"...เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ (Big Rock) ตามแนวทางของรัฐบาล คือ การปฏิรูปในประเด็นสำคัญที่เรียกว่า การบริหารจัดการเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด ซึ่งจำเป็นการปรับเปลี่ยนภาพประเทศไทยให้เห็นถึงเขตทางทะเลซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติที่ประชาชนชาวไทยเป็นเจ้าของร่วมกัน เพราะผลประโยชน์ทางทะเลในแต่ละปี มีประมาณ 24 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 เลยก็ว่าได้..."
แผนที่ประเทศไทยที่ทุกท่านเคยอ่าน ท่องจำ และซึมซับกันสืบมาตามตำราเรียน กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยมีลักษณะเป็นรูปขวานโบราณ มีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะสิ่งที่ทุกท่านเข้าใจกันนั้นคือพื้นที่ทางบกของประเทศที่เห็นได้ชัดและได้รับการรับรองจากสากล
หากแต่ยังจะมีพี่น้องประชาชนสักกี่คนที่ทราบว่า ในปัจจุบัน พื้นที่ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากนานาประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว นอกจากพื้นที่ทางบกแต่ยังมีพื้นที่ทางทะเลอีกประมาณ 323,488.32 ตารางกิโลเมตร (ข้อมูล : กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ) หรืออาจกล่าวได้ว่ามีพื้นที่ทางทะเลอีกประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ทางบก ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 2 ด้าน คือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน รวมความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,151.13 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด (ข้อมูล : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) โดยที่พื้นที่ทางทะเลของไทยนั้นได้รับการรับรองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law Of the Sea : UNCLOS 1982) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติฯ ดังกล่าว และมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2554 เป็นต้นมา ประกอบด้วย
1. พื้นที่เขตอธิปไตย คือ น่านน้ำภายใน และทะเลอาณาเขต (ความยาวจากฝั่ง 12 ไมล์ทะเล) ครอบคลุมไปถึงห้วงอากาศ เหนือพื้นท้องทะเล และใต้ผิวพื้นท้องทะเลของทะเลอาณาเขตนั้นๆ ด้วย
2. พื้นที่เขตสิทธิอธิปไตย คือ เขตต่อเนื่อง และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ที่มีความยาวจากฝั่ง 200 ไมล์ทะเล รวมถึง ไหล่ทวีป (Continental Shelf) ที่เป็นพื้นทะเลและใต้ผิวพื้นของพื้นที่ใต้น้ำ
ภายหลัง จากที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติฯ ดังกล่าว จึงจะต้องดำเนินการอนุวัติการ (Implementation)ด้วยการตรากฎหมายภายในประเทศหรือปรับแก้กฎหมายภายในประเทศ จนนำมาสู่การบัญญัติในเรื่องพื้นที่และเขตทางทะเลไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 52 ที่บัญญัติว่า
“ มาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ ”
ต่อมาในปี พ.ศ.2560 ประเทศไทยประกาศใช้ พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ได้นำมาสู่การจัดตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน เป็นประธานกรรมการ
ดร.รอยล จิตรดอน
ซึ่งในคณะกรรมการดังกล่าวยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อรับผิดชอบในการจัดทำและกำกับดูแลแผนการปฏิรูปประเทศเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีประเด็นการปฏิรูปรวม 13 ประเด็น และในระหว่างการดำเนินงานในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินการปฏิรูปประเทศเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจนบรรลุผลสัมฤทธิ์แล้วถึง 7 เรื่อง โดยส่วนราชการที่รับผิดชอบคือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปดำเนินงานในแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงาน คือ (1) การปรับสมดุลโครงสร้างองค์กรในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (2) การบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง (3) การบริหารจัดการมลพิษในทะเลและชายฝั่ง (4) การบริหารจัดการทรัพยากรสินแร่และแหล่งพลังงานในทะเล (5) การอนุรักษ์ปะการังอย่างยั่งยืน (6) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการปกป้องรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และ (7) การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและสัตว์ทะเล
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2563 ที่มีการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศทั้งระบบ คณะอนุกรรมการเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มี พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ กรรมปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ จึงได้ศึกษา กลั่นกรอง และเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ฉบับปรับปรุง) ขึ้นใหม่ โดยเสนอให้มีเรื่องและประเด็นการปฏิรูปให้เหลือเพียง 3 เรื่อง กล่าวคือ (1) การปฏิรูประบบฐานข้อมูล มี 2 ประเด็นย่อย (2) การปฏิรูปโครงสร้างองค์กรและกฎหมาย
มี 2 ประเด็นย่อย และ (3) การป้องกันดูแลและรักษาเชิงพื้นที่ มี 2 ประเด็นย่อย
พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ
ทั้งนี้ เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ (Big Rock) ตามแนวทางของรัฐบาล คือ การปฏิรูปในประเด็นสำคัญที่เรียกว่า การบริหารจัดการเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด ซึ่งจำเป็นการปรับเปลี่ยนภาพประเทศไทยให้เห็นถึงเขตทางทะเลซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติที่ประชาชนชาวไทยเป็นเจ้าของร่วมกัน เพราะผลประโยชน์ทางทะเลในแต่ละปี มีประมาณ 24 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 เลยก็ว่าได้
เรื่องสำคัญที่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเร่งขับเคลื่อนต่อไปให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในเรื่อง การบริหารจัดการเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด คือจะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน ปี พ.ศ.2563 รวม 3 กิจกรรม ประกอบด้วย
กิจกรรมแรก คือ การจัดทำแผนที่การจำแนกเขตทางทะเลและชายฝั่งให้ครบถ้วนทั้ง 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อแบ่งมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลหน้าบ้านของแต่ละจังหวัด
กิจกรรมที่สอง คือ การยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการสร้างความชัดเจนและก่อให้เกิดผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย
กิจกรรมที่สาม คือ การบรรจุเรื่องเขตทางทะเลในหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนชาวไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา
ประชาชนชาวไทยควรรับทราบว่า ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเหล่านี้หากไม่มีการบริหารจัดการให้ดีก็จะทำให้ประเทศชาติต้องเสียเปล่าไป แต่หากมีการสร้างความรับรู้ให้ดี ก็จะเป็นผลประโยชน์ที่คนไทยทั้งชาติจะได้รับร่วมกัน ทั้งนี้เพราะ ผลประโยชน์ทางทะเลประกอบด้วย ทรัพยากรที่มีชีวิตคือสัตว์น้ำ พืชน้ำและปะการัง กับทรัพยากรที่ไม่มีชีวิตคือชายหาด สินแร่และแหล่งพลังงาน หากเราไม่ช่วยกันสอดส่องดูแลก็เท่ากับว่าเราทำทรัพย์สินของเราตกน้ำหายไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงไม่ควรเกี่ยงว่าเรื่องทรัพยากรทางทะเลเป็นหน้าที่ของทางราชการ หากแต่ควรระลึกเสมอว่าคือผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน
การปฏิรูปประเทศเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในเรื่องการบริหารจัดการเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนชาวไทยสามารถจับต้องได้ และพึงตระหนักรู้ว่าภายใต้ผืนน้ำมหานทีทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันคือมรดกของชาติที่บรรพบุรุษส่งมอบมาให้คนไทยทุกคนได้ใช้ประโยชน์ ได้สร้างคุณค่าในชีวิต และจะเป็นมรดกที่คนรุ่นปัจจุบันจะส่งมอบต่อคนรุ่นต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรุ่งโรจน์สดใสหรือโอกาสที่จะสูญเสียไปจึงอยู่ในมือของคนไทยทุกคน
แผนที่รูปขวานทองและบ่อทอง 2 บ่อ ที่ปรากฏชัดในวันนี้ คงจะบอกสังคมไทยและคนไทยได้ว่า การปฏิรูปประเทศในเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยและสร้างความหวังอันสดใสของคนไทยทั้งชาติได้อย่างไร.