"...เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK จ่ายค่าปรับและค่าเสียหายให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นจำนวนเงินถึง 6,000 ล้านบาท แต่ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ไม่นาน กระทรวงการคลัง ได้อนุมัติให้ SME BANK เพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2562 เท่ากับค่าเสียหาย ที่ SME BANK ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนนี้พอดี ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องกับคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ ดังกล่าวหรือไม่ ..."
นายอุตตม สาวนายน หลังพ้นตำแหน่ง รมว.คลัง ไปแล้ว
อาจยังจะต้องเผชิญกับปัญหาเก่าที่สืบเนื่องมาจากอดีตตั้งแต่สมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากกรณีทุจริตในธนาคารกรุงไทยที่นายอุตตม พ้นผิดจากการไม่ถูกร้องทุกข์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK จ่ายค่าปรับและค่าเสียหายให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นจำนวนเงินถึง 6,000 ล้านบาท
แต่ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ไม่นาน กระทรวงการคลัง ได้อนุมัติให้ SME BANK เพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2562 เท่ากับค่าเสียหาย ที่ SME BANK ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนนี้พอดี ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องกับคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ ดังกล่าวหรือไม่
ขณะที่ บทบาทของ นายอุตตม อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ใน 2 ช่วงเวลา คือ
-ช่วงปี 2549 อนุมัติธุรกรรมการออกบัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) ของ SME BANK เป็นช่วงเวลาที่นายอุตตม เป็นกรรมการ SME BANK ซึ่งอนุมัติให้ SME BANK ออกบัตรเงินฝาก FRCD จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท และเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในภายหลัง ที่เป็นเหตุทำให้ SME BANK ต้องจ่ายเสียหาย 6,000 ล้านบาท
-ช่วงปี 2562-2563 อนุมัติให้ SME BANK เพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าเสียหาย โดยกระทรวงการคลัง ที่มีนายอุตตม เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ได้อนุมัติเพิ่มทุนให้ SME BANK เมื่อปลายปี 2562 ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ SME BANK จ่ายค่าเสียหายในปี 2563
@เหตุการณ์ช่วงปี 2549 จนถึงเมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกา
-ในปี 2549 คณะกรรมการ SME BANK ที่มีนายอุตตม เป็นกรรมการ ได้อนุมัติระดมทุนด้วยการออกบัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อขายให้นักลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการระดมเงินทุนครั้งใหญ่ที่สุดในคราวเดียวกันของ ธพว.
-กระบวนการออกบัตรเงินฝาก จะต้องมีสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนและรับประกันการขาย เรียกว่า Under writer โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้รับการคัดเลือกเป็น Under writer
-SME BANK ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของบัตรเงินฝาก FRCD ไว้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เมื่อเดือนมิถุนายน 2549
-ต่อมาในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2549 ได้มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดพิเศษที่มีลักษณะเก็งกำไรจากการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ในลักษณะที่ทำให้ SME BANK มีข้อเสียเปรียบมาก
-ทำให้ในปี 2550 SME BANK ถูกธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เรียกให้จ่ายค่าปรับสูงถึง 8.5% ของจำนวนเงินในบัตรเงินฝาก FRCD แต่ SME BANK ไม่ชำระ โดยอ้างว่าคณะกรรมการ SME BANK ไม่รู้เรื่องการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในสัญญา เป็นการดำเนินการโดยพลการของผู้บริหารเพียง 4 คน ที่ SME BANK ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไต่สวน นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ SME BANK ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ ทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง จำนวน 3 สำนวน เมื่อปี 2551 และ ปี 2552 คดีหมายเลขดำที่ 4794/2551 ที่ 958/2552 และที่ 5776/2552 เรียกให้ ธพว.ชำระค่าปรับและค่าเสียหาย เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
-ประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันในศาลและเป็นเหตุให้แพ้หรือชนะคดี คือ การรู้หรือไม่รู้ของคณะกรรมการ SME BANK ในเรื่องการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในสัญญาที่เป็นเหตุให้เกิดค่าปรับ ซึ่งศาลชั้นต้นรับฟังว่าคณะกรรมการ SME BANK ไม่รู้เรื่อง นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ SME BANK ไม่ต้องจ่ายค่าปรับและค่าเสียหาย พิพากษายกฟ้อง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ.4752/2558 ที่ พ.4753/2558 และที่ พ.4754/2558
-แต่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา รับฟังข้อเท็จจริงตรงกันข้ามกับศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าคณะกรรมการ SME BANK รู้เห็นในการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในสัญญา จากการนำสืบของฝ่ายโจทก์ในหลายกรณี นิติกรรมจึงไม่เป็นโมฆะ พิพากษาให้ SME BANK จ่ายค่าปรับและค่าเสียหายให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คิดเป็นเงินบาท ประมาณ 6,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
โดยมีการอ่านคำพิพากษาศาลฏีกา เมื่อวันที่ วันที่ 24 มีนาคม 2563 หลังจากมีการขอเลื่อนการอ่านมาจากปลายปี 2562 ถึง 2 ครั้ง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา SME BANK ได้จ่ายเงินค่าเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ไปแล้ว
-เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการทุจริตในธนาคารกรุงไทย กรณีปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งนายอุตตม ถูกส่งเข้าไปเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และร่วมประชุมพิจารณาสินเชื่อรายนี้ด้วย แต่ไม่ถูกร้องทุกข์จากธนาคารแห่งประเทศไทย
@เหตุการณ์ช่วง ปี 2562-2563
-การจ่ายค่าเสียหาย 6,000 ล้านบาท มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานะของ ธพว. ถึงขั้นจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หากไม่มีการเพิ่มทุน
-ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้ หรือเมื่อปลายปี 2562 กระทรวงการคลังที่มีนายอุตตม เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เร่งรัดให้ SME BANK เสนอเรื่องขออนุมัติเพิ่มทุนอีก 6,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
-จากการที่ SME BANK ต้องสำรองเงินเพื่อจ่ายค่าเสียหายให้ครบจำนวน 6,000 ล้านบาท อาจทำให้ผลประกอบการปี 2562 SME BANK ขาดทุนสูงถึง 5,800 ล้านบาท
-เรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องไว้พิจารณาตั้งแต่ ปี 2551 เรื่องเลขดำที่ 51422780 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีผู้บริหาร ธพว.เพียง 4 คน เป็นแพะรับบาป ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 14 ปี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลความผิด
@ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีดังนี้
1.บุคคลที่จะต้องรับผิดทางละเมิดชดใช้เงินจำนวน 6,000 ล้านบาท แก่ SME BANK ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จะเป็นใครบ้าง และจะดำเนินการหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดทางละเมิดได้ภายในอายุความหรือไม่
2.ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังให้กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะดำเนินการตรวจสอบกรณีนี้อย่างไร เพื่อให้ได้ผู้ที่สร้างความเสียหายแก่ SME BANK อย่างครบถ้วน ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกา
3.ธนาคารแห่งประเทศไทย จะสามารถตรวจสอบว่ามีนักการเมืองรับเงินสินบนในกรณีนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ตามที่เป็นข้อครหาในช่วงเวลานั้น ได้หรือไม่
4.ธนาคารแห่งประเทศไทย จะตรวจสอบสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่าเอื้อประโยชน์ต่อคณะกรรมการ SME BANK ที่อนุมัติธุรกรรมนี้หรือไม่ เนื่องจากพบผู้กระทำผิดร้ายแรงเพียงผู้บริหาร 4 คน แต่ไม่พบการกระทำผิดของคณะกรรมการ SME BANK ดังเช่นที่ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริง
5.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรับเรื่องนี้ไว้เป็นเลขดำที่ 51422780 ตั้งแต่ปี 2551 หรือ 12 ปี ผ่านมาแล้ว จะสามารถชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เมื่อใด และจะครอบคลุมผู้กระทำความผิดครบทุกคนตามข้อเท็จจริงที่ศาลฎีการับฟังเป็นยุติ หรือไม่ หรือจะพบผู้กระทำผิดเพียงผู้บริหาร SME BANK 4 คน เท่านั้น
6.รมว.คลังคนใหม่ จะพิจารณาอย่างไรหรือไม่ว่า ธนาคารของรัฐแห่งนี้ยังคงมีประโยชน์ต่อประชาชน และควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากมีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมา ไม่สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้เท่าที่ควร โดยยอดสินเชื่อคงค้างคงที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ไม่เพิ่มขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมียอดขาดทุนสะสมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งเป็นภาระของรัฐบาลต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทุจริตคอรัปชัน
เป็นเรื่องที่ควรจะติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
คดี 6 พันล. ธพว.ปล่อยให้ผู้บริหารแค่ 4 คนทำธุรกรรมหมื่นล. ‘ไอ้โม่ง’ลอยนวล?
ไขที่มาคดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว.ต้องใช้หนี้ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ 6 พันล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/