากที่ผมได้ใช้เวลาพอสมควรแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นกับคนที่อยู่แวดล้อมสังคมธรรมศาสตร์และกลับไปคิดทบทวนถึงความพร้อมของตัวเองในการทำหน้าที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว วันนี้ ผมได้ตัดสินใจที่จะเสนอตัวให้ประชาคมธรรมศาสตร์พิจารณาว่ามีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวาระที่จะมาถึงนี้หรือไม่
ผมตระหนักดีว่าการจะเข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ นอกจากต้องได้การยอมรับจากประชาคมในกระบวนการเสนอชื่อแล้ว ยังต้องมีวิสัยทัศน์และความแน่วแน่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุผลตามวิสัยทัศน์ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องมีความสามารถในการนำพลังคนธรรมศาสตร์ทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพออกสู่สังคม การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร รวมถึงการสร้างขวัญกำลังใจของบุคลากรทั้ง 4 ศูนย์การศึกษาให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
นอกเหนือจากการคงเป้าหมายของการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการสร้างองค์ความรู้ระดับสูง ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นธรรมศาสตร์ และมีความเป็นนานาชาติแล้ว ผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยจะต้องสร้างสิ่งที่ตอบสนองความต้องการสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมนำสังคมต่อไปในอนาคต และสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยอันสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย โดยไม่ลืมที่จะวางบทบาทและกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยในการร่วมงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการวางทิศทางการสร้างเครือข่ายความรู้สมัยใหม่จากงานวิจัยที่ประสานกับประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติงาน เพื่อให้ทันโลกและสามารถพยากรณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ไม่เป็นสถาบันการศึกษาที่แยกตัวเองอยู่แต่ในโลกวิชาการ
ภายใต้สภาวการณ์ที่มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีเพื่อให้ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ภารกิจของอธิการบดีคนใหม่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างจากการบริหารมหาวิทยาลัยในยุคที่ผ่านๆมา เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาภารกิจต่างๆ ทำให้มีรายจ่ายในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายรับที่รัฐจัดสรรให้ในรูปงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าดำเนินการและค่าสาธารณูปโภคถูกจำกัดลง รวมถึงรายได้ที่มหาวิทยาลัยและหน่วยงานเคยจัดเก็บได้มีสัดส่วนคงที่หรือมีแนวโน้มลดลง ทำให้จำต้องหารายได้หรือแหล่งทุนสนับสนุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยมีหลักประกันที่มั่นคง
นอกจากนี้ ผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ซึ่งสร้างสภาวะแวดล้อมใหม่ (New Normal) ได้เร่งการเปลี่ยนโฉมหน้าของการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างลึกถึงแก่น ทั้งในเชิงเป้าหมายและเนื้อหาของการเรียนรู้ ภารกิจของมหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์ของสังคมให้ชัดเจนกว่าเดิม ไม่เน้นการศึกษาเพียงเพื่อ “ปริญญา” หากแต่ต้องมุ่งไปสู่ความรู้ความสามารถของบัณฑิตอย่างแท้จริง คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และที่สำคัญมากคือการยกระดับรูปแบบวิธีการเรียนการสอนและการสื่อสารที่ต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งบุคลากรในมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากรูปแบบการทำงานและการสื่อสารระหว่างกันในอดีตที่ผ่านมา
เพื่อให้ช่วงเวลาต่อจากนี้เป็นเวลาของการคิดไตร่ตรองคนที่เหมาะสมจะทำหน้าที่อธิการบดี ผมจึงเปิดช่องทางสื่อสารกับคนธรรมศาสตร์โดยการเปิดเว็บเพจขึ้นมาเฉพาะเพื่อการนี้ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงนำเสนอแนวคิดและแนวทางในการบริหารมหาวิทยาลัยที่ผมและทีมงานเห็นว่าสำคัญต่อการทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ยังคง “เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม” ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีเกียรติภูมิ
ผมหวังว่าจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านทั้งหลายมากขึ้น แล้วพบกันครับ
อุดม รัฐอมฤต
3 สิงหาคม 2563
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage